Skip to main content
sharethis

ข้อเสนอ 'องค์กรสังคมนิยมแรงงาน' เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2567 กรรมาชีพต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ เพื่อหยุดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม


        
1 พ.ค. 2567 องค์กรสังคมนิยมแรงงาน เผยแพร่ข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2567 ความว่า ดูท่านโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19 ของรัฐบาลไม่ทันกับสถานการณ์ปัญหาของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เพราะรายได้ยังตกต่ำไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงลิ่ว หนี้สินครัวเรือนค้างชำระทั้งที่กู้ในระบบและนอกระบบ เป็นปัญหาสาหัสจนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมในสังคม ซึ่งสะสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ล่าสุดนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและการแจกเงินดิจิทัลอาจแก้ปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้า เพราะโครงสร้างอำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวยยังคงกระจุกอยู่ที่ชนชั้นนายทุน ทั้งรัฐยังเอาเงินภาษีของประชาชนไปแก้ไขปัญหาที่คนเหล่านี้เป็นผู้ก่อ เช่น ผูกขาดสินค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคา เก็งกำไร เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ละเมิดกฎหมาย ทำลายสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา เมืองไทยเป็นแหล่งกอบโกยกำไรของทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมระดับต่างๆ ทั้งนายทุนไทยก็ผูกขาดสินค้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหาร พลังงาน การสื่อสาร แช่แข็งการขึ้นค่าจ้าง นั่นสะท้อนว่า การพัฒนาของไทยเน้นการกดค่าจ้างมาโดยตลอด ซ้ำมีกรณีที่ปิดกิจการสาขา ส่งกำไรไปเลี้ยงบริษัทแม่ในต่างประเทศจนอิ่มแล้วก็ไป ลอยแพคนงานมานับครั้งไม่ถ้วน ดังกรณีคนงานตัดเย็บของบริษัทบริลเลียนอัลไลแอนซ์ ที่สามารถต่อสู้เรียกเงินค่าชดเชยที่ถูกโกงไปได้ ทั้งจ้างงานแรงงานข้ามชาติเยี่ยงทาส มีคนงานตกงานถาวรเป็นจำนวนมากโดยไม่มีเงินบำนาญ เราเป็นสังคมที่ทิ้งคนที่ถูกใช้งานจนพังไว้ข้างหลัง แต่กลับเชิดชูมหาเศรษฐีหน้าใหม่ มหาเศรษฐีติดอันดับโลกทางสื่อ ซึ่งไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของแรงงาน ล่าสุดการเติบโตของโมเดลธุรกิจดิจิทัลก็มาจากขูดรีดแรงงานบนแพลตฟอร์ม

รัฐและทุนยังทำให้ประชาชนอ่อนแอ มีการทำลายการรวมตัวของแรงงาน การชุมนุมของประชาชนที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ กีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและก.ม.แรงงาน เลือกปฏิบัติแรงงานแต่ละกลุ่ม แบ่งแยกและปกครองมาโดยตลอด อันเป็นการบั่นทอนประชาธิปไตย

ที่กล่าวมาคือความจริงที่เรายังยากจนเพราะถูกกระทำ พวกเราจากองค์กรสังคมนิยมแรงงานจึงขอเสนอ

1. รัฐต้องเปลี่ยนกรอบคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไหลริน คำนึงถึงผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ก่อนเอกชน เพิ่มช่องทางให้กรรมาชีพมีอำนาจตัดสินใจในนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นธรรม

2. รัฐต้องลดอำนาจและความมั่งคั่งของนายทุน โดยจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง เพิ่มภาษีเงินได้และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า และนำเงินมาพัฒนาสวัสดิการมากขึ้น ได้แก่ เงินบำนาญให้ผู้เกษียณอายุ สวัสดิการเด็กเรียนฟรีเพื่อให้เยาวชนเข้าถึงการศึกษาการฝึกทักษะขั้นสูง

3. กระจายรายได้อย่างจริงจัง โดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่ 600 บาททั่วประเทศ จ้างงานมั่นคง กระจายการถือครองที่ดิน และปัจจัยการผลิตเช่น เงินทุน เทคโนโลยีใหม่

4. ยกเลิกหนี้ กยศ. หนี้ครัวเรือนที่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารและการขูดรีดของผู้ให้กู้

5. ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข และยกเลิก 112 เพื่อคืนเสรีภาพให้แก่ผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงานทุกเชื้อชาติเพื่อจรรโลงระบอบประชาธิปไตย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net