Skip to main content
sharethis

ชามิลา อิรอม หญิงสาวชาวมานิปูร์ ซึ่งอดอาหารประท้วงรัฐบาลอินเดียที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผ่านกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่ทหารในการควบคุมพื้นที่บางรัฐ และได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2550 ถูกรัฐบาลอินเดียฟ้องข้อหาพยายามฆ่าตัวตายหลังจากเธออดอาหารต่อเนื่องมากว่า 12 ปี

ภาพจาก youthkiawaaz.com
 

ฮินดูโพสต์รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 มี.ค.) ว่า รัฐบาลอินเดียดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าตัวตายแก่ชามิลา อิรอม โดยอ้างความผิดฐานพยายามฆ่าตัวตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และนำตัวเธอขึ้นศาล ในการไต่สวนดังกล่าว ชามิลา ตอบว่า “ฉันไม่ได้พยายามฆ่าตัวตาย ฉันเพียงแต่ต่อสู้ในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อมีชีวิตต่อไปในฐานะมนุษย์”

เธอกล่าวย้ำว่าเธอรักชีวิต และเธอจะกินอาหารทันทีที่มีการเลิกใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ (The Armed Forces (Special Powers) Act, 1958, - AFSPA,)

“ฉันรักชีวิต ฉันไม่ได้อยากตาย แต่สิ่งที่ฉันต้องการก็คือความยุติธรรมและสันติภาพ” 

ฮินดูโพสต์ รายงานด้วยว่านักเขียน ผู้สื่อข่าวได้ร่วมตัวกันประท้วงรัฐบาลอินเดียที่หน้าศาลเพื่อแสดงการสนับสนุนชามิลา อิรอม ซึ่งอดอาหารประท้วงความรุนแรงต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ 

ชามิลา เป็นหญิงสาวจากเมืองมานิปูร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว

ชามิลา เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่ปี 2544 เป้าหมายของเธอคือ เรียกร้องต่อรัฐบาลอินเดียให้ยุติความรุนแรงต่อประชาชนของตัวเองในเขตจังหวัดมานิปูร์

ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารของรัฐบาลอินเดียได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี หญิงสาวชาวมานิปูร์จำนวนมากถูกทหารอินเดียข่มขืนต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้อง และชาวมานิปูร์ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลายรูปแบบจากทหารของรัฐบาลอินเดีย

คำสัมภาษณ์ของชามิลาเมื่อสองวันก่อน (4 มี.ค.) เธอยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป และกล่าวว่าเธอประท้วงรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการปกครองประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ

เธอกล่าวด้วยว่า เธอเป็นเพียงผู้หญิงสามัญธรรมดาคนหนึ่งที่ดำเนินรอยตามหลักไม่ใช้ความรุนแรงของมหาตมะ คานธี บิดาของประเทศอินเดีย “จงปฏิบัติต่อเราเช่นที่ปฏิบัติต่อเขา (คานธี) อย่าเลือกปฏิบัติ, อย่ามีอคติลำเอียงต่อมนุษย์”

ชามิลาได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2550 

ในรายงานของสุภัตรา ภูมิประภาส ซึ่งเขียนถึงชามิลา อิรอม ระบุว่า รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นจัดการกับการประท้วงของเธอมาตั้งแต่เมื่อเธอเริ่มอดอาหารประท้วง ด้วยการให้ตำรวจจับกุมเธอในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” โดยความผิดฐาน “พยายามฆ่าตัวตาย”นั้นมีโทษปรับและจำคุกสูงสุด 1 ปี ชาร์มีลาถูกนำตัวไปคุมขังไว้แต่เธอยังยืนยันที่จะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรเธอได้นอกจากการจองจำร่างกายที่ทรุดโทรมจากการอดอาหาร ชาร์มีลาจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่โรงพยาบาลในกรุงนิวเดลฮีโดยที่เธอถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อที่ต่อเข้าทางโพรงจมูกของเธอ

แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัว ชาร์มีลายังคงอดอาหารต่อ

ชีวิตของชาร์มีลาวนเวียนอยู่ในวงจรของการถูกจับกุมในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” ต้องโทษจองจำ และได้รับอิสรภาพมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net