Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการรัฐประหารครั้งอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นการรัฐประหารที่ไม่มีผลเด็ดขาดไปทางใดทางหนึ่ง คือ ไม่ใช่รัฐประหารแล้วผู้ทำรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปหลายๆ ปี และก็ไม่ใช่รัฐประหารที่อยู่ได้สั้นๆ แล้วถูกต่อต้านคัดค้านจนต้องม้วนเสื่อถอยไป และยอมให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากๆ แต่เป็นการรัฐประหารที่คาราคาซัง ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนอยู่ในสภาพเหมือนชักเย่อยื้อกันไปยื้อกันมา ไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่งเป็นเวลานาน

การรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน จึงเป็นการรัฐประหารที่มีการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบต่อเนื่องมากที่สุด ทั้งในเวลาที่มีการพูดถึงการเมืองไทย และในโอกาสครบรอบปีทุกๆ ปี

ในการประเมินผลกระทบจากการรัฐประหารปี 49 นั้น สามารถดูจากข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และสิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการจะทำเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะพบว่าในแต่ละปีที่ผ่านมา การวิเคราะห์ประเมินผลของการรัฐประหารปี 49 จะได้ข้อสรุปที่คงเส้นคงวามาตลอด การมาประเมินกันในปีนี้ ข้อสรุปนอกจากจะสอดคล้องกับข้อสรุปในปีก่อนๆ แล้ว ยังน่าจะเป็นการตอกย้ำทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่สำคัญมีอยู่ 4 ข้อ

ข้ออ้างข้อที่ 1 เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น เราจะพบว่า ถึงแม้คณะรัฐประหารจะใช้ คตส. ซึ่งเป็นเครื่องมือในกระบวนการที่ไม่ปรกติเข้าตรวจสอบ แต่ก็สามารถดำเนินคดีลงโทษบุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารได้น้อยมาก ส่วนระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่สร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ไม่เป็นกลาง และเลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้น้อยมากเช่นกัน ทั้งยังไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ในสังคมด้วย

ข้ออ้างข้อที่ 2 เรื่องมีการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯ หลังรัฐประหารแล้วไม่มีการดำเนินคดีที่เป็นที่ยุติได้ว่า บุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารกระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่รายเดียว มีแต่ผู้ที่กล่าวหาคนในรัฐบาลถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และถูกศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาทจริง ก่อนการรัฐประหาร มีกรณีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มาก แต่หลังการรัฐประหารเรื่อยมามีการกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาล้มเจ้าบ้าง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ้างมากกว่าก่อนการรัฐประหารหลายสิบเท่า

ข้ออ้างข้อที่ 3 การบริหารแผ่นดินแทรกแซงองค์กรอิสระ หลังการรัฐประหารกลับมีองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระเลยแม้แต่น้อย หากเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งหรือเห็นชอบโดยคณะรัฐประหารที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องกันมา โดยปราศจากความเป็นกลาง เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นที่ยอมรับ จนมีคำถามในภายหลังว่าองค์กรไหนมีความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะดำรงอยู่มากน้อยเพียงใด

ข้ออ้างข้อที่ 4 ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม หลังรัฐประหารความขัดแย้งแตกแยกกลับยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งจากเรื่องเดิมที่ว่าใครควรเป็นรัฐบาล และเรื่องกฎกติกาของบ้านเมือง ระบบยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีอยู่ในทุกระดับของสังคม และขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าก่อนการรัฐประหารปี 49 จนกระทั่งกลายเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารในครั้งล่าสุด ซึ่งก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ และยังอาจเพิ่มประเด็นที่สังคมมีความเห็นแตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับสิ่งที่คณะรัฐประหารปี 49 ต้องการทำเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้ตรงกับข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ ก็คือ การทำตามบันไดสี่ขั้น ซึ่งต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ การทำลายพรรคไทยรักไทย ทำทุกอย่างเพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสายทักษิณ ไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาล และเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล สร้างรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และผู้มีอำนาจแท้จริงตามรัฐธรรมนูญจะสามารถหักล้างมติมหาชนจากการเลือกตั้งได้โดยง่าย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามแผนบันไดสี่ขั้น เพราะประชาชนไม่เออออด้วย การใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญหักล้างมติมหาชนจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อประชาชนพยายามแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถทำได้ กระบวนการปกป้องรัฐธรรมนูญ และการจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้พัฒนาเกินเลยไป จนกลายเป็นการสร้างระบบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงไปอีก เกิดเป็นความเสียหายต่อระบบยุติธรรม และเมื่อใช้วิธีการทุกอย่างที่สามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 แล้วก็ยังไม่เป็นผล การรัฐประหารก็เกิดขึ้นในที่สุด

