Skip to main content
sharethis

"ถ้าไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากพนัง เราจะถวายฎีกา ชุมนุม และฟ้องศาลปกครอง" " ประเสริฐ คงสง ชาวบ้านอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกาศกร้าว ท่าทีของเขาช่างต่างจากวิถีของคนลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงวิธีการเรียกร้องสิทธิขั้นท้าย ๆ ดังกล่าว แม้รัฐธรรมนูญจะรองรับ

เพราะวันนี้เขาและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกนับพันคน ทนอยู่กับระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมต่อไปไม่ไหวแล้ว และตระหนักว่าต้องกดดันให้รัฐเร่งแก้ปัญหา

" คนปากพนังทนฟังข่าววัวหาย หนี้สินรุงรัง ลูกหลานอพยพไปทำงานโรงงานไม่ไหวแล้ว ทุกคนรู้เต็มอกว่าเกิดจากเขื่อน รัฐบอกว่าปิดเขื่อนเพื่อช่วยเรา แต่กลับมาทำลายสายน้ำของเราจนทำมาหากินไม่ได้" เจริญ มหาราช ชาวบ้านอำเภอเชียรใหญ่ ระบายทุกข์ด้วยน้ำเสียงขื่น ๆ

ส่วนชาวบ้านอำเภอหัวไทรอีกคนก็ร่วมสะท้อนอย่างเจ็บปวดว่า "วันนี้หลายครอบครัวเริ่มกินปลายข้าวประทังชีวิตกันแล้ว "

อดีตเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ

ข้อมูลจากโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคใต้ ระบุว่า ในอดีตลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีแม่น้ำหลายสายและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ โดยมีเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขาย สินค้าหลักในลุ่มน้ำนี้คือ "ข้าว" วิถีชีวิตของคนที่นี่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากชาวบ้านมีอาชีพหลักในการทำนาแล้ว ยังสามารถหาปลาในคลอง ตกกุ้งแม่น้ำ เก็บผักพื้นบ้านมากิน ที่เหลือจึงขาย

แต่หลังจากปี พ.ศ. 2500 การค้าขายเริ่มซบเซา เพราะมีการย้ายท่าเรือขนถ่ายสินค้า-ข้าว และเกิดโรงสีเล็กของเถ้าแก่ขึ้นมากมาย ประกอบกับช่วงนั้นราคาข้าวผันผวน ทำให้โรงสีไฟของชาวบ้านค่อย ๆ ตาย ชาวนาจำต้องเปลี่ยนอาชีพและอพยพไปทำสวนต่างถิ่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2529 เกิดกระแสการเลี้ยงกุ้งแบบอุตสาหกรรม ชาวลุ่มน้ำปากพนังจึงกลับมาพัฒนานาข้าวเป็นนากุ้ง ซึ่งสร้างรายได้มหาศาล แต่การเลี้ยงกุ้งในระยะแรก ๆ ยังละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาวนากุ้งกับชาวนาข้าว นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการทำลายป่าต้นน้ำ และมีการเก็บกับน้ำเอาไว้ทำให้ฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้ ทั้งยังถูกน้ำเค็มรุกล้ำน้ำจืดอีก โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2535 เกิดปรากฏการณ์น้ำเค็มรุกน้ำจืดเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

รัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการอนุมัติงบประมาณจำนวน 15,800 ล้านบาทดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วยงานก่อสร้างด้านชลประทาน งานติดตามผลแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

สู่สายน้ำที่ใกล้เป็นอัมพาต

แผนงานชลประทานมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำหลักกั้นแม่น้ำปากพนัง เพื่อกั้นน้ำเค็มจากปากอ่าวปากพนังไม่ให้ไหลเข้า และเก็บกักน้ำจืดไม่ให้ไหลออก โดยมุ่งหวังช่วยเหลือชาวนา แต่หลังปิดประตูเขื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 กลับส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร และชะอวด ให้ไม่สามารถประกอบอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศ 4 น้ำ (จืด เค็ม กร่อย และเปรี้ยว) เช่น ทำนาเป็นหลัก ทำประมงเสริม ทำประมงน้ำจืดและกร่อย ทำประมงเป็นหลักน้ำตาลจากเสริม เป็นต้น

