อุบัติเหตุบนท้องถนน: ชีวิตที่ไม่ได้ถูกให้ราคาจากรัฐไทย บทเรียนจากนักร้องที่กลายเป็นคนพิการ

บทเรียนจากนักร้องสาวผู้กลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ สำรวจสถิติความตาย และพิการบนพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนน พบไทยเป็นแชมป์ตายมากที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลทุกสมัยไม่ได้ให้ความสำคัญเร่งแก้ปัญหา เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับชี้มี 3 DNA หล่อเลี้ยงอุบัติเหตุและความตาย

 “คุณเดินทางออกจากบ้านมาเจอผมวันนี้ ถามหน่อยมีอะไรบ้างที่มีโอกาสที่จะทำให้คุณตาย หรือพิการได้”

นั่นคือคำกล่าวทักทายชวนคิดของ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เขายกตัวอย่างต่อไปให้เห็นชัดว่าหากออกจากบ้านมาสิ่งที่จะทำให้เราตาย หรือพิการมีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้ และแน่นอนว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัจจัยอย่างหลัง แม้เราจะระมัดระวังในเวลาที่สัญจรมากน้อยเท่าใดก็ตาม แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากตัวเรานั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถควบคุมได้

อีฟ ราชาวดี ใจหงิม หญิงสาวอายุ 27 ปี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่มีทางเลือก ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน คืนวันที่ 6 พ.ค. 2555 เธอได้รับการว่าจ้างให้ไปร้องเพลงในงานๆ หนึ่งที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ในตอนนั้นเธออายุเพียง 21 ปี และยังเรียนอยู่ในวิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย เธออาศัยอยู่กับญาติที่อำเภอเมือง ขณะที่พ่อแม่แยกทางกัน เธออยู่ในความดูแลของแม่ก็จริง หากแต่ตอนนั้นแม่ของเธอได้เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านในห้างสรรพสินค้า และเป็นพี่เลี้ยงเด็ก การทำงานเพื่อหาเงินเองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเธอ

ก่อนหน้าที่จะมารับงานร้องเพลงที่ว่าหนึ่งวัน เธอกำลังอัดรายการ “กิ๊กดู๋สงครามเพลง” อยู่ ในรายการนั้นเธอคือตัวแทนของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการได้รับชัยชนะเหนือตัวแทนจังหวัดปทุมธานี และมีคิวแข่งขันต่อเพื่อที่จะเข้ารอบถัดไปในสัปดาห์หน้า แต่ที่สุดแล้วเธอต้องยุติการแข่งขันไปโดยปริยาย เพราะในขณะที่เดินทางกลับบ้านตอนไปร้องเพลงซึ่งมีผู้ว่าจ้างที่อำเภอหนองขาหย่าง รถที่เธอนั่งมาด้วยประสบอุบัติเหตุรถแหกโค้งพลิกคว้ำไปชนเชาไฟฟ้าริมทาง ตัวเธอจากที่นั่งอยู่เบาะหน้าข้างคนขับ กระเด็นไปอยู่ด้านหลัง เวลานั้นเธอว่าบอกยังมีสติ รู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ ก่อนที่จะหมดสติไปนเวลาไม่นานนัก

เธอเล่าความทรงจำในคืนนั้นให้ฟังว่า หลังจากเสร็จงานแล้วผู้ว่าจ้างได้บอกให้ลูกน้องขับรถมาส่งเธอที่บ้าน แต่เธอสังเกตได้ว่าคนขับรถดื่มเหล้าอย่างหนัก และมีอาการมึนเมา ทั้งในขณะที่ขับรถยังคงใช้วิทยุสื่อสาร เนื่องจากคนขับรถเป็นอาสาสมัครกู้ภัย จนที่สุดแล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้น เธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด 7 วันก่อนจะถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกรุงเทพฯ กระนั้นก็ตามแพทย์ได้แจ้งให้เธอและแม่ทราบว่า เธอไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนต้นคอในระดับ C4 และ C5 แตกและไปทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงหน้าอกลงไปไม่สามารถขยับได้อีก ส่วนแขนแม้จะยังขยับได้อยู่แต่ก็ไม่มีความรู้สึก ส่วนคนขับรถได้รับบาดเจ็บเพียงกระดูกหลังเคลื่อนใส่เฝือก 7 วันก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ และหลังจากนั้นเธอไม่เคยพบเขาอีกเลย

ราชาวดี ใจหงิม และปาณิกา สุขภิรัมย์

“เสียใจนะ เพราะตอนนั้นอนาคตเรากำลังเดินไปในสายที่เราชอบ เราอยากเป็นนักร้อง อยากทำงานสายบันเทิง ทุกอย่างมันกำลังจะดี แต่มันก็ต้องหยุดลง เรียนก็ใกล้จะจบแล้ว ทุกอย่างต้องหยุดหมดเลย” อีฟ กล่าว

ระยะเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราว 7 เดือนคือช่วงเวลาที่ทรมานที่สุดในชีวิต เธอเล่าว่าช่วง 5 เดือนแรกไม่สามารถทำอะไรได้เลยต้องนอนอย่างเดียว ร่างกายเจ็บปวดทรมาน ไม่สามารถขยับได้ตามปกติอีกต่อไป นอกจากนี้ร่างกายของเธอไม่สามารถขับเหงือออกจากผิวหนังได้ ซึ่งทำให้ร่างกายเมื่อเจอกับอากาศร้อนจะร้อนกว่าปกติ ทำให้เธอจะต้องอยู่ในห้องพิเศษตลอด 7 เดือนซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยที่ครอบครัวเธอเองก็ไม่ได้เงินทองมากมายเพื่อที่จะนำมาดูแลในเรื่องนี้ แต่ยังพอมีญาติพี่น้องที่คอยช่วยเหลืออยู่บ้าง

หมดอนาคต และทุกข์ทรมาน คือคำอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด แต่ความทุกข์ทรมานไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอเพียงคนเดียว ปาณิกา สุขภิรัมย์ ผู้เป็นแม่อธิบายสภาวะเมื่อเห็นลูกสาวออกจากห้อง ICU ว่ามันคือ ภาวะใจสลาย และหลังจากเธอต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกจนถึงทุกวันนี้ จากเดิมที่รายได้น้อย แต่วันนี้กลับไม่มีรายได้เลย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงสองคน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที จากต้นตอคือ “เมาแล้วขับ”

การที่ อีฟ ราชาวดี ต้องกลายมาเป็นผู้พิการไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเธอ และไม่ใช่เป็นเรื่องของเวรกรรม ข้อมูลจาก The World Atlas ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ระบุว่าประเทศไทยได้ขึ้นอยู่ในลำดับที่ 1 ของประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมาที่สุดในโลก คือมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 36.2% ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ขณะที่ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด 22,356 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุอยู่ในช่วง 15-29 ปี มีผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนราว 1 แสน รัฐใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาประชาชนทั้งหมดราว 5 แสนล้านบาท ขณะที่มีผู้ที่กลายเป็นผู้พิการ 6 หมื่นคนในปี 2559

นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช ระบุว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งอุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนน ในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มีข้อมูลที่พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ส่วนกรณีการเมาแล้วขับนั้นยังไม่มีพนักงาน หรือหน่วยงานใดรับหน้าที่ในการบันทึกอย่างจริงจัง แต่คาดการณ์ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุทั้งหมดเกิดจากการ “เมาแล้วขับ”

การไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างจริงจังในการเก็บสถิติอุบัติเหตุเมาแล้วขับ นายแพทย์แท้จริงเห็นว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความตายบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญโดยรัฐไทย กระทั่งวันนี้สถิติความตายบนท้องถนนของไทยอยู่อันดับ 1 ของโลก รัฐบาลก็ยังไม่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วน มีแต่เพียงการออกมาเข้มงวดจริงจังกันในช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น

เขาเล่าว่าเคยได้ร่วมประชุมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อนำเสนอเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเมื่อปี 2559 ซึ่งในเวลานั้นไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีความตายบนท้องถนนมากที่สุด รองนายกรัฐมนตรีดูมีความตกใจกับข้อมูล พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวสู่อันดับ 1 ของโลก แต่ที่สุดแล้วไทยก็ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 1 โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นายเเพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ

นายแพทย์แท้จริง ชี้ให้เห็นว่ามี 3 ลักษณะนิสัย หรือ  DNA สำคัญของสังคมไทยที่ยังหล่อเลี้ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ยังคงอยู่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ การเป็นสังคมอุปถัมภ์ การทุจริตคอร์รัปชั่น และการเป็นสังคมง่ายๆ อะไรก็ได้ ทั้งสามสิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่ยังทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากการเมาแล้วขับยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฎหมายที่โทษสูง ความเข้มงวดในการรักษากฎหมายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เขาเห็นว่าทั้ง 3 ลักษณะ หรือ 3 DNAนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ

ยากที่จะแก้ไข แต่ยากยิ่งกว่าที่จะทำให้รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หรือสำนึกรู้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ชีวิตของผู้คนที่ต้องหมดอนาคต หรือความตายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เป็นสิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐอย่างชัดเจน ไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลทหาร แต่รัฐบาลพลเรือนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

เข็มวินาทีเดินไปเรื่อยๆ ตัวเลขจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นประเทศไทยในวันที่ 23 พ.ค. 2561 ซึ่งรวบรวมไว้โดย ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน มีอุบัติเหตุทั้งหมด 2,570 ครั้ง บาดเจ็บ 2,540 ราย เสียชีวิต 30 ราย และหากนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2561 มาถึงวันนี้ (24 พ.ค.) มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,828 ราย บาดเจ็บ 397,793 และมีอุบัติเหตุแล้วทั้งสิ้น 404,621 ครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท