Skip to main content
sharethis
  • ชุมชนสะพานร่วมใจ: เมื่อความเจริญมาเยือน
    • นโยบายพัฒนาเมืองเพื่อใคร
    • แรงงานพลัดถิ่นต้องไร้ถิ่นในแดนความเจริญ
    • “ต้องขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่โอเคแต่ก็ต้องโอเคเพราะเราต้องอยู่ร่วมกับหน่วยงานรัฐให้ได้ เช่าก็เอา”
    • จน-เจ็บ-ตาย ไร้ที่ไป
  • โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บนพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทร
    • “ความเจริญของรัฐ แต่เดือดร้อนชาวบ้าน” 
    • หมายศาล น้ำ-ไฟ ทะเบียนบ้าน และความขัดแย้งภายในชุมชน
    • จากผู้บุกเบิกจนมาถึงวันที่ถูกไล่
  • ปัญหา-ผลกระทบ-ความรู้สึกของคนในชุมชนชายขอบในช่วงถูกไล่รื้อบ้าน และ แรงงานอพยพที่กลับบ้านไม่ได้
  • ความหวังการอยู่ใน ‘เมืองที่เป็นธรรม’

รัฐบาลทุกสมัยมักมีนโยบายเพื่อการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจโดยตลอด พื้นที่ไหนที่มีการประกาศใช้นโยบายเพื่อการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจหรือเป็นเมืองสร้างสรรค์ก็มักเกิดการโครงการพัฒนาพื้นที่บางอย่างจากรัฐบาล และส่วนมากจะขาดการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือการทำประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงทำให้มีผลกระทบตามมาอยู่บ่อยครั้ง

รายงานชิ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาเมือง 2 พื้นที่ คือ ‘ชุมชนซอยสะพานร่วมใจ’ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อพื้นที่โดยกรมทางหลวง และ ‘ชุมชนบุญร่มไทร’ ที่ตั้งระหว่างถนนพญาไทไปจนถึงถนนพระรามที่ 6 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา)

แม้พวกเขาจะเป็นประชาชนและเป็นแรงงานที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเหมือนประชาชนกลุ่มอื่น แต่คนเหล่านี้กลับถูกหลงลืมและไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐได้ดีเท่าที่ควร คนกลุ่มนี้เป็นผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่ปักหลักอยู่ในกรุงเทพฯ จนมีครอบครัวตั้งถิ่นฐานที่นี่ในชุมชนแออัดของพวกเขา แต่รัฐก็ไม่เคยให้ความสำคัญหรือเยียวยาผลกระทบจากนโยบายทั้งในอดีตและปัจจุบัน

Untitled

ภาพทิวทัศน์ชุมชนสะพานร่วมใจ ริมถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

ชุมชนสะพานร่วมใจ: เมื่อความเจริญมาเยือน

ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการก่อสร้างถนนวิภาวดีรังสิตจากสระบุรี และทำพิธีเปิดโดย พล.อ.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ถนนเส้นนี้อยู่ในโครงการพัฒนาถนนร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับถนนมิตรภาพ จากนั้นกรมทางหลวงได้ขึ้นทะเบียนเส้นทางสายนี้เป็น ‘ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31’ และทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ หรือเมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน

การขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้มีนโยบายหลายตัวที่สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมและนำมาสู่การเกณฑ์แรงงานเข้าสู่เมืองกรุงหรือที่เรียกว่า ‘แรงงานพลัดถิ่น’ ไม่ว่าจะเป็นคนภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก หรือภาคใต้ คนทุกภาคต่างเดินทางเข้ามาปักหลักอยู่อาศัยตามชายขอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นำมาสู่การขายแรงงานของตนเอง แต่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีที่อยู่อาศัยรองรับแรงงานเหล่านี้ในราคาที่ผู้ใช้แรงงานสามารถเช่าหรือซื้อเพื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววว่านโยบายพัฒนาเมืองในอดีตจะถูกแก้ไขและชดเชยให้แก่ประชาชนที่ต้องมาขายแรงงานในปัจจุบัน เพื่อสร้างเมืองหรือสร้างถนนอย่างถนนวิภาวดีรังสิตและยังไม่รวมถึงแผนนโยบายต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหากไร้ซึ่งแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพ การพัฒนาเมืองอาจมาไม่ถึงความเจริญที่เราเห็นในทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ความเจริญที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีดังกล่าวถึงปัจจุบันปี พ.ศ.​ 2567 ยังมีแรงงานจำนวนมากที่อยู่อาศัยตามชายขอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พวกเขาต้องอยู่ในสภาพที่ยากจนและยังคงเป็นแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์แรงงานขั้นต่ำ ใช้ชีวิตสืบทอดถึงรุ่นลูกหลานก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทั้งยังถูกละเลยและไร้ซึ่งการชดเชยเยียวยาจากนโยบายที่เน้นการพัฒนาเมือง ทำให้ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดได้รับคุณภาพชีวิตที่ไม่เทียบเท่าคนเมืองที่ได้รับผลประโยชน์จากความเจริญของเมืองที่ถูกสร้างขึ้น

เมื่อถูกเรียกว่า ’ชุมชนแออัด’ ประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเคยสร้างไว้ให้เมืองหลวงแห่งนี้เจริญขึ้นได้ถูกทำให้หายไป เหลือไว้เพียงแค่บ้านที่เป็นชุมชนแออัดและเป็นเพียงสิ่งที่ไม่น่ามองสำหรับผู้มีอำนาจในการออกแผนนโยบาย ทำให้เกิดการไล่รื้อชุมชน แม้ชุมชนเหล่านี้จะเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่และเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองก่อนที่ความเจริญจะมาถึงหรือก่อนที่กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีความเจริญอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ แต่พวกเขาก็ยังคงไม่ได้รับประโยชน์จากความเจริญที่มือพวกเขาได้สร้างขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นโยบายพัฒนาเมืองเพื่อใคร

Untitled

ภาพสมาชิกชุมชนสะพานร่วมใจซ่อมรถสองแถว

“ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเขาอยู่มา 70 ปี ส่วนผมเพิ่งย้ายเข้ามาตอนปี 2518”
หนึ่งในสมาชิกชุมชนสะพานร่วมใจ อายุ 69 ปี และอาศัยที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

ชุมชนสะพานร่วมใจเป็นชุมชนบุกเบิกตั้งอยู่ข้างสนามบินดอนเมือง เขาได้เล่าว่าเดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นบริเวณที่เรียกว่า ‘สะพานปูเค็ม’  เพราะแต่ก่อนเป็นบึงข้างสนามบินดอนเมือง สะพานก็คือบริเวณที่เป็นทางเดินของชุมชน ต่อมาได้เรียกที่นี่ว่า ‘ทุ่งสมอกอง’  ซึ่งเกิดจากการขยายของเมืองและมีการทุบสะพานตามจุดต่าง ๆ และโครงการก่อสร้างของโฮปเวลล์รวมถึงการขยายของถนนวิภาวดี ขยะจากการก่อสร้างก็ได้ถูกนำมาทิ้งในบึงแห่งนี้

สมาชิกชุมชนท่านนี้ได้เล่าว่าคนในชุมชนรุ่นบุกเบิกได้อยู่อาศัยที่นี่ 70-80 ปี และรุ่นลูกของพวกเขาอยู่ที่นี่มานานเช่นกัน ส่วนมากรุ่นลูกจะอายุประมาณ 40-50 ปี และตอนนี้ก็มีรุ่นหลานต่ออีกซึ่งกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในวัยเรียน เมื่อกรมทางหลวงได้เข้ามาไล่รื้อชุมชน ในปี 2562 โดยนำหมายศาลเข้ามาติดและพยายามกดดันด้วยหมายศาลบังคับให้คนในชุมชนทุกคนย้ายออกภายใน 15 วัน เพื่อไล่คนในชุมชนออกจากพื้นเพราะต้องการสร้างสำนักงานใหม่ การถูกกดดันด้วยหมายศาลบังคับให้คนในชุมชนย้ายออกโดยไม่มีการพูดคุย สมาชิกชุมชนท่านนี้ได้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“ของหลวงอะไรเงินที่ใช้ของภาษีประชาชน มันเงินของราษฎรทั้งนั้น มันของราษฎร์ไม่ใช่ของหลวง แล้วมาดูคนจนที่อยู่ข้างสำนักงานสิ” สมาชิกชุมชนท่านนี้กล่าว

Untitled

ภาพกำแพงกั้นระหว่างกรมทางหลวงหน่วยลำลูกกาและชุมชนสะพานร่วมใจ

“พอต้องมามีปัญหากับกรมทางหลวงก็ต้องไปชุมนุมที่กระทรวงคมนาคม เสียเวลาในการทำงานเสียเงินในการเดินทางไปชุมนุมทั้งๆ ที่เราก็อยู่ที่นี่มาก่อน”

สมาชิกท่านนี้ได้ให้ความเห็นว่า ประชาชนผู้บุกเบิกเข้ามาในพื้นที่ได้ตั้งรกรากอาศัยมาก่อนที่จะมีหน่วยงานรัฐและอยู่มาก่อนที่จะมีการแบ่งว่าพื้นที่ส่วนไหนเป็นของกระทรวงใดบ้าง ดังนั้น ทุกครั้งที่หน่วยงานราชการจะใช้พื้นที่ใดก็ตาม ควรต้องศึกษาว่ามีประชาชนอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวมาก่อนหรือไม่ และต้องมีการเจรจาพูดคุยหารือกัน ไม่สามารถเข้ายึดได้ทันทีหรือยึดด้วยอำนาจจากศาล เพราะประชาชนที่อยู่มาก่อนก็คือประชาชนที่จ่ายภาษีให้หน่วยงานทุกหน่วยงานในทุกวันนี้

“คนที่มีอำนาจมีบทบาทในสังคมต้องสวมหัวโขนก็เอะอะเอาหมายศาลมาขู่ประชาชน หมายศาลไม่ใช่พ่อของทุกคนเลิกได้เลิก” สมาชิกชุมชนท่านนี้กล่าว

“ก็อย่างที่บอก รุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่กันมาตั้งหลายปีจะมีลูกมีหลานอยู่จะมาให้ย้ายออก 15 วัน อำนาจที่มีจะมาไล่ก็เพิ่งมีมาได้แค่ไม่กี่ปี จะมาไล่คนที่อยู่มาก่อนหน่วยงานตัวเอง มันไม่ถูกต้อง กลับไปคิดดู” สมาชิกท่านนี้กล่าวทิ้งท้าย

การยืนยันสิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนสะพานร่วมใจได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 จากนั้นได้รับเอกสารยืนยันสิทธิ์และสร้างบ้านมั่นคงในพื้นที่เดิมโดยไม่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปในปี 2566 ถึงแม้จะชนะในเรื่องการยืนยันสิทธิที่อยู่อาศัยทำให้ทุกคนไม่ต้องย้ายออก แต่ในระหว่างการต่อสู้ก็มีความเหนื่อยล้าและต้องสละแรงกายเพื่อทุ่มเทกับการชุมนุมเรียกร้องยืนยันสิทธิ์การอยู่อาศัยและสูญเสียเวลาในการประกอบอาชีพของตนเองไปด้วย

“ตอนนี้ก็ไม่เชิงชนะหรอกเพราะว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องลำรางของกรมชลประทานซึ่งมอบอำนาจให้กับแขวงดอนเมืองเป็นผู้ดูแล”

สมาชิกชุมชนท่านนี้ได้เล่าว่าพื้นที่ในชุมชนแม้จะได้ทำบ้านมั่นคงและไม่ต้องย้ายออกแต่ก็ยังคงมีปัญหาตามมาในเรื่องของการใช้พื้นที่เนื่องจากมีลำรางระบายน้ำของกรมชลประทานอยู่ในบริเวณชุมชน

Untitled

ลำรางสาธารณะเขตดอนเมือง

แรงงานพลัดถิ่นต้องไร้ถิ่นในแดนความเจริญ

Untitled

ร้านลุงเล็ก บุญเตือน ชุมชนสะพานร่วมใจ

“ลุงย้ายมาตั้งแต่สมัยลุงวัยรุ่นละ อายุ 15 ปี มาอยู่ที่นี่ ตอนนี้ 61 ปี” ลุงเล็กกล่าว

ลุงเล็ก บุญเตือน สมาชิกชุมชนสะพานร่วมใจ หนึ่งในแรงงานที่อพยพมาจากกาญจนบุรี เพื่อมาทำงานในกรุงเทพ

“บ้านนี้ก็ญาติยกให้ ก็มาทำงานโรงงานอยู่ที่นี่ ที่ทำงานก็ใกล้บ้าน เดินนิดเดียวก็ถึง ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ ตอนนี้โรงงานดังกล่าวได้ปิดทำการไปเพราะน้ำท่วมปี 2554 ส่วนงานที่ทำตอนนี้เป็นบริษัทแห่งหนึ่งดีหน่อย ได้โบนัสเยอะอยู่…ถ้าไม่ได้อยู่ที่นี่ คงต้องหาบ้านเช่าแถวนี้ 4-5 พันต่อเดือน”

ลุงเล็กอธิบายว่า ถ้าต้องย้ายออกจากชุมชนสะพานร่วมใจก็ต้องเช่าบ้านข้างนอกอาศัยอยู่ซึ่งราคาก็สูงขึ้นและส่งผลต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การเดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันอาจไม่สะดวกเท่าตอนนี้ พร้อมเล่าว่าพื้นถนนในชุมชนแต่ก่อนไม่ได้เป็นปูนเหมือนทุกวันนี้เป็นแค่ไม้กระดานแต่ทุกคนในชุมชนเรี่ยไรเงินเพื่อช่วยกันทำพื้นถนนในชุมชนขึ้นมา

“เคยมีคนมาบอกลุงว่าตรงนี้เป็นที่พระมหากษัตริย์เป็นของกรมธนารักษ์ ตอนนั้นมีคนเข้ามาบอกว่าที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นของพระมหากษัตริย์”

ลุงเล็กกล่าวว่าหากที่ดินที่เขาอยู่เป็นของพระมหากษัตริย์จริง เขายินดีที่สละพื้นที่ให้ เพราะเชื่อว่าการเสียสละบ้านของตนจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าการถูกกรมทางหลวงไล่รื้อบ้านไปสร้างสำนักงาน ลุงเล็กเล่าย้อนถึงอดีตช่วงปี 2562 ซึ่งกรมทางหลวงหน่วยลำลูกกาพยายามไล่รื้อชุมชนออกและมาพร้อมหมายศาลให้ทุกคนในชุมชนย้ายออกภายใน 15 วัน

“กรมทางหลวงหลังจบเรื่องกันไป เขาก็ไม่มาคุยไม่มาไล่ ก็แบ่งเขตกันใหม่ เพราะตอนแรกเขาเอาคืนหมดเลย ตอนนี้ก็เรียกร้องจนจบก็อยู่กันครบหมด”

การต่อสู้ของชุมชนสะพานร่วมใจได้รับชัยชนะในการยืนยันสิทธิที่อยู่อาศัย โดยได้เข้าร่วมกับ P-move กลุ่มขบวนการเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยชาติพันธ์ุและประเด็นทางสิทธิมนุษยชน ร่วมกันเรียกร้องยืนยันว่าคนจนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มักเป็นผู้บุกเบิกจากการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะมีนโยบายของรัฐเข้ามาไล่รื้อ ดังนั้น ผู้ที่อยู่มาก่อนย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ตนบุกเบิกเข้ามาไม่ใช่ผู้บุกรุกตามที่หน่วยงานรัฐพยายามใช้เพื่อบังคับให้คนย้ายออก

“ผมคิดว่าพอขึ้นเป็นบ้านมั่นคงแล้วต้องจ่ายค่าเช่าต่อปีก็ยังถูกกว่าที่เราต้องไปจ่ายรายเดือน เพราะว่าเราก็ได้สิทธิ์ในการอยู่ที่นี่และค่าเช่าก็ยังถูกกว่าการไปเช่ารายเดือนอยู่ดี ”  

สำหรับลุงเล็กนั้น นอกจากการได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมและได้มีบ้านอยู่ร่วมกับทุกคนในชุมชนแล้ว การได้อยู่ร่วมกับทุกคนในชุมชนเป็นทั้งความสบายใจและความสุขเหมือนครอบครัวเดียวกันเพราะเคยอยู่ด้วยกันมานานและมีความผูกพันต่อกัน

Untitled

ภาพ ลุงเล็ก บุญเตือน ในร้านอาหารตามสั่งของลุงและป้าบุญเตือน พาดี

“ตอนช่วงที่เขาเปิดสำนักงานแรกๆ เขาก็มาซื้อข้าวกินที่ร้านเรา ตอนนี้ไม่มีแล้วเพราะว่าข้างในมีร้านอาหารเป็นศูนย์อาหาร ก็มีมากินแล้วก็เซ็นไว้ แล้วก็ตอนนี้ก็กินในที่ทำงานก็ไม่ได้ออกมาจ่ายที่เซ็นไว้แล้วเราก็ปล่อยไป... ที่เขาเซ็นไว้เขาก็ไม่โผล่มาหลายเดือนแล้วก็ชิ่งไปเลย ก็คิดซะว่าเป็นการทำบุญเพราะถ้าเราไปคิดมากไว้มันก็จะเครียด คิดซะว่าทำบุญดีกว่าจะได้ไม่ต้องเครียด”

ลุงเล็กเล่าว่า คนในชุมชนมากินแล้วเซ็นไว้เพื่อที่ตอนสิ้นเดือนจะมาจ่ายหลังเงินเดือนออก แต่ว่าคนที่ทำงานในสำนักงานกรมทางหลวง หน่วยลำลูกกา ซึ่งอยู่ข้างชุมชนนั้นเซ็นไว้นานแล้ว แต่เมื่อเงินเดือนออกมาก็ไม่ได้มาจ่าย จนปัจจุบันก็ยังไร้วี่แวว สุดท้ายตนจึงปล่อยผ่านไป ไม่อยากไปตามหรือทักท้วงอะไร คิดเสียว่าเป็นการทำบุญก็สบายใจกว่าการที่ต้องเก็บมาเครียดว่าลูกหนี้เราไม่ยอมมาจ่าย ทั้งที่คนกลุ่มนี้ต่างทำงานมีเงินเดือนและเป็นงานราชการ

“สิ่งที่อยากบอกคือ ใจจริงผมอยากอยู่ที่นี่เพราะมันไม่มีปัญหาเรื่องขโมย ทุกคนรักกันเหมือนพี่น้องจริงๆ อันนี้ต้องยอมรับเลย ใจคนที่นี่เขาสุดยอดมาก เราอยู่ด้วยกันจนรู้นิสัยกันเองหมดแล้วไม่อยากได้เพื่อนบ้านใหม่คนในชุมชนใหม่ เพราะเวลาเราไปเที่ยวไหนไปธุระข้างนอกก็ฝากบ้านกับเพื่อนบ้านได้สบายใจ”

ลุงเล็กกล่าวถึงชุมชนที่พวกเขาอยู่ว่า หากมองจากภายนอกแล้วอาจดูเหมือนไม่น่าอยู่แต่สำหรับลุงเล็กนั้นที่นี่น่าอยู่มาก เพราะอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จนตอนนี้มีลูกหลานกันแล้วทุกคนก็ยังช่วยเหลือดูแลกันและกันไม่เคยมีปัญหาของหายและไม่มีการลักขโมยกัน

นอกจากนั้น ลุงเล็กยังมองว่าการที่จะไล่คนในชุมชนออกให้ไปอยู่ที่อื่นต้องเริ่มต้นจากการเข้ามาคุยกันก่อนว่า สาเหตุที่จะไล่คนที่อยู่ในที่ดินตรงนี้ออกไปคืออะไร เอาที่ดินไปทำอะไร เช่น มีการขยายถนนมีการสร้างสะพานลอยก็ต้องเข้ามาคุยกันก่อนถึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะอยู่กันต่อหรือว่าจะไม่อยู่กันต่อ ไม่ใช่เป็นการเข้ามาไล่รื้อโดยที่ไม่ได้พูดคุยกันก่อนเลย

“เราก็อยู่มาก่อนแค่หน่วยงานรัฐเขาจะเข้ามาเอาที่ตรงนี้มันก็ต้องคุยกันไม่ใช่นึกอยากจะได้ก็ไล่เลย”

ก่อนที่การเรียกร้องจะสิ้นสุดลง หน่วยงานกรมทางหลวงหน่วยลำลูกกาก็ได้ดำเนินการก่อสร้างใกล้กับแนวที่ดินของชุมชนและมีการสร้างทับทางเดินทำให้คนในชุมชนเดินทางภายในชุมชนไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าหน่วยงานรัฐที่เข้ามาไล่คนในพื้นที่ออกไปทั้งที่คนในพื้นที่มาก่อนและรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ตั้งใจกลั่นแกล้งคนในชุมชน

“ต้องขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่โอเคแต่ก็ต้องโอเค เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับหน่วยงานรัฐให้ได้ เช่าก็เอา”

Untitled

ภาพ ป้าบุญเตือน พาดี

“มาอยู่ที่นี่เพราะแฟนย้ายมาทำงานที่นี่ก่อน ป้าก็ย้ายตามมา เราก็ได้บ้านตรงนี้มาจากญาติอีกทีเพราะเขาย้ายออกนานมากละ”

ป้าบุญเตือน พาดี เล่าว่า บ้านหลังปัจจุบันได้รับต่อมาจากญาติที่ได้เข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และได้สร้างบ้านหลังนี้ไว้ที่นี่ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าทุ่งสมอกอง ต่อมาญาติได้ย้ายออกไปอยู่ข้างนอกกับครอบครัวนอกชุมชน ส่วนตนเองดั้งเดิมเป็นคนกาญจนบุรี อ.เลาขวัญ และย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ 20 ปี

“เราก็มาซ่อมแซมต่อเติม ก็อยู่แบบนี้มา 20 กว่าปีละ ก็ขยายบ้านตามจำนวนสมาชิกครอบครัว ลูกห้องหนึ่ง หลานห้องหนึ่งก็ตามจำนวนคนกันไป ปีหน้าก็ต้องส่งหลานไปเรียนอนุบาล ก็อยู่แค่ฝั่งตรงข้าม สะดวก”

