Skip to main content
sharethis

24 เม.ย.56 ที่ห้อง 301 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ วิชา อศ.453 ประเทศศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศอินโดจีน) และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนา"ศาลโลกกับปัญหาไทย - กัมพูชา"โดยวิทยากร ประกอบด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์อาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดามพ์ บุญธรรม ผอ.กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการของคณะดำเนินคดีเขาพระวิหารฝ่ายไทย ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินการ (ดูวิดีโอคลิปทั้งหมดด้านล่าง)

00000

ดามพ์ บุญธรรม(ดูวิดีโอคลิป)

ดามพ์ เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปเมื่อปี 2502 ว่าในตอนนั้นมีการฟ้องเรื่องอะไร โดยฝ่ายกัมพูชาขอให้ศาลตัดสินเกี่ยวกับเขาปราสาทเขาพระวิหาร 2 ประเด็น

1. ขอให้ไทยถอนกำลังออกจากบริเวณปราสาท

2. อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ต่อมาดำเนินคดีไปใกล้จะจบคดีในปี 2505 กัมพูชาขอเพิ่มอีก 3 ประเด็น คือ

1. ขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา

2. ขอสถานะของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบมาในคำฟ้องตั้งแต่แรก

3. ขอให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่อาจมีการโยกย้ายออกมา

วันที่ 15 มิ.ย. 2505 ศาลตัดสินให้ 3 ประเด็นจาก 5 ประเด็น คือ

1. ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

2. ไทยมีพันธะที่จะต้องถอนทหาร ตำรวจและคนเฝ้าออกจากปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท

3. ไทยมีพันธะที่จะต้องคืนวัตถุโบราณ

ประเด็นที่ศาลไม่ได้ตัดสินชี้ขาดคือเรื่องเส้นเขตแดนไทยกับกัมพูชาและสถานะของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในการฟ้องคดีขณะนั้นมันจำกัดอยู่เฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับบริเวณอื่น

ลำดับเหตุการณ์เมื่อตัดสินไปแล้วรัฐบาลไทยก็ปฏิบัติตาม แม้ไม่ได้เห็นด้วย โดยดำเนินการถอดทหารออกมาและล้อมรั้ว มาเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2550 กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อไปขึ้นทะเบียนแล้วตัวแผนที่ที่ใช้แนบท้ายไปขอขึ้นนั้นมีพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่กินบริเวณเข้ามาในบริเวณที่เกินจากที่ไทยล้อมรั้วไว้และล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่เราถือว่าเป็นดินแดนของไทย เราจึงท้วงไป หลังจากนั้นความสัมพันธ์เริ่มเลวร้ายลง มีเหตุการณ์การปะทะกันต่างๆ ในที่สุดฝ่ายกัมพูชาก็ได้ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2554 โดยอาศัยข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลกที่กำหนดว่า “คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถือเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ หากมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ศาลจะตีความตามคำขอของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่กัมพูชานำเรื่องสู่ศาลเพื่อขอตีความ

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

28 เม.ย.54 กัมพูชาขอยื่นให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเดิม(Request for interpretation)และขอให้ศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว

30-31 พ.ค.54 ศาลนั่งพิจารณามาตรการชั่วคราว

18 ก.ค.54 ศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว กำหนดพื้นที่ถอนทหาร

21 พ.ย.54 ไทยยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร(Written Observations)

8 มี.ค.55 กัมพูชายื่นคำตอบ(Response) หักล้างข้อสังเกตของไทย

21 มิ.ย.55 ไทยยื่นคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร((Further Written Explanations)

ทำไมต้องยอมรับอำนาจศาลโลก

ที่เราไปเพราะคดีตีความเป็นอำนาจที่มาจากคดีเดิม คดีเดิมเรายอมรับอำนาจศาลโลกดังนั้นการตีความเราก็ถือว่าเป็นอำนาจที่ส่งมาจากคดีเดิม คำพิพากษาก็ผูกพันเราในอดีต และคดีตีความจะต่างจากคดีหลัก เนื่องจากคดีหลักยังเปิดโอกาสให้เราแก้คำฟ้องหรือตัดฟ้อง

คดีตีความนี้เราไม่ไปก็ได้ แต่ศาลก็จะพิจารณาลับหลังเรา แต่ก็มีผลผูกพันเพราะคำพิพากษาเดิมมีผลผูกพันคู่ความ และเราก็เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ธรรมนูญศาลโลกเป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตรสหประชาชาติ เราจะรับอำนาจศาลหรือไม่ไม่จำเป็น แต่ว่าในกฎบัตรสหประชาชาตินั้นระบุว่ารัฐภาคีสหประชาชาติมีหน้าที่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลก

คำขอของกัมพูชาเมื่อ 28 เม.ย.54

(1) คดีหลัก/คดีตีความ

- คำพิพากษาเดิมมิได้ระบุว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยต้องถอนทหารและตำรวจออกเมื่อปี 2505 ครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน

- กัมพูชาขอให้ศาลตีความว่า ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ระวางดงรัก ที่กัมพูชาแนบคำฟ้องในคดีเดิมเมื่อปี 2505

(2) คำขอมาตรการชั่วคราว

- ในระหว่างรอคำตัดสินตีความ ให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร และห้ามไม่ให้ไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารในบริเวณปราสาทฯ

