Skip to main content
sharethis

บลูมเบิร์ก/ประชาไท- หลังจากผลักดันแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายออกจากประเทศไปเมื่อปลายปี่ทีผ่านมา ทำให้ถึงวันนี้มาเลเซียประเทศที่นำเข้าแรงงานต่างชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเป็นจำนวนถึง 4 แสนคน

จากออกกวาดล้างชาวต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของรัฐบาลมาเลเซียเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสังคมได้ส่งผลให้มาเลเซียต้องเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนแรงงานประเภทที่ใช้ทักษะต่ำเป็นจำนวนมากที่ทำหน้าที่ตั้งแต่งานบรรจุหีบห่อในโรงานอุตสาหกรรม ไปจนถึง แรงงานในสวนปาล์มน้ำมัน

นับตั้งแต่การเริ่มต้นกวาดล้างในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนของปีนี้ รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ได้ส่งกลับคนต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศไปแล้วถึง 398,758 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนั้นทางรัฐบาลยังรณรงค์การแช่แข็งการว่าจ้างแรงงานที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2005 ก็เป็นเหตุให้เกิดการหยุดยั้งการไหลเข้ามาของคนงานจากต่างประเทศที่ถูกกฎหมายด้วย บริษัทต่างๆยังถูกสั่งให้ว่าจ้างเฉพาะแรงงานที่ถูกผลักดันออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลยังได้ลดระยะเวลาที่แรงงานต่างชาติจะสามารถทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียได้ด้วย

ผลที่ออกมาในขณะนี้ก็คือ การขาดแคลนแรงงานประมาณ 350,000 - 400,000 คน ที่จะมาทำงานในสวนยาง สวนปาล์ม สวนผัก ร้านอาหาร และโรงงานขนาดกลางและเล็ก

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า ตัวเลขแรงงานต่างชาติที่ลงทะเบียนในมาเลเซียในปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นถึง 19% คือมีเป็นจำนวนถึง 1.47 ล้านคน คิดเป็น 14 % ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ โดยมีอินโดนีเซียเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดคิดเป็น 70% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในมาเลเซีย รองลงมาคือเนปาล คิดเป็น 10% และอินเดีย 5.4%

สุไฮนี อิเลียส หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจแห่งบริษัทอัฟฟิน ซีเคียวริตี้ ในกัวลาลัมเปอร์กล่าวว่า "ยิ่งใช้เวลาแก้ไขปัญหานี้นานออกไปเท่าไร ความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

สุไฮนี ประเมินว่า การขาดแคลนแรงงานจะทำให้เศรษฐกิจมูลค่า 118,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต้องเสียหายไป 158 ล้าน ของผลผลิตต่อเดือน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 0.2% โดยผลกระทบดังกล่าวจะรู้สึกได้ในไตรมาสที่สองนี้ ส่วนในไตรมาสแรกนั้นเศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวถึง 5.7%

ปัจจุบันนี้ มาเลเซียมีประชากรว่างงานอยู่ประมาณ 3.5% น้อยที่สุดที่เป็นอันดับสองรองจากไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยมีจำนวนประชากรทั้งหมด ประมาณ 26 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องทำงานในสำนักงาน (ไม่ต้องการทำงานแบบใช้แรงงาน)

"ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีคน แต่ว่า งานหนักๆ ที่ต้องอยู่กลางแดด คนงานของเราไม่อยากทำ" ชามสุดิดดิน บาร์เด็น ผู้อำนวยการบริหารสมาพันธ์แรงงานกล่าวในฐานะของตัวแทน 4,000 บริษัทที่มีคนงานถึง 1.4 ล้านคนในมาเลเซีย

บาร์เด็นกล่าวว่า ขั้นตอนที่เยิ่นเย้อ ระเบียบการต่างๆ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุให้ชาวอินโดนีเซียที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดในมาเลเซียที่ถูกส่งกลับ ไม่ได้รับเอกสารที่เหมาะสมจากประเทศอินโดนีเซีย ที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถกลับเข้ามาที่มาเลเซียได้

หนังสือพิมพ์นิวส์ สเตรท ไทมส์ ของมาเลเซียรายงานโดยอ้างคำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี นาจิ๊บ ราวัค ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ยินยอมให้บริษัทเริ่มจัดการว่าจ้างคนงานจาก เวียดนาม ปากีสถาน พม่า อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ไทย และ ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยคลายปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลจะพยายามเร่งขั้นตอนในการอนุมัติการว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนหน้านี้โดยจะลดเวลาในการดำเนินการลงในการออกใบอนุญาตจากที่เคยใช้เวลานานถึง 4 สัปดาห์ลง

นายจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนกล่าวว่า กระนั้นการจ้างแรงงานใหม่นี้อาจจะไม่สามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็วดังที่คาดเอาไว้ ส่วนคนที่ถูกเนรเทศกลับไปนั้นก็ติดปัญหาต่างๆในการกลับมาในฐานะของแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางออกสำหรับการแก้ปัญหานี้ชั่วคราวก็คืออาจจำเป็นต้องใช้ผู้อพยพที่อยู่ในประเทศนี้อยู่แล้ว

โฟล์เคอร์ เติร์ก ตัวแทนของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำมาเลเซีย กล่าวว่า ทางสหประชาชาติให้ขอให้ผู้อพยพจำนวน 40,000 คนที่ลงทะเบียนในมาเลเซียให้ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้

" มันจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียเองถ้ายอมให้ผู้อพยพทำงานได้" เติร์กกล่าว

ในขณะที่โมฮัมเหม็ด บิน มัดอิซา โฆษกของนาซรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
" เราจะลองดูว่าจะออกเอกสารที่เกี่ยวข้องใดๆได้บ้าง

"การขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นวิกฤติแล้วในขณะนี้" ฟง ชาน อนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบลูมเบิร์ก " ถ้าหากสามารถออกใบอนุญาตการทำงานด้วยความจำเป็น รวมทั้งเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้กับผิอพยพได้ เราก็ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ"

ปัจจุบันมาเลเซียมีผู้ลี้ภัยราว 60,000 คน แต่มีเพียง 40,000 คน ที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย จำนวน 20,000 คน ชาวมุสลิมในพม่า 10,000 คน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในพม่าอีก 10,000 คน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net