Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2554 เวลาประมาณ 23 .00 น. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)ได้รับแจ้งจากนายสมาน สาทวีสุข ลูกของคนลาวอพยพอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชานี ว่าถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังจะถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ทางสถาบันฯ โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย จึงโทรประสานงานพยายามทำความเข้าใจกับจนท.ตำรวจ ถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายสมาน ว่าไม่มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากนายสมานได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ 89) ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และส่งตัวไปยังสน.พระโขนง จากนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษของวันเดียวกัน ทางสถาบันฯได้พยายามติดต่อกับพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง แต่พนักงานสอบสวน แจ้งว่าไม่สะดวกคุยทางโทรศัพท์เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนอีกกรณีหนึ่ง จนกระทั่งเช้าของวันที่ 17 เมษายน ทางสถาบันฯจึงได้แจ้งประสานงานกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับนายสมาน และแจ้งให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายสมานไปยังสน.พระโขนง โดยนายสมาน สาทวีสุข ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร ทั้งนี้จากการประสานงานทำความเข้าใจในเบื้องต้นโดยสถาบันฯร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้รับแจ้งจากจนท.ตำรวจ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนว่าขอหารือผู้บังคับบัญชาก่อนในช่วงเย็นของวันที่ 17 เมษายน และไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าใดๆ กระทั่งต่อมาในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2554 จึงได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่ายที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงได้ส่งตัวนายสมาน ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) และอาจถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรไทยต่อไป ก่อนหน้านี้ประมาณปลายปี 2553 นายสมานได้เคยถูกจับกุมโดยสน.คลองเตย และทางสถาบันฯได้ประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลของนายสมาน และได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ตำรวจปัดทำความเข้าใจสถานะบุคคล ซ้ำรอยสน.คลองตัน ทั้งนี้กรณีการถูกจับกุมตัวของนายสมาน และตำรวจไม่ทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลและส่งตัวไปควบคุมตัวที่ตม.(สวนพลู) เหมือนกับกรณีของ นายภูธร ชัยชนะ ซึ่งเป็นลูกคนลาวอพยพ พื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมาทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ถูกจับกุมตัว ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกับนายสมาน และได้รับการสำรวจได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(แบบ 89) โดยผู้ใหญ่บ้านหาดทรายคุณ หมู่ 1 ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก แล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการส่งรายชื่อพร้อมด้วยบุคคลอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับครอบครัวชัยชนะ ไปยังอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับและควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจคลองตัน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร โดยทางสถาบันฯได้พยายามประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลในชั้นตำรวจแต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการทำความเข้าใจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมานายภูธรถูกส่งตัวมายังตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ในคืนวันเดียวกัน และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ตม.สวนพลู จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 เมษายน 2554 หลังจากมีการประสานงานทำความเข้าใจและส่งหนังสือจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,หนังสือจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และหนังสือความเห็นทางกฎหมายจากสถาบันฯ ร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและการพัฒนาและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.facebook.com/note.php?note_id=175454142504414) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, SWITและองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายถึงสน.พระโขนงและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สวนพลู) ควบคุมตัวมิชอบ ส่งผลกระทบต่อผู้ทรงสิทธิอาศัยในราชอาณาจักร และสิทธิในการพัฒนาสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทย ขอให้ปล่อยตัวทันที สถาบันฯ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่านายสมาน แม้จะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่เป็นผู้มีสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทยโดยถูกต้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 การที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ควบคุมตัวนายสมาน ไว้ ย่อมเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายสมาน ได้รับการสำรวจ (แบบ 89) และการจัดทำทะเบียนประวัติ ประเภท “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” โดยผู้ใหญ่บ้าน โดยได้รับเอกสารตอบรับการสำรวจจากปลัดอำเภอโขงเจียม (แบบ 89/1) เลขที่สำรวจ 220 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารแสดงตนประเภทหนึ่ง และได้ส่งให้กับทางสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2554 นอกจากนี้ การที่นายสมาน เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จากบิดามารดาที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร ทำให้นายสมานเป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หรือเป็น “คนไทยตามมาตรา 23” ดังนั้น นายสมาน จึงมีคุณสมบัติ หรือมีสิทธิในสัญชาติไทย” เพียงแต่นายสมานจะสามารถใช้สิทธิในสัญชาติไทย ได้ต่อเมื่อนายสมานผ่านกระบวนการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยต่ออำเภอโขงเจียม ดังนั้น การควบคุมตัวนายสมาน โดยสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) จึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากมีการส่งตัวนายสมานออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทย, สิทธิในสถานะบุคล รวมถึงละเมิดต่อผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยและกำลังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพื่อจะใช้สิทธิในความเป็นคนไทยของนายสมาน หรือกล่าวได้ว่านายสมานเป็น ผู้เสียหายในคดีอาญาตามมาตรา 2 (4) ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ผู้อาจได้รับเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตาม มาตรา 9 วรรค 1(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประการสำคัญ เสรีภาพของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองและคุ้มครอง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ (มาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550) และเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันต้องเคารพในฐานะรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เวลา 15.30 น. วันนี้ ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงส่งจดหมายและความเห็นทางกฎหมาย และข้อหารือถึงแนวทางในการจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิอาศัยในราชอาณาจักรตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และสิทธิในการพัฒนาสถานะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จากการควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) กรณีนายสมาน สารทวีสุข ถึงตม. (สวนพลู) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการปรับใช้กฎหมาย และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ทางตม.(สวนพลู) ควร ดำเนินการพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของท่าน โดยปล่อยจากการกักตัวที่ ตม. และอาจส่งตัวสมานไปยังประเทศ/พื้นที่ที่นายสมานมีภูมิลำเนา /มีชื่อในทะเบียนราษฎรในปัจจุบัน ด้านคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่ง จม.ถึงตม.(สวนพลู) เรื่องสิทธิของบุคคล กรณีนายสมาน สารทวีสุข เพื่อให้ได้รับการเคารพในสิทธิขิงบุคคล ได้รับเสรีภาพโดยรวดเร็วและไม่มีการละเมิดสิทธิ หมายเหตุ: Stateless Watch Review เป็นงานสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center) ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT) แก้ไขข้อมูลล่าสุด 19 เม.ย. 2554 เวลา 22.15 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net