- เป็นคำขอให้ไทยดำเนินการฝ่ายเดียว

ฝ่ายไทยมีการแต่งตั้งคณะดำเนินคดีโดยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นตัวแทนฝ่ายไทย ทีมทนายมี 5 คน ในนั้นมีผู้ช่วยของ ศ.Pellet คือคุณ Alina Miron ทั้งหมดถูกตั้งมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีหลายปี Alina Mironได้ขึ้นพูดด้วยเนื่องจากเป็นผู้ที่ศึกษามาทางด้านแผนที่ ส่วนฝ่ายกัมพูชามีนายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นตัวแทนของกัมพูชา

ข้อต่อสู้ของฝ่ายกัมพูชา

1. ศาลมีอำนาจตีความในคดีนี้ เพราะคู่กรณีมีความข้อพิพาทในขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาเดิม (ศาลได้ตัดสินเรื่องเขตแดนและสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 หรือไม่)

2. ศาลได้รับรองเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว อันเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1

3. บทปฏิบัติการของคำพิพากษากับเหตุผลของคำพิพากษาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ต้องนำมาตีความร่วม

ข้อต่อสู้ของไทย(ข้อต่อสู้หลัก)

1. ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาตีความ เพราะคู่กรณีมิได้มีข้อขัดแย้งกันในขอบเขตและคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505

2. ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนและกัมพูชาก็ได้ยอมรับแล้ว

3. ข้อพิพาทไทยกัมพูชาเป็นเรื่องเขตแดน ซึ่งมิได้อยู่ในกรอบของคดีเดิม การที่กัมพูชายื่นขอตีความโดยอ้างว่าศาลได้ตัดสินเรื่องเขตแดนแล้ว เป็นคำขอให้ศาลทบทวน อันเป็นเสมือนการอุทธรณ์(ซึ่งไม่มีในวิธีการพิจารณาของศาลโลก ซึ่งคำพิพากษาของศาลโลกไม่สามารถอุทธรณ์ได้)

ที่สุดแล้วกัมพูชาขออะไร

พิจารณาว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา(วรรค 1 ของบทปฏิบัติการ) ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายจากข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทตั้งอยู่ในเขตแดนฝั่งกัมพูชาซึ่งศาลได้รับรองในคำพิพากษาและบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อต่อสู้ของกัมพูชา กัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินว่า พันธกรณีของไทยที่ “ต้องถอนกำลังทหารตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึงประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” (วรรค 2 บทปฏิบัติการ) เป็นผลมาจากพันธกรณีทั่วไปและถาวรที่จะต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา ดินแดนที่ได้ปักปันไปแล้วในบริเวณปราสาทและบริเวณใกล้เคียงโดยเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งเป็นพื้นฐานของคำพิพากษา

1 ต่อ 200,000 ที่หักล้างไป

1 ต่อ 200,000 ที่เราหักล้างไปเพื่อให้เห็นว่าไม่มีประโยชน์ในการนำมาพิจารณาเรื่องเขตแดนตรงนี้ แต่กัมพูชานำมาใช้เพื่อพิจารณาเรื่องเขตแดนตรงนี้ ซึ่งไทยบอกว่าในคดีเดิมไม่ได้มีการชี้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ดังนั้นในคดีตีความจะมาตีความเรื่องเขตแดนไม่ได้

 

ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข(ดูวิดีโอคลิป)

ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาหลังศาลโลก กับ “พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม”

สุรชาติ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศควรจะทำคู่มือการชมการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีศาลโลก เพราะถ้าเราไม่คิดดีๆ คนก็จะสงสัยว่าเราดูศาลโลกเหมือนกับเราดูบอลหรือดูมวย แล้วเราก็เชียร์ เวลาทนายฝ่ายไทยพูดจาหนักๆก็สะใจ ประมาณว่านักมวยไทยต่อยโดนหน้านักมวยฝ่ายตรงข้ามเต็มๆ แต่ถ้าคิดว่าศาลโลกไม่ใช่เวทีมวย ศาลโลกสนามฟุตบอลมันอาจจะต้องเริ่มคิดเรื่องเขาพระวิหารเรื่องใหญ่ที่สุดคือสติ ถ้าเราเริ่มด้วยสติผมว่าหลายอย่างพอตั้งหลักได้

พอดูถ่ายทอดสดเรื่องนี้สิ่งที่ตระหนักที่สุดคือฟังแทบไม่รู้เรื่องเลย หลายครั้งเป็นศัพท์กฎหมายสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนไทยรับรู้เรารับรู้ผ่านสื่อที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น ดังนั้นความรู้ที่ผ่านสื่อจริงๆ มีคำถามหมายอย่าง เช่น เวลาเราบอกว่า “เขมรยื่นแผนที่ปลอม” ตกลงฝ่ายไทยพูดคำว่า “แผนที่ปลอม” หรือพูดว่า “แผนที่คลาดเคลื่อน” หรือว่าสิ่งที่เราเห็นในศาลทั้งหมดคือการโต้คารม ต้องยอมรับว่าคณะทำงานฝ่ายไทยเก่งและทำงานได้หนักแน่นพอสมควร เราได้เห็นหลักฐานหลายชิ้นที่น่าเสียดายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในวงวิชาการ

ย้อนกลับไปอ่านคำตัดสินของศาลโลกปี 2505

สุดยอดของปัญหาทั้งหมดพัวพันอยู่กับเรื่องเรื่องเดียว คือ แผนที่ภาคผนวกที่ 1 ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านคำตัดสินของศาลโลกปี 2505 คิดว่าสิ่งที่ต้องเรียกร้องให้โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในวงวิชาการด้วยกันต้องย้อนกลับไปอ่าน เพราะคำตัดสินดังกล่าว ทนายฝ่ายไทยก็หาทางทุกวิธีเพื่อทำลายน้ำหนักของแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของไทยนั้นเราเห็นชัดคือจะทำอย่างไรเพื่อให้แผนที่ดังกล่าวไม่มีเครดิต สมติถามกลับว่าแล้วถ้ามันยังมีจะทำอย่างไร

ถ้าเราดูคำตัดสินปี 2505 จะเห็นชัดว่าศาลเอาแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นหลัก แล้วก็พูดหลายอย่าง เช่นบอกว่า “วัตถุประสงค์ของการปักปันซึ่งการกำหนดเส้นเขตแดน เว้นแต่สามารถแสดงได้ว่าการปักปันนั้นไม่สามารถปักปันได้หรือไม่เป็นผล” คำถามก็เกิดมาว่าเราจะยอมรับได้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแผนที่ 11 ระวางจากเหนือจรดกลางนั้นมันเกิดการปักปันจริง แล้วแผนที่นี้จะเอาย่างไรในเมื่อเหมือนกับว่าในอดีตเหมือนกับว่าไทยยอมรับ เช่น คำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 มีอยู่ประโยคหนึ่ง ศาลอนุมานว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ และการสำรวจปี 1934 – 1935 ไทยก็ไม่เคยแย้ง หรือว่ามีการขอแก้เส้นเขตแดนหลายครั้ง แต่ไม่เคยร้องเรื่องพระวิหารเลย หรือไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ชุดนี้มาก่อน แม้จะไม่ถูกแต่ก็ไม่โต้แย้ง

ประโยคหนึ่งศาลเขียนไว้ในคำตัดสินปี 2505 “ไทยได้ยอมรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสหรือยอมรับเส้นเขตแดน ณ พระวิหาร ตามที่ได้ลากไว้บนแผนที่” หรืออีกประโยคหนึ่ง “ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ.1908 –1909 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่า เป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับรองเส้นเขตแดนบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา” เราจะเห็นประเด็นพวกนี้ซ้อนอยู่ในหลายคำตัดสินปี 2505

ไม่รับจุดเขาพระวิหาร = ไม่เอาระวางดงรักทั้งหมด แล้วเส้นเขตแดนสยามอยู่ตรงไหน

“และถ้าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่มีน้ำหนัก แล้วแผนที่ภาคผนวก 1 ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ปักปัน 1 ต่อ 200,000 หรือไม่ เพราะถ้าดูตัวแผนที่ปักปัน 1 ต่อ 200,000 เฉพาะระวางดงรักจุดที่มันมีปัญหามันเหลืออยู่จุดเดียว จุดที่เป็นส่วนติ่งของขอบหน้าผาตรงตัวปราสาทพระวิหาร ตัวส่วนอื่นผมคิดว่ามันได้มีการลงแรงกันพอสมควร คือไม่อยากคิดไปไกลว่าไม่เอาตรงจุดเขาพระวิหารนัยยะคือไม่เอาระวางดงรักทั้งหมด แต่คำถามคือไม่ใช่เฉพาะเส้นเขตแดนไทยศูนย์นะครับ คำถามคือแล้วเส้นเขตแดนสยามอยู่ตรงไหน”

ปัญหาคือในความยาวของเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา 700 กว่ากิโลเมตร แม้จะยังมีกรณีพิพาทแต่วันนี้เรามีการปักปันอย่างน้อย 73 หลัก แล้วถ้าบอกว่าไม่เอาหมด คนปวดหัวก็จะเป็นกรมสนธิสัญญาจะไปปักปันอะไร

ศาลโลกจะรับแผนที่ที่เป็นตัวแนบท้ายสนธิสัญญา

วันนี้สิ่งที่เราเห็นจากทนายฝ่ายไทยก็ไม่ได้สู้เรื่องสันปันน้ำเท่าไหร่ สู้เรื่องน้ำหนักของแผนที่ เรื่องการหาแผนที่มาแย้งกัน แต่ถึงแม้แผนที่แย้ง แต่เมื่อศาลโลกในปี 2505 ถือเอาแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เป็นหลัก นอกจากนั้นทางกระทรวงต่างประเทศยังพูดถึงแผนที่ที่ผู้เชียวชาญไทยทำขึ้นเป็นแผนที่หมายเลข 49 เราทำขึ้นแล้วลากเส้นตามแนวสันปันน้ำขอบหน้าผาแล้วก็ทำทั้งแนว แต่ปัญหาคือระหว่างแผนที่ที่เป็นแผนที่จะต้องเป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา 1907 - 1908 กับแผนที่ที่รัฐบาลไทยทำขึ้นในปี 2505 เพื่อสู้ในศาลผมคิดว่าสุดท้ายศาลโลกรับแผนที่ที่เป็นตัวแนบท้ายสนธิสัญญา

การจบ 4 แบบของคดีและทางออกกลางๆ “พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม”

แม้ว่าจะไม่พูดเรื่องเส้นเขตแดน แต่หากกลับไปอ่านคำพิพากษาปี 2505 คำพิพากษาปี 2505 พูดเรื่องเส้นเขตแดน คดีนี้มีการจบ 4 แบบ

1. ศาลไม่ตัดสิน บอกว่าศาลไม่มีอำนาจ อย่างที่พวกเราในสังคมไทยอยากให้เป็น

2. กัมพูชาได้ ไม่อยากใช้คำว่า “ชนะ” แต่ใช้คำว่า “กัมพูชาได้”

3. ไทยได้

4. เป็นไปได้ไหมออกแบบกลางๆ เพื่อที่ว่าศาลโลกจะทำให้ 2 ประเทศ ที่เป็นคู่พิพาทกันนั้นไม่นำไปสู่ความขัดแย้งและทำสงความ เช่น หากใช้พื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูเป็นเกณฑ์ก็ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดทหารถาวร ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออก และทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

