Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 เวลาประมาณ 15.30 น. นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา ลงพื้นที่พบกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษี ไศลและเขื่อนหัวนา ที่ชุมนุมอยู่ที่หัวงานเขื่อนราศีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษร่วม 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา พร้อมรับปากจะเดินเรื่องและติดตามการแก้ไขปัญหาให้ หลังกลุ่มชาวบ้านฯได้ยื่นหนังสือไปที่วุฒิสภาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552

นายประสาร กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านฯว่า “หากมีความทุกข์ยากที่ไหน ตนก็พยายามจะไปที่นั่น อย่างปัญหาเขื่อนปากมูลตนก็ได้ลงพื้นที่มาโดยตลอด ได้ช่วยนำเสนอข้อมูลของชาวบ้านที่ปากมูล ให้สังคมรับรู้ ร่วมเรียกร้องการเปิดเขื่อนถาวร การชดเชยค่าสูญเสียโอกาส และการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ซึ่งทั้งกรณีเขื่อนปากมูลและปัญหาของพ่อแม่พี่น้องที่นี่ ก็คือการต่อสู้ของคนจน อาจได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง อาจได้แค่บางส่วนไม่ได้ทั้งหมด นี่คือความเป็นจริง”

ท่านสมาชิกวุฒิสภา กล่าวต่ออีกว่า “มีผญาของคนอีสาน สอนไว้ว่า ‘ไหใหญ่ล้น ไหน้อยไม่เต็ม’ หมายความว่าคนที่มีก็มั่งมีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ไม่มีก็ยังไม่มีต่อไป สังคมไทยเป็นแบบนี้ ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ตอนนี้รายได้เฉลี่ยของสังคมไทยแตกต่างกันระหว่างคนรวยกับคนจน 30 เท่า ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศ ที่มีความต่างแค่ 4 เท่า อย่างพี่น้องที่นี่มีที่นาอยู่ พอมีเขื่อนเก็บกักน้ำ น้ำก็ท่วมที่นา ทำนาไม่ได้ และน้ำก็ท่วมป่าทาม ไม่มีที่หากิน ไม่มีที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จนมีคำพูดว่า ต้องขายควายสามตัวร้อย”

“ขอยกอีกหนึ่งผญาที่ว่า ‘อัศจรรย์ใจกุ้ง สิกุมกินปลาบึกใหญ๋ ปลาซิวไล่สวบแข่ หนีไปลี่อยู่หลืบหิน’ หมายความว่า กุ้งตัวเล็กๆก็สามารถกินปลาบึกใหญ่ได้ ปลาซิวน้อยก็กินจระเข้ได้ เปรียบกับคนตัวเล็กๆถ้ารวมกันได้มากก็เพิ่มพลังในการต่อสู้ได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างก็เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้รัฐบาลจะมีอำนาจมากก็ต้องลงจากตำแหน่ง เมื่อมีการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนรวมกันกว่า 500,000 คน”นายประสาร กล่าวเสริม

สว.ประสาร ทิ้งท้ายไว้ว่า“ตนได้เห็นหนังสือร้องเรียนที่พี่น้องไปส่งกับทาง คุณรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งตนมีส่วนร่วมในทั้งสองชุด ดังนั้นที่มาวันนี้ก็ตั้งใจมารับรู้ปัญหาและพยายามจะแก้ไขปัญหาให้เท่าที่ทำ ได้”

จากนั้นนางผา กองธรรม แกนนำกลุ่มชาวบ้านฯ ได้ยื่นหนังสือกับนายประสาร เรื่องขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและ เขื่อนหัวนา ต่อมากลุ่มชาวบ้านฯ ได้พาคณะนายประสารลงพื้นที่ดูปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณเขื่อนราษีไศล รวมทั้งไปตรวจสอบพื้นที่การปลูกข้าวไร่ของชาวบ้านในป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นวิถีการผลิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล

ภายหลังการลงพื้นที่นายประสาร ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า“พอมาเห็นความเป็นจริงแล้วมีความเข้าใจในระบบ นิเวศป่าบุ่งป่าทามมากขึ้น ที่นี่เป็นแหล่งที่ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา อีกทั้งพืชพันธุ์นานาชนิดอยู่อาศัย เป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีคุณค่าในตัวมันเอง มาเห็นอย่างนี้ก็เข้าใจและตระหนักในคุณค่า ดังนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้รับรู้ ก็คงจะต้องเอาไปประสานกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ก็ได้รู้ว่ารองนายกรัฐมนตรีกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ก็จะใช้ความพยายามประสานงานอย่างเต็มที่”

อนึ่ง หนังสือขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา มีเนื้อหาดังนี้

ณ หมู่บ้านคนจน หัวงานเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา
เรียน นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. เอกสารเกี่ยวกับเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ในโครงการ โขง ชี มูล ๑ ชุด

ด้วยครั้งนี้ราษฎรจำนวน ๒,๕๐๐ คน จากจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ชุมนุมอยู่ ณ หัวเขื่อนราษีไศลมาตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ เพื่อรอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรการเกษตร และรัฐบาล ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งมีปัญหายืดเยื้อมาแล้ว ๑๖ ปี ๑๐ รัฐบาล ปัญหาผลกระทบสำคัญที่สองเขื่อนในโครงการ โขง ชี มูลได้ก่อขึ้น คือการสูญเสียพื้นที่ทาม และป่าทามซึ่งเคยมีระบบนิเวศสำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำภาคอีสานประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ต้มเกลือ ปั้นหม้อหาของป่า เป็นฐานการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพมานาน ประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ ปี
โดยกระบวนการเขื่อนทั้งสองได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อสังคม แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่มีการมีส่วนร่วมของชุมชน

เมื่อมีการรวมกลุ่มเรียกร้องของราษฎร และกลุ่มอื่นๆ จึงมีการสร้างขั้นตอนการทำงานโดยการตรวจสอบด้วยมติ ครม. ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และ มติ ครม.๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

การแก้ไขปัญหามีความยุ่งยาก เพราะกรมชลประทานใช้กระบวนการตรวจสอบที่และไม่มีความยุติธรรมกับผู้ได้รับความเดือดร้อน

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา-เขื่อนราษีไศล จึงขอเสนอการแก้ไขต่อตัวแทนวุฒิสภาเพื่อเป็นตัวแทนในการประสานการแก้ไขปัญหาดังนี้

๑. ขอให้ปฏิบัติตามมติรัฐมนตรี ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ แก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
๒. รัฐต้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งสองเขื่อนให้มีประสิทธิภาพ
๓. ให้มีการดำเนินการแก้ไขป้องกันผลกระทบ ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัย และให้ดำเนินการโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่นให้มีแผนฟื้นฟูภาคประชาชน
๔. ให้มีการชดเชย ทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ดิน ทรัพย์สินและการสูญเสียอาชีพ การเสียโอกาสการทำกิน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมบัติ โนนสังข์)
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา

(นางผา กองธรรม)
สมัชชาคนจนเขื่อนราศีไศล

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net