“ถ้าเขาเรียกคืนก็ต้องไป แต่กรรมการชุมชนบอกให้ออมเงินกันจะได้ทำบ้านมั่นคงแล้วไม่ต้องย้ายออก ไม่อยากไปกันก็เยอะ ป้าเห็นด้วยกับเขาไปเรียกร้องนะ เราอยู่กันมานานอยากด้วยกันต่อ เราก็ไม่อยากจะไปไหน”

ป้าบุญเตือน อธิบายว่าคนในชุมชนอยู่ร่วมกันมา 20 ปี ทำให้มีความผูกพันและอยากอยู่ด้วยกันต่อไป พอมีการไล่รื้อจากกรมทางหลวงหน่วยลำลูกกา ป้าบุญเตือนเองก็ไม่ได้อยากย้ายออกแม้จะไม่ได้ไปร่วมชุมนุมแต่ก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของชุมชน  ปัจจุบันป้าบุญเตือนก็ยังยืนยันอยู่ร่วมกับคนในชุมชนเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความผูกพันกับคนในชุมชน จึงไม่อยากย้ายออกไปเจอคนอื่น เพราะคนที่นี่เป็นเหมือนครอบครัวสำหรับป้าบุญเตือน

“ต้องขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่โอเคแต่ก็ต้องโอเคเพราะเราต้องอยู่ร่วมกับหน่วยงานรัฐให้ได้ เช่าก็เอา”

ป้าบุญเตือนให้ความเห็นว่า แม้ที่ผ่านมาตนและคนในชุมชนจะเป็นผู้บุกเบิกเข้ามาอาศัยอยู่ก่อนที่จะมีความเจริญเข้ามาหรือก่อนการสร้างถนนวิภาวดีรังสิตก็ตาม พอมีการไล่รื้อจากหน่วยงานรัฐแต่คนในชุมชนไม่อยากไป ถ้าทางออกคือการต้องเช่าในราคาที่ถูกและได้อยู่ร่วมกับทุกคนในชุมชนสร้างป้าบุญเตือนก็ต้องยอมรับทางออกนี้

Untitled

ภาพ ป้าบุญเตือน กับหลานวัยอนุบาล

“ถึงสภาพบ้านเราจะเป็นแบบนี้นะ แต่คนในชุมชนเราอยู่ด้วยกันมาของในบ้านไม่เคยมีเลยของหาย เรื่องขโมยไม่มีเลย รักกันเหมือนพี่น้องหมดเลย ก็เลยไม่อยากไปไหนกันอยากอยู่ด้วยกัน” ป้าบุญเตือนกล่าว

จน-เจ็บ-ตาย ไร้ที่ไป

Untitled

ภาพลุงพล (สงวนนามสกุล)

“ลุงอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2513 เข้ามาทำงานโรงงานปั่นด้าย ก็อยู่ทำงานมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้” ลุงพลกล่าว

ลุงพล (สงวนนามสกุล) อายุ 85 ปี หนึ่งในผู้อยู่อาศัยในชุมชนสะพานร่วมใจและเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้มากนักเพราะมีโรคประจำตัว

“ก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่ลุงก็อยู่แถวนี้ แต่ก่อนตรงนี้เขาเรียกว่าทุ่งสมอกอง”

ลุงพลเล่าให้ฟังว่าเขาเกิดอยู่ที่นี่ ตอนแรกไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้ แต่ก็อยู่อาศัยในบริเวณชุมชนนี้ตั้งแต่แรกและบริเวณนี้ก็ชื่อเดิมคือ ทุ่งสมอกอง เป็นพื้นที่รกร้าง มีงู มีการทิ้งขยะจากงานก่อสร้างในบริเวณนี้ ภายหลังเมื่อเริ่มทำงานโรงงานลุงก็เข้ามาสร้างบ้านหลังนี้และอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนนี้เดินไม่ได้ เดินขยอกแขยก เดินได้นิดเดียวเดี๋ยวล้มละ อยากได้ที่ก็เอาไปแต่ลุงก็อยู่แบบนี้ ถ้าจะตายก็ตายตรงนี้ที่นี่แหละ”

ลุงพลเล่าว่าปกติตนจะอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ ไปไกลสุดแค่ร้านค้าในชุมชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านและสามารถเดินไปได้ แต่ขากลับต้องมีคนเดินมาส่งเพราะว่าบางทีลุงก็เดินล้มเนื่องจากขาเดินไม่ไหวแล้ว

Untitled

ภาพ ลุงพล นั่งที่ประจำในบ้านตนเอง

“หน่วยงานรัฐเขาจะมาไล่เรา เราก็ไม่ได้โกรธเลย เราก็อยู่ของเราแต่ก็ไล่ไปสิ เราก็อยู่ของเราแบบนี้แหละ ตอนนี้ก็จบแล้วเราก็อยู่ของเราได้ตามปกติ”

ลุงพลอธิบายว่า หากจะให้ตนย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ยากเพราะตนป่วยเดินไม่ไหว อยากไล่ก็ไล่ไป ไม่โกรธหรอก แต่ลุงไม่สามารถย้ายไปไหนได้แล้วและไม่มีที่ให้ย้ายกลับไปด้วย เนื่องจากตนเองก็เกิดที่นี่ ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าทุ่งสมอกอง เป็นที่ที่นำขยะจากการก่อสร้างถนนวิภาวดีรังสิตและโครงการรถไฟฟ้าของโฮปเวลล์ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวก็ได้ล้มเลิกกิจการไปแล้วเนื่องจากล้มละลาย

“ลุงได้อยู่ที่นี่ก็สบายใจดี ก็ขอให้พวกหนูชีวิตร่ำรวยสุขภาพดีกันทุกคนนะ”


โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บนพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทร

“ความเจริญของรัฐ แต่เดือดร้อนชาวบ้าน”

คำกล่าวถึงปัญหาของชุมชนกับโครงการขนาดใหญ่จากสมาชิกชุมชนบุญร่มไทรท่านหนึ่ง ที่แม้เป็นเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ แต่สามารถสะท้อนความอัดอั้นตันใจของคนในชุมชนนี้ได้ตรงประเด็นที่สุด

ชุมชนบุญร่มไทรตั้งอยู่บริเวณริมทางรถไฟตรงข้ามแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีพญาไท เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกไล่รื้อที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจะนำพื้นที่ไปก่อสร้างเพื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่มีมูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท ระยะทางรวม 220 กม. โดยใช้พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ภาพแผนสถานีรถไฟความเร็วสูง ในโครงการเชื่อม 3 สนามบิน

ภาพแผนสถานีรถไฟความเร็วสูง ในโครงการเชื่อม 3 สนามบิน 
ที่มา https://www.eeco.or.th/th/high-speed-rail-connecting-3-airports

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มต้นในสมัยรัฐบาล คสช. โดยในวันที่ 26 ก.พ. 2561 ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) ได้มีมติเห็นชอบโครงการ ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อมาวันที่ 27 มี.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการประมูล ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CP) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในปี 2562 โดยมีระยะในสัญญาเป็นเวลา 50 ปี

แม้ทางภาครัฐและเอกชนผู้ร่วมลงทุนจะโฆษณาว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว การลงทุน การจ้างงาน หรือการขนส่ง และปัจจุบันการดำเนินการลงทุนก่อสร้างของโครงการนี้ก็มีปัญหาล่าช้าเนื่องจากทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน ขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยอ้างเหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาการขอขยายเวลาในการยื่นออกบัตรส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 2 ครั้ง ตั้งแต่หลัง มิ.ย. 2565 ซึ่งยังไม่รู้ว่าการเจรจาระหว่างเอกชนกับหน่วยงานต่างๆ จะจบลงอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่มีการลงนามสัญญาดังกล่าว ทำให้มีผู้อาศัยอยู่รายรอบเส้นทางที่จะถูกนำไปก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากการถูกให้ออกไปจากพื้นที่เพื่อรองรับกับโครงการนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งนั้น ชุมชนบุญร่มไทรถือเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งที่คนในชุมชนอยู่ที่ตรงนี้มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

Untitled

ภาพ ชุมชนบุญร่มไทร ณ บริเวณริมทางรถไฟตรงข้ามแอร์พอร์ตลิงค์สถานีพญาไท

เหตุข้างต้นเป็นที่มาในการพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เพื่อสะท้อนเสียงอีกด้านหนึ่งของพวกเขาให้สังคมได้รับรู้ถึงความเป็นมา ผลกระทบ และความรู้สึกของคนในชุมชนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ในนามของ ‘ความเจริญ’ ต่อประเทศ

จากผู้บุกเบิกจนมาถึงวันที่ถูกไล่

เชาว์ เกิดอารีย์ แกนนำของชุมชนบุญร่มไทร เล่าความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้คร่าว ๆ ว่า

“ชาวบ้านเขาก็อยู่มา 50-60 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ก่อตั้งเป็นชุมชนเพราะยังไม่ได้มีการไล่รื้อ ที่เราเข้ามาอยู่ก็เหมือนกับเป็นแรงงานอพยพจากบ้านนอก แล้วก็เข้าไปอยู่ในเมืองที่สะตุ้งสตางค์ก็ไม่ค่อยจะมี แล้วเห็นพื้นที่มันรกร้างเราก็เลยมาปลูกเป็นเพิงพักง่าย ๆ ก่อน พอที่จะหลบแดดหลบฝนแล้วไปทำงานได้ เมื่อก่อนนี้มันจะเป็นป่ารกร้าง มีโจร มีขโมย มีคนติดยา แล้วก็ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คืออาชญากรรมเยอะมาก พอมีชาวบ้านเข้ามาอยู่ ปัญหาแบบนั้นมันไม่มีแล้วเพราะว่ามันมีคนอยู่ มันจะไม่รกร้างเหมือนเดิม เหมือนกับชาวบ้านมาบุกเบิกอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟ”

Untitled

ภาพ เชาว์ เกิดอารีย์ แกนนำของชุมชนบุญร่มไทร

แกนนำของชุมชนบุญร่มไทรกล่าวถึงช่วงที่ถูกไล่รื้อที่ว่า

“ก็อยู่มาเรื่อยๆ แล้วมาโดนโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนี่แหละ เราก็เลยต้องมาจัดตั้งเป็นชุมชนกัน เพราะว่าเรื่องของการไล่รื้อของการรถไฟ โครงการของการรถไฟ ซึ่งต้องการให้ชาวบ้านไปอยู่ที่อื่นหรือว่ากลับภูมิลำเนา ทางชุมชนหรือว่าทางชาวบ้านก็ไม่รู้ที่จะกลับภูมิลำเนาของเราได้ยังไง เพราะเราอยู่กันมานานแล้ว แล้วก็ที่ทำกิน ที่บ้านก็ไม่มี ก็ไม่รู้จะไปทางไหน”

“พอปี 63 ทางการรถไฟได้มาสำรวจพวกเรามาสำรวจว่ามีกี่หลังคาเรือน ก็เบ็ดเสร็จแล้วน่าจะอยู่ประมาณ 300 กว่าหลังคาเรือน แล้วก็การรถไฟได้บอกว่าเดี๋ยวจะมีค่ารื้อถอนให้ อยากได้เท่าไหร่ก็เขียนมาเลย คนละ 100,000-200,000 บาทหรือ 40,000-50,000 บาทก็ว่าไป แต่ก็ต้องให้บัตรประชาชนด้วย ซึ่งการที่ชาวบ้านไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การให้บัตรประชาชนไป มันก็กลับมาเป็นหมายศาลหาชาวบ้านทั้งชุมชน ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้พวกเราเรียกร้องที่อยู่อาศัย”

ปัญหา-ผลกระทบ-ความรู้สึกของคนในชุมชนชายขอบ ในช่วงถูกไล่รื้อบ้าน

แรงงานอพยพที่กลับบ้านไม่ได้ 

เพลิน (สงวนนามสกุล) สมาชิกชุมชนบุญร่มไทรที่อาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ตอนแรกที่เธอย้ายจากบ้านเกิด จ. ร้อยเอ็ด มาอยู่พื้นที่ริมทางรถไฟ เธอประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปก่อนเปลี่ยนมาเป็นแม่ค้าขายอาหารในภายหลัง 

Untitled

ภาพ เพลิน และร้านรถเข็นของเธอ

ปัจจุบัน เพลินเป็นแม่ค้ารถเข็นขายอาหารอีสานบริเวณเพชรบุรีซอย 5 กิจวัตรประจําวัน คือ ไปตลาดซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารขายตั้งแต่ช่วงตี 5 ถึงประมาณบ่ายโมง และช่วงนี้ประสบปัญหากับค่าครองชีพที่สูงขึ้น วัตถุดิบในการทำอาหารก็แพงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาอาหารขึ้นได้เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะจ่ายหากขึ้นราคา แม้ขึ้นเพียง 5-10 บาทก็ไม่ได้ เพราะอาจทำให้ลูกค้าหายหมด

โดยราคาอาหารที่เธอขายราคาอยู่ที่ 20-30 บาท เช่น ข้าวเหนียว น้ำพริกปลาทู หมูหน่อไม้ ลาบ อาหารอีสานอื่นๆ เสียค่าเช่าที่วันละ 120 บาท กลุ่มลูกค้าส่วนมากก็คือผู้ที่รับจ้างทำงานรายวัน เช่น แม่บ้าน คนทำความสะอาด คนทำงานโรงงาน คนทำงานโรงแรม บ๋อย กุ๊ก จับฉ่าย รวมถึงพนักงานออฟฟิศที่ทำงานในละแวกนี้ด้วย 

Untitled

เพลินกล่าวถึงพัฒนาการของพื้นที่ว่า สมัยก่อนมีธุรกิจกลางคืนอยู่ในละแวกนี้ทำให้การค้าขายมีความคึกคักมากกว่าปัจจุบัน ทั้งยังมีคนขับสามล้อและคนขับแท็กซี่เป็นลูกค้าประจำสมัยก่อน เพราะจุดที่พวกเขาอยู่ไม่มีร้านขายอาหารแบบนี้มากนัก ลูกค้ากลุ่มนี้เลยมาซื้อเป็นประจำ แต่ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีแล้วทำให้ขายได้น้อยลงกว่าสมัยก่อน

ในช่วงที่มีประเด็นปัญหาการไล่รื้อที่ของการรถไฟ เพลินได้รับหมายศาลจำนวน 2 หมายด้วยกัน ในข้อหาบุกรุกที่ และจากเดิมที่ขายอยู่ติดริมทางรถไฟก็ไม่สามารถขายได้แล้ว จึงต้องย้ายมาอยู่ที่เพชรบุรีซอย 5 ในปัจจุบัน

โดยเธอกล่าวว่า ในตอนแรกก็เสียใจทำอะไรไม่ถูก ไม่อยากไป รู้สึกไม่มั่นคง เลยเลือกที่จะอยู่เรียกร้อง เพราะอาศัยใช้ชีวิตและประกอบอาชีพที่นี่มาโดยตลอด ถ้าย้ายไปที่อื่นก็ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่หมด ลูกค้าที่เคยมาซื้อประจำหลายปีตอนอยู่ที่นี่ก็ไม่มี หรือจะให้กลับไปที่บ้านที่ร้อยเอ็ดก็ไม่มีรายได้ ไม่รู้จะทำมาหากินอะไรต่อ อย่างมากก็ได้แค่ทำนาซึ่งก็มีระยะเวลาจำกัดแค่ฤดูเดียวต่อปี

เพลินเล่าต่อว่า ตนเองอายุ 60 กว่าปีแล้ว คงอยู่ได้อีกไม่นาน ถ้าจะให้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน ไม่รู้จะไปทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว ถ้าเป็นคนอายุน้อยยังมีแรงที่จะสามารถไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ง่ายกว่า โดยระหว่างที่เพลินพูดถึงการที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกจนเกือบจะต้องย้ายออกไปจากที่นี่ เธอพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือตลอดเวลา ก่อนจะปิดท้ายฝากถึงผู้มีอำนาจว่า

“เราก็อยากขอที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย 
เราก็อยากได้ที่ เราทำมาหากินเราก็อยากได้ที่ค้าขาย”

หมายศาล-น้ำ-ไฟฟ้า-ทะเบียนบ้าน และความขัดแย้งภายในชุมชน

ส่วนเชาว์ แกนนำของชุมชน กล่าวถึงผลกระทบต่อคนในชุมชนที่เกิดขึ้นในช่วงถูกไล่รื้อที่ว่า มีทั้งเรื่องคดีความที่คนในชุมชนได้รับหมายศาลในข้อหาบุกรุกที่ โดยในตอนแรกการรถไฟได้บอกว่าจะมีค่ารื้อถอนให้เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออก โดยมีเงื่อนไขให้นำบัตรประชาชนมาแต่หลังจากนั้นมันกลับมาเป็นหมายศาลชาวบ้าน

