Skip to main content
sharethis

 

ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2552  ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 10 หัวข้อ “ความขัดแย้งและทางออกทางการเมือง” โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีการนำเสนอผลงานวิจัยการ 100 ชิ้น และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไทย และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ต่อไปนี้ เป็นการสรุปประเด็นจากการประชุมครั้งนี้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ภาคใต้


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

 

......................................................

 

เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 2 วันเต็ม มียอดผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,500 คน มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ 108 ชิ้น ซึ่งมีหลายหัวข้อไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง นโยบายสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือหัวข้อเฉพาะอย่างเรื่องชายแดนใต้ เพราะฉะนั้นการสรุปของผมจะสรุปเท่าที่เข้าใจ

สำหรับในการประชุมในครั้งนี้ หัวข้อ คือ ความขัดแย้งและทางออกทางการเมืองไทย เป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ท้าทายในปัจจุบันมาก

การนำเสนอนับตั้งแต่วันแรก คือ การพูดของ Dr.Duncan Mc Cargo จากมหาวิทยาลัยแห่งลีด สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นวิชาการชั้นนำในด้านการเมืองไทย และมีประสบการณ์ในการทำวิจัย จะลึกซึ้งในเรื่องปัญหาความรุนแรงในจังหวัด ชายแดนใต้

เขาสามารถที่จะนำเสนอประเด็นที่กระตุ้นหรือท้าทายการคิดของนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ในประเทศไทย เป็นนักวิชาการชาวต่างประเทศที่มาพูดคุยเรื่องการเมืองไทยมากพอสมควร

จุดที่ท้าทายก็คือ มีบางเรื่องที่เรา อาจไม่กล้าพูดเต็มที่ ในเรื่องของการแก้ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะดูอย่างเห็นได้ชัด คือ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดที่มีการพูดกันมาก คือ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ออโตโนมี (Autonomy: ความอิสระ, ปกครองตนเอง, เอกราช, สิทธิในการปกครองตนเอง) ซึ่ง Dr.Duncan บอกว่า ไม่อยากแปลเป็นไทย เพราะมันเป็นคำที่ ค่อนข้างจะแสลง หรือ เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสังคมไทยมากพอสมควร

ในห้องเสวนาเรื่องปรัชญาการเมือง ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บัญญัติคำว่า ออโตโนมี เป็นภาษาไทย ให้มีความเข้าใจได้ง่าย แต่ก็ทำให้มีความรู้สึกคลุมเครือดี คือใช้คำว่า อัตตบัญญัติ ซึ่งผมคิดว่าก็น่าสนใจ ถ้าหากเราจะคิดว่า นี่คือเรื่องของการทำให้เกิดการแก้ปัญหา โดยที่รัฐและประชาชนในท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิวินิจฉัยหรือตัดสินใจในเรื่องของตัวเอง ในเรื่องระเบียบ กฎหมาย หรือวิธีการจัดการแก้ปัญหาของท้องถิ่นด้วยตัวเอง นี่ก็คือคำว่า ออโตโนมี

ทางออกอันนี้อาจจะเป็นทางออกที่ดี และเสริมด้วยการนำเสนอของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวในช่วงเช้่าวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ว่า มันมีปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกหลายอย่างในสังคมการเมืองไทยและการบริหารระบบราชการต่างๆ ที่ยังมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายความรับรู้ ความเข้าใจ ของนักรัฐศาสตร์เเละนักรัฐประศาสนศาสตร์เป็นอย่างมาก และการหาทางออกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

และในอนาคตอันใกล้หรือปีหน้าความยากสำบากหรือว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะเข้าใจได้ อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายเรา

ประเด็นที่น่าสนใจมีอยู่ว่า อะไรเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาในเรื่องการเมือง การปกครองหรือการบริหาร สำหรับประเทศไทยในช่วงการต่อสู้หรือเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะความขัดแยงทางการเมือง ความขัดแย้งในประเด็นปัญหาชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง หลายอย่างที่ประสมกันทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค

นี่คือสิ่งที่อาจต้องหาคำตอบในนามของนักรัฐศาสตร์เเละนักรัฐประศาสนศาสตร์ว่า อะไรคือแนวคิดที่เราต้องเอามาคิดใคร่ครวญ เพื่อจะหาทางออกในลักษณะที่ดี มีสติปัญญา มีเหตุผล

ประเด็นที่ได้ยินการพูดกันค่อนข้างบ่อยมาก ในหลายๆเวทีที่ผมได้รับฟังคือประเด็นเรื่องรัฐชาติหรือเนชั่นสเตท ของรัฐไทย อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่อาจจะไม่สอดคล้อง กับ โลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐชาติอาจจะต้องมีการปรับตัว เขาไปสู่ลักษณะแบบใหม่

ลักษณะแบบใหม่ที่เราพูดกันก็คือ สามารถที่จะเป็นรัฐชาติที่มีความเป็นประเทศโดยอาจไม่มีชาติ หรือเป็นประเทศที่มีหลายชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดการก้าวข้ามไปสู่จุดนั้นได้ ความเป็นรัฐชาติแบบเก่าก็จะเปลี่ยนแปลงไป

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ในปัจจุบันคือ คล้ายๆ กรอบความคิด หรือกระบวนทัศน์ใหม่ที่นำไปสู่การเข้าใจรัฐหรือรัฐชาติ หรือการบริหารการจัดการ หรือระบบอะไรก็ตามที่สร้างขึ้นมาภายใต้กรอบใหม่ ที่เกินเลยภาพพจน์รัฐชาติไปแล้ว ควรจะมีรูปแบบไหน ควรจะมีการจัดการอย่างไร ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น

นี่คือข้อสรุปที่เด่นชัดสำหรับการประชุมทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ครั้งนี้ ประเด็นในเรื่องรัฐชาติ ต้องเป็นสิ่งที่ต้องหาทางแก้หรือหาทางมอง หามุมมองใหม่ หรือความคิดความเชื่อใหม่ มาเข้าใจมัน

เราอาจจะต้องมีรัฐชาติใหม่ อย่างที่ในห้องประชุมนำเสนอผลงานในเรื่องของปรัชญาการเมืองในวันนี้ ที่พูดถึงประเด็นความเป็นรัฐอธิปไตย โซไรตี้ หรือ องค์อธิปัตย์ แล้วก็มีลักษณะผสมทาบทับกับความเป็นออโตโนมี หรือ อัตตบัญญัติ จะเป็นอะไรไหมถ้าหาก เรามีหนึ่งองค์อธิปัตย์ แต่มีหลายอัตตบัญญัติ

อาจจะฟังยากซักหน่อย หมายความว่า ในองค์อธิปัตย์ที่เป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากเราจะเชื่อว่ายังมีรัฐชาติที่ยังเป็นหนึ่งเดียว แต่ภายใต้ความเป็นรัฐ ความเป็นประเทศที่ถูกสร้างขึ้นมา อาจมีความหลากหลาย ในเรื่องของความเป็นตัวตนของพื้นที่ต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน หรืออื่นๆ อันนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้การศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของประเทศไทย สามารถจะนำไปสู่การคบคิดหรือหาทางแก้ไขปัญหา หาทางออกในเรื่องของความขัดแย้ง อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

เพราะว่าสำหรับปีหน้า สิ่งท้าทายใหม่ๆ อีกหลายอย่างก็จะเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าสิ่งท้าทายเหล่านั้น เราปล่อยให้นักรัฐศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์คบคิด เพื่อหาทางออกกับสิ่งเหล่านั้น

ที่พูดถึงสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น ก็คือ ความเป็นรัฐแบบพหุชาติ จะเป็นไปได้ไหม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา หรือความหลากหลายทางด้านการเมือง จะอยูร่วมกันได้ไหมในสังคมการเมืองของไทย

นี่คือแกนกลางของการคิดใหม่ ที่เราจะต้องนำไปสู่การตั้งโจทย์สำหรับการเมืองไทย ในระยะที่มีให้เห็นก่อนหน้านี้ เราต้องคิดถึงมัน

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net