Skip to main content
sharethis

คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ วิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบธรรมาภิบาล “บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน” โดยจัดนำร่อง 33 ชุมชน ใน 3 จังหวัด  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล กล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้นใน 2 ปี

2 ต.ค.56 ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาชน บุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ประเด็น “พลเมืองคือ ฟันเฟืองสร้างธรรมาภิบาล”

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถาม น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น หัวหน้าโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมาภิบาล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยการสร้างธรรมาภิบาลมีจุดประสงค์ ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร

นักวิชาการรายนี้ ระบุว่า โครงการได้รับทุนจาก USAID เพื่อสนับสนุนภาคประชาชน  ร่วมตรวจสอบธรรมาภิบาลการบริหารงานของภาครัฐและท้องถิ่น ผ่านการให้ทุนแก่นักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาชน รวมทั้งสิ้น 33 ทุน ใน 3 จังหวัดคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ตลอดการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พบประชาชนมีทัศนคติว่าการทำงานเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว และไม่เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิเข้าตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ การทำงานของนักวิจัย จึงเน้นปรับทัศนคติเน้นให้ความรู้ สร้างศักยภาพให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ส่วนเครื่องมือใช้ตรวจสอบธรรมาภิบาล คือ บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน เป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้ภาครัฐนำไปแก้ไข และมีการให้คะแนน อาทิ เห็นถนนชำรุด ชาวบ้านก็มานั่งพูดคุยหาทางออก แล้วนำปัญหาที่พบไปให้ภาครัฐแก้ไข แทนการพูดว่าถนนไม่ดีอย่างเดียว

สิ่งสำคัญคือ มีการสร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับภาครัฐ หลังดำเนินโครงการมา 2 ปี ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 65 พร้อมมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะตรวจสอบ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น  

ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนคือ จังหวัดอุบลราชธานี สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ SML สามารถสร้างกลไกทำงานในกลุ่ม ส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการก่อสร้างพุทธอุทยานจนได้ข้อเสนอไปยื่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับอุปสรรคของการทำงานคือ เกิดความขัดแย้งกับคนของรัฐที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล แม้จะมีกฏหมายบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเมื่อถูกสอบถามก็ตาม ซึ่งปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานในระดับสูงขึ้นไป

ขณะที่นายกริชชัย ศิลปรายะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน้าที่การทำงานคือการตรวจรับรองมาตรฐานของ อปท. ส่วนบทบาทที่ได้เข้ามาร่วมกับโครงการฯ คือให้ข้อมูลคณะทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการทำงานของ อปท.โดยเฉพาะวงจรงบประมาณ  วิธีการจัดทำงบประมาณที่ถูกต้อง

“กรมปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการตรวจรับรอง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ ด้านบริหารงานบุคลากร กิจการงานสภา ด้านการเงินและงบประมาณ และการให้บริการสาธารณะ” ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการตรวจรับรองของราชการเพียงด้านเดียวไม่เพียงพอ ต้องดึงนักวิชาการและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการตรวจสอบไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่คือการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนา

นายกริชชัยมองว่า การจัดทำตัวชี้วัดธรรมาภิบาลภาคประชาชน และแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การใช้หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความคุ้มค่า ถือเป็นแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพราะกำหนดให้ราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติตาม โดยแต่ละปีจะมีการตรวจมาตรฐาน ว่าดำเนินงานผ่านเกณฑ์ตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ 

ด้าน น.ส.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า นอกจากมีการให้ทุนกับนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย ยังต้องดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยทุกขึ้นตอน เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้มากที่สุด แล้วสะท้อนกลับมาเป็นประโยชน์แก่สู่ชุมชน

เช่นที่กลุ่มอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า ทั้งที่ก่อนทำงานนี้ เยาวชนไม่ให้ความสนใจ จนเกิดมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ให้งบประมาณให้เยาวชนทำงานอนุรักษ์กันต่อไปอีก

นางบุปผาวรรณ อังคุระษี ภาคประชาชนที่ร่วมงานกับโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมภิบาล จังหวัดอำนาจเจริญ ระบุว่า ได้ทำโครงการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการสวนสาธารณะพุทธอุทยานอำนาจเจริญ โดยประสานผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 15 คน มาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยเลือกประเด็นที่สงสัยทำไมภาครัฐ จึงถมที่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนแล้วมาสร้างสวนสาธารณะแทน แต่ก็พบอุปสรรค เพราะภาครัฐไม่ต้องการให้เข้าไปตรวจสอบ การขอข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ปฏิเสธมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าผู้รับผิดชอบโครงการได้ย้ายไปแล้ว ทำให้ขาดข้อมูลด้านงบประมาณใช้ก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม จากการทำแบบสอบถามจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียจำนวน 220 ตัวอย่าง โดยถามว่าได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โครงการนี้ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ผ่านทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลการทำโครงการมีประชาชน 71 คน ให้คะแนนเป็น 0 เรื่องความจำเป็นต่อการใช้งาน มีประชาชน 57 คน ให้ 0 คะแนน เรื่องการมีส่วนร่วมตัดสินใจ มีประชาชน 115 คนให้ 0 คะแนนเช่นกัน

เมื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เกี่ยวข้อง มีเสียงสะท้อนหลากหลาย ทั้งการให้ก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้ทุบทิ้งเพราะไม่คุ้มค่า ทีมงานจึงได้รวบรวมข้อเสนอดังกล่าว ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนข้อเสนอคือ การสร้างกลไกในการพัฒนา เพราะปัจจุบันรัฐยังมีฐานคิดแคบ คิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของตัวเอง และไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ แต่ประชาชนต้องการให้รัฐเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นของทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานให้มากกว่านี้

ด้านนายสตพร ศรีสุวรรณ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ ให้ความเห็นในกรณีเดียวกันว่า อดีตชาวบ้านไม่รู้เรื่องการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณ แต่พอมีโครงการนี้ มีการนำบัตรคะแนนศักยภาพชุมชนใช้เป็นตัววัด ทำให้รู้ว่าการบริการงานในระดับ อบต.มีเรื่องต้องปรับปรุงเยอะแยะมาก ได้คะแนนเป็นศูนย์เยอะมาก อาทิ การตั้งงบประมาณในการศึกษาดูงาน มองดูความคุ้มค่าแล้วให้คะแนน 0 และขณะนี้ อบต.เริ่มปรับตัวจากไม่เคยให้งบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน ปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณใช้ดำเนินงานกว่าหนึ่งแสนบาท

ขณะที่นายพิทักษ์ สุขกุล ชมรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การทำงานทำให้ทราบว่าตั้งแต่หัวดำจนหงอก อำนาจรัฐยังแข็งแรง ส่วนอำนาจประชาชนยังอ่อน การพัฒนาประเทศต้องพยายามทำทุกอย่างให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น 

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิ้ลทีวี โสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net