Untitled

อีกทั้งยังมีเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของคนในชุมชนด้วย บางส่วนก็อยากรับเงินไปแล้วย้ายออกให้จบเรื่องหรือบางคนก็ถูกทางเจ้าหน้าที่อนาบาลของการรถไฟหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆ ให้ยอมรับเงินแล้วย้ายออกไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการอธิบายทำความเข้าใจกันพอสมควรเพื่อให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด แต่สุดท้ายก็มีบางส่วนที่ออกไปอยู่ดี ขณะเดียวกันช่วงที่ชุมชนมีการพูดคุยตกลงกับผู้ว่าการรถไฟแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่การรถไฟเข้ามาในพื้นที่ชุมชนตลอด ชุมชนจึงต้องหาทางรับมือโดยการให้สมาชิกผลัดกันไปอยู่ที่ทางเข้าที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาในชุมชนเพื่อให้สามารถรับมือได้ทัน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องน้ำและไฟฟ้าด้วย เนื่องจากชุมชนเป็นชุมชนที่ไม่ได้อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ก่อนหน้านี้) ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องต่อน้ำต่อไฟฟ้ามาจากบ้านใกล้เคียงทำให้ค่าครองชีพของพวกเขายิ่งสูงกว่าปกติเข้าไปอีก รวมถึงการที่ไม่มีทะเบียนบ้านก็ทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงสิทธิและการช่วยเหลือต่างๆ ของทางภาครัฐเหมือนกับคนอื่นที่มีทะเบียนบ้านได้

ความหวังการอยู่ใน ‘เมืองที่เป็นธรรม’

Untitled

ภาพ เจน (สงวนนามสกุล) 

เจน (สงวนนามสกุล) สมาชิกชุมชนบุญร่มไทรที่อาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟมาเป็นเวลา 10 กว่าปี เล่าถึงช่วงที่ถูกทางภาครัฐเข้ามาไล่รื้อที่ว่า ช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่และหลายคนถูกหมายศาล และต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหลายครั้ง ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับคนในชุมชนบางส่วน โดยมีการมาเกลี้ยกล่อมให้คนในชุมชนรับเงินไปแล้วยอมย้ายออก ซึ่งจำนวนนึงด้วยความที่ไม่รู้เรื่องอะไรก็ยอมทำตามไป จึงทำให้ทางชุมชนเองก็เลยต้องมีการตั้งแคมป์ผลัดกันเข้าเวรยามในการดูว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาเมื่อไหร่ หลังจากที่ ‘พี่ตี๋’ หรือ เชาว์ เกิดอารีย์ แกนนำของชุมชนบุญร่มไทรและเครือข่ายภาคประชาสังคมจะเข้ามาช่วยเหลือในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนหลายคนมีความเข้าใจและตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นและร่วมกันเรียกร้องกับทางภาครัฐ

“บางคนเขาไม่อยากได้เงิน เขาอยากต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อยืนยันสิทธิ์ของเรา” เจนระบุ

ส่วนในประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่เจนสะท้อนว่า มันก็ถูกแต่การที่จะให้พวกตนย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ต้องมีที่รองรับให้พวกเราด้วย เพราะคนในชุมชนต่างก็ทำมาหากินในบริเวณพื้นที่นี้ ถ้ารัฐจะไล่พวกตนไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแล้วเราจะทำมาหากินอะไรต่อ เพราะพื้นที่ที่ภาครัฐจะให้ย้ายไปอยู่คือคลอง 6 ซึ่งมันไกลจากที่นี่มาก หรือถ้ารับเงินไปแล้วค่อยไปหาเช่าบ้านที่อยู่อาศัยใหม่มันก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ฯลฯ ตกเดือนละหลายพันบาท ซึ่งพวกตนจ่ายไม่ไหวหรอก

เจนกล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐว่ามันเป็น “ความเจริญของรัฐ แต่เดือดร้อนชาวบ้าน”

โดยนอกจากชุมชนบุญร่มไทรที่เธออาศัยอยู่แล้ว เธอยังพูดถึงชุมชนอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อที่ ที่สืบเนื่องมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย เช่น ชุมชนแดงบุหงา ชุมชนหมอเหล็ง ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา ซึ่งคนในชุมชนเหล่านี้ก็มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่อยากย้ายออกไปไหนอยากจะอยู่ที่เดิมที่เคยอยู่มา และบางส่วนก็ได้ย้ายมาอยู่ในโครงการบ้านพักชั่วคราวในบริเวณนี้แล้ว

นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเสียงของกลุ่มคนที่ถูกรัฐนำมาเป็นแรงงานสร้างความเจริญให้แก่กรุงเทพฯ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาเพื่อความเจริญของเมืองหลวง ที่สะท้อนความรู้สึกที่มีออกมาต่อโครงการขนาดใหญ่รัฐและทุน โดยไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้ แม้จะเป็นแรงงานที่บุกเบิกสร้างเมืองจนสืบทอดลูกหลาน ก็ยังคงไร้ซึ่งการมี่ที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและไร้วี่แววการชดเชยผลกระทบจากนโยบายทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

“เราก็อยากอยู่ในเมืองที่เป็นธรรม ที่เราสามารถเลือกอยู่ได้ ไม่ใช่เมืองคนรวย คนจนก็อยู่ได้แบบนี้ต่างหากที่จะเรียกว่าเมืองที่เป็นธรรม”

เจนปิดท้ายอย่างอัดอั้นใจ เพราะด้วยเสียงที่ดังกว่าของทั้งรัฐและทุนก็มักจะบอกว่าทำไปเพื่อการพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ มีผลประโยชน์มากมายที่จะได้รับ ทำให้สังคมโดยรวมอาจจะไม่ได้ยินเสียงของคนอีกกลุ่มและหลงลืมไปว่ามันยังมีอีกด้านหนึ่งของเรื่องอยู่เสมอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net