'พยาบาลแคนาดา' พบปัญหาสุขภาพจากการทำงาน-ถูกผู้ป่วยทำร้าย

แม้พยาบาลจะเป็นอาชีพที่ดูแลสุขภาพผู้อื่น แต่จากงานศึกษาหลายชิ้นพบว่ากลับต้องเจอกับปัญหาด้านสุขภาพเสียงเอง ตัวอย่างเช่น ‘พยาบาลแคนาดา’ มีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

สถาบันหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยออตโตวา (University of Ottawa Heart Institute) ได้เผยแพร่งานศึกษา Influence of the workplace on physical activity and cardiometabolic health: Results of the multi-centre cross-sectional Champlain Nurses’ study เมื่อเดือน พ.ค. 2018 รายงานชิ้นนี้เผยว่าร้อยละ 77 ของพยาบาลในโรงพยาบาลของแคนาดา ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ คืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

ทั้งนี้พยาบาลเป็นอาชีพที่ค่อยทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้อื่นแต่การทำหน้าที่ของเขากลับต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ ปัจจุบันแคนาดามีพยาบาลในโรงพยาบาลประมาณ 4 แสนคน ซึ่งต้องพบกับปัญหาทางด้านสุขภาพและการละเมิดระหว่างการทำงานจากผู้ป่วย

สื่อ CBC/Radio-Canada ของแคนาดารายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาระบุว่า เจนนิเฟอร์ รีด (Jennifer Reed) นักวิจัยจากสถาบันหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยออตโตวา ผู้ทำการตีพิมพ์งานศึกษาดังกล่าวให้ความเห็นว่า ‘สัดส่วนที่ไม่เหมาะสม’ ของพยาบาลในแคนาดา ที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรเป็นสาเหตุของปัญหา  

“เราต้องเริ่มคิดถึงเรื่องการดูแลคนที่คอยดูแลเรา พวกเธอ(พยาบาล)ต้องทำงานแบบไร้ตัวตน ทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อผู้ป่วย ทำให้สุขภาพของพวกเธอเองแย่ลง” รีดระบุ

รีดยังให้ความเห็นว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากการทำงานเป็นกะที่ยาวนานและสับเปลี่ยนไปมา “พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักในเวลาที่ยาวนาน ต้องยืนบนพื้นปูนหลายชั่วโมงกว่าจะได้พักก็ปาเข้าไปหมดวันแล้ว หลังจากเลิกงานนั้นส่วนใหญ่จะออกไปหาอาหารกิน และเหลือเวลาน้อยมากๆ สำหรับการออกกำลังกาย”

นอกจากนั้น รีดยังพบว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำงานของพยาบาล มีความเสี่ยงที่จะเป็นทั้งโลกหัวใจหรือหลอดเลือด ทั้งมีโอกาสนำไปสู่ภาวะอ้วนและความดันสูง โดยพบว่าร้อยละ 58 ของพยาบาลมีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน และยังพบว่าพยาบาลมีภาวะซึมเศร้าและมีการวิตกกังวลมากกว่าผู้หญิงทั่วไปในแคนาดาทั่วไป

“ฉันคิดว่าเราต้องมีที่สถานที่ทำงาน ผู้บริหาร และนโยบายที่ตะหนักถึงเรื่องนี้ พัฒนายุทธศาสตร์ให้การออกกำลังกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพยาบาล” รีดกล่าว

30 ปีในอาชีพพยาบาล เลสลี่ ริชมอนด์ (Lesli Richmond) อายุ 50 ทำงานในศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งหนึ่ง ที่ต้องใช้ชีวิตบนท้องถนนเกือบตลอดเวลาในการออกไปดูแล ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง’ (palliative care)

“ฉันต้องอยู่ในรถตั้งแต่ 7 โมงเช้า ลากยาวไปถึง 6 โมงเย็น แล้วต้องกลับมาจัดการกับเอกสารนิดหน่อยที่โรงพยาบาลในช่วงค่ำ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องออกกำลังกายเลย” ทั้งนี้ริชมอนด์มีปัญหาด้านสุขภาพหลายประการที่เธอต้องเผชิญทั้งความดันที่สูง และปัญหาเรื่องข้อเข่า

“ฉันว่าฉันแก่กว่าอายุจริง 20 ปีนะ” ริชมอนด์ กล่าว

ถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติงาน

ด้าน สำนักงานด้านสถิติของแคนาดา (Statistics Canada) ได้ออกรายงาน Factors related to on-the-job abuse of nurses by patients เมื่อเดือน ก.ค. 2560 ที่เผยว่าพยาบาลร้อยละ 35 เคยถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติงาน โดยเกินกว่าครึ่งของความรุนแรงที่เกิดในโรงพยาบาลจะเกิดกับพยาบาล

“พยาบาลมักถูกตบ ต้อย เตะ ถ่มน้ำเลยใส่ สารพัด ยังไม่รวมถึงการทำร้ายจิตด้วยคำพูดต่างๆ” เฮนริเอตตา ฟาน ฮูล (Henrietta Van hulle) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ให้บริการสาธารณะด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Public Services Health and Safety Association หรือ PSHSA) โดยได้มีการจัดอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ที่อาชีพให้บริการด้านสุขภาพ ฟาน ฮูล เห็นว่าการใช้ความรุนแรงต่อพยาบาลมักจะไม่ถูกรายงาน เพราะมักจะมีความคิดที่ว่าเป็นเรื่องปกติในส่วนหนึ่งของอาชีพ

ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะของแคนาดา ได้เริ่มให้โรงพยาบาลทุกแห่งส่งรายงานเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งในบางโรงพยาบาลยังมีเครื่องมือแจ้งเตือนส่วนตัว และปุ่มกดสำหรับส่งข้อความช่วยเหลือไว้ตามกำแพงโรงพยาบาลในกรณีที่พยาบาลถูกทำร้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท