Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนอีสานส่งจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนถึง พอช.ตั้งคำถามถึงเรื่องความไม่ชอบธรรมและความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณกระบวนการพิจารณาสนับสนุน“งบประชาสังคม”

 
NGOs และองค์กรภาคประชาชนในอีสาน 17องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ตั้งคำถามถึงเรื่องความไม่ชอบธรรมและความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณกระบวนการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า “งบประชาสังคม” ที่ถูกกำหนดขึ้นโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
 

ที่ กสส. 67 / 2552
 
8 ธันวาคม 2552
 
เรื่อง      ขอให้ทบทวนกระบวนการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ โครงการเสริมสร้างขีดความ
            สามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
เรียน      ผู้จัดการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานปฏิบัติการภาค
            ตะวันออกเฉียงเหนือ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย      -หนังสือ  ที่ พิเศษ/2552 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 โดยคณะกรรมการ
                         ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน, คณะกรรมการพิจารณา
                        โครงการขนาดเล็ก (PRC) ภาคอีสาน และคณะกรรมการพิจารณาโครงการภาค
                        อีสาน ลงนามโดย นางปรียานุช ป้องภัย
 
            เนื่องจากทาง กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) และภาคี/เครือข่าย ได้รับจดหมาย เรื่อง เปิดรับโครงการประจำปีงบประมาณ 2552/2553 (ตามเอกสารแนบ-สิ่งที่สงมาด้วย) ทาง กสส. และภาคี/เครือข่าย ได้พิจารณาตามหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับขั้นตอน กระบวนการ ตลอดจนกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นผู้พิจารณาโครงการด้วยประการทั้งปวง และมีทั้งคำถาม ข้อเสนอ และข้อเรียกร้องกับทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดังนี้
1. งบประมาณ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช.ได้อนุมัติการสนับสนุนงบประมาณให้กับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน และคณะกรรมการพิจารณาโครงการขนาดเล็ก (PRC) ตั้งแต่เมื่อไหร่ ? หรือ เป็นการสมอ้าง เพื่อเอาผลประโยชน์ไปแจกจ่ายในหมู่พวกพ้องของตนเอง งบประมาณเป็นเงินภาษีของประชาชนมิใช่หรือ ? แต่ทำไม ? ประชาชนอื่น ๆ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในภาคอีสาน ไม่เห็นจะรู้เรื่องด้วยเลย ถามว่า มีความถูกต้องและยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร ? (โปรดดู เนื้อความจดหมายที่ส่งมาด้วยแล้ว ตั้งแต่ย่อหน้าที่ 1 จนจบจดหมาย)
2. ทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานปฎิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจน คณะกรรมการสถาบันฯ อนุกรรมการภาคฯ ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการภาคอีสาน อย่างที่ กป.อพช.ภาคอีสาน แอบอ้างไปตั้งแต่เมื่อใด (โปรดดู รายชื่อ ในข้อ 4 เอกสารประกอบหน้า 3 ) และรายชื่อคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งชุดนี้ชุดเดียว แล้วให้เป็นผู้พิจารณาตลอดปีตลอดชาติหรืออย่างไร ? หรือว่า คณะกรรมการพิจารณาฯ สามารถเป็นได้เลยตามสายเลือด (ของ กป.อพช.อีสาน ?)   แล้วอย่างนี้ ประชาชนอื่น ๆ กลุ่มภาคประสังคมอื่น ๆ จะเข้าถึงงบประมาณได้อย่างไรกัน
3. ใน ข้อที่ 6 ของเอกสารประกอบ หน้า 4 กลไกการติดตามสนับสนุน เมื่อดูรายชื่อแล้ว ที่อ้างองค์ประกอบจากนักพัฒนาอาวุโสในภาคอีสานนั้น ใครหรือ ? เป็นคนยกย่องให้พวกเขาเป็นนักพัฒนาอาวุโส แล้วนักพัฒนาอื่น ๆ เป็นไม่ได้หรืออย่างไร ? ทั้ง ๆ ที่คนอื่น ๆ ก็อาจมีประสบการณ์ และอาจมีสติปัญญา หรือ อาจมีสิ่งที่เรียกว่า กึ๋น มากกว่าบรรดาผู้ที่มีรายชื่อตามกลไกการติดตามสนับสนุน จำนวน 11 คน นั้นก็ได้ แต่พวกอื่น ๆ ไม่มีความหมายเลยหรืออย่างไร ? อย่างนี้ จะเรียกกระบวนการตั้งแต่ข้อ 1 – ข้อ 3 นี้ว่า “การชงเอง – กินเอง – ติดตามตรวบสอบเอง” ครบทุกอย่างได้หรือไม่ ?
 
ดังนั้น ทาง กสส. และภาคี/เครือข่าย (ดังรายนามต่อท้ายจดหมายทั้งหมด) จึงมีข้อเรียกร้อง
กับทางผู้เกี่ยวข้องทุกคน คือ
1. ให้ยุติกระบวนการพิจารณาโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
2. ให้ประกาศกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯอย่างโปร่งใส โดยมีองค์ประกอบที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่ม องค์กร ภาคประชาสังคมทุกส่วน
3. เมื่อมีรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ จึงให้ประกาศขั้นตอน กระบวนการพิจารณาโครงการ ให้ประชาชน กลุ่ม องค์กร ภาคประชาสังคม ให้รับรู้โดยทั่วไป และให้การพิจารณาอย่างยุติธรรมเปิดเผย ไม่ใช่กลุ่มใดไม่ใช่พวกของ กป.อพช.อีสาน หรือ พวกที่เรียกตัวเองว่า PRC เป็นคนพิจารณาให้เฉพาะพวกตนเองอย่างที่เป็นมาแล้ว และกำลังจะเป็นอีก(คนื่อน ๆ เกิดมาเขายังไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย แต่เขาทำงานพัฒนาอีสานมามากกว่าพวกนี้อีก)
4. คำถามสุดท้าย ถามว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีมานี้ พวกเขาเหล่านั้นกินกันยังไม่อิ่มกันอีกหรืออย่างไร ?
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(นายพิชิต พิทักษ์)
ผู้ประสานงาน กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) และภาคี/เครือข่าย
 
 

รายชื่อกลุ่ม/องค์กรภาคประชาสังคม ที่เสนอโครงการฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาโครงการฯ ตามหนังสือข้างต้นนี้   ประกอบด้วย
1. นายพิชิต       พิทักษ์               โครงการโรงเรียนสร้างผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ภาคอีสาน
2. นายนีณวัฒน์  เคนโยธา            โครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนแม่น้ำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์
3. นายสุพจน์      แก้วแสนเมือง      โครงการเสริมศักยภาพผู้นำเพื่อการพัฒนาเครือข่ายดงมูล
4. นายเดชอนันต์ พิลาแดง            โครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนแกนนำจังหวัดมหาสารคาม
5. นายชัน         ภักดีศรี               โครงการพัฒนาขบวนงานตำบลเพื่อการสร้างต้นแบบชุมชนที่
                                                เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
6. นายไพรทูรณ์ พรมนอก            โครงการส่งเสริมบทบาทเครือข่ายเยาวชนและแกนนำเยาวชน
7. นายไกรทอง เหง้าน้อย โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกลุ่มแกนนำเยาวชนภาคอีสาน
8. นายสมพงษ์ สิงห์ทิศ                โครงการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
9. นายอดิศักดิ์ ใจหาญ                โครงการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและ
                                                สิ่งแวดล้อม
10. นายมานะ พลงาม                   โครงการพัฒนาขบวนการเรียนรู้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
11. นายบุญเกิด ทองนะ                โครงการพัฒนาเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา
                                                การเกษตรกรรม
12. นายจีระศักดิ์ ตรีเดช                โครงการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายภาคีความร่วมมือใน
                                                ท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำป่าสัก
13. นายสมเกียรติ วงศ์เฉลิมมัง       โครงการพัฒนาการเรียนรู้การเมืองภาคพลเมือง
14. นายพรเวศ คนล่ำ                   โครงการเรียนรู้ปัจจุบันเข้าใจประวัติศาสตร์     
15. นายวิมล สามสี                      โครงการพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มคนรุ่นใฝหม่ยโสธร
16. นายนิรัติศัย ขันทอง                โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง
17. นายเลื่อน ศรีสุโพธิ์                 โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถผู้นำองค์กรชุมชน
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net