Skip to main content
sharethis

 



 


ประชาไท - 26 ก.ค. 48 นางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร ให้สัมภาษณ์หลังรับฟังการชี้แจงจากชาวบ้าน อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กรณีกรมชลประทานต้องการเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ในตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำว่า ทางคณะอนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร จะขอมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร วันที่ 19 สิงหาคม 2548 เพื่อหาข้อมูล พร้อมเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงข้อมูลต่อชาวบ้าน


 


นางเตือนใจ กล่าวว่า ปัญหาประการแรกของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ประเด็นที่สำคัญในทุกพื้นที่ คือเราไม่ควรพูดกันแค่ว่าจะเอาเขื่อนหรือไม่เอาเขื่อน ควรจะมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร ประชาชนตระหนักว่าเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะการดำเนินการที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนรับรู้ ไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งกระบวนการยังไม่ชัดเจน


 


ปัญหาประการที่สอง คือ สิทธิและสถานะของบุคคล เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ชายแดนไทย - พม่า ทำให้ประชาชนบางส่วนเป็นคนไทยผลัดถิ่น ไม่มีสัญชาติ โดยส่วนตัว ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติ ก็จะลงไปดูเรื่องนี้ เพราะพวกเขาถูกข่มขู่ว่าอย่ามาขัดค้านเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากพวกเขาไม่มีสัญชาติไทย


 


นางเตือนใจ กล่าวต่อไปว่า จากที่รับทราบประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อยู่อาศัยมาหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งมีสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนทุเรียน สะตอ ในฐานะคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะอนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร ซึ่งต้องหมายรวมถึงทรัพยากรธรรม


ชาติ และทรัพยากรมนุษย์  จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อติดตามปัญหาดังกล่าว


 


ด้านตัวแทนชาวบ้าน อำเภอท่าแซะ ทั้ง 4 หมู่ ที่จะต้องได้รับผลกระทบห่างมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้สัมภาษณ์ว่า พวกตนไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ และไม่ได้ต้องการเงิน เพราะถ้าหากย้ายออกจากพื้นที่นี้ไป ก็เหมือนกับชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากสวนยางพาราต้องใช้เวลา 7-8 ปี กว่าจะกรีดขายได้ หรืออย่างสวนปาล์ม ก็ต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าจะสามารถตัดขาย


 


นางทองใคร สารีโท หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน อำเภอท่าแซะ กล่าวว่า ปัจจุบันตนต้องส่งเสียเงินค่าเล่าเรียนให้กับบุตร 2 คน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ซึ่งรายได้หลักในส่วนนี้ก็มาจากการทำสวนยางและสวนปาล์ม หากให้พวกตนย้ายไปที่อื่น พวกตนจะทำอย่างไร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net