เรามีพื้นที่พัฒนาร่วมแก้ปัญหากรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับมาเลเซียในแง่ของพื้นที่ทางทะเลเราเรียก JDA (Joint Development Area)ปี 51 ผมเสนอคลายๆกันเป็น JCDA หรือ Joint CulturalDevelopment Area “พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม” เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ หรือ JTA - Joint TourismAreaเอาไว้ขายทัวร์ด้วยกัน

อนาคตความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาหลังศาลโลก

เราพูดถึงโจทย์นี้น้อย เนื่องจากโจทย์ทั้งหมดมันไปพันอยู่กับการแข่งขันกีฬาที่กรุงเฮก(ศาลโลก) ดังนั้นเราไม่ค่อยตอบโจทย์อนาคต คน 2 บ้านจะอยู่กันอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดกระแสชาตินิยมลงด้วยกันทั้ง 2 ข้าง ยอมถอนทหารทั้ง 2 ส่วนออกด้วยกัน อาจจะมีกำลังตำรวจรักษาการ เป็นต้น นี่เป็นโจทย์ที่จะอยู่กับเรานานโดยเฉพาะวงวิชาการไทย เพราะโจทย์ทั้งหมดทีเราพูดถึงโจทย์ใหญ่คือ “ยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน”

เราพูดย้อนกลับไปปี 44 เราไม่พูดเรื่องเขาพระวิหาร แต่เราดูบางระจันเสร็จ แล้วเราอยากรบ เพราะปี 44 เรามีวิกฤตการณ์ที่เชียงราย พฤษภา 45 วิกฤตการณ์ที่บ้านเวียงแห เชียงใหม่ เราเกือบเข้าสู่สงครามใหญ่และของจริง ตามแนวชายแดนตะวันตก 2401 กม. ของเส้นเขตแดนไทย-พม่า เป็นเขตแดนทางบก ใน 2401 เป็นเส้นเขตแดนที่ปักปันแล้วประมาณเท่าไหร่ เข้าใจว่าอยู่ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร

ปัญหาเส้นเขตแดนเป็นปัญหาอยู่ต่อไปกับเราแน่ๆ แต่เราก็เห็นสหภาพยุโรปวันนี้เดินข้ามปัญหาเส้นเขตแดน เวทีนี้ หลายๆเวทีรวมทั้งผมชอบยกตัวอย่างร้านกาแฟระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมที่ค่อมอยู่บนเส้นเขตแดน วันนี้เปิดร้านกาแฟที่ค่อมบริเวณเส้นเขตแดนที่ภูมิซรอลเอาไหม ขายกาแฟด้วยกัน เป็นกาแฟไทยหรือกัมพูชาไม่รู้ ตกลงชื่อ “เปรี๊ยะ วิเฮียร์” และ อีกข้างชื่อ “พระวิหาร” แก้วมี 2 ด้านก็ทำ 2 ด้าน

เราสามารถสร้างทัวร์ทางวัฒนธรรมเชื่อมปราสาทหินหรือขอมที่อยู่บริเวณ 3 ประเทศคือ กัมพูชา ไทยและลาวด้วยกัน พัฒนาถนนให้ดี และยังหวังว่าคำตัดสินของศาลโลกจะไม่ใช่โจทย์ของความขัดแย้ง แต่เป็นโจทย์ที่ให้ 2 ประเทศทำงานร่วมกัน และที่สำคัญต้องบังคับด้วย จะได้ไม่ทะเราะกันและขอให้ลดกระแสชาตินิยมลง

 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์(ดูวิดีโอคลิป)

เมื่อคนเมามันกับ ‘ลีลา’

ธำรงศักดิ์ เริ่มด้วยการกล่าวถึงบรรยากาศการถ่ายทอดสดการพิจารณาในศาลว่า งานนี้เหมือนดูการชกมวยบนเวที มีเสียงโห่ร้องของสองฝ่าย ทีมทนายความก็เหมือนรู้ว่าตัวเองไม่ได้คุยกับศาลแต่คุยกับคนในประเทศตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นลีลา แต่ลีลาตรงนั้นกลายเป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนสื่อไทยจะประทับใจว่าเราได้เสียดสีกระแนะกระแหน

พอผลออกมามันกลายเป็นว่า คุณหญิงสาวคนนั้นกลายเป็นนางเอกของเรื่องอย่างฉับพลัน ผมคิดว่าที่จริงแล้ว เธอต้องรับบทระกำลำบากที่สุด ต้องคุยเรื่องที่ไม่มีใครรู้เรื่องและสร้างเรื่องหลายเรื่องเพื่อให้คนฟังทั้งที่รู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง และท้ายที่สุดทุกคนรู้สึกว่าเธอประสบความสำเร็จ ไม่ว่าสิ่งที่เธอเสนอมันคืออะไร

การต่อสู้ครั้งนี้น่าเร้าใจมาก ในฐานะของคนดูที่ปล่อยวางการเป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อไรดูในฐานะการเป็นประชากรของประเทศไทย เมื่อนั้นท่านจะรู้สึกเชียร์ลีลาของฝ่ายไทยและรู้สึกว่ากัมพูชา “ไม่แมน” ซึ่งฝ่ายไทยพยายามชี้ลักษณะนี้โดยตลอด

วาทกรรมการเสียดินแดนเกิดเมื่อไร

ตอนนี้คนฟังแต่สถานการณ์ปัจจุบันโดยลืมคิดถึงภาพรวม จึงขออ้างอิงบทความ “วาทกรรมเสียดินแดน” โดยดำรงศักดิ์ เพชรเลิศอานันท์ ในหนังสือ หนังสือ “สยามประเทศไทย: ได้ดินแดน-เสียดินแดน กับลาว และกัมพูชา” ประเด็นของบทความดังกล่าวตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าเราเสียดินแดน และในยุคที่คุยกันเรื่องนี้ในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ชนชั้นนำหรือผู้ปกครองสมัยนั้นรู้สึกไหมว่าตัวเองเสียดินแดน

ประเด็นของมันอยู่ตรงที่ว่า สิ่งซึ่งเรียกว่า “เส้นเขตแดนประเทศไทย” ใช้กระบวนการถึง 83 ปี (ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 5) กว่าจะลากเส้นทั้งหมดเป็นรูปขวานได้ เส้นแรกเริ่มเมื่อสนธิสัญญาเบอร์นี คือ เมื่ออังกฤษ ได้มะริด ทวาย ตะนาวศรี อังกฤษจึงส่งเบอร์นีมาทำการเจรจากับไทยว่าให้สองฝ่ายตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อชี้เส้นเขตแดนที่แน่ชัด แล้วเส้นก็เดินไปเรื่อยๆ ตามสนธิสัญญาต่างๆ ทำให้แผนที่นั้นมีเยอะมาก ใครก็ตามที่ไปหยิบแผนที่ใดแผนที่หนึ่งมา ต้องชี้ให้มั่นถึงบริบทของการทำแผนที่ในยุคนั้นๆ เพราะข้อตกลงมันไม่เคยหยุดนิ่ง เคลื่อนอยู่ตลอดเวลา แต่แผนที่ที่ศาลโลกจะใช้คือแผนที่ที่เป็นแผนที่ทางการที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย

งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ชนชั้นผู้ปกครองไทยรู้สึกเพียงแค่ว่าเป็น “การเสียประเทศราช” ซึ่งนับเป็นการเสียพระเกียรติยศ แต่ไม่ใช่การเสียประเทศไทยแท้ ในการอธิบายของชนชั้นนำสยามคือ ประเทศไทยแท้มีประมาณสุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก ไปจนถึงปราจีนบุรี แม้แต่โคราชเองก็ไม่ได้ถูกระบุ ส่วนทางใต้ลงไปถึงประมาณสงขลา

แล้วทำไมความรู้สึกเสียดินแดนจึงเกิดขึ้น คำตอบคือ นักวิชาการก่อนปี2475 ซึ่งไปเรียนในตะวันตกกลับมามีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งว่า ประเทศไทยมีดินแดนที่แน่ชัด และดินแดนที่เสียไปนั้นคือดินแดนของประเทศไทยเดิม

เหตุที่คุณมิรองต้องมาแถลงในศาลโลก เพราะแผนที่ประเทศไทยสัมพันธ์กับสนธิสัญญาทุกฉบับ ไล่ตั้งแต่สนธิสัญญาเบอร์นีเป็นต้นมา และสนธิสัญญาที่คุณมิรองพยายามโจมตี คือ สนธิสัญญาในปี 1904 ที่มีคณะกรรมการปักปัน เธอต้องทำให้แผนที่ภาคผนวกที่1 ของกัมพูชาดูไม่น่าเชื่อถือ นี่คือภารกิจอันดับแรกของมิรอง ภารกิจอันที่สองคือ พยายามทำให้ศาลเชื่อว่า สิ่งซึ่งรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ได้เตรียมไว้แล้วในปี 2505 คือ สิ่งซึ่งถูกต้องตามภูมิศาสตร์ เพื่อบอกว่าเรามีเหตุผล

เห็นอะไรในการแถลงต่อศาลโลก

ประเด็นสำคัญก็คือ การดูการแถลงทางวาจาของสองฝ่าย เราได้ประโยชน์อะไร

  1. ฝ่ายไทย ไม่ว่าพรรคไหนได้เข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาล ได้บทสรุปร่วมกันว่า พื้นที่อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารมีอยู่เท่ากับในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 เมื่อแถลงการณ์ร่วมเรื่องมรดกโลกเริ่มต้นขึ้น กลับไม่ยอมรับเรื่องนี้และมีแนวคิดที่แตกต่างหลายทางไม่ว่า 1. ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา 2.จะเอาก็เอาแต่ซากปรักหักพังไป ดินใต้ปราสาทเป็นของเรา 3.ทั้งซากปรักหักพังกับพื้นดินเป็นของกัมพูชา 4. ให้เป็นไปตามแนวเขตที่คณะรัฐมนตรีปี 2505 ให้ไว้

"ตีกันมานานหลายปีแต่พอขึ้นศาลโลกก็สรุปว่าเอาตามที่คณะรัฐมนตรีปี 2505 ให้ ลงตัวแล้วในกรณีของฝ่ายไทย"

  1. ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้คลี่คลายประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารลงไปจำนวนมาก และจุดสุดยอดอยู่ที่การชุมนุมไล่รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2554 เป็นประเด็นที่ชี้ว่าความขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นถูกใช้กระตุ้นปลุกเร้าในทางการเมืองได้ในระยะแรก แต่ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาว ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลต้องหาประเด็นอื่นมาสำรองไว้ เพราะประเด็นนี้ กระสุนด้าน
     
