สุรพศ ทวีศักดิ์: หลัง 4 ปี คสช. ก้าวข้าม ‘การเมืองที่ผิดเพี้ยน’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า “ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics” เขาแปล “absurd politics” ว่า “ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน” ซึ้งเห็นได้จาก

1. เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง หมายถึง โครงสร้างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ผิดเพี้ยน มั่วซั่วไปหมด และเส้นแบ่งที่ว่าก็ถูกลบหายไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง

2. ถ้าเรานิยาม politics ว่าคือการใช้อำนาจสาธารณะ ก็หมายความว่า ประเทศไทยตอนนี้ไม่มีการเมือง เพราะแนวคิดในการปกครองของ คสช. ได้ยึดความเป็นสาธารณะ (publicness) ในสังคมไทยไปแล้ว

3. เพราะไม่มีการเมืองและไม่มีอำนาจสาธารณะ จึงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมได้ จะมีเพียงแค่ปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่อเนื่อง แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ คสช. ‘แสดง’ ให้ประชาชนรับรู้รับชมเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ พูดอีกแง่หนึ่งคือสังคมไทยถูกแช่แข็งแล้ว

4. การกระทำของ คสช. ไม่เพียงแต่เป็นการทำตามอำเภอใจ (act arbitrarily) อย่างเดียว แต่เป็นการกระทำแบบไร้จุดหมาย (act randomly) ด้วย

5. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คสช. ไม่เคยโกหก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประหลาดๆ ที่เขาพูดและทำเป็นเรื่องจริง

โดยสรุปก็คือระบบการเมืองในสังคมไทยตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมด

(ดู the101.world/thoughts/david-streckfuss-interview/)

ผมคิดว่า “ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน” ตามความหมายข้างบน คือภาพรวมที่ชัดเจนที่สุดของ “ผลงาน” รัฐบาล คสช.ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ทว่าระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ก็ไม่ใช่ผุดขึ้นมาลอยๆ แต่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ที่ตามมาด้วยรัฐประหาร 2557

การเมืองที่ผิดเพี้ยนเริ่มจากเกิดมวลชน (พธม.) ไม่พอใจการทุจริตของนักการเมืองและไม่พอใจนโยบายประชานิยม แต่แทนที่จะยึดกระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหา กลับไปโจมตี “การเลือกตั้ง” จนดูเลวร้ายเกินเหตุ เช่นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที เป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง ดูถูกคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งว่าไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกหลอก ถูกซื้อ ฯลฯ ทำให้เกิดกระแสไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง กลัวการเลือกตั้งในบรรดาชนชั้นกลางการศึกษาดีที่มีเสียงดังกว่าในสังคม

ขณะที่มีมวลชนสร้างกระแสไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์แทนที่จะปกป้องระบบเลือกตั้งเป็นเวทีต่อสู้กันทางการเมือง กลับบอยคอตการเลือกตั้ง และเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐประหาร 2549

ความกลัวการเลือกตั้งชัดเจนยิ่งขึ้นอีