Skip to main content
sharethis
 
กรณีที่เครือข่ายประชาชน ภาคตะวันออก เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือให้ประธานวุฒิสภาตรวจสอบรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินงานของ 76 โครงการชั่วคราว ในเขตพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ว่า กมธ. 5 คณะ ได้แก่ กมธ.สิทธิมนุษยนชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล กมธ.สาธารณสุข กมธ.เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ร่วมกันศึกษาเรื่องนี้ทุกมิติ และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ ขณะนี้ได้ข้อมูลครบถ้วน กำลังสรุปผลการศึกษา มี 4 ประเด็น คือ 1.การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเห็นตรงกันว่า มาตรา 67 วรรคสอง มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ หมายความว่ากระบวนการอนุญาตโครงการหลังรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ต้องเดินตามมาตรานี้อย่างเคร่งครัด 2.คำสั่งของศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวที่ชะลอการออกใบอนุญาต ครอบคลุมแค่ไหน พบว่า คำสั่งค่อนข้างละเอียดที่ใช้บังคับกับทุกโครงการหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ แต่ไม่รวมโครงการที่มีก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 ฉะนั้นที่พูดกันว่า กระทบผู้ลงทุนคงไม่ใช่ทั้งหมด
 
นายสุรชัยกล่าวว่า 3.คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ชะลอโครงการในเรื่องการอนุญาต แต่ไม่น่าจะชะลอกระบวนการอื่น เช่น การรับฟังความคิดเห็น การสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และผลกระทบทางสุขภาพหรือเอชไอเอ ดังนั้นกระบวนการอื่น น่าจะสามารถทำต่อไปได้ จึงไม่ใช่เสียเวลาไปเปล่าๆ
 
"4.ปัญหาจริงๆ คือ การไม่มีองค์กรอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง แม้ว่า มาตรา 303 จะบัญญัติให้ออกกฎหมายลูกมารองรับหลังรัฐบาลแถลงนโยบายภายใน 1 ปี แต่ตอนนี้ 2 ปี กว่าแล้ว ยังไม่มีการออกกฎหมายลูก จึงเสนอทางออกทางออกเพื่อความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจ ว่า อาจให้รัฐบาลรีบออกพ.ร.ก. หรืออาศัยพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็นประกาศหรือระเบียบสำนักนายกฯ ถึงหลักเกณฑ์ขั้นตอนการดำเนินการ เพราะหากจะออกเป็นพ.ร.บ.อาจล่าช้าเกินไป และตอนนี้ก็ใกล้ปิดสมัยประชุมวันที่ 28 พฤศจิกายน ดังนั้นหากล่าช้า จะส่งผลกระทบกับภาคลงทุน" นายสุรชัยกล่าว

นายสุรชัยกล่าวว่า ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้การอนุญาตโครงการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้สังคมยังเข้าใจคลาดเคลื่อน หาว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องของตัวคนที่ปฏิบัติ ไม่สนใจรัฐธรรมนูญต่างหาก ซึ่งกมธ.ทั้ง 5 คณะ จะนัดประชุม เพื่อสรุปและทำข้อเสนอทางออกของปัญหาไปยังรัฐบาลภายในสัปดาห์นี้

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.ลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาที่หนักที่สุดคือเรื่องสุขภาพของประชาชน ที่กลุ่มทุนละเลยมาตลอด เรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน สมัยก่อนมีการกันพื้นที่ระยองเป็นเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก 5 พันไร่ โดย 1 พันไร่ จะเป็นเขตกันชน เมื่อทำเขตอุตสาหกรรมน้ำลึกภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดไม่ได้ เลยมาโปะที่ภาคตะวันออกเพิ่ม จ.ระยองจึงกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ส่วน จ.ชลบุรีเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดกลาง ส่วนอุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยวก็กระจายกัน

"ตอนนี้เขตอุตสาหกรรมกลายเป็น 2 หมื่นไร่ เขตกันชนก็หายไป ชาวบ้านบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม บางส่วนรั้วบ้านมีเพียงถนนกั้นก่อนถึงรั้วโรงงานอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี ซึ่งมีสารตั้งต้นก่อมะเร็งระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง พบว่าประชาชนเป็นภูมิแพ้ และแผลพุพองกันมาก บางครอบครัวเป็นมะเร็งตายไปแล้วถึง 6 คน" นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ต้องการให้เลิกเขตอุตสาหกรรม เพราะถ้าไม่มี ชาวบ้านก็แย่ แต่ต้องการให้มีมาตรฐานการควบคุมมลพิษที่ดี โรงงานไหนที่ไม่ใส่ใจประชาชน ระบบควบคุมมลพิษห่วยก็ห้ามเอาเข้ามา รัฐต้องยอมรับเรื่องการจัดสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการลงทุน โดยต้องบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเข้มงวด ชาวบ้านที่อยู่ในเขตอันตรายต้องย้ายออกและให้ค่าชดเชย พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลจนหาย

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับกรณี 76 โครงการ ควรมาชั่งน้ำหนักวิเคราะห์ว่า อันไหนควรเอาไว้ก็เอาไว้ และติดระบบกรองอากาศให้ชาวบ้านไว้ใจ มลพิษต้องให้อยู่ในระดับปลอดภัยตลอดทั้งวัน ไม่ใช่ใช้ระบบเฉลี่ยทั้งวัน เพราะกลายเป็นบางช่วงปล่อยน้อย แต่บางช่วงปล่อยมากเกิน แล้วเอามาเฉลี่ย อย่างนี้ไม่ใช่ ตอนนี้ต้องพิจารณาออกกฎหมายลูกตามมาตรา 67 วรคคสอง รวมถึงองค์กรอิสระ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย การเข้าไปทำสถาบันวิจัย ศูนย์ควบคุมมลพิษ ศูนย์เฝ้าระวัง ไม่ใช่แค่ไปสร้างโรงพยาบาล เพราะเป็นเรื่องปลายเหตุ ให้มีคณะกรรมการไตรภาคี ให้ประชาชนมีส่วนมากำกับในเรื่องนี้

"ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น อย่าเอาแต่เน้นเรื่องการลงทุนโดยไม่สนใจประชาชน ถามว่าให้ครม.ทั้งคณะย้ายบ้านไปอยู่ที่นั่นจะเอาไหม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมห่วยมาก และยังทอดทิ้งชาวบ้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนิคมอุตสาหกรรม เขายอมรับแล้วว่าต้องดูแลชาวบ้านให้มากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลต้องหาสมดุลให้ได้ และควรเปิดการเจรจาระหว่างรัฐ ชาวบ้าน และผู้ลงทุน" นายสมชายกล่าว
 
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ชลบุรี ว่า นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคตะวันออก พร้อมประชาชนราวร้อยคนเดินเท้าจากจ.ระยองเพื่อยื่นหนังสือให้ประธานวุฒิสภาตรวจสอบรัฐบาลปฎิบัติหน้าที่บกพร่อง ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม 76แห่งในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง เดินทางไปถึงต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แล้ว โดยนายสุทธิระบุการเดินเท้ากำหนดไว้ 5 วัน ต้องถึงรัฐสภา

นายสุทธิกล่าวว่า รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนการตัดสินใจอุทธรณ์หรือการตัดสินใจแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในอนาคต โดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่งลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่ปรากฏอยู่จริงในพื้นที่มากกว่ากล่าวอ้างแต่เรื่องการทำตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
 
 
 
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์มติชน
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net