Skip to main content
sharethis

เนื่องด้วยวันแรงงานสากล เครือข่ายแรงงานทวงสัญญานโยบายแรงงานที่เคยหาเสียง เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันลาคลอด 180 วัน และอื่นๆ พร้อมเพิ่อข้อเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอิสระไรเดอร์ แก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองเมียนมา

1 พ.ค. 2567 เนื่องด้วยวันแรงงานสากล หรือ เมย์เดย์ กลุ่มเครือข่ายแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มแรงงานข้ามชาติ 'Bright Future' และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดหมายรวมตัวที่หน้าซอย 7 ถ.พิษณุโลก ตั้งขบวนเดินหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีประชาชนเริ่มมารวมตัวกันตั้งแต่เมื่อเวลาราว 8.30 น.

เวลา 8.50 น. ประชาชนเริ่มรวมตัวและตั้งขบวนหน้าซอยพิษณุโลก 5 ขณะเดียวกัน ก็มีการปราศรัยจากนักกิจกรรมแรงงาน โดยระบุข้อเรียกร้องวันนี้เพื่อมาทวงนโยบายหลายอย่างที่พรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันลาคลอด 180 วัน ปริญญาตรีเริ่มเงินเดือน 25,000 บาท ลดค่าไฟ-น้ำมันตามที่เคยหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะลดลง ไปจนถึงการรับอนุสัญญา ILO 87-98 ยกระดับเสรีภาพการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

เวลา 9.20 น. ขบวนแรงงานลงตั้งขบวนถนนพื้นผิวถนนโดยใช้จำนวน 1 เลนส์ มีการแบ่งขบวนเริ่มจากแรงงาน แรงงานข้ามชาติ และปิดขบวนด้วยไรเดอร์ (แรงงานอิสระ)

เวลาประมาณ 9.45 น. ขบวนการแรงงานเดินขบวนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ แต่ถูกสกัดโดยแนวกั้นตำรวจชุดสีกากี  


ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า เบื้องต้นทางกลุ่มแรงงาน ก็มีข้อเรียกร้องเดิมด้วย เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันลาคลอด 180 วัน รับ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และอื่นๆ
ธนพร ระบุว่า ยังมีข้อเรียกร้องใหม่โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง และการต่อใบอนุญาตทำงาน มีความลำบากมากขึ้น และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอะไร และมีปัญหาใหม่เข้ามาอีกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง การแก้ไขปัญหา มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับไรเดอร์ที่ยังไม่มีกฎหมายไหนจะมาดูแลพวกเขา หรือกรณีผู้ให้บริการค้าประเวณีถูกดำเนินคดีทั้งที่มันเป็นอาชีพสุจริตของเขา ภาพรวมคือบางส่วนข้อเรียกร้องเดิมที่เรามาทวงสัญญา และมีข้อเรียกร้องใหม่ให้ปรับเพิ่ม

ชดเชย บอดี้แฟชั่น เอเอ็มซี สปินนิ่ง และอัลฟ่า สปินนิ่ง ยังไม่คืบ

ธนพร มีการกล่าวถึงกรณีเมื่อต้นปีมีสถานการณ์การชดเชยลูกจ้างถูกลอยแพของ เอเอ็มซี สปินนิ่ง อัลฟ่า สปินนิ่ง และ บอดี้แฟชั่น ที่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเมื่อ 4 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในรัฐบาล ได้รับปากว่าจะมีการนำเรื่องอนุมัติงบประมาณกลางชดเชยลูกจ้างที่ถูกลอยแพของทั้ง 3 โรงงาน เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่กลับได้รับแจ้งว่า ครม.มีมติไม่เห็นชอบจะเอางบประมาณกลางมาใช้ เลยไม่มีการนำเข้าวาระการประชุม ครม. เราเลยไม่เห็นหนทางว่าเราจะมาเรียกร้องกับใคร

นอกจากนี้ ธนพร ระบุว่า ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการยังไงกันต่อ และการดำเนินคดีกับนายจ้างก็ล่าช้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชั้นตำรวจ หรืออัยการ ยังปล่อยนายจ้างลอยนวล

“อยากฝากถึงรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คือนโยบายแรงงานที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ค่าจ้างปริญญาตรี 25,000 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และให้ถึง 600 บาทในปี 2570 ต้องให้มีไทม์ไลน์ออกมาให้ชัดเจนว่าจะไปสู่ 700 บาทได้อย่างไร คิดว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ การสร้างอาชีพให้กับครอบครัวและการสร้าง soft power ให้กับแรงงานใหม่ๆ ที่เรียนจบและกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน คิดว่าเรื่องพวกเหล่านี้รัฐบาลต้องสนับสนุน… เราคิดว่าเอาให้ได้สิ่งที่รัฐบาลหาเสียงทำให้ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน” ธนพร กล่าว และระบุว่า กิจกรรมต่อจากนี้ ยังไม่แน่ใจรัฐบาลจะมารับหนังสือหรือไม่

เวลา 10.30 น. ธนพร ได้อ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือถึง สแตนดี 'เศรษฐา' เนื่องจากตัวจริงวันนี้ไม่ได้มาเอง หลังจากนั้นมีการละเล่นรำวง วันไหลสงกรานต์หน้าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนประกาศยุติการทำกิจกรรม
รายละเอียดแถลงการณ์

วันนี้วันที่ 1 พฤษภาคม นับเป็นวันกรรมกรสากล หาใช่วันแรงงานแห่งชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2429 คนทำงานเมืองชิคาโก้ออกมาชุมนุมนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า “ระบบสามแปด” แต่ว่าต่อมาเกิดเหตุปะทะกับตำรวจ จนส่งผลให้แกนนำจำนวน 7 คนถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ขบวนการแรงงานสากลจึงลุกฮือขึ้นสานต่อการต่อสู้ของคนงานเมืองชิคาโก้ โดยการประกาศทุกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันกรรมกรสากล ความตายของแรงงานจำนวนหนึ่งจึงบังเกิดเป็นเสียงเรียกร้องที่ดังกึกก้องไปทั่วทุกมุมโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ถึงวันนี้ สิทธิแรงงานยังคงขาดหาย ค่าแรงไม่พอกิน เวลาการทำงานมากล้น การจ้างงานไม่มั่นคง อำนาจต่อรองถดถอย รัฐบาลตระบัดสัตย์ผิดคำสัญญา นักประชาธิปไตยถูกคุมขังเต็มเรือนจำ ไม่ต่างไปจากอดีต เราจึงต้องลงถนนจนกว่ายุติธรรมจะบังเกิด

ในนามของกรรมกรทุกอาชีพและสัญชาติเราขอเรียกร้องต่อรัฐไทยดังนี้

1. ต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มสำหรับคนทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม

2. คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในการแสดงออกทางการเมือง และระงับการร่วมมือกับเผด็จการในเมียนมา กัมพูชาและรัฐบาลเผด็จการอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามประชาชนชาวต่างชาติภายในประเทศไทย

3. ต้องบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกรณีของการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าแรง เงินประกันสังคม เป็นต้น

4. ต้องยืนหยัดในประชาธิปไตยสากล ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ปกป้องสิทธิในการแสดงออก เดินหน้าภารกิจด้านมนุษยธรรมและผลักดันสันติภาพไร้พรมแดน

5. ต้องรับรองหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต โดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว

6. ต้องผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วันแบบแบ่งกันลาได้ จนเป็นกฎหมายบังคับใช้

7. ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกอาชีพและอัตลักษณ์เท่าเทียมกัน รวมถึงการปรับลดเพดานชั่วโมงการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างจากเดิม

8. เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมั่งคั่งเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของทุกคน

9. ยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี คุ้มครองผู้ค้าบริการในฐานะแรงงาน

10. ต้องผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยปราศจากการจำกัดควบคุมเนื้อหาการแก้ไขใดใดทั้งสิ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net