Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553 มีการสัมมนาเรื่องพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ การสัมมนาในช่วงเช้าเป็นเรื่องกฎหมายกับการยุบพรรคการเมือง ผู้อภิปรายเป็นผู้ที่เคยอยู่ในพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้แล้ว มีผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

การสัมมนาในครั้งนี้ ทั้งหมดจะมีการสรุปสาระสำคัญเผยแพร่ต่อไป แต่ผมขอสรุปสาระบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังเสียก่อน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ติดตามปัญหาพรรคการเมืองน่าจะสนใจ

ในทางหลักการ ดูจะมีความเห็นตรงกันว่า พรรคการเมืองเป็นกลไกที่สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เรียกว่าเป็นของคู่กัน ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับพรรคการเมือง ในหลายประเทศไม่ต้องมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองก็ดำรงอยู่ได้และมีบทบาทอย่างสำคัญในระบบการเมืองการปกครอง ไม่มีประเทศใดยุบพรรคการเมืองกันง่ายๆ อย่างประเทศไทย และถ้าจะยุบก็จะต้องเป็นเพราะการที่พรรคการเมืองมีนโยบายเป็นมติพรรคอย่างชัดเจนไปในทางที่ขัดแย้งหรือเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อระบบการปกครองประเทศนั้น

ผู้อภิปรายทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาขัดต่อหลักนิติธรรมและทำลายระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง การที่คนๆ หนึ่งทำผิดแล้วยุบทั้งพรรค ลงโทษกรรมการบริหารทั้งคณะ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เห็นด้วย เป็นความไม่ยุติธรรมต่อคนเหล่านั้น นอกจากนั้นผลกระทบที่สำคัญมากคือ ผลที่เกิดขึ้นกับสมาชิกพรรคนับล้านๆ คน ที่ตั้งใจจะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อใช้พรรคเป็นเครื่องมือในการที่จะร่วมกันกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ต้องสูญเสียโอกาสไปด้วย เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว

ผู้อภิปรายเห็นตรงกันว่า มาตรการยุบพรรคอย่างที่ทำอยู่ ไม่มีผลดีอะไรต่อการป้องกันการซื้อเสียง และยังมีกรณีตัวอย่างด้วยว่า บางพรรคที่ถูกยุบไป ภายหลังพิสูจน์ได้ว่ากรณีที่เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค ไม่มีการซื้อเสียงเกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าผู้ที่ถูกลงโทษทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากการซื้อเสียงแต่อย่างใดเลย

ผู้อภิปรายท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า กรณีของพรรคตนเองนั้น เรื่องที่เกิดกรณีทุจริตในการเลือกตั้งนั้น เกิดในระหว่างมีความแตกแยกอย่างรุนแรงในพรรค จนพรรคอยู่ในสภาพไม่มีใครฟังใคร ไม่สามารถพูดจาอะไรกันได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนส่วนใหญ่จะไปรับรู้หรือห้ามปรามผู้อื่นไม่ให้กระทำผิดได้ ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นว่า ที่มักมีการกล่าวกันว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องดูแลคนของตนให้ดีนั้น บางสถานการณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งทำให้เห็นว่า การทำผิดคนเดียวแล้วลงโทษทั้งหมู่คณะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ผู้อภิปรายที่มาจากพรรคเล็กๆ ที่เคยถูกยุบด้วยเหตุที่ใช้เงินสนับสนุนจาก กกต.ผิดวัตถุประสงค์อธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า มีพรรคเล็กๆ ถูกยุบไปมากมายจากกรณีทำนองเดียวกันนี้ บางพรรคทำผิดจากการใช้เงินสนับสนุนผิดวัตถุประสงค์เพียง 4 บาท ก็ถูกยุบพรรคมาแล้ว กรณีนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังมีการพิจารณาคดีอยู่ ทำให้เห็นว่ากรณีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่กรณีแปลกใหม่หรือพิเศษอะไรจากพรรคหลายพรรคที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้แล้ว จะต่างก็เพียงแต่ว่ากรณีของพรรคประชาธิปัตย์มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมากกว่าพรรคเหล่านั้นมากเท่านั้นเอง

แต่เมื่อผมถามว่า หากเห็นว่าควรแก้กติกาว่าด้วยการยุบพรรคเสียให้ถูกต้องแล้ว ควรจะแก้เมื่อไร จะแก้ตอนนี้ก็อาจถูกมองว่าจะเป็นการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่แก้ก็เท่ากับปล่อยให้มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำลายพรรคการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้อภิปรายบางท่านก็ยืนยันว่า หลักการต้องเป็นหลักการ คือไม่ควรปล่อยให้ระบบกฎหมายที่ผิดทำลายพรรคการเมืองต่อไป

ฟังดูก็คล้ายกับว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าดูรายละเอียด ขั้นตอนการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็จะเห็นว่าคดีนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นกว่าจะมีการแก้กฎหมายยุบพรรคการเมือง คดีพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะเป็นที่ยุติไปทางใดทางหนึ่งไปแล้ว เรื่องที่ห่วงว่าการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคจะเท่ากับเป็นการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้นจากการยุบพรรคจึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก

ต่อจากนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสัมมนา แต่เผอิญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน จึงขอให้ความเห็นต่อเนื่องกันไป

จากการที่ได้ติดตามข่าวการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงการให้การพยานปากสุดท้าย คือพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ในสภาพอาการหนักมากทีเดียว เนื่องจากคำให้การของพยานและหลักฐานที่ใช้แสดงต่อศาลมีความแน่นหนามาก เห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำผิดอย่างเป็นระบบ และการซักค้านของทนายพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถหักล้างเนื้อหาสาระของพยานหลักฐานต่างๆ ได้ ทนายของพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการทำลายความน่าเชื่อถือของพยานเพียงอย่างเดียว ซึ่งในกรณีหลังสุด การทำลายความน่าเชื่อถือก็ถูกตอบโต้กลับในทุกประเด็นด้วยความทันเกมของพยาน ซึ่งได้ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนมาก่อน จึงรู้ข้อมูลของคดีอย่างละเอียด และยังจับทางทนายของพรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกด้วย

หลังจากนั้น นอกจากพรรคประชาธิปัตย์จะได้ส่งคนหลายคนออกมาตอบโต้พยานสำคัญรายนี้อย่างดุเดือดผ่านสื่อมวลชนแบบที่มักทำเป็นประจำฝ่ายเดียวเสมอมา และยังมีประเด็นใหม่ว่าจะมีการสอบสวนเอาผิดพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ในข้อหาปกปิดเทปลับนั้นไว้ ไม่ยอมส่งให้พนักงานสอบสวนหรือศาลก่อนหน้านี้

การสอบสวนนี้จะมีขึ้นจริงหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร คงเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป ที่แน่ๆ จะหวังให้การสอบสวนนี้เป็นไปโดยยุติธรรมคงจะยากเต็มที เพราะดูแล้วกระบวนการยุติธรรมและดีเอสไอได้ทยอยเล่นงานผู้ที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนคดียุบพรรคหลายคนอย่างต่อเนื่องกัน สำหรับกรณี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย นอกจากจะถูกย้ายไปอยู่กระทรวงอื่นแล้ว ยังเคยถูกผู้มีอำนาจในกระทรวงยุติธรรมเรียกตัวมาทั้งปรามทั้งขู่ให้หยุดทำอะไรที่จะเป็นผลเสียต่อพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว แต่จากการให้การในศาลครั้งล่าสุดก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การกลั่นแกล้ง ปราม หรือข่มขู่ที่เกิดขึ้น ไม่มีผลต่อพยานปากสำคัญรายนี้เลยแม้แต่น้อย

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ยังเหลือการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องอีกหลายปาก คงเป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจติดตามยิ่งกว่านั้นคือ ผลการพิจารณาจะออกมาในรูปใด บอกตามตรงว่า ผมไม่กล้าฟันธงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่ ดูจากพยานหลักฐานพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะรอดได้ แต่การที่ทนายของพรรคประชาธิปัตย์เน้นการทำลายความน่าเชื่อถือของพยาน ช่องออกที่จะช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์หลุดพ้นจากการยุบพรรค ก็อาจเป็นการตัดสินโดยอ้างว่าความไม่น่าเชื่อถือของพยานก็เป็นได้

ที่ผมอยากจะนำเสนอต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือการพิจารณาคดีเลย แต่อยากจะขอเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการวิเคราะห์สถานะบ้านเมืองกันต่อไปดังนี้

ข้อเสียของการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือเป็นการทำลายพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งลงไป ที่สำคัญคือ เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด และมีสมาชิกพรรคมากที่สุดในปัจจุบันเสียด้วย ระบบพรรคการเมืองโดยรวมจะยิ่งอ่อนแอลง เป็นการตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมจากระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทย การยุบพรรคประชาธิปัตย์ย่อมจะส่งผลให้รัฐบาลปัจจุบันต้องล้มลง ต้องตั้งรัฐบาลกันใหม่ พร้อมกับการสูญเสียบุคลากรทางการเมืองที่มีความรู้ความสามารถไปอีกหลายคน รวมทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ด้วย

ข้อดีของการยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การแสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของประเทศยังพอมีมาตรฐานอยู่บ้าง คือ ไม่เลือกปฏิบัติหรือเป็น 2 มาตรฐานจนเกินไป ระบบยุติธรรมซึ่งกำลังเสื่อมและไม่เป็นที่น่าเชื่อถือก็อาจจะชะลอความเสื่อมเสียจากความเป็น 2 มาตรฐานลงได้บ้าง การยุบพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ในสภาพถูกยุบ ถูกทำลายจนเกือบถ้วนหน้า ซึ่งก็อาจทำให้ทั้งพรรคการเมืองเองและผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ อาจหันมาคิดกันอย่างจริงจังว่า จะแก้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคให้ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมได้อย่างไร

นอกจากนี้สังคมไทยก็อาจได้คิดกันมากขึ้นว่า การรัฐประหารและกระบวนการที่ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยที่ยาวนานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปีนี้ ได้ทำลายระบบพรรคการเมืองจนยับเยิน ถึงขั้นที่ทุกฝ่ายควรหันมาคิดกันได้แล้วว่า ควรจะทำให้พรรคการเมือง กลับมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร และสังคมไทยจะหยุดยั้งกระบวนการที่ทำลายประชาธิปไตยจนเสียหายย่อยยับอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net