Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. พุทธศาสนามอง “กษัตริย์” ในมิติของชนชั้นทางสังคมอย่างไร?

 

เท่าที่ผมอ่านพบในพระไตรปิฎก (ที่ไม่พบไม่รู้) ความคิดของพุทธศาสนาเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ชัดเจนเลย ปรากฏในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 11) เนื้อหาสำคัญเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์โต้แย้งความคิดแบบ “เทวสิทธิ์” ของพราหมณ์ที่สอนว่า พระพรหมสร้างโลก สร้างมนุษย์ แล้วก็แบ่งสถานะของมนุษย์ออกเป็น 4 ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
 
กษัตริย์เป็นชนชั้นปกครอง พราหมณ์เป็นชนชั้นปัญญาชน ผู้นำทางศาสนา แพศย์คือสามัญชนทั่วไป ศูทรคือพวกทาส กรรมกร สถานะทางชนชั้นดังกล่าวนี้นอกจากถูกกำหนดตายตัวโดยชาติกำเนิด (คือต้องได้มาโดยการเกิดเท่านั้น) แล้ว ยังมีความหมายที่สำคัญคือเป็นสถานะทางชนชั้นที่กำหนดความสูง-ต่ำทางศีลธรรมของมนุษย์ด้วย ซึ่งหมายความว่า คนมีความเป็นคนไม่เท่ากันเพราะมีชาติกำเนิดที่ต่างกัน
 
พระพุทธองค์ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงเสนอว่า คนไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร แต่มีความเป็นคนเท่ากันตามกฎธรรมชาติ คือ “กฎแห่งกรรม” ในความหมายที่ว่าทุกคนคือผู้เลือกการกระทำ และต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ถ้าคุณทำความดีคุณก็เป็นคนดี ถ้าคุณทำชั่วคุณก็เป็นคนชั่ว ไม่ว่าคุณจะมีชาติกำเนิดอย่างไรก็ตาม

 
2. “ความเป็นคนที่เท่ากัน” มีอยู่จริงหรือ?
 
พุทธศาสนามองความจริงสองความหมาย คือความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้น กับความจริงที่เป็นข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ สถานะทางชนชั้นเป็นความจริงที่มนุษย์สร้างหรือสมมติกันขึ้น ส่วนมนุษย์จริงๆ หรือมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในระบบของธรรมชาตินั้นไม่ได้มีสถานะสูง-ต่ำที่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ หรือถูกเลือกปฏิบัติต่างกันภายใต้กฎแห่งกรรม คือจะเป็นมนุษย์คนไหนก็ตามถ้ากระทำสิ่งเดียวกันจากเจตนาหรือคุณภาพจิตแบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน
 
ประเด็นคือ ตามวิธีคิดของพุทธศาสนาสิ่งที่มนุษย์สมมติหรือสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบจริยธรรมหรืออะไรก็ตามที่ควรจะยอมรับว่าถูกต้อง หรือควรยึดถือปฏิบัติก็ต่อเมือมันตอบสนองต่อความเป็นมนุษย์จริงๆ ตามกฎธรรมชาติ พุทธศาสนาแยกธรรมเป็นสองส่วนคือ “สัจธรรม” กับ "จริยธรรม” สัจธรรมคือข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ จริยธรรมคือระบบคุณค่าหรือแนวทางของชีวิตและสังคมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรม
 
เช่น พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งคุณค่าของคนตามระบบชนชั้น เพราะเห็นว่าเป็นระบบที่ขัดต่อสัจธรรมหรือความจริงตามกฎธรรมชาติที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” ฉะนั้น ระบบคุณค่าหรือระบบจริยธรรมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรมที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” คือ ระบบจริยธรรมที่ส่งเสริมให้แต่ละคนเป็นผู้กำหนดคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่ให้ระบบชนชั้นหรือระบบอื่นใดเป็นตัวกำหนด

 
3. แต่ละคนกำหนดคุณค่าของตนเองอย่างไร?
 
ด้วยการเลือกกระทำอย่างอิสระ ที่จริงพุทธศาสนาคิดคล้ายกับคานท์นะที่ว่า มนุษย์มีอิสระที่จะเลือกกระทำตามเหตุผลหรืออารมณ์ ถ้าเลือกทำตามเหตุผลการกระทำของเขาก็เป็นการกระทำที่ดี พุทธศาสนาก็มองว่าถ้าเราทำตามการชี้นำของกิเลส การกระทำของเราก็ไม่มีค่าเป็นการกระทำที่ดี ถ้าทำตามการชี้นำของปัญญา การกระทำของเราก็มีค่าเป็นการกระทำที่ดี
 
ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือก ฉะนั้น ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้พุทธศาสนาคิดคล้ายกับซาร์ตร์ที่ว่า “เสรีภาพต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ” ฉะนั้น ระบบจริยธรรม ระบบคุณค่าหรือระบบสังคมการเมืองใดๆ ก็ตามที่เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ หรือเป็นระบบซึ่งไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ระบบนั้นจะต้องปกป้องความเท่าเทียมในความเป็นคน และการมีเสรีภาพของมนุษย์
 
ระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ ขัดแย้งกับสัจธรรมที่ว่า “มนุษย์เท่าเทียมกัน และมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบ” พุทธศาสนาจึงปฏิเสธ เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าคนเราไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่าไร มีสถานะทางสังคมแบบไหน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเสมอ เป็นเรื่องไร้เหตุผลที่ใครก็ตามจะอ้างความสูงส่งทางชนชั้นเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ชั่วของตนเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า กษัตริย์ทำชั่วก็เป็นกษัตริย์ที่ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็เป็นพราหมณ์ที่ชั่ว แพศย์ ศูทร ทำชั่วก็ชั่วเช่นกัน

 
4. พุทธศาสนาถือว่ากษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” หรือ “เทวดาบนแผ่นดิน” มิใช่หรือ?
 
เท่าที่ผมรู้เวลาพุทธศาสนาพูดถึงเทวดา สาระสำคัญจริงๆ หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ” ใครก็ได้ที่มีคุณธรรมนี้ คือมีความละอายที่จะทำชั่ว รังเกียจที่จะทำชั่วก็ถือว่าเป็นเทวดาได้ ส่วนการเจาะจงว่า กษัตริย์คือ “สมมติเทพ” นั้น ผมเข้าใจว่า (อาจผิดก็ได้) น่าจะเป็นการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อรับรองสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองในสมัยราชาธิปไตย ไม่น่าจะใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ
 
เหตุผลก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นที่ถือว่าคนดี-เลว โดยชาติกำเนิด นี่คือหลักสำคัญ ฉะนั้น ความคิดความเชื่ออะไรก็ตามที่แม้จะอ้างว่าเป็นคำสอนของพุทธศาสนาแต่ถ้าขัดแย้งกับหลักสำคัญดังกล่าว เราย่อมสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ

 
5. แล้วที่พุทธศาสนาสอน “ทศพิธราชธรรม” หมายถึงว่า พระราชาต้องมีสถานะความเป็นคนเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปไหม?
 
ที่พระราชามีสถานะเหนือว่าคนทั่วไป เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดย “ระบบราชาธิปไตย” ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม ที่จริงทศพิธราชธรรม คือคุณธรรมของราชา หรือผู้ปกครอง (พระพุทธองค์สอนคุณธรรมนี้ในยุคราชาธิปไตย ศัพท์ “ราช” จึงตกทอดมา) สาระสำคัญของคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่การเชิดชูความเหนือกว่ามนุษย์ของราชา แต่เป็นข้อเรียกร้องต่อคนที่เป็นราชาหรือผู้ปกครองว่า ความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการมีคุณธรรม 10 ข้อ หรือทศพิธราชธรรม
 
ที่จริงทศพิธราชธรรมเป็นข้อเรียกร้องที่เข้มงวดมาก ยากจะปฏิบัติได้สมบูรณ์ เช่น ราชาต้องเสียสละ ซื่อตรง ถ่อมตัว เที่ยงธรรม ไม่โกรธ ฯลฯ จึงมีความชอบธรรมในการปกครอง หรือสมควรได้รับการยอมรับจากประชาชน ทศพิธราชธรรมไม่ได้มีความหมายใดๆ ว่าเป็นพระราชาต้องสูงส่งกว่าสามัญมนุษย์ แตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ทศพิศราชธรรมคือคุณธรรมของผู้ที่รับใช้เพื่อนมนุษย์

 
6. แนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ล่ะ คือแนวคิดประชาธิปไตยในมุมมองของพุทธศาสนาใช่ไหม?
 
ปัญญาชนพุทธบางคนมองเช่นนั้นนะ แต่ผมคิดว่า ถ้าแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึงแนวคิดทางการเมืองที่ว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์ให้เป็นประมุขของประเทศ โดยมีคณะรัฐบาลปกครองประเทศ แล้วกำหนดว่ากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ประชาชนวิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลได้ แต่ทำเช่นนั้นกับกษัตริย์ไม่ได้ ผมว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดๆ ที่มีความชอบธรรมที่จะอยู่พ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ
 
ในวัฒนธรรมพุทธจริงๆ ก็ไม่มีใครอยู่เหนือการตรวจสอบ แม้แต่ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เช่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบของสังฆะ หรือชุมชนชาวพุทธ และตามหลักกาลามสูตรพุทธศาสนาก็ให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ปัจเจกบุคคลในการแสวงหาความจริง และการตัดสินทางศีลธรรม ซึ่งแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ขัดแย้งโดยตรงต่อหลักกาลามสูตร! ผมจึงค่อนข้างแน่ใจว่าแนวคิดนี้ถูกดัดแปลงมาอย่างบิดเบือนจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรที่กล่าวแล้วตั้งแต่แรก

 
7. พุทธศาสนามองเรื่อง “คนดี” กับ “หลักการ” อย่างไร?
 
พุทธศาสนาถือว่าคนดีคือคนที่ทำตามหลักการ ไม่ปรากฏว่าพุทธศาสนาสนับสนุนการอ้าง “ความเป็นคนดี” เพื่อละเมิดหรือล้มหลักการ พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราไม่ควรมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากที่พึ่ง ทุกคนควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง แม้แต่พระองค์เองก็เคารพธรรมซึ่งหมายถึงเคารพหลักการที่ถูกต้อง ก่อนสิ้นชีวิตพระพุทธองค์ก็ไม่แต่งตั้งตัวบุคคลให้เป็นศาสดาแทน แต่ให้หลักการ คือ “พระธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ
 
แต่บ้านเรามันแปลกที่มีการอ้าง “ความเป็นคนดี” เหนือ “หลักการ” มันจึงมีรัฐประหารโดย “คนดีมีคุณธรรม” มีม็อบของคนดีมีคุณธรรมออกมาเรียกร้องให้ทหารล้มหลักการเพื่อ “ขจัดคนชั่ว” มันจึงวุ่นวายไม่จบ!
 

ถ้าเราเข้าใจพุทธศาสนาจริง ทั้งคนดีคนชั่วต้องอยู่ภายใต้หลักการ ถูกให้คุณให้โทษ หรือถูกจัดการไปตามหลักการที่เที่ยงธรรมเสมอกัน การอ้างความเป็นคนดีเพื่อล้มหลักการ หรือแม้แต่เพื่อทำลายคนชั่วย่อมเป็นเรื่องไร้เหตุผล (คือถ้าจะล้มหลักการใดๆ ต้องล้มด้วยหลักการใหม่ที่ดีกว่า) เป็น “อัตตาธิปไตย” หรือเป็นการยก “ตัวกู” เหนือทุกสิ่ง ซึ่งพุทธศาสนามองว่า เป็นการกระทำด้วยความ “ทรามปัญญา” (ทุปปัญญา) แท้ๆ เลย!

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net