Skip to main content
sharethis

23 ธ.ค. 2553 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกคำแถลงว่าด้วยเรื่องการยกเลิกการบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) โดยระบุว่า ครส. ยินดีที่ทางคณะรัฐมนตรียกเลิกการบังคับใช้ พรก. เป็นเหตุให้ศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยุติบทบาทลง

แต่ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลหันมาบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แทนนั้น อาจยังส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่

จากคำแถลงของ ครส. ยังระบุอีกว่า กฏหมาย 3 ฉบับคือ พรบ. ความมั่นคงฯ, พรบ.กฏอัยการศึก และ พรก. ฉุกเฉิน นั้นล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบธรรม และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และกว้างขวาง มิได้นำมาสู่ความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในทางที่ผิดสามารถหลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมได้ อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อหลักการและพันธกรณีตามกติกา-อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  รัฐจึงต้องใช้สติในการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ตามความจำเป็นจริงๆเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

"หนทางที่ดี และเหมาะสมที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับนี้ และเร่งดำเนินเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ  ทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อหลักยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ครส. เสนอ

รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

 


คำแถลง ว่าด้วยการยกเลิกการบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
          คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ยินดีที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ได้มีมติยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ที่มีผลให้ศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยจะมีการนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาบังคับใช้แทน ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลอาจจะประกาศใช้ตามกฎหมายดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหากขาดการกำกับดูแลและการตรวจสอบการใช้อำนาจให้เคร่งครัด โดยต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นสำคัญ
                ก่อน หน้านี้ ครส. และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ได้แนะนำรัฐบาลมาโดยตลอดว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และภาพพจน์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ว่ายังขาดเสถียรภาพทางการเมือง และด้อยพัฒนาในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง จนก่อให้เกิดเหตุรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ครอบคลุมหลายรัฐบาล หลายยุคสมัย นับแต่ก่อนเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
                หลังจากการยกเลิกการใช้ พระราชกำหนดแล้ว รัฐบาลคงจะหันมาใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน ตามที่ได้ประกาศไว้ จึงขอให้รัฐบาลพึงตระหนักว่ากฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับ อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.  2551 และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบธรรม และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และกว้างขวาง มิได้นำมาสู่ความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในทางที่ผิดสามารถหลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมได้ อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อหลักการและพันธกรณีตามกติกา-อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐจึงต้องใช้สติในการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ตามความจำเป็นจริงๆเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น โดยเมื่อประกาศใช้มาตรการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว  ระมัดระวังในการใช้และมีการตรวจสอบการใช้อย่างเคร่งครัด
หนทางที่ดี และเหมาะสมที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับนี้ และเร่งดำเนินเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ  ทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อหลักยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และภารกิจของนักสิทธิมนุษยชนคือการมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบยุติธรรมในทุกมิติ ทุกภาคส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ บุคคลากรในสายงานยุติธรรม  ซึ่งถึงที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีบทบาทอย่างยิ่งในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นกฎเกณฑ์หลักของสังคม มิใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกลับกลายมาเป็นผู้ก่อปัญหา และราดน้ำมันเข้าใส่กองไฟเสียเอง 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทย ประชาชนคนไทย จะผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน และยากลำบากนี้ไปได้ในไม่ช้า สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย เป็นทั้งหลักการ วิธีการ และเป้าหมายแห่งการพัฒนาสังคม ที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งมวลในสังคม
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

22 ธันวาคม 2553 กรุงเทพมหานคร
 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net