Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ 1

Here&Now ศิลปะที่ไม่รอหอศิลป์
ช่องว่างของตึกขนาด 2 ห้อง แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์เก่า ริมถนนวงเวียน 22 กรกฎา ถูกบดบังไว้ด้วยหาบเร่และรถเข็นอีกชั้นหนึ่ง มันเคยเป็นส่วนหน้าของโรงแรมวงเวียน 22 :ซึ่งถูกทิ้งร้างไว้นานมา แต่ในระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม-8 กันยายนที่ผ่านมา มันได้ทำหน้าที่นำทางสู่นิทรรศการศิลปะที่ชื่อ Here&Now

" ที่นี่ + ตอนนี้ " (Here&Now) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นตั้งแต่ ปลายปี พ.ศ. 2545 ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนและการทำการ ค้นคว้า วิจัย ข้อมูลเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจในความแตกต่าง ดำเนินต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ. 2546 และจะจบลงด้วยนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยพร้อมกิจกรรมทางด้านวิชาการศิลปะ ตลอดจน กิจกรรมสำหรับผู้ชมทั่วไป

นิทรรศการ Here&Now จัดขึ้นภายใต้ความคิดที่ให้ศิลปินเข้าปะทะกับพื้นที่โดยตรง นำเสนอความเป็นไปได้ในการจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่ และ อาคารที่มีอยู่เดิม บนถนนไมตรีจิต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่รายรอบให้เป็น แหล่งศิลปะ วัฒนธรรม และการเรียนรู้ โดยเฉพาะในส่วนของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย

สถานที่จัดแสดงและกิจกรรมประกอบด้วย Photography Bar ,About Café ตึกร้างสีฟ้าที่กลุ่มศิลปินผู้จัดงานเรียกว่าตึกฟ้า และตึกร้างที่เคยเป็นโรงแรมวงเวียน 22 โดยอาคารร้างถูกดัดแปลงให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ มีห้องแสดงงาน เวทีการแสดง ห้องทำงานของศิลปิน ฯลฯ สถานที่ทั้งหมดตั้งอยู่บนถนนไมตรีจิตต์มุ่งหน้าไปยังหัวลำโพง

วงเวียน 22 "พื้นที่" ในฝัน - ย่านศิลปะ
"ตึกไทยวัฒนาพาณิชย์ที่ถูกไฟไหม้ไป เป็นฝันหวานของเรา เพราะมีพื้นที่ถึงกว่า 8,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่ จัดแสดง ซ่อมงาน ฯลฯ" เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการ ARRA (ล้อมกรอบ) เล่าถึงความฝันของศิลปินที่เชื่อว่าตึกร้างที่ขาดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสามารถเป็นต้นทุนที่ดีในการสร้างงานศิลปะ นอกจากพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการทำกิจกรรมทางศิลปะแล้ว เกล้ามาศอาศัยประสบการณ์กิจกรรมของอะเบาท์คาเฟ่ วิเคราะห์ว่าพื้นที่แถบวงเวียน 22 กรกฎา นี้มีความน่าสนใจมาก เพราะมีความเป็นชุมชนและมีอัตลักษณ์ของตนเองชัดเจน เหมือนใกล้แต่ก็ไกล อยู่ใจกลางเมืองแต่ก็มีความเป็นชายขอบ มีตึกร้างมากมาย ให้ศิลปะได้แทรกตัวเข้าไป

"เราฝันไปไกลกว่านั้นเพราะตึกร้างที่แทรกตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆของย่านนี้สามารถทำให้วงเวียน 22 กรกฎา เป็นย่านของศิลปะได้"

ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ศิลปินจากที่เดียวกันกล่าวเสริมว่า "พื้นที่บริเวณวงเวียน 22 เหมือนเป็นชายขอบอยู่ใกล้เยาวราชแต่ไม่ได้อยู่ใจกลางแหล่งค้าขาย ใกล้หัวลำโพงแต่ก็ยังไม่ถึงหัวลำโพงเสียทีเดียว ชุมชนมีความหลากหลาย มีความแปลกต่อกันอยู่แล้ว เช่นศาลเจ้า แหล่งผู้หญิงกลางคืน ร้านขายอาหาร ร้านค้าส่ง ฯลฯ ฉะนั้นศิลปะก็น่าจะอยู่ได้ด้วย"

ศิลปะไม่มีที่อยู่ - ศิลปะอยู่ในทุกที่
"ส่วนตัวก็ยังอยากได้พิพิธภัณฑ์ เรายังเชื่อพื้นที่ที่แน่นอน เพื่อสื่อสารให้คนรู้ว่าเข้ายังพื้นที่นี้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าศิลปะก็เป็นพื้นที่หนึ่งและยังแคบอยู่มาก เพราะเป็นเรื่องจำกัดเฉพาะกลุ่ม เป็นคนทำงานเฉพาะด้าน ศิลปะร่วมสมัยไม่มีพื้นที่อยู่ในสังคมเลย ระบบการศึกษาหลักก็ไม่เคยมีเรื่องพิพิธภัณฑ์ และไม่มีแนวทางการศึกษาใดที่จะเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์"

เกล้ามาศกล่าวในฐานะศิลปินที่ต้องการพื้นที่สำหรับศิลปะ อย่างไรก็ตามเกล้ามาศวิเคราะห์ว่าการจะมีพื้นที่ทางศิลปะแบบถาวรได้นั้นต้องอาศัยการสื่อสารกับฝ่ายการเมืองพอสมควร และสำหรับคนทำงานศิลปะแล้วการเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะทางอยู่เหมือนกัน

ด้านธนาวิกล่าวว่า "ศิลปะอาจดูเหมือนไม่มีที่อยู่ที่ยืนที่ชัดเจน แต่ถ้าคิดในมุมกลับ ก็อาจจะหมายความว่า ศิลปะจะอยู่ที่ไหนก็ได้ วงการศิลปะมีประเด็นที่ถกเถียงกันตลอดคือ ไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปะ โดยทั่วไปเมื่อนึกถึงตัวอาคาร แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับอาคาร ก็จะขยายไปได้กว้างขึ้น เช่นตึกร้าง ตึกที่ถูกไฟไหม้ หรือแม้แต่บนหน้าหนังสือพิมพ์"

นิทรรศการ Here&Now ที่ปิดตัวลงไปเป็นคำบอกเล่าที่ชัดเจนว่าตราบเท่าที่ศิลปินยังคงผลิตงานศิลปะ พื้นที่ของ "ศิลปะ" ย่อมไม่จำกัดอยู่เพียงในอาคารอันที่ถูกกำหนดด้วยชื่อเฉพาะ

แม้โครงการหอศิลป์กรุงเทพมหานคร ณ สี่แยกปทุมวัน จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภายหลังผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่มีท่าทีว่าจะเห็นความสำคัญ และเห็นด้วยกับกลุ่มศิลปินซึ่งดำเนินการต่อสู้เพื่อพื้นที่ของศิลปะมานาน (อย่างน้อยที่สุด เท่าวาระผู้ว่าฯ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไป) แต่ภายใต้นิยาม "พื้นที่" อันไม่จำกัด ศิลปินย่อมสามารถนำพาศิลปะออกไปไกลกว่าขอบเขตของการรอคอย

รายงานโดย : พิณผกา งามสม
ศูนย์ข่าวประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net