น่าใจหายอย่างยิ่งที่ชาวประมงน้ำจืดและกร่อยประมาณ 5,000 ครัวเรือนต้องสูญสิ้นอาชีพ เพราะน้ำเสียจนแม้แต่หาปลากินก็ยังยาก ส่วนชาวประมงน้ำเค็มหลายชุมชนก็ขาดที่จอดเรือ เนื่องจากน้ำเค็มกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง สำหรับชาวนาในพื้นที่หลายหมื่นไร่ก็ต้องทิ้งนาให้ร้าง เนื่องจากดินบริเวณปากแม่น้ำเป็นดินเหนียว เมื่อปิดเขื่อนน้ำท่วมขัง เผาซังข้าวและไถหว่านไม่ได้

สำหรับอาชีพอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบด้วย น้าเจริญ ซึ่งทำน้ำตาลจากขายปรับทุกข์ให้ฟังว่า ปกติต้นจากขึ้นอยู่กับ 3 น้ำ และต้องอาศัยระบบน้ำขึ้น-ลงตามธรรมชาติ เมื่อน้ำไม่ไหลเวียนทำให้ปริมาณน้ำตาลจากลดลงถึง 50% อีกทั้งทำให้ต้นจากจำนวนมากไม่ออกดอก ไม่ออกลูก และล้มตาย

ทั้งยังทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองปากพนังอย่างรุนแรง โดยเริ่มท่วมตั้งแต่ปิดประตูน้ำเพียง 2 เดือน ปลายปี พ.ศ. 2543 เกิดน้ำท่วมอีกครั้ง ตัวแทนชุมชนเรียกร้องให้อธิบดีกรมชลประทานเปิดเขื่อน ภาครัฐแก้ปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุด แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมเช่นเดิม และยังเบี่ยงเบนปัญหาโดยทุ่มงบประมาณมหาศาลมาปรับเปลี่ยนอาชีพชาวบ้านให้เข้ากับระบบนิเวศใหม่

ส่วนผลกระทบอีกประการที่ยังมีการพูดถึงน้อย นั่นคือ ผลกระทบต่อป่าพรุ โดยเฉพาะพรุควนเคร็ง ซึ่งอยู่ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนัง การที่น้ำในแม่น้ำไม่ไหลเวียนทำให้น้ำในพรุพลอยแห้ง เปรี้ยว และเป็นสนิม ทำให้สัตว์น้ำไม่วางไข่และลดจำนวนลง ตลอดจนไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค แม้แต่นำน้ำมาอาบก็ยังคัน

ชาวปากพนังพยายามส่งหนังสือร้องเรียนหน่วยงานของรัฐมาตลอด แต่ไม่เคยมีหน่วยงานไหนยอมรับว่าการตัดแม่น้ำปากพนังออกจากกัน ทำให้ทั้งลุ่มน้ำเป็นอัมพาต ต่อมาได้ใช้สิทธิในการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกิดผลในระดับหนึ่ง โดย กสม. ประสานให้เกิดการประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐ ชาวบ้าน และนักวิชาการขึ้น 4 ครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 มีมติให้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย โดยกำหนดให้คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นประธาน และ กสม. เป็นที่ปรึกษา ในส่วนของชาวบ้านมีตัวแทนจาก 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด และเฉลิมพระเกียรติ อำเภอละ 4 คน

6 เดือนต่อมาจังหวัดนครศรีธรรมราชแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และเพิ่มกรรมการชาวบ้านกลุ่มได้รับประโยชน์จากโครงการเพิ่มขึ้นอำเภอละ 1 คน

ทฤษฎีแยกน้ำแก้ปัญหาหรือยิ่งเพิ่มปัญหา

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวครั้งแรก โดยหารือเรื่องอำนาจหน้าที่ของกรรมการเป็นหลัก ฝ่ายรัฐอยากให้คณะกรรมการทำหน้าที่ศึกษาผลที่ได้รับจากโครงการ ขณะที่ชาวบ้านยืนกรานที่จะคงอำนาจกรรมการตามมติ 9 สิงหาคม 2547 เพราะมีข้อมูลรองรับแล้วว่าระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนังเสื่อมโทรม เพราะการปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

"ประชาชนไม่ได้คัดค้านโครงการ เพราะโครงการต้องการช่วยชาวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์ แต่โครงการมีปัญหามากกว่า อยากให้แก้ปัญหา ที่ผ่านมาตั้งกรรมการกันเยอะ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีชาวบ้านร่วมด้วย ขอให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการแก้ปัญหา ไม่ใช่เพื่อศึกษา เพราะศึกษากันมากแล้ว และขอให้ยอมรับว่าทฤษฎีแยกน้ำจืดจากน้ำเค็มนั้นผิด ต้องเปลี่ยนเป็นทฤษฎีควบคุมน้ำ โดยปิดประตูเฉพาะหน้าแล้ง 5 เดือนเพื่อเก็บกักน้ำจืด" สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จากอำเภอปากพนัง กรรมการชาวบ้านคนหนึ่ง ประกาศจุดยืน

ส่วนนักวิชาการมีความเห็นสอดคล้องกับชาวบ้าน โดยเห็นว่าบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ควรแก้ปัญหาระบบนิเวศ ต้องทดลองเปิดเขื่อนก่อน และกำหนดระยะเวลาศึกษาตามหลังว่าระหว่างเปิดเขื่อนกับปิดเขื่อนอย่างไหนจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ศึกษาก่อนแล้วจึงเปิดเขื่อน

แต่แม้การประชุมครั้งนี้จะมีการปะทะทางวาจาอย่างเผ็ดร้อน ยืดเยื้อกว่าเวลาที่กำหนดเกือบชั่วโมง แต่กลับได้ข้อสรุปเพียงประธานคณะกรรมการจะบันทึกการประชุม นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และกำหนดวันประชุมครั้งต่อไปเท่านั้น

ดร.เลิศชาย ศิริชัย กรรมการฝ่ายนักวิชาการ กล่าวว่า ผลการประชุมไม่คืบหน้าทั้ง ๆ ที่ใช้เวลาประชุมนาน เพราะตัวแทนรัฐและชาวบ้าน ซึ่งแบ่งฝ่ายกันชัดเจนต่างติดกับคู่ตรงข้าม โดยชุดความรู้เรื่องการจัดการน้ำระหว่างหน่วยงานราชการและชาวบ้านต่างกัน ราชการรู้จากเรื่องที่เรียนมา ส่วนชาวบ้านรู้จากประสบการณ์ตรง แต่ต่างไม่ยอมรับชุดความรู้ของอีกฝ่าย

"รัฐมีระบบวิทยาการที่เข้มแข็ง ส่วนชุมชนมีระบบภูมิปัญญาที่ตรงกับการจัดการทรัพยากรของเขา เพราะทรัพยากรเป็นชีวิตของคนในชุมชน สร้างตัวตนของเขาขึ้น ระบบรัฐเป็นระบบจากภายนอก ควรเสริมจากข้างหลัง และต้องสร้างแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้ง"

ดังที่อาจารย์เลิศชายกล่าว เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ก็มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันรุนแรงกว่าเดิม

ประเสริฐ คงสง กรรมการชาวบ้าน กล่าวว่า ผิดหวังจากการหารือครั้งนี้มาก และวางแผนว่าหากคราวหน้ายังไม่สามารถต่อรองกับหน่วยงานรัฐได้ จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และ 62 ชุมนุม ถวายฎีกา และฟ้องศาลปกครอง ตามแต่สถานการณ์อำนวย ซึ่งตอนนี้ได้รวมตัวเป็นเครือข่ายคนลุ่มน้ำปากพนังเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวแล้ว

หากได้เห็นท่าทีจริงจังของประเสริฐ คงเชื่อว่าเขาจะทำอย่างนั้นจริง ๆ
...............................................................................

บัณฑิตา อย่างดี
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net