Skip to main content
sharethis

จัดหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่า "ออง ซาน ซูจี" กับ ประธานาธิบดีพม่า - ผบ.สส.พม่า และประธานรัฐสภา เรื่องกติกาเลือกตั้งและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านและกลุ่มชาติพันธุ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญพม่าที่ร่างในสมัยรัฐบาลทหาร ทำให้พวกเขาเสียเปรียบ

การหารือ 4 ฝ่ายที่เนปิดอว์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 (ที่มา: เฟซบุ๊ครัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารพม่า Ye Htut)

10 เม.ย. 2558 - ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านพม่า หารือกับผู้นำรัฐบาลพม่าและผู้นำกองทัพที่เนปิดอว์วันนี้ (10 เม.ย.) โดยออง ซาน ซูจีกล่าวว่า การหารือครั้งสำคัญนี้จะมีความหมายต่อเมื่อผู้นำรัฐบาลทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ซึ่งตามกำหนดจะจัดขึ้นภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร อองซานซูจี ขาดคุณสมบัติที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากแต่งงานและมีบุตรชายทั้ง 2 เป็นชาวต่างชาติ

เวลาสำหรับอองซานซูจีและกลุ่มชาติพันธุ์เหลืออยู่ไม่มาก เพราะการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งพวกเขารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งทำให้พวกเขาเสียเปรียบ

การหารือในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ผู้เข้าร่วมได้แก่ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง, ออง ซาน ซูจี, ผู้บัญชาการกองทัพพม่า มินอ่องหล่าย และ ประธานรัฐสภาพม่าและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ เอ หม่อง

ทั้งนี้เอ หม่อง เป็นผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการก้าวหน้าเรื่องปฏิรูปในพม่า แต่ในการให้สัมภาษ์เขากล่าวว่าการเจรจาน่าจะช่วยให้เกิด "การเปิดทางให้มีการทำความเข้าใจกันมากขึ้น และช่วยให้บรรลุในบางข้อตกลงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

โดยที่ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสมาชิกรัฐสภา และออง ซาน ซูจี ได้เรียกร้องให้มีการจัดประชุม แต่ทั้งประธานาธิบดี และกองทัพพม่าหลีกเลี่ยงที่จะมาหารือด้วย

"สิ่งที่มีความสำคัญก็คือ การหารือลักษณะเช่นนี้จะดำเนินต่อไป และจะช่วยทำให้มีข้อตกลงที่ช่วยให้การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมราบรื่น และนับรวมทุกฝ่ายเข้ามา" ออง ซาน ซูจี กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

ทั้งนี้กองทัพพม่าปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2505 จนกระทั่งยอมจัดการเลือกตั้งในปี 2553 และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2554 อย่างไรก็ตามถูกวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้เป็นไปด้วยความยุติธรรม และยังอนุญาตให้กองทัพมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง และในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้เริ่มกระบวนการเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจ ภายหลังจากที่พม่าอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาหลายทศวรรษ

ต่อคำถามที่ว่า ถ้ารัฐบาลจะหาข้ออ้างเพื่อเลื่อนเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปนั้น ออง ซาน ซูจี ตอบว่า "ในทางการเมือง คุณไม่อาจที่จะไม่ยอมรับสิ่งใดได้" ทั้งนี้คาดหมายกันว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน

ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะตอบว่า พรรคเอ็นแอลดีจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งหรือไม่ หากเธอพบว่ามีเงื่อนไขที่ไม่อาจยอมรับได้ อย่างที่ออง ซาน ซูจี เคยกล่าวก่อนหน้านี้ "เราเก็บไพ่ของเราไว้ที่แนบออก จนกระทั่งถึงเวลาที่เราต้องหงายไพ่ออกมา" ออง ซาน ซูจีกล่าว

แม้ว่าพรรคเอ็นแอลดี จะคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2553 แต่ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2555 พรรคเอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย โดยได้ที่นั่ง 43 ที่นั่ง จากทั้งหมดที่มีการแข่งขัน 44 ที่นั่ง ทำให้พรรคเอ็นแอลดีกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากที่สุดในสภา

ทั้งนี้ออง ซาน ซูจีกล่าวว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้น มีความสำคัญกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 "เพราะการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ จะเป็นตัวตัดสินว่ากระบวนการปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่ และการปฏิรูปนั้นเป็นไปตามเส้นทางที่เราคาดหวังให้มันดำเนินไปหรือไม่"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net