Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.55 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และ กลุ่ม Atheist Thai ได้ร่วมกันจัดงาน โดยผู้ร่วมเสวนาคือ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

พระสงฆ์ควรยุ่งกับการเมืองหรือไม่ color:red"> ?

ชาญณรงค์ บุญหนุน

ถ้ามองจากพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าแสดงท่าทีเหมือนไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง เวลาพระองค์ตรัสเรื่องการเมืองจะตรัสผ่านผู้อื่น ไม่ค่อยตรัสกับพระราชาโดยตรง แม้จะสนิทสนมกับกษัตริย์หลายพระองค์ แต่ก็วางระยะห่างไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และมีการบัญญัติศีลที่ห้ามภิกษุพูดเรื่องเดรัจฉานวิชา เช่น การเกณฑ์ทหาร กองทัพ การรบ อำมาตย์ พระราชา โจร ไว้ในมัชฌิมศีล จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าวางระยะระหว่างพระสงฆ์กับรัฐไว้ห่างพอสมควร
 
แต่ในกรณีองคุลีมาล พอพระพุทธเจ้าทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกสนจะยกทัพไปปราบองคุลีมาล พระพุทธเจ้าก็เข้าไปช่วยองคุลีมาล ทั้งที่องคุลีมาลในสายตาชาวเมืองสาวัตถีคือฆาตกรที่ต้องกำจัดทิ้ง ถ้ามองจากมุมของการเมืองจะเห็นว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญที่สุดคือรักษาชีวิตผู้คน จุลศีลข้อแรกระบุไว้ว่าพระสงฆ์จะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตผู้คน ไม่ว่าคนนั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม เมื่อตีเข้ากับบริบทสังคมไทยในกรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทำให้เราเห็นภาพของคนดีมีศีลธรรมในสังคมไทยที่พอเห็นว่าคนบางกลุ่มไม่ดี ก็ไม่อยากรักษาชีวิตไว้ ให้ใช้กองทัพจัดการ ซึ่งตรงข้ามกับวิธีที่พระพุทธเจ้าทำ
 
สุรพศ ทวีศักดิ์

เรื่องพระพุทธศาสนากับการเมือง ชาวพุทธมักมองว่า ถ้าพระเข้ามายุ่งกับการเมืองในแง่มาสอนธรรมะให้นักการเมืองเป็นคนดีสามารถทำได้ แต่ในระดับปฏิบัติการเช่นชุมนุมเรียกร้องเรื่องต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ในความเป็นจริงก็มีพระออกมาชุมนุมเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล พระยุ่งกับการเมืองในประเด็นที่ซีเรียสกว่านี้มาก พระเทวทัตยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูทำรัฐประหารและฆ่าบิดาตัวเอง มีข้อสังเกตว่าพระพุทธเจ้ากลับมิได้ประณามว่าพระเทวทัตมีความผิดเพราะไปยุ่งกับการเมือง เพียงแต่ให้พระอานนท์ไปพูดที่กรุงราชคฤห์ว่าสิ่งที่พระเทวทัตทำนั้นไม่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ฟันธงว่าพระจะยุ่งกับรัฐประหารไม่ได้ จึงไม่มีมาตรฐานหรือขอบเขตที่ชัดเจนว่าพระสามารถยุ่งกับการเมืองเรื่องใดได้บ้าง
 
กรณีสงครามแย่งน้ำ หรือ สงครามที่พระเจ้าวิทูฑภะยกทัพมาโจมตีศากยวงศ์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาห้ามทัพ เป็นการยุ่งกับการเมืองในเชิงปฏิบัติการ คือหยุดไม่ให้ฆ่ากัน ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเคยส่งที่ปรึกษาของตนไปถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีทำให้ยกทัพไปตีแคว้นวัชชีสำเร็จ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบตรงๆ เพียงแต่ตอบว่าตราบที่ชาวแคว้นวัชชียังปฏิบัติเคร่งครัดในธรรมมะที่พระองค์สอนนั้นก็ไม่มีใครจะไปทำลายได้ ที่ปรึกษาของพระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้วิธีวางแผนยุยงให้ชาวแคว้นวัชชีเกิดความแตกแยกจึงรบชนะ เรื่องนี้แสดงว่ากษัตริย์ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าให้คำปรึกษาด้านการเมืองไม่ได้ คนสมัยพุทธกาลเข้าใจว่าไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเรื่องพระกับการเมือง และเป็นแบบนี้มาตลอด ในสังคมไทยเรา พระก็ยุ่งกับการเมืองมาตลอด เช่นพระครูธรรมโชติในสมัยบางระจัน หรือตอนประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็มาเทศน์สนับสนุนสงครามด้วยเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ที่หมายถึง สงครามที่ธรรมะไปปราบอธรรมนั้นมีความชอบธรรม
 
กรณีคำกล่าวของพระกิตติวุฒโทที่ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เพราะเหมือนการฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ถือว่าได้บุญมากกว่าบาป ก็คือการสร้างวาทกรรมมาเพื่อรับใช้อำนาจรัฐ พระที่พูดแบบนี้จะมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ทำให้แสดงความเห็นในลักษณะที่บิดเบือน

คำถามก็คือ การใช้วาทกรรมแบบฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปก็ดี ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคนก็ดี ทำไมสังคมไทยไม่ค่อยรู้สึกว่ามันผิด หรือตื่นตัวมาเรียกร้องให้มีมาตรการเอาผิด แต่เวลาใครตั้งคำถามกับองค์กรสงฆ์ กับพระพุทธศาสนา ฯลฯ คือความผิด อย่างเช่นคุณคำ ผกา ที่วิจารณ์องค์กรศาสนา พระสงฆ์ต้องไปยื่นร้องเรียนกับกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรมให้ตรวจสอบและเอาผิด รวมทั้งกดดันให้ออกมาขอโทษ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววาทกรรมแบบฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปมันส่งกระทบต่อสังคม เป็นการอ้างอิงพระพุทธศาสนาไปสนับสนุนความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสังคม แต่คณะสงฆ์ผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาเหล่านี้ไม่ออกมาเรียกร้องให้คำผิดกับคำพูดแบบกิตติวุฒโทหรือ ว.วชิรเมธีที่ผ่านมา

เป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับไปหาชาวพุทธที่อ้างว่ารักพระพุทธศาสนา ปกป้องพุทธศาสนาทั้งหลาย ทำไมคุณไปแคร์คำด่า คำจาบจ้วง ล่วงละเมิดอะไรต่อมิอะไรต่างๆ คุณจะออกกฎหมายมาปกป้อง แต่การเอาพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ เพื่อให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง ชาวพุทธไม่แคร์

 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

จริงๆ แล้วในทางรัฐศาสตร์ ทุกๆ สถาบันในสังคมล้วนแต่เกี่ยวกับการเมืองไม่มากก็น้อย แม้เราจะบอกว่าไม่เกี่ยว อย่างการเมืองในที่ทำงานหรือการเมืองในระดับประเทศ เราเล่นการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการอ้างว่าสถาบันทางสังคมบางสถาบันไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นกลางทางการเมือง หรืออยู่เหนือการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ หรือสถาบันพระพุทธศาสนา หรือแม้กระทั่งสถาบันครอบครัว จึงเป็นเรื่องของ “การเมือง” อย่างยิ่ง เพราะอ้างว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการมีปฏิบัติการทางการเมืองบางอย่าง
 
การเมืองคือการแยกมิตรและศัตรู สถาบันทางสังคมไหนเล่นการเมืองจึงหมายความว่าสถาบันนั้นๆ กำลังเลือกข้างทางการเมือง หรือมีแนวโน้มจะไปจบที่การเลือกข้างทางการเมืองเสมอ ถ้าความขัดแย้งทางสังคมระดับชาติพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง สถาบันทางสังคมต่างๆ ย่อมแสดงออกว่าตนเองเลือกข้างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ใช่เรื่องผิดที่สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งในสังคมจะมีจุดยืนทางการเมือง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมีจุดยืนทางการเมืองหมดไม่ว่าจะเป็นสถาบันอะไรก็ตาม

แต่ที่เป็นปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันก็คือ พระสงฆ์จำนวนมากโดยเฉพาะพระสงฆ์ดังๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายชนชั้นนำในปัจจุบัน เลือกข้างทางการเมืองที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยของทั่วโลก
 
 
ไทยควรกำหนดในรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่?
 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ขอเกริ่นถึงหลักการ Secularization ก่อน กระบวนการ Secularization คือการแยกศาสนาออกจากรัฐ ก่อนหน้าโลกสมัยใหม่ที่เราอาศัยกันอยู่ถือว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดอยู่ในมือของศาสนจักร ศาสนามีอำนาจมากกว่ากษัตริย์หรืออำนาจของรัฐ มีอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ การที่โลกพัฒนาเข้าสู่สมัยใหม่ เกิดกระบวนการ Secularization คือการทำให้รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยของตัวเองโดยที่ไม่อิงความชอบธรรมจากศาสนจักร โอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากมือของพระเจ้ามาสู่มือของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ประชาชน หรือรัฐธรรมนูญ นี่คือลักษณะของรัฐสมัยใหม่ เวลาที่เราคุยกันเราต้องคุยบนฐานของความเป็นรัฐสมัยใหม่ เว้นแต่ใครบอกว่าเราต้องการอยู่ในรัฐโบราณ นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เวลาเราพูดถึง Secularization ไม่ได้แปลว่าสถาบันทางศาสนาจะไม่มีจุดยืนทางการเมือง แต่ Secularization หมายถึงการที่สถาบันทางศาสนาไม่สามารถอ้างอำนาจสูงสุดทางการเมืองได้ เพราะอำนาจสูงสุดอยู่ในมือของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สถาบันต่างๆ อาจมีจุดยืนทางการเมืองหรือเล่นการเมืองได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่โครงสร้างอำนาจรัฐสมัยใหม่ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์หรือประชาชนเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจอธิปไตยแบบ Nation state หรือรัฐชาติซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนโดยแสดงออกผ่านรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง

Concept ที่ 3 ความคิดเรื่องเสรีนิยม Liberalism เราต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นโลกสมัยใหม่ เป็นการต่อสู้กันของอุดมการณ์ทางการเมืองชุดหนึ่ง อุดมการณ์ที่ถือว่าเป็นสากลในปัจจุบันคืออุดมการณ์เสรีนิยม งานของนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ โทมัส ฮอบส์ , จอห์น ล็อค , และฌองฌาค รุสโซ หลักการสำคัญที่ทำให้ผู้อยู่ภายใต้ปกครองมอบอำนาจ จริงๆ แล้วในโลกของธรรมชาติทุกคนเท่ากัน แต่การที่เราทุกคนเท่ากันจะอยู่ในสภาวะสงคราม เพราะคนต่างแก่งแย่งต่อสู้กัน ไม่มีระเบียบทางการเมือง ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการมอบอำนาจส่วนหนึ่งของเราซึ่งเป็นอำนาจในการปกครองให้กับรัฐ โดยการมาตกลงว่าเรามอบอำนาจส่วนหนึ่งในการออกกฎหมาย ในการบริหารจัดการการปกครองให้กับรัฐ แต่สิ่งที่รัฐจะต้องทำคือ รัฐคือต้องปกป้องชีวิต นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพราะในสภาวะสงคราม การเสียชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่การเข้าสู่สภาวะภายใต้ความเป็นรัฐแล้ว สภาวะสงครามถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และรัฐจะต้องปกป้องชีวิตของผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เพราะรัฐได้แลกเปลี่ยนคำสัญญาแล้วโดยการเอาอำนาจในการออกกฎหมายมาอยู่ที่ตัวเอง แต่สิ่งที่รัฐจะต้องทำคืนให้กับผู้ที่มอบอำนาจให้รัฐก็คือการคุ้มครองชีวิต มากกว่านั้นคือการปกป้องทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพ

โลกที่เราอยู่ในปัจจุบันเป็นโลกสมัยใหม่ซึ่งวางอยู่บนความคิดแบบเสรีนิยม สิ่งที่สำคัญมากคือศาสนาไม่มีสิทธิอ้างอำนาจอธิปไตย ความชอบธรรมทางการเมืองจะต้องไม่อ้างอิงกับความเชื่อทางศาสนาโดยตรง

หลักการหนึ่งที่สำคัญของโลกสมัยใหม่คือเสรีนิยม สถาบันทางการเมืองหรือสถาบันทางสังคมใดๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐสมัยใหม่จำเป็นจะต้องยอมรับหลักการสากลอันนี้ คือคุณสนับสนุนให้มีการฆ่าใครไม่ได้ เพราะนี่คือกติกาของโลกที่เป็นสากลที่เราอาศัยอยู่ ต่อให้เป็นสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจต่อการเมืองมากแค่ไหนก็ตาม หรือได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิสนับสนุนให้เกิดการฆ่าในสังคมการเมืองแบบนี้

ถ้าดู 3 หลักการนี้ การเมือง Secularization เสรีนิยม จะพบว่าทุกสถาบันทางการเมืองสนับสนุนหรือมีบทบาททางการเมืองและเลือกข้าง แต่รัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ในการกำหนดกติกาให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างทัดเทียมกัน และรัฐแบบนี้จะไม่สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติอย่างชัดเจน และไม่กดขี่ศาสนาอื่น

ที่สำคัญคือรัฐแบบนี้ต้องดูแลคุ้มครองไม่ให้สถาบันทางการเมืองสถาบันใดสถาบันหนึ่งยุยงให้เกิดการฆ่า รวมถึงพรากทรัพย์สินและเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเรามีสถาบันทางสังคมจำนวนมากที่สนับสนุนให้เกิดการฆ่า หลักการ การเมือง Secularization เสรีนิยม เหล่านี้ยังไม่สถาปนาในสังคมการเมืองไทย เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เรายังไม่ชัดเจนหรือยังไม่ออกมาประณามการยุยงให้เกิดการฆ่า เพราะไม่รู้ว่าการฆ่ามันขัดกับหลักการซึ่งถูกสถาปนาในโลกตะวันตกมา 2-3 ร้อยปีแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก

 
สุรพศ ทวีศักดิ์

พระสงฆ์มักเอาจุดยืนทางศาสนามาเป็นจุดยืนทางการเมือง เช่นต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เอาอุดมการณ์ของพุทธไปเป็นอุดมการณ์ของชาติ ยังคิดว่ารัฐมีหน้าที่สอนคนให้มีศีลธรรมเหมือนรัฐโบราณ แต่รัฐประชาธิปไตยเป็นอีกแบบ
 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

การมีศาสนาประจำชาติขัดกับรัฐฆราวาสอยู่แล้ว รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค การที่เรายกให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเหนือกว่าศาสนาอื่น มันก็ขัดหลักความเสมอภาค แม้แต่มีกฎหมายส่งเสริมอุปถัมภ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเป็นพิเศษ โดยอ้างว่าคนนับถือศาสนานี้มากที่สุด ก็ยังไม่มีความชอบธรรมตามหลักการสากล
 
ถ้าจะมีกฎหมายมาคุ้มครองศาสนา ก็ควรจะออกกฎหมายคุ้มครองทุกศาสนาอย่างเสมอภาค แต่มันจะเลยเถิดไปถึงเอาอุดมการณ์ศาสนามาเป็นอุดมการณ์ของรัฐ แม้แต่การคุ้มครองอุปถัมภ์ศาสนาเป็นพิเศษก็ยังถูกตั้งคำถามได้ว่า แล้วถ้าคนที่ไม่นับถือศาสนาหละ เพราะเวลาที่บอกว่าอุปถัมภ์ศาสนามันก็ต้องใช้ภาษี ปัจจุบันนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใช้ปีละ 4,000 ล้านบาท ไม่รวมกรมการศาสนา ภาษีก็มาจากประชาชนทุกคนทุกศาสนาและทั้งที่ไม่มีศาสนา มองว่าถ้าตามหลักการสากลจริงๆศาสนาควรจะเป็นเรื่องของเอกชน หมายความว่าเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะนับถือ การอุปถัมภ์ ถ้าวัดไหนสำนักไหนที่พวกเขาเชื่อถือเขาก็สนับสนุนเองหรือเข้มแข็งขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เข้มแข็งขึ้นมาจากการที่รัฐเข้ามาอุปถัมภ์
 
ปัจจุบันมีกระแสที่เรียกว่า Fundamentalism คือความเคร่งศาสนาที่เชื่อว่ามีศาสนาบริสุทธิ์ เป็น movement อันหนึ่งในโลก ไม่ได้เฉพาะในประเทศไทย เช่น จำแนกว่าพุทธแท้ พุทธไม่แท้ ประณามพุทธเทียม พิธีกรรมของเจ้าก็ไม่มีอะไรเป็นพุทธแท้ มีผี พุทธ พราหมณ์ ผสมตีลังกาไปหมด ความคิดเรื่อง Fundamentalism คือเชื่อว่ามีอะไรที่มันเป็น pure ของเรื่องศาสนา และใครที่มีความเชื่อไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเชื่อว่า pure ก็จะเป็นศัตรู เราแบ่งมิตรและศัตรูผ่านการจำแนกว่าใคร pure และไม่ pure ปรากฏการณ์นี้เกิดทั่วโลก กระแสการกลับขึ้นมาของความเคร่งศาสนา Fundamentalism เกิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐอเมริกาและฝ่ายพันธมิตรเป็นคนโปรโมทอุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมขวาจัดเช่นอุดมการณ์เรื่องเจ้า เรื่องศาสนา เรื่องชนชั้นนำเดิม เพื่อใช้ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลายประเทศในตะวันออกกลางมีกระแสฝ่ายซ้ายเข้มแข็งมากช่วงหนึ่งในทศวรรษ 60-70 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนฝ่ายตาลีบัน หรือฝ่ายที่เป็น Fundamentalism เพื่อจะสู้กับฝ่ายซ้าย ในกรณีของไทย สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม กลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่ม เช่นสถาบันกษัตริย์ เพื่อใช้ต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นในกัมพูชา ลาว เวียดนาม และอีกหลายๆแห่งในโลก นี่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป

อ.ธงชัย (วินิจจะกูล) ได้พูดในปาฐกถาเรื่องมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเด็นสำคัญคือปัจจุบันนี้เรายังอยู่ภายใต้มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สถาปนาธรรมยุติกนิกาย เอาความเชื่อว่ามีศาสนาแบบบริสุทธิ์ กีดกันศาสนาในระดับท้องถิ่น ความเชื่อแบบท้องถิ่น ว่าเป็นเรื่องสามานย์ เป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องความเชื่อภูตผี และไม่ยอมให้มีอุดมการณ์หรือความคิดการตีความพระพุทธศาสนาแบบที่แตกต่างออกไป ถ้าเราอิงกับงานของ อ.ธงชัยจะพบว่าลักษณะความเชื่อมโยงกันของศาสนาพุทธหรือโครงสร้างพระพุทธศาสนาแบบนี้ยังอยู่ และยังเชื่อมโยงกับฝ่ายที่เป็นชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม เราจะเห็นว่าทำไมสังคมไทยถึงไม่อนุญาตให้เรามีวัดแบบธรรมกาย สันติอโศก หรือความเชื่อที่เราคิดว่าเป็นเรื่องนอกรีตทั้งหลาย ผมรู้สึกหงุดหงิดมากตอนที่วัดธรรมกายเดินธุดงค์ครั้งล่าสุด ไม่ใช่เรื่องรถติด แต่เป็นแวดวงปัญญาชนเสื้อแดงทั้งหลายที่ออกมาด่าว่าทำไมมหาเถรสมาคมไม่เข้ามาจัดการวัดพระธรรมกายซะที พวกนอกรีตพระพุทธศาสนา ผมรู้สึกว่าถ้ามีความคิดแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อแบบ Fundamentalism จริงๆแล้วถ้าใครจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือตีความพระพุทธศาสนาแบบไหน ก็น่าจะเป็นเสรีภาพในโลกสมัยใหม่หรือโลกของ Secular State เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ย้ำว่ามาตรฐานที่สำคัญมากก็คือความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งเชื่อในเรื่องเสรีภาพของคนและปกป้องชีวิตของมนุษย์ ใครก็ตามที่พูดว่าฆ่าได้ไม่บาปนี่เป็นเรื่องผิดปกติแล้ว รัฐไม่สามารถอ้างศาสนาเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมทางการเมืองของตนเองได้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามหลักการของโลกสมัยใหม่

 
 
ทำไมพระสงฆ์ทำไมพยายามเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเสนอ พรบ.