  2. สำหรับฝ่ายกัมพูชา ในการแถลงต่อศาลโลก สิ่งที่น่าทึ่งมากคือ กัมพูชาบอกว่า การที่ครม.ไทยตีรั้วลวดหนามที่ฝ่ายไทยบอกว่า 1 ส่วน 4 ตารางกิโลเมตรนั้น ที่ไทยคิดเอาเองหรือไม่ ตีความฝ่ายเดียวหรือไม่ ใช้หลักฐานอะไร เรื่องนี้ทำให้แม้แต่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็ต้องกลับมาฉุกคิด และเป็นที่มาที่มิรอง ต้องออกมายันเรื่องนี้อย่างหนักประเด็นเดียวโดยฝ่ายไทยมีการตอบโต้ว่า องค์ประมุขของกัมพูชาก็เคยเสด็จขึ้นไปที่นั่นและถูกนำเสนอในสื่อทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในทางประวัติศาสตร์และการตัดสินของศาลโลกที่ผ่านมาก หลักฐานที่น่าเชื่อถือคือ เอกสารทางการ ไม่ใช่ข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์

ปลุกกระแส ไม่ยอมรับศาลโลก

ตอนนี้ฝ่ายไทยเริ่มเคลื่อนมาสู่แนวทางว่า ศาลโลกเชื่อไม่ได้ นี่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมว่าเราจะทำให้คนไทยรู้จักศาลโลกไหม

ศาลโลกมีชีวิตมาเกือบ 1 ศตวรรษ ล้มลุกคลุกคลานมา จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงโดยระเบิดปรมาณูเกิดความเสียหายใหญ่หลวงโลกทั้งใบเห็นพ้องและพยายามทำให้ศาลโลกเป็นที่ยอมรับ กระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาก็พยายามให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดโดยเกาะเกี่ยวจากทุกภูมิภาค ไม่ใช่คัดเลือกจากมหาอำนาจ การมองว่าศาลโลกเป็นศาลการเมืองของคนไทยบางกลุ่มอาจเพราะเคยชินกับศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ในเกือบ 70 ของศาลโลก มีคดีทั้งหมด 152 คดี ทั้งที่ตัดสินไปแล้วและกำลังพิจารณา เป็นอีกตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือและการรับการยอมรับในความยุติธรรม คดีที่ใกล้กับไทยมากที่สุดคือการตัดสินข้อพิพาทระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียที่แย่งชิงโขดหิน 3 โขดในช่องแคบมะละกา ศาลโลกตัดสินในกลางปี 2551สองประเทศนี้ทะเลาะกันมายาวนานมาก แต่ทั้งสองก็ยอมรับและต้องมาเจรจาคุยเรื่องการปักปันกันต่อ

 

อัครพงษ์ ค่ำคูณ(ดูวิดีโอคลิป)

อัครพงษ์ เริ่มจากคำถามที่น่าสนใจมากของผู้พิพากษาโซมาเลีย มันเหมือนกับว่าเราต้องไปพล็อตพิกัดภูมิศาสตร์เพื่อส่งไปให้ ถ้ากลับไปดูคำพิพากษาศาลโลก 2505 เวลาอธิบายจะหยุดแค่คำว่า “vicinity”(พื้นที่ใกล้เคียง) แต่ในคำพิพากษาเขาเขียนว่า “vicinity on Cambodian Territory’ (พื้นที่ใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา) ถ้ามีคนไปเล่นแง่มุมนี้ แปลว่ากลาโหมไทยกับกระทรวงการต่างประเทศกำลังแบ่งแผ่นดินให้กัมพูชา

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไทย มีปัญหา

ปลายปี 2551 รัฐธรรมนูญไทยมีคำวินิจฉัยเรื่องคุณนพดล ปัทมะ ผมไม่แคร์ว่าฝ่ายการเมืองจะบอกว่าปราสาทเป็นของไทย แต่การที่ศาล รัฐธรรมนูญบอกว่าไทยสงวนสิทธิ์เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่ และการที่คุณนภดลไปเซ็นแถลงการณ์ร่วม  “อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศ” ผิดมาตรา 190 ทำให้นภดลลาออก ถามว่าการที่ทนายไปครั้งนี้ผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เป็นการไปยืนยันสิทธิของกัมพูชาเหนือพื้นที่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของไทย

อยากถามทางกระทรวงการต่างประเทศว่า เรื่องกฎหมายอย่างนี้มีปัญหาในประเทศไหม หรือไม่เป็นไร แปลว่าตอนนี้ประเด็นชัดแล้วว่า ไปยืนยันอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย แต่ที่ผ่านมาถ้าเราไม่ความจำสั้นเกินไปนัก เคยมีการล่ารายชื่อของผู้มีชื่อเสียง 100 กว่าชื่อที่คัดค้านยูเนสโกบอกว่ากาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้นกระทบอธิปไตยของไทย ส.ว.บางคนพูดอย่างกับว่าเอาระเบิดไปทิ้งที่ตัวปราสาท ไม่มีก้อนหินแล้ว พื้นดินก็เป็นของเรา

