Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประสาท มีแต้ม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ(2 สิงหาคม 2547) ได้รายงานข่าวที่สำคัญมากและกระทบต่อคนไทยทุกคนในอนาคต คือข่าวที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) คลอดแผน "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า" (เรียกสั้นๆว่าพีดีพี หรือ PDP2004 ซึ่งย่อมาจาก Power Development Plan) ด้วยเงินลงทุนลงทุนถึง 400,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปี 2554 ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม

ในฐานะที่ผมได้ติดตามเรื่องพลังงานมานานพอสมควร จึงขอตั้งข้อสังเกตเพื่อเป็นการช่วยตรวจสอบสัก 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. ขั้นตอนและกระบวนการจัดทำแผน
สิ่งที่ปฏิบัติกันมาจนเป็นเรื่องปกติของขั้นตอนการจัดทำแผนพีดีพีนั้นมี 5 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือเริ่มจาก ขั้นแรก คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะบอกว่าในปีใดความต้องการไฟฟ้าจะเป็นเท่าใด ทั้งนี้เพื่อจะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนก่อสร้างต่อไป ขั้นที่สอง ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดทำแผน ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ใด จำนวนเท่าใด ด้วยเชื้อเพลิงชนิดใด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าขั้นต้อนนี้ต้องผ่านคณะกรรมการ กฟผ. ขั้นที่สาม ผ่านกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาเสนอต่อ กพช.(ขั้นที่สี่) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นก็เสนอ คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นขั้นที่ห้าเพื่อพิจารณาซึ่ง ครม.จะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่รวดเร็วมาก ยิ่งทำให้เห็นว่า โครงการนี้ไม่ต้องการการตรวจสอบจากภายนอกโดยสิ้นเชิง

ข้อสังเกตของผมรวมทั้งของคุณนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ คณะทำงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็คือว่า งบประมาณการก่อสร้างสูงถึง 4 แสนล้านบาทแต่ไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สถาบันวิชาการ หรือองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งสาธารณะอื่นๆเลย ถ้าผลการพยากรณ์ผิดพลาดก็จะเป็นภาระกับคนไทย

ในอดีตหมาดๆ คือเมื่อปี 2545 ท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ได้กล่าวหลังจากไปเยี่ยม กฟผ.ว่า "ในช่วงที่ผ่านมามีการคำนวณการใช้พลังงานผิดพลาดทำให้ต้องลงทุนสูงเกินไป โดยในปัจจุบันได้ลงทุนสูงไปถึง 4 แสนล้านบาทซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน"

จริงอยู่ในช่วงหลังปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศถดถอย ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงต่ำผลการพยากรณ์ที่ได้กระทำไว้ล่วงหน้า แต่ถามว่าการอนุมัติแผนการใหญ่โตคราวนี้มีหลักประกันใดบ้างที่จะไม่ให้ความผิดพลาดครั้งก่อนต้องเกิดขึ้นอีก

เพราะในปีแรกที่ผลการพยากรณ์ครั้งใหม่(ซึ่งได้พยากรณ์ไว้ในปี 2546)ที่ใช้เป็นฐานในการทำแผนพีดีพี2004 ล่วงหน้าระยะ 15 ปี ก็พบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเสียแล้ว กล่าวคือได้พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(peak)ไว้สูงกว่าความเป็นจริงถึง 275 เมกะวัตต์

แม้ตัวเลขนี้จะดูน้อยหรือเพียง 1.42% เมื่อเทียบกับความต้องการจริง แต่อย่าลืมว่าตัวเลขที่ได้จากการพยากรณ์ที่เกินจริงนี้จะต้องถูกนำไปคำนวณต่ออีก 15 ครั้ง นั่นคือยิ่งนานปีเข้าความผิดพลาดก็ยิ่งมากขึ้น ถ้าใช้อัตราการเพิ่มปีละ 8.16%(ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงาน) ด้วยความผิดพลาดเริ่มต้นเพียง 275 เมกะวัตต์จะเพิ่มเป็น 892 เมกะวัตต์ หรือถ้าคิดเป็นค่าก่อสร้างในปัจจุบันก็ประมาณ 35,000 ล้านบาท หรือประมาณ 8%ของมูลค่าทั้งโครงการเลยทีเดียว

นี่เป็นเพียงความคิดพลาดในประเด็นเดียวเท่านั้น

2. ประเด็นพลังงานหมุนเวียน(renewable energy)
ในปี 2545 กระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาศักยภาพของพลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้า ผลการศึกษาพบว่าทางภาคใต้ของประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ถึงกว่า 1,600 เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงานเองได้เตรียมตั้งงบประมาณไว้ถึง 1 หมื่นล้านบาทเพื่อ "ส่งเสริม วิจัยและพัฒนา" พลังงานหมุนเวียน โดยได้นำเสนอเป็นเอกสารต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา แต่อยู่ๆเรื่องนี้ก็เงียบหายไปเฉยๆ เหลืออยู่แต่เพียงผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานซึ่งผมขอนำบางส่วนมาแสดงเป็นหลักฐานไว้ในที่นี้ด้วย (http://203.150.24.8/dede/renew/wind_p.htm)
ในภาพเป็นแผนที่ความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปี ในจังหวัดสงขลา ที่ระดับความสูง 50 เมตรจากผิวดิน พบว่ามีความเร็วประมาณ 7.5 ถึง 8 เมตรต่อวินาทีซึ่งสามารถทำไฟฟ้าได้อย่างดี

เท่าที่ผมได้ไปดูงานที่ประเทศเยอรมันนีและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่า กิจการกังหันลมสามารถได้ทุนคืนภายในเวลา 8 ปีเท่านั้น

ต้นทุนในการก่อสร้างก็ประมาณ 40 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ซึ่งก็เท่ากับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมไม่ต้องเสียค่าเชื้อเพลิงใดๆอีกเลย ต้นทุนค่าบำรุงรักษาก็ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าธรรมดามาก การก่อสร้างก็สามารถทำได้เร็วไม่ต้องวางแผนล่วงหน้านานซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านที่สนใจสามารถเรียกจาก google.com แล้วพิมพ์คำว่า "wind turbine" แล้วอาจเพิ่มคำว่า "in India" หรือ "Europe" ก็จะได้แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจมาก

แต่ทำไมการจัดทำแผนพีดีพีจึงไม่คิดถึงเรื่องกังหันลมอีกเลย และเมื่อผมเข้าในดูในเว็บไซต์ของ กฟผ. พบว่ามีการพูดถึง "พลังงานทดแทน" แต่ไม่มีการพูดถึงกังหันลมเลย

ทำไมกระทรวงพลังงานซึ่งมีรัฐมนตรีและข้าราชระดับสูงอีก 2 ท่านนั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงไม่ผลักดันแนวคิดและผลการศึกษาของตนออกมาให้เป็นนโยบาย หรือว่ามีอะไรมาบังตา บังใจ จึงมุ่งมั่นแต่โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดเดิม

3. สรุป: มิติที่ใหญ่กว่าของปัญหาพลังงาน
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาราคาน้ำมันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คนไทยเราแม้จะรับทราบข่าวสารกันดีแต่ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกรู้สากันอะไรมากนัก เพราะรัฐบาลไทยใช้นโยบายชดเชยราคา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เอาเงินของคนรุ่นหลังมาใช้ก่อน" คนรุ่นนี้จึงยังไม่เดือดร้อน

แต่จากการประชุมระดับโลกเรื่องพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy 2004) ที่ประเทศเยอรมันนีเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาซึ่งผู้แทนจากประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย พบว่าที่ประชุมมองปัญหาพลังงานในมิติที่กว้างกว่าเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการตามที่ทาง กพช.กำลังกระทำอยู่ ผมขอยกมาตั้งเป็นประเด็นสั้นๆ เพื่อให้สังคมไทยได้ช่วยกันคิด เช่น

พลังงานที่มาจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน (เรียกรวมๆว่าพลังงานฟอสซิล) นับวันจะมีราคาแพงขึ้นและเหลือน้อยลง มีผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนที่สามารถสร้างภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ให้กับชาวโลกทุกปี มีปัญหาเรื่องการผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น แต่พลังงานหมุนเวียน(เช่น ลม แสงอาทิตย์ คลื่นในทะเล และชีวมวล) ใช้แล้วไม่หมดไป ราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ มีผลกระทบน้อยมาก และที่สำคัญคือไม่มีใครสามารถผูกขาดได้ เป็นการสร้างงานและกระจายรายได้ ลดปัญหาความยากจนได้

ประเทศในสหภาพยุโรปตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2020 เขาจะใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 20% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมด

ประเทศไทยเราก็มีลมมากพอที่จะทำได้ แต่ทำไม กพช. จึงให้ความสำคัญน้อยมาก ขอฝากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันตั้งคำถาม และช่วยกันตรวจสอบด้วยครับ

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net