ชาญณรงค์ บุญหนุน
color:red">
ผมคิดว่าจินตนาการอันหนึ่งของพระสงฆ์ไทย อิงกับประวัติสตร์ พงศาวดารที่ถูกสร้างขึ้น พงศาวดารนี้ก็จะผูกสถาบันกษัตริย์กับพระพุทธศาสนาไว้ด้วยกัน พอผูกไว้ด้วยกันมากๆมันทำให้จินตนาการอย่างอื่นไม่ออก จินตนาการเกี่ยวกับแผ่นดินไทยถูกผูกกับพุทธศาสนา ความเป็นไทยถูกผูกกับความเป็นพุทธมาตลอด เราถูกสอนมาลักษณะนี้ แต่พอยุคสมัยซึ่ง การสื่อสารขยายตัว ความคิดอะไรต่ออะไรมากขึ้น คนเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ทำให้พระสงฆ์รู้สึกว่ามันมีภัยคุกคามบางอย่าง ภัยคุกคามมีลักษณะเฉพาะที่ผูกกับแผ่นดินไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง อ้างประวัติศาสตร์อินเดียตอนที่พระพุทธศาสนาล่ม เอามาหลอนว่าต้องมีคนนอกศาสนามาทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม
 
ความคิดเรื่องภัยคุกคามในไทยมีตั้งแค่ 2525 พูดถึงภัยคุกคามจากอีกศาสนาหนึ่ง พอเกิดกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ภัยคุกคามเป็นจากอีกศาสนาหนึ่ง เป็นภัยที่ชาวพุทธโดยเฉพาะคนในวัดในวาพระสงฆ์ตระหนกกับบทบาทของอีกศาสนา การต้องการกลับมารักษาที่มั่นของตัวเองทำให้เกิดกลุ่มศาสนานิยมในปัจจุบัน การที่เขาคิดแบบนี้มันเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย จินตนาการของพระสงฆ์ที่ว่าเกี่ยวกับแผ่นดินไทยเป็นของพุทธเท่านั้นยังไม่เปลี่ยนและเปลี่ยนยากเพราะมันฝังแน่นมาก อาจจะต้องกับไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับพระสงฆ์

กรณีพระมหาโชว์ ใช้ตรรกะที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายคุณค่าความเป็นมนุษย์

ชาญณรงค์ บุญหนุน

คนที่คิดแบบท่านพระมหาโชว์ แนวคิดสำคัญเกิดจากการที่เขากลัวว่าแผ่นดินนี้จะเป็นแผ่นดินของคนอื่น เวลาเขานึกถึงภัยของพระพุทธศาสนา มันคล้ายๆผังล้มเจ้า มีบางเรื่องที่พระหรือแวดวงชาวพุทธจินตนาการถึงภัยบางอย่าง เช่น แผนนารีพิฆาต ที่เชื่อว่ามีกระบวนการทำลายพระพุทธศาสนาโดยให้ผู้หญิงเข้าไปที่กุฏิพระเพื่อให้เป็นข่าว แนวคิดนี้มีมานานมาก เวลามีใครทำอะไรที่ส่งต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนามากๆอย่างพระมหาโชว์รู้สึกไม่มั่นคง ทำให้ต้องแสดงปฏิกิริยารุนแรง
 
กรณีการเรียกร้องศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญก็เป็นบทบาทหนึ่งของพระมหาโชว์ เป็นจุดยืนซึ่งไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย กรณีหนึ่งคือภาพภิกษุสันดานกา ท่านก็ออกมาพูด หรือกรณีคุณคำ ผกาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าอธิบายในเชิงจิตวิทยา อาจกล่าวได้ว่าพระท่านไม่ได้ขัดเกลาตัวเองให้ไม่มีความโกรธ ความเกลียด ซึ่งเป็นมาจากความรักพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต พอใครวิจารณ์ก็โกรธ ยิ่งคำผกาวิจารณ์มากๆกลายเป็นเกลียด ยิ่งถ้าใครมีปฏิบัติการมากๆ ในที่สุดแล้วเค้าจะผลักคนเหล่านี้ให้อยู่ในกลุ่มผู้ไม่ปรารถนาดีต่อศาสนา พระจะคิดว่าใช้วิธีการอะไรก็ได้ซึ่งจะจัดการกับคนที่เป็นภัยต่อสถาบัน ต่อศาสนา ในศรีลังกา พระสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมาจากเรื่องชาติพันธุ์และเรื่องศาสนา ในเกาหลีสมัยที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นญี่ปุ่นพระออกมาต่อสู้ผู้เป็นศัตรูกับประเทศชาติและศาสนา
 
เหมือนสังคมไทยในปัจจุบัน เวลาเราสนับสนุนแก้ 112 กลายเป็นต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงอาจจะไม่ใช่ อาจจะทำโดยปรารถนาดี แต่คนซึ่งมองจากอีกแง่มุมหนึ่ง อย่างที่ อ.วรเจตน์พูดเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อรักอะไรมากๆ ใครก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์มักถูกผลักให้กลายเป็นคู่ตรงข้าม แล้วเราก็จะเห็นชีวิตของคู่ตรงข้ามด้อยค่าลง ความเป็นอื่นทำให้เรารู้สึกว่าคนนั้นไร้ค่า ยิ่งเข้ามาอยู่ในบริบทศาสนายิ่งรู้สึกว่าพวกนี้เป็นมารศาสนา ตรรกะที่ดีจะไม่ค่อยเกิด เรามืดบอด เวลาเรารักใครมากๆ เราก็จะลืมตัว

พุทธศาสนา เป็นไปตามวิทยาศาสตร์เหตุผลหรือไม่

สุรพศ ทวีศักดิ์

ผมไม่รู้ว่าประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธจริงหรือเปล่า ในบ้านเราสถาบันกษัตริย์กับสถาบันพระพุทธศาสนายังกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ถูก การวางตัวเองไม่ถูกของทั้ง 2 สถาบัน เวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทั้ง 2 สถาบันนี้มาสนับสนุนกัน จะว่าไปแล้ว ความขัดแย้งที่ผ่านมาก็ยังมีพระเสื้อแดงเกิดขึ้น แต่พระที่มีชื่อเสียงหรือพระเซเล็บก็ไปสนับสนุนสถาบันฯ ออกมาพูดในทีวีไทยที่บอกว่าเราเอาอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เอาทศพิธราชธรรมมา บอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ประชาชนมีศักยภาพจะใช้อำนาจหรือยัง ตัวโครงสร้างของสถาบันกษัตริย์ ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆหมายความว่าเราสามารถ apply หลักสิทธิเสรีภาพสู่ทุกคนในสังคมได้เท่าเทียมกัน ถ้าเราวิจารณ์นักการเมืองได้ กษัตริย์ก็เป็นบุคคลสาธารณะเราก็วิจารณ์ได้เหมือนกัน สามารถถูกตั้งคำถามตรวจสอบได้ถ้าเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับสังคมการเมือง
 
แต่สถาบันกษัตริย์หรือฝ่ายนิยมเจ้าก็จะไม่ยอมรับเรื่องการยกเลิกหรือแก้ไข ม.112 หรือปฏิรูปสถาบันฯ ให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ในส่วนพระสงฆ์เองก็เหมือนกัน อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ความผิดพลาดของคณะราษฎรที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การไม่ยกเลิกสมณศักดิ์ ระบบสมณศักดิ์คือฐานันดรศักดิ์ของพระที่มีพระราชาคณะ อันนี้อิงกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ความดีความชอบ การเลื่อนสมณศักดิ์ก็เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นพระชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงต้องสนับสนุนพระมหากษัตริย์ด้วย โดยโครงสร้างกำหนดให้สนับสนุนอย่างนั้น พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ 2505 ก็เป็น พรบ เผด็จการในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ โครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่เรียกว่ามหาเถรสมาคมมันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ยังเป็นเผด็จการอยู่ นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
color:red">
ปัญหาเชิงความคิดอุดมการณ์ จากที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับพระ พบว่าพระสงฆ์ไม่ว่าจะสีอะไรจะมีความคิดแบบ Fundamentalism คือคิดว่าประเทศเราไม่ได้สำเร็จบริบูรณ์อยู่ที่ประชาธิปไตย หรือสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค แต่คุณค่าที่เหนือกว่าคือธรรมาธิปไตย ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยที่ดีคือต้องมีธรรมาธิปไตยกำกับ นี่เห็นได้ชัดในวาระของเสื้อเหลือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุลมักใช้คำว่า ธรรมนำหน้า ถ้าพระเลือกข้างทางการเมืองสนับสนุนฝ่ายต่างๆ ก็เป็นจุดยืนทางการเมืองที่สังคมประชาธิปไตยยอมรับได้ แต่ถ้ามันเลยไปถึงว่าต้องมีอุดมการณ์ทางศาสนาหรือธรรมาธิปไตยอะไรต่างๆมาอยู่เหนืออุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกที ถ้ามันเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่มีธรรมาธิปไตย เราสามารถตั้งอุดมการณ์ธรรมาธิปไตยมาเรียกร้องรัฐประหารได้ ถ้าคิดแบบนี้ก็เพี้ยน ปัญหาของบ้านเราคือยังมีการคิดแบบนี้อยู่ เพื่อให้เป็นธรรมาธิปไตยเราใช้วิธีเผด็จการได้ นี่คือปัญหาความสับสนเชิงอุดมการณ์และเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในพระสงฆ์ ซึ่งคล้ายกับสถาบันกษัตริย์ ตกลงจะเป็นกษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือจะทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกที เรายังเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าคิดในทางศาสนาคือเราเป็นประชาธิปไตยภายใต้กำกับของธรรมาธิปไตย แล้วธรรมะที่เราพูดถึงกันมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างอริยสัจ 4 กาลามสูตร หลักอะไรต่างๆ มันเป็น แต่ธรรมะที่เราพูดถึงคือธรรมะที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ อิงอยู่กับพระสยามเทวาธิราช ถ้าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม พระสยามเทวาธิราชจะคุ้มครอง ถ้าใครไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน ไม่จงรักภักดีต่อชาติศาสน์ กษัตริย์ พระสยามเทวาธิราชจะสาปแช่ง ธรรมะของเราก็เหมือนกัน เวลาที่เราพูดถึงทศพิธราชธรรมก็คือธรรมะที่ไปสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าเป็นเนื้อหาจริงๆ ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมะที่เรียกร้องให้ตรวจสอบกษัตริย์ ไม่ว่ามีศีล มีความยุติธรรม ยุติธรรม วิหิงสา ไม่เบียดเบียน ไม่โกรธ เสียสละ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องให้ตรวจสอบได้ ถ้าตรวจสอบไม่ได้ก็รู้ไม่ได้ เอาไว้ยกไว้อวยกันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นธรรมะที่เราพูดถึงก็จะมีความหมายเหมือนกันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เป็นวิทยาศาสตร์

ธรรมะมีความหมายซับซ้อนมาก ธรรมะเป็นคำที่ใช้กันในวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดีย ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ใช้กันมาเป็น 5,000-6,000 ปี คำคำนี้มันเดินทางมาถึงพวกเรา ความหมายมันสลับซับซ้อนมาก เราจะเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างไร ถ้าถอดความหมายออกมาจากบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า ธรรมมะคือเสรีภาพ เสรีภาพจากอิทธิพลของพ่อ คือไม่ทำตามพ่อ เพราะพ่ออยากให้เป็นกษัตริย์ แสรีภาพเกิดจากการใช้เหตุผล เห็นว่าสิ่งที่ถูกต้อง คือการแสวงหาเสรีภาพทางจิตวิญญาณ เสรีภาพที่จะเลือก ไปศึกษาเรียนรู้กับสำนักต่างๆแล้วรู้สึกไม่ใช่ก็มีเสรีภาพที่จะหลุดออกไป ลองปฏิบัติตามค่านิยมความเชื่อนี้แล้วรู้สึกไม่ใช่ก็มีเสรีภาพที่จะหลุดออกไป จนกระทั่งไปเจอทางของตัวเอง ค้นพบตัวเอง แล้วก็ตรัสรู้ เสรีภาพนี้เป็นเสรีภาพที่มีอยู่ภายในเรา แล้วเบ่งบานจนถึงจุดสูงสุด คือหลุดพ้นจากกิเลส คำว่าหลุดพ้นจากกิเลสในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิมุตติ เจ้าคุณประยุทธ์ท่านแปลว่า freedom หรือเสรีภาพจากกิเลส หมายความว่า วิมุตติเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเสรีภาพคือแก่นของธรรมะ ธรรมใดก็แล้วแต่ที่ขัดแย้งกับเสรีภาพก็ไม่ใช่ละ ศาสนาพุทธอาจจะเน้นเสรีภาพทางจิตใจแต่ย่อมไม่ปฏิเสธเสรีภาพทางสังคม ไม่เช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัวเอง ความเป็นเหตุเป็นผลของพุทธมาจากการเคารพหลักเสรีภาพ เราก็จะไม่มีวาระทางศาสนามาเป็นจุดยืนในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลักดันให้ศาสนาตัวเองเด่นกว่าคนอื่น จุดยืนทางการเมืองจุดยืนทางศาสนาไม่ผิดถ้าเป็นสันติวิธี แต่ถ้าเลยไปถึงว่าเลือกฝ่ายเพื่อมีวาระซ่อนเร้นให้ศาสนาพุทธมาเป็นอุดมการณ์ของชาติเหนือศาสนาอื่น มันผิดหลักการประชาธิปไตย หลักความเสมอภาค
color:red">
ในเชิงปัจเจกบุคคล ธรรมาธิปไตยเป็นเรื่องการหลุดพ้นจากกิเลส แต่ถ้าในสังคมการเมืองก็ต้องยึดระบบของสังคมการเมือง พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างระบบธรรมาธิปไตยขึ้นมาเป็นระบบการเมืองอีกแบบหนึ่ง ท่านสอนธรรมะในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่ได้สร้างทฤษฎีการเมืองเฉพาะแบบรีพับบลิกของเพลโต มันจึงไม่มีทฤษฎีการเมืองที่เป็นธรรมาธิปไตยโดยเฉพาะ ถ้าถามว่าธรรมาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร ก็คือหลักสิทธิเสรีภาพเสมอภาค มันจะไม่มีธรรมาธิปไตยอะไรมาอยู่เหนือตรงนี้อีก พระแต่ละคนยังพูดไม่ตรงกันสักรูปว่าธรรมาธิปไตยคืออะไร
 
 
ไสยศาสตร์?
 
สุรพศ ทวีศักดิ์

กรณี มันมี 2 มาตรฐานในเรื่องความงมงายของไสยศาสตร์ ถ้าพิธีไสยศาสตร์ที่เป็นทางการ เราไม่ได้ตั้งคำถามว่ามันงมงายหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบชาวบ้านเราบอกว่ามันงมงาย เวลารายการเรื่องเล่าเช้านี้เสนอเรื่องชาวบ้านที่เห็นอะไรประหลาดๆแล้วจุดธูปขอหวยเราก็จะบอกว่าชาวบ้านงมงาย แล้วถามว่าเวลารัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งใหม่แล้วไปจุดธูปศาลพระพรหมณ์มันก็เป็นไสยศาสตร์ แต่เป็นไสยศาสตร์ของระดับชนชั้นกลางชั้นสูงเขายอมรับก็ถือว่าไม่งมงาย แต่ถ้าเป็นชนชั้นล่างชาวบ้านเชื่อก็เป็นความงมงาย ประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณญาสิทธิราชย์ทำให้เกิด 2 มาตรฐานไปหมด ไม่ว่าจะเป็น 2 มาตรฐานทางกฎหมาย อย่างรายงานของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร ไม่ควรพูดถึงประเด็นอ่อนไหวเรื่อง ม.112 หรือเรื่องสถาบันเลย แต่ข้อเสนอเรื่องคุณทักษิณที่มี 3-4 ทางเลือก ทั้งนิรโทษกรรม ไม่นิรโทษกรรม ให้คตส.เป็นโมฆะแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ถูกโจมตีว่าเอื้อประโยชน์ให้คุณทักษิณ แต่ทำไมไม่ตั้งคำถามว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคณะรัฐประหารในเมื่อมีการระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร แล้วบอกว่าไม่ควรพูดถึงสถาบันเลย ความจริงต่างๆก็เอามาพูดไม่ได้เลย  2 มาตรฐาน รายงานนี้มากันฝ่ายอำมาตย์ออกไปเลยคือต้องไม่ผิด แต่ทักษิณอาจจะผิดก็ได้ไม่ผิดก็ได้ ถามว่าทำไมทัศนะของคนถึงเบี่ยงเบนอย่างนี้ ก็เพราะภายใต้ระบบนี้ที่เราไม่สามารถพูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ มันทำให้ทุกอย่างเบี่ยงเบนไปหมด เบี่ยงเบนทั้งในเรื่องการพูดความจริงก็เป็น 2 มาตรฐาน ความยุติธรรมทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ และเรื่องอื่นก็ 2 มาตรฐานอีกมากมาย

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ผู้คนมักเดือดร้อนตลอดในการที่มีคนเอาพระพุทธรูปไปตั้งที่ประตู หรือพระมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก คือรู้สึกว่าทำไมพวกนี้มันชั่วร้ายจัง แต่ศีล 5 ที่เป็นหลักการเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาก็แทบไม่มีใครปฏิบัติได้ อย่างการตบยุง กินเหล้า โกหก แต่ทุกคนเดือดร้อนใหญ่โตเกี่ยวกับเรื่องไม่มีศีลธรรมของคนอื่น จริงๆแล้วคนไม่ได้จริงจังกับหลักการศาสนา แต่ศาสนาเป็นเครื่องมือที่ใช้พูดอะไรบางอย่างให้ดูดี

ในรัฐโบราณ รัฐมีหน้าที่ทำให้คนเป็นคนดีซึ่งอิงกับหลักการศาสนา แต่ในรัฐสมัยใหม่ รัฐไม่ได้มีหน้าที่ให้การศึกษาเพื่อให้คนเป็นคนดี แต่มีหน้าที่ทำให้คนเรียนรู้ความเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีกับคนดีอาจจะไม่ใช่คนคนเดียวกัน คนดีแบบศาสนาอาจจะไม่ได้เป็นพลเมืองดีก็ได้ ความเป็นพลเมืองดีถูกสนับสนุนหรือให้เงื่อนไขโดยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆที่ทำให้คนประพฤติอยู่ในโครงสร้างสถาบันการเมืองนั้น ความเป็นพลเมืองดีไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว เพราะในทางปรัชญาการเมือง มนุษย์มีเสรีภาพ และเสรีภาพคือหัวใจความเป็นมนุษย์ แปลว่ายิ่งมนุษย์คิดค้นหรือครีเอทเสรีภาพแบบใหม่ๆได้ หรือขยายความสามารถในการจินตนาการการใช้ชีวิตของตนเองได้มากขึ้น สังคมการเมืองก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน ปฏิรูป หรือปฏิวัติ เพื่อทำให้ตัวเองขยายกลไกสถาบันของตัวเองที่ครอบคลุมกับเสรีภาพที่ขยายตัวมากขึ้นด้วย  ความเป็นพลเมืองดีคือการปฏิวัติตามกฎกติกาของรัฐ แต่รัฐเองก็ต้องปรับตัวเพื่อจะขยายคอนเซปต์ความเป็นพลเมืองดีของตัวเองออกไปด้วยเมื่อสถานการณ์หรือบริบทโลกเปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันนี้เราเอาพลเมืองดีไปโยงกับคนดี ซึ่งคนดีโยงกับพระพุทธศาสนา ความเป็นพลเมืองของรัฐถูกบีบให้แคบลงจนกระทั่งเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองที่สอดคล้องกับเสรีภาพของเรา เพราะความเป็นพลเมืองมันจำกัดมากจนกระทั่งเชื่อมโยงกับศาสนา เชื่อมโยงกับคนดี ซึ่งจริงๆแล้ว คนดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีแบบศาสนา และพลเมืองดีก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับคนดี คำว่าพลเมืองดีก็ยังมีลักษณะที่ขยายออกไปได้เมื่อเสรีภาพของมนุษย์ขยายออกไป มีข้อจำกัดมากในการพูดถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบันเพราะเราอิงกับมนุษย์ในแบบที่แคบมาก จนคนอื่นๆที่ไม่ตรงกับเกณฑ์แบบนี้กลายเป็นคนที่ไม่ใช่มนุษย์ไปหมด
 

พ.ร.บ.อุปถัมภ์ คุ้มครองพระพุทธศาสนา
 
ชาญณรงค์ บุญหนุน

พระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำมาปรับมีเนื้อหาการลงโทษที่เบาลงกว่าร่างของ สนช. มาก ผมต่อต้านความคิดเรื่องการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ชาวพุทธต้องคิดคือเราจะเติบโตอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย การเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งอาจทำให้ชาวพุทธรู้สึกไม่มั่นคง เพราะบทบาทของกษัตริย์หรือบทบาทของรัฐในสมัยราชาธิปไตยหายไป เป็นธรรมดาที่พระหรือคณะสงฆ์จะตกใจ เพราะเคยได้รับการอุปถัมภ์แบบเดิมๆหายไปจากรัฐสมัยใหม่ แต่สังคมก็เปลี่ยนแบบนี้เรื่อยๆ
 
รายละเอียด พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา วัตถุประสงค์มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเพื่ออุปถัมภ์ คือสนับสนุนให้กิจการของพระพุทธศาสนาดำเนินไปด้วยดี และอีกส่วนหนึ่งคือต้องการจัดการกับใครก็ตามที่มาทำให้พระพุทธศาสนามีปัญหา ใครมีกิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับเสียหาย วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้การทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาสะดวกขึ้นนั้นไม่ขัดข้อง เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน สนง จะไม่มีอิสระในการทำงานในระบบราชการที่ยุ่งยาก แต่มีปัญหาในประเด็นเรื่องการคุ้มครองที่บัญญัติมาเพื่อการกำจัดคนที่เป็นปัญหาของศาสนาในความคิดของชาวพุทธ เวลามีปัญหาบางเรื่องยังสามารถใช้กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันได้ เช่นการบิดพลิ้วพระพุทธศาสนามาหากิน ก็มีกฎหมายเรื่องการหลอกลวงอยู่แล้ว บางเรื่องเช่นการปลอมบวชก็ใช้เรื่องเทคโนโลยีอย่างบัตรสมาร์ทการ์ดมาบันทึกประวัติได้

มาตรา 11 กล่าวถึงรูปแบบคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีนายกฯ ปลัดที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงสำคัญๆเป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนามีอยู่ไม่กี่คน ถ้านายกเป็นคริสต์ หรือมุสลิมยังจะยอมให้มีมาตรากำหนดเช่นนี้หรือไม่ หรือมีนัยยะว่าผู้ที่จะขึ้นเป็นนายกไม่สามารถเป็นศาสนาอื่นได้หรือไม่ แต่ความคิดสำคัญคือการนำศาสนามาผูกกับรัฐ กรรมการกองทุนประกอบด้วยพระเป็นส่วนใหญ่ พระกับเงินเป็นปัญหาทางพระธรรมวินัยหรือไม่

“มาตรา 37 ผู้กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระศาสดา เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียงหรือสิ่งบันทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า”

โทษไม่มาก แต่ประเด็นคือเวลาพูดอะไรเป็นภาพอย่างภิกษุสันดานกาเข้าตรงนี้ ในอนาคต คนที่สร้างสรรค์งานศิลปะเสร็จเลย ถ้าออกมาในลักษณะนี้ทำให้การสร้างสรรค์งาน หรือความคิดสร้างสรรค์หายไปในสังคมไทย ภูมิปัญญาไทยตีบตันลงไหม การตีความพระพุทธศาสนาซึ่งมีความหลากหลายจะยังอยู่ไหม

สุรพศ ทวีศักดิ์


พระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเดิมมีอยู่ 4 ฉบับ ฉบับที่วิจารณ์กันมากคือฉบับของ สนช ที่ได้วิจารณ์ไปแล้วว่าเป็นกฎหมายเผด็จการยิ่งกว่ามาตรา 112 เพราะว่าการกำหนดโทษจาบจ้วงล่วงละเมิดพระศาสดากับพระธรรม 10-25 ปี แต่ทราบมาว่าร่างตัวนี้ตกไปแล้วเพราะไม่ผ่านกฤษฎีกา ร่างที่เหลืออยู่ก็คือร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ฉบับแล้ว กำลังรอบรรจุวาระเข้าสภา คงใช้เวลาอีกนาน มีการผลักดันตรงนี้มาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ร่างที่มีน้ำหนักน่าจะเป็นร่างของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติฉบับนี้ เพราะมีการบอกว่าไปทำประชาพิจารณ์มาแล้วทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค และผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแล้ว ถือว่ามีการผลักดันให้เข้มข้นกว่าฉบับอื่น

หลักการอ้างอิงรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติไว้ว่ารัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

ต้องมีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยมีนายกฯเป็นประธานกรรมการ มีพระนั่งเป็นกรรมการ เวลาประชุมมีนายกนั่งหัวโต๊ะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ตัวแทนมหาเถรสมาคมมานั่ง มองในเชิงอำนาจได้ว่าคณะสงฆ์ขาดความมั่นใจในอำนาจทางพระธรรมวินัยของตัวเอง ยกให้อำนาจรัฐมากำหนดตัวเองในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของรัฐที่ต้องมาดูแลหมดตั้งแต่ออกนโยบาย จัดการศึกษา จัดงบประมาณ แม้แต่พัฒนาให้พระมีความสามารถในการเทศน์
 
การมีสื่อทีวีวิทยุให้พระได้แสดงธรรม รัฐเข้ามาจัดการหมด ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าคณะสงฆ์จะอ่อนแอ เพราะข้อเท็จจริงคือพระสงฆ์ที่มีความเข้มแข็งในการเผยแผ่ คือพระสงฆ์ที่เป็นอิสระจากรัฐมากที่สุดอย่างเช่น สวนโมกข์ หลวงพ่อชา หรือสันติอโศก แต่พระสงฆ์ที่มีระบบโครงสร้างการบริหารจัดการใกล้ชิดกับรัฐ อย่างมหาเถรสมาคมที่เป็นพระสมเด็จต่างๆ ถามว่าชาวบ้านรู้จักผลงานของพระในมหาเถรสมาคมแต่ละรูปไหม เคยอ่านหนังสือท่านไหม มีหนังสือมากเท่า ว.วชิรเมธีไหม เราแทบไม่รู้จักผลงานทางปัญญาของท่านเลย ก็เลยไม่ทราบว่าผลงานที่เป็นการเผยแผ่ธรรมะของท่านอยู่ตรงไหน แต่ถ้ามีตำแหน่ง ไปไหนก็มีรถเบนซ์ มีรถหวอนำขบวน ถ้ารัฐต้องไปเฝ้านำทั้งหมดแบบนี้จะทำให้สถาบันสงฆ์เหมือนกับหน่วยงานราชการ คำถามคือ พระจะสามารถวิจารณ์รัฐได้ไหม สามารถมาตั้งคำถามในเชิงศีลธรรมกับรัฐได้ไหมถ้าต้องอยู่ภายใต้รัฐมากๆแบบนี้
 
ในเรื่องบทกำหนดโทษ ถ้าคิดตามรัฐประชาธิปไตยเราไม่สามารถมีกฎหมายคุ้มครองพระศาสดาได้ เพราะเราไม่รู้ว่าพระศาสดามีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในรัฐ พระศาสดาท่านปรินิพพานไปแล้ว 2,500 กว่าปี ถ้าออกกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐยังพออธิบายได้ว่ามีตัวตนอยู่ แต่ว่าศาสดาตอนนี้ไม่มีตัวตน นี่ตั้งคำถามในแง่ของหลักประชาธิปไตย และถ้าถามต่อไปว่า ถ้าไปถามพระพุทธเจ้าเอง ท่านต้องการให้มีกฎหมายคุ้มครองท่านไหม ฟันธงได้เลยว่าไม่ต้องการ เพราะพระพุทธเจ้าก็ถูกคนด่าเยอะ พระเทวทัตก็ลอบสังหารอะไรต่างๆ แต่ท่านไม่เคยโกรธ และไม่เคยเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการอะไรกับพระเทวทัตเลย
 
แล้วจะต้องคุ้มครองหลักธรรมคำสอนไหม มาตรา 38 ระบุไว้ว่าผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม ศาสนธรรมหรือพระธรรมวินัยก็คือที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าเป็นจารีตของพุทธแบบเดิม พระพุทธเจ้าจะบอกว่าถ้าใครมากล่าวโจมตีใส่ร้ายพระรัตนตรัยพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ชาวพุทธต้องมีสติ อย่าโกรธ และชี้แจงไปตามความเป็นจริง จบ จะไม่มีบทลงโทษว่าต้องไปติดคุก พูดง่ายๆว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้สร้างนักโทษทางความคิดขึ้นมา อันนี้คุณกำลังจะไปสร้างสร้างนักโทษทางความคิดขึ้นมาเหมือนมาตรา 112 ในสังคมอารยประชาธิปไตยเขาไม่มีนักโทษทางความคิด ไม่มีกรณีคุณสมยศที่ประกันตัวก็ไม่ได้
 
เวลาคนมาด่าพระพุทธเจ้าพระองค์บอกว่าเหมือนคนเอาปลามาถวาย ถ้าเราไม่รับ ก็เป็นของคนเอาถวาย คำด่าก็เหมือนกัน เขาด่าเรา เราไม่รับ ก็เป็นของคนด่า พระองค์ไม่ได้ให้ชาวพุทธเก็บคำด่ามาเป็นอารมณ์เลย แต่ทีนี้ชาวพุทธปัจจุบันกำลังจะเก็บมาเป็นโทษ เก็บมาลงโทษในทางกฎหมาย ผมถึงบอกว่าคุณกำลังสร้างกฎหมายมาปกป้องอะไร ผมอยากตั้งคำถามแบบซีเรียสเลยว่า ชาวพุทธเชื่อในธรรมะที่ตัวเองสอนไหม
 
คุณสอนเรื่องอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ทำไมคุณไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สังคมจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยทำไมคุณไม่ยอมรับ ทำไมชาวพุทธไม่มาเรียกร้องให้ผลักดันให้การเปลี่ยนแปลง แต่บางทีชาวพุทธเรียกร้องให้สิ่งที่ขัดกับประชาธิปไตยคงอยู่ แต่ไม่ยอมรับผลอนิจจังตรงนี้
 
ศาสนาพุทธเชิดชูสัจจะ เชิดชูความเป็นจริง คุณจะดับทุกข์ได้ คุณต้องรู้ความจริงของสาเหตุแห่งทุกข์ แต่ทำไมพูดความจริงเรื่องเบื้องหลังรัฐประหารไม่ได้ แล้วพระมาเทศน์เรื่องสัจจะเรื่องความจริง ถ้าคุณเชื่อตรงนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องพูดความจริงของปัญหาได้ หลักธรรมสอนแบบนี้แล้วคุณก็เชื่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ ทำไมผมไม่เห็นชาวพุทธชั้นนำดังๆ พระเซเล็บทั้งหลาย ออกมาเรียกร้องออกมาต่อสู้ให้พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาสังคมการเมือง แค่เอาความจริงออกมาพูด เมื่อมีความจริงแล้วมันถึงจะนำไปสู่ความเป็นธรรม ความถูกต้องได้ แต่เราไม่แคร์เลยว่าความจริงจะเป็นอะไร คำถามก็คือว่าที่คุณบอกว่าต้องเชิดชูเอาธรรมมะมาอบรมอะไรต่ออะไรมากมาย ถามว่าคุณเชื่อธรรมะจริงหรือเปล่า ถ้าคุณเชื่อธรรมะทำไมคุณไม่ต่อสู้ให้ธรรมะเวิร์ค ตอนนี้ธรรมะเรื่องความเป็นจริงเรื่องสัจจะมันไม่เวิร์ค
 
การเอาโทษเรื่องที่จะมาลบหลู่ดูหมิ่นพระศาสดาหรือสร้างความเข้าใจผิดพระธรรมวินัย ในระบบของศาสนาไม่มีระบบว่า คนมาโจมตีให้ร้าย สอนผิดอะไรต่างๆต้องติดคุก และการสอนผิดก็มีมาตลอด ตัวอย่างที่ภิกษุแตกแยกกันคราววัชชีหลังจากเขามาปรองดองแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปถามพระพุทธเจ้าว่าจะต้องปฏิบัติต่อสงฆ์สองฝ่ายอย่างไร พระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแก่สงฆ์ทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน และถ้าสงฆ์ฝ่ายไหนสอนถูกตามหลัก ก็จงยอมรับศรัทธาสนับสนุนสงฆ์ฝ่ายนั้น แต่ถ้าสงฆ์ฝ่ายไหนสอนผิดไม่ไม่ต้องศรัทธาไม่เชื่อถือไม่สนับสนุน จบ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าจงไปบอกพระราชาให้ออกกฎหมาย โทษที่รุนแรงที่สุดในการทำความผิดต่อศาสนาก็คือคว่ำบาตร หมายถึงให้คณะสงฆ์หรือสังคมชาวพุทธประกาศว่าคนนี้ได้ทำผิดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระรัตนตรัยอะไรต่างๆ มีการตักเตือน 2-3 ครั้งแล้วไม่ยุติพฤติกรรม คือตัดการคบค้าสมาคม เมื่อเขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ประกาศหงายบาตร คือคบค้าสมาคมกับเขาเหมือนเดิม ฉะนั้นบทลงโทษของพระพุทธศาสนาเป็นบทลงโทษในเรื่องของจิตสำนึก คือการใช้เหตุผล เน้นในเรื่องของการฟื้นฟู แต่คำถามก็คือว่ามันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องจับคนที่สอนผิดไปเข้าคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท มันไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลยไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางประชาธิปไตยหรือเหตุผลของพระพุทธศาสนา
 
และถ้ากฎหมายมาตรา 38 ผ่าน คุณคำ ผกาโดนความผิดตามมาตรานี้ คำว่าผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อพระธรรมวินัย คำว่าพระธรรมวินัยมันกว้างมาก แล้วสันติอโศกอาจต้องโดน พระธรรมกายก็ต้องโดน หมายความว่ากฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาจะกลายเป็นเครื่องมือให้ชาวพุทธเล่นกันเอง ที่สอนว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา โชคดีที่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่าน ถ้ากฎหมายนี้ผ่านเด๊ดกันไปแล้ว เพราะว่านิพพานเป็นอัตตา ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าคุณสอนอะไรที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก คุณโดนหมด แม้แต่หลวงตาบัวที่บอกว่าพระพุทธเจ้ามาแสดงความยินดีในวันที่หลวงปู่มั่นบรรลุธรรม อันนี้ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก ถ้ากฎหมายนี้ออกมาก็เสร็จ พระพุทธศาสนาสอนมาตลอดว่า ถ้ามีความเห็นต่างกันก็แยกนิกายไป นิกายไหนเพี้ยนมากสังคมก็ไม่สนับสนุนก็จบไป นิกายไหนที่ชาวบ้านเห็นว่าถูกต้องก็นับถือสืบทอดกันมา ไม่ต้องมีกฎหมาย

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ

โมเดลของเราคือรัฐประชาชาติ (nation state) ซึ่งชาติคือประชาชน ถ้าเราบอกว่าอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน การกำหนดกติกาหรือออกกฎหมาย รวมทั้งสถาบันทางการเมืองทั้งหลายต้องอิงกับหลักการว่าประชาชนคือใคร และมีความต้องการอะไร ประชาชนที่เป็นคนไทยมีทั้งคนที่นับถือพุทธนิกายต่างๆมากมาย และไม่นับถือพุทธ นับถืออิสลาม คริสต์ ฯลฯ การคิดจากเกณฑ์ว่าชาติเท่ากับประชาชน ประชาชนคืออำนาจสูงสุดที่เป็นแหล่งที่มาของสถาบันทางการเมืองและกฎหมายทั้งหลาย การระบุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็ขัดกับหลักการชาติเท่ากับประชาชนอยู่แล้ว คิดยังไงก็ทำไม่ได้ในทางรัฐศาสตร์
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net