ข้อหนึ่งที่กัมพูชาไปยื่นศาลโลก เพราะปัญหาเรื่องดินใต้ปราสาท ไม่ใช่เรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะถ้ามีปัญหา 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นเขาคงไม่ยอมเซ็นกับคุณนภดล การที่ยอมเซ็นแปลว่าเขาต้องรับแล้วว่าไทยต้องเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารร่วม ทิศเหนือกับทิศตะวันตกจะไม่ขึ้นทะเบียน โดยการบริหารร่วมมี 3 โซน ตอนแรกเขาก็เอาตามมติ ครม.ปี 2505 และคุณวีรชัย พลาดิศัย ก็แถลงไว้ว่า สิ่งที่คุณนภดลไปทำไว้ไม่ล้ำมติครม.ปี 2505 แปลว่างานนี้ที่เราไปถ้าเอามาตรฐานศาล รัฐธรรมนูญไทยแปลว่าเราเจ๊งแล้ว เพราะระบุไว้ว่าพื้นดินใต้ปราสาทเราสงวนอยู่ ต้องเป็นไปตาม ม.190ของรัฐธรรมนูญ การไปครั้งนี้กัมพูชาพอใจ 4.6 ตร.กม.นั้นกำไร ตามแนวคำวินิจฉัยเหมือนเราไม่แน่ใจว่าดินใต้ปราสาทเป็นของใคร เพราะท่านศาสตราจารย์คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นทนายหนุ่มสมัยโน้นบอกว่าดินใต้ปราสาทเป็นของเรา เพราะเราสงวนไว้ตลอดชาติ ซึ่งจริงๆ ในแง่กฎหมายนักกฎหมายก็บอกว่าทำได้ สงวนไป

ประเด็นที่สำคัญมาก เรื่องมรดกโลกที่กำลังจะออกมาในเดือนกรกฎาคมเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มที่ การที่กัมพูชาไปศาลโลกในครั้งนี้เพื่อไปยืนยันมติ ครม.ของไทยปี 2505 แต่เราไม่เข้าใจกันเองว่าดินใต้ปราสาทเป็นของใคร อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำของทนายฝ่ายเราก็ได้ยืนยันแล้วว่าเราก็ได้ถอนทหารออกมา ภายในเส้นปฏิบัติการนั้น แต่ป้ายทั้งหลายก็ชี้ กัมพูชาก็ชี้ได้ว่าเลยจุดนี้ไปคือ vicinity (พื้นที่ใกล้เคียง) on Cambodian Territory (บนอาณาเขตของกัมพูชา) ด้วย และอย่าลืม  “on Cambodian Territory” เพราะคำพิพากษามีคำนี้ด้วย ไม่ใช่มีเพียง คำว่า “vicinity” อย่างเดียว เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ใหญ่มากๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกเอามาเล่นการเมืองไม่จบสิ้น

การสู้กันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนสำหรับที่กัมพูชาอ้างนั้น ถ้าพูดตามหลักการเขียนแผนที่นั้นหายากมากๆ เพราะเจตนาของการเขียนสนธิสัญญา 1904 มีทั้งหมด 5 ฉบับ อินโดจีน ฝรั่งเศส สยาม และเหมือนที่ อ.ธำรงศักดิ์ว่าว่า เราใช้ชื่อไทย แต่ใช้หลักฐานสยาม เจตนาของการเขียนสนธิสัญญา คือ การเขียนแผนที่เพื่อเป็นเส้นแดนบนสนธิสัญญา เวลาเราดูแผนที่ เอาเข้าจริงเป็นแค่เพียงตัวแทนบนพื้นที่และบทพรรณนาในสนธิสัญญาเท่านั้นเอง ถ้าผู้พิพากษาโซมาเลียออกมาอย่างนี้ กัมพูชาก็ตกที่นั่งลำบากว่าจะขีดตรงไหน บางทีพูดถึงร่องน้ำแต่ไม่ปรากฏในแผนที่สมัยใหม่ แม้คุณมิรองจะพูดอะไรมากมายเท่าไร แต่กัมพูชาก็ตบมาหมัดเดียวว่าไม่สน จะเอาแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เพราะไทยได้รับรองไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น ข้อต่อสู้ของไทยในประเทศเองพูดเสมอว่าไม่ยอมรับ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราต้องต่อสู้ว่าเรารับมา แต่มีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดทางภูมิศาสตร์เหล่านั้น

ดังนั้น จึงคาดว่าศาลจะไม่รับตีความ เพราะมันจะยุ่งมาก ถ้าพูดถึงพื้นที่ทับซ้อน มันจะหลีกไม่ได้ที่จะใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่บอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นอาณาเขตที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา แต่ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของการทำแผนที่แล้ว เส้นที่เกิดขึ้นในแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นั้นมันไม่มีอยู่จริง

กัมพูชาสู้แค่นี้ว่า ดินใต้ปราสาทเป็นของใคร ที่มีปัญหากันเพราะไทยเถียงอยู่นี่แหละว่าดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทยอย่าเพิ่งไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การไปครั้งนี้กัมพูชาก็ดีใจแล้วเพราะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำเร็จแล้ว ก็ขึ้นทะเบียนสำเร็จแล้ว ที่เคยขีดในฝั่งตะวันตกและเหนือก็ร่วมมือกันแล้ว กัมพูชาก็เสมอตัวหรือได้ด้วยซ้ำไป

ถ้าไม่เข้าข้างไทยหรือเขมรเกินไป กัมพูชาตีพุงรอแล้ว ขึ้นมรดกโลกสำเร็จแล้ว ถนนมันเข้ามาใน 4.6 ตร.กม.แน่นอน เขาก็อ้างว้าสร้างไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานมีอยู่แล้วจะไปเอาออกทำไม แต่คุณจะสร้างอะไรก็สร้างไป

ผมคิดว่าศาลจะไม่รับ เพราะมันจะยุ่งมากเลยในการตีความ

ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาเขตแดน แต่เป็นปัญหาการพัฒนามรดกโลก กัมพูชาแคร์แค่ว่าเงินจะมาหรือไม่มา

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเรากำลังชมมหากาพย์ เพราะก่อนหน้านี้ทนายของทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทย ก็เคยร่วมมือกันทำคดีอื่น ทนาย 1 ใน 3 ของเราก็เคยช่วยเยอรมนีฟ้องไทยมาแล้ว

 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ(ดูวิดีโอคลิป)