มีการพูดกันมากว่า การรัฐประหารเมื่อปี 49 นั้นเป็นการ "เสียของ" เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมองที่แตกต่างกันไป

จะบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ไม่ประสบความสำเร็จตามข้ออ้าง 4 ข้อ จึงถือว่าล้มเหลวและเสียของคงไม่ได้ เพราะข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ จริงๆ แล้วก็เป็นเพียง "ข้ออ้าง" ที่เป็นสูตรสำเร็จ ที่มักใช้กันเสมอๆ เวลาที่จะมีรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้ว ก็หาได้พยายามทำอะไรจริงจังตามข้ออ้างแต่อย่างใดไม่

ถ้าดูจากสิ่งที่คณะรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน หมายมั่นปั้นมือจะทำให้สำเร็จแล้วไม่สำเร็จ ก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญอยู่ที่การฝืนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร

คงไม่มีใครบอกได้ว่า ถ้าพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน กับพวกเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกันเสียเอง และใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่ทำไปแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร คณะรัฐประหารจะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ หรืออาจจะล้มเหลวยิ่งกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้

ปัญหายังอยู่ที่คำว่า "เสียของ" เราจะมองอย่างไร คำว่า "เสียของ" หมายความว่าอย่างไร

บางคนอาจมองว่า การที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถกวาดล้างคุณทักษิณกับพวกให้สิ้นซากไปจากการเมืองไทย และล้มเหลวที่ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร 

แต่นั่นเป็นการ "เสียของ" จริงหรือ ถ้า "เสียของ" ใครเสียของ

หากคณะรัฐประหารทำสำเร็จในการกำจัดคุณทักษิณกับพวกให้หมดไป อาจต้องเกิดจากการทำลายระบบการเมืองการปกครองและระบบยุติธรรมให้ย่อยยับลงไปยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ สังคมไทยอาจตกอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งและความรุนแรงยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้มิใช่หรือ

ถ้าคณะรัฐประหารปี 49 ทำสำเร็จในการสร้างระบบที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้ว ใครคือผู้เสียประโยชน์ มิใช่ประชาชนทั้งประเทศหรือ?

ถ้าบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ ก็คงจะต้องดูให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการรัฐประหารนั้น ไม่ใช่มุ่งแก้ความขัดแย้งมาแต่ต้น ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นได้ซ้ำเติมให้ความขัดแย้งยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีกเสียมากกว่า ว่าไปแล้วการรัฐประหารปี 49 เองนั่นแหละ คือต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย และโดยธรรมชาติแล้วการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีทางที่ช่วยแก้ความขัดแย้งในสังคมไทยได้เลย เมื่อประกอบกับเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหารที่เต็มไปด้วยมโนทุจริตด้วยแล้ว การรัฐประหารปี 49 จึงทำให้ความขัดแย้งยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ถ้าจะสรุปว่า การรัฐประหารเป็นการ "เสียของ" ที่ทำอะไรหลายอย่างไม่สำเร็จ ก็อาจมองได้ แต่ถ้าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกันแล้ว ที่ "เสียของ" ไปก็ดีแล้ว ถ้า"ไม่เสียของ"สิ จะเสียหายมากกว่าที่เสียหายกันไปแล้วอีกมากนัก

หากใครจะคิดทำให้การรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ "ไม่เสียของ" คงต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่าคำว่า "เสียของ" หรือ "ไม่เสียของ" นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่.

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net