Skip to main content
sharethis

ภาคีสุขภาพเตรียมจัดประชุมใหญ่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครบ10 ปี หลังพบช่วยลดความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพไม่ต้องล้มละลาย เดินหน้าพัฒนาสู่ความเป็นธรรมและยั่งยืน ระดมนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกำหนดอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  องค์กรด้านสุขภาพทางด้านสาธารณสุขเตรียมจัดประชุมวิชาการเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง” ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง” นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”และปาฐกถาเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า ระบบสุขภาพถ้วนหน้า” โดย ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา และหัวข้อสำคัญอีกประการหนึ่งเรื่อง “การเมืองและดุลอำนาจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” 

ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยในปีนี้เดินหน้ามาถึงเวลา 10 ปีเต็ม ภายใต้เป้าหมายหลัก คือ “การสร้างหลักประกันให้กับคนทุกคนให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ด้วยบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประชาชนพอใจ โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแก่คนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิในระบบสวัสดิการของข้าราชการและสิทธิในระบบประกันสังคม

นายแพทย์พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)  ระบบหลักประกันสุขภาพในปัจจุบันครอบคลุมประชาชนถึง 48 ล้านคน ช่วงเวลาครบ 10 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการประเมินผล ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) จึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดำเนินการประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545-2554) ผลจากการศึกษาพบว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น ลดภาระรายจ่าย และปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง การประเมินผลครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต เช่น ควรรักษาและขยายการปกป้องครัวเรือนจากภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เพื่อลดการจ่ายเมื่อไปใช้บริการ และป้องกันภาระค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายและยากจน

ผอ.สวรส.กล่าวว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสถานพยาบาลภาคเอกชนและประกันสุขภาพเอกชน ควรพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพต่างๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการไม่เลือกปฏิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระหว่างกองทุน และให้มีการเชื่อมต่อสิทธิเมื่อมีการเปลี่ยนสิทธิของสมาชิกจากสิทธิหนึ่งไปยังอีกสิทธิหนึ่ง อย่างน้อยควรต้องให้ระบบมีมาตรฐานเดียวกันในด้านสิทธิประโยชน์ วิธีจ่ายเงินที่เป็นมาตรฐานและอัตราเดียวกัน ระบบการเรียกเก็บค่าบริการ และระบบตรวจสอบ เป็นต้น

“ผลการประเมินผลดังกล่าวยังไม่ได้เผยแพร่และนำเสนออย่างกว้างขวางมากนัก รวมทั้งการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต ยังต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการ ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด และร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อให้การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานที่วางไว้อย่างสมบูรณ์ ภายใต้การดำเนินงานที่เป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สวรส. จึงได้จัดประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง ในครั้งนี้ขึ้น” ผู้อำนวยการสถาบันฯกล่าว

ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมายังพบว่า ประชาชนได้เข้าถึงยาที่จำเป็น และยาที่มีราคาสูงโดยเฉพาะยาจ.2 ยารักษาจิตเวช ยากำพร้า และยาต้านไวรัสเอดส์ นอกจากนี้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องกว่า26,000 คน โดยล้างไตประมาณ 14,000 คน และฟอกเลือดประมาณ 12,000 คน นอกจากนี้แล้ว ประชาชนยังได้รับการผ่าตัดตาต้อกระจกจำนวนมากถึงโดยเฉพาะปี 2554 มีผู้สูงอายุได้รับการผ่าตัดตาต้อกระจกประมาณ 80,000 ราย และทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วกว่า 5 ล้านราย ขณะเดียวกัน สปสช.ยังได้ลดค่ายาโดยการจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่มีราคาและอัตราการใช้สูง เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาโรคหลอดเลือด และยารักษาโรคมะเร็งบางราย ในปี 2551-2553 สามารถประหยัดงบประมาณได้ 1,800 ล้านบาท เป็นต้น

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net