ทำให้พนมดงรักเป็นมรดกโลกร่วมกัน ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา

ชาญวิทย์ กล่าวว่าเรื่องนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะมันขึ้นอยู่กับพลังของลัทธิชาตินิยม และพลังนี้เราไป underestimate ไม่ได้ว่ามันจะจางหรือหายไป ข้ามชาติ มีอาเซียน เรื่องนี้อย่างไรก็จะแรงอยู่ จึงขอเสนอว่าเราน่าจะมีข้อสรุปว่า ในระยะยาวทางออกของกรณีนี้คือ การเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดให้กลายเป็นสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็น Asean Eco-Cultural World heritage หรือ มรดกโลกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ที่มีทั้งไทย กัมพูชาและลาว ผมไม่เชื่อว่าเราจะสามารถตกลงกับกัมพูชาได้ต้องเอาบุคคลที่ 3 เข้ามา โดยเราน่าจะทำให้ทั้งพื้นดิน ภูเขา น้ำ ตลอดแนวของพนมดงรักเป็นมรดกโลกร่วมกัน ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา

สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจและน่าเสียใจมากสำหรับคนไทยคือ มรดกที่เราได้มาจากขอม เขมรโบราณ เขาสร้างปราสาทวัดพู ลาวได้รับเป็นมรดกไปนำไปขึ้นมรดกโลก ปราสาทวัดพูเป็นแม่ของปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาได้ไปและนำไปขึ้นมรดกโลก ปราสาทเขาพระวิหารเป็นแม่ของปราสาทพนมรุ้ง แล้วไทยทำอะไรอยู่กับปราสาทเขาพระวิหาร ในขณะที่เขาใหญ่ก็เป็นมรดกโลกแล้ว จากเขาใหญ่ถึงคอนพะเพ็ง ถ้า 3 ประเทศร่วมกัน บรรดากรรมการทั้งหลายนักวิชาการช่วยกันสนับสนุนเราจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ครอบคลุมทั้งเทือกเขานี้เลย มองให้ใหญ่ไปเลย และดินแดนแห่งนี้จะเป็นดินแดนสันติภาพมากกว่านี้

 

ปัญหาไล่ที่ทำกินชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหารและใกล้เคียง

อัครพงษ์ กล่าวถึงปัญหาที่ทำกินของชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหารและใกล้เคียงด้วยว่า เนื่องจากเพิ่งกลับไปเมื่อช่วงสงกรานต์แล้วพบว่าชาวบ้านบางคนเพิ่งไปขึ้นศาลและโดนจำคุก เพราะเลยจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ชาวบ้านเข้าไปทำกิน สมัยปี 2518-19 รัฐบาลไทยใช้เขาไปตายเอาดาบหน้า กรณีปัญหากับกัมพูชา เขมรแดงยึด พอปี 2522 เขมรแดงแตก เขมรแดงก็ไหลออกมา ทหารไทยก็บอกว่าชาวบ้านออกไปก่อน เสร็จแล้วพอชาวบ้านจะกลับเข้าไปปรากฏว่าก็ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2541 สมัยคุณชวน หลีกภัย ชาวบ้านก็เสียค่าบำรุงพื้นที่ ภาษีบำรุงท้องที่ตลอด แต่พอเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปดูแลพื้นที่ ชาวบ้านเขาปลูกมะเขือกับพริกแค่นี้ จับเขาและเผาเถียงนาเขาเลย บอกว่าบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และที่เจ็บแสบไปกว่านั้น โควทคำชาวบ้านเลย คือ อ้างว่าเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ เป็นการอ้าง แต่พอพื้นที่ข้างๆ ปลูกสวนยางพาราได้ ไม่เป็นไร

ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่แค่พื้นที่เขาพระวิหาร แต่ทั้งเทือกเลย ตั้งแต่อำเภอน้ำขุ่น ตำบลน้ำอ้อ เสาธงชัย ภูผาหมอก ประมาณ  81,000  ไร่ ที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตอนนี้เป็นปัญหามาก มันง่ายต่อการปลุกระดม คนกรุงเทพฯบอกว่าจะเอาพื้นที่คืนๆ ไปช่วยกันเอาเขาพระวิหาร พวกเขาไปสำเร็จความรักชาติบ้านเมืองแล้วก็กลับบ้าน แต่ชาวบ้านอยู่ที่เดิม

ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อชาวบ้าน เขาถูกใช้ให้ไปอยู่ชายแดนในช่วงสงคราม เป็นเกราะป้องกันประเทศ แต่เมื่อสงครามสงบแล้ว ราชการก็เข้าไปประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ราว 81,000 ไร่ ชาวบ้านภูมิซรอล เคยไม่พอใจต่อการปลุกระดมแล้วตีกัน เขารักชาติคนละแบบกับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ราชดำเนิน แต่ตอนนี้การเมืองอาจทำให้เขาเปลี่ยนใจแล้ว เปลี่ยนสีเสื้อได้ ตรงนี้ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปแก้จะเป็นปัญหาอีก

 

วิดีโอคลิปเสวนา :

ช่วง ดามพ์ บุญธรรม นำเสนอ :

ช่วง ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นำเสนอ :

ช่วง ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นำเสนอ :

ช่วง อัครพงษ์ ค่ำคูณ นำเสนอ :

ช่วง ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นำเสนอ :

กต.ประเมิน 4 Scenario คำสั่งศาลโลก :

อ.พนัส ทัศนียานนท์ ร่วมอภิปราย และข้อเสนอ มรดกร่วม ของ ชาญวิทย์ :

ปัญหาไล่ที่ทำกินชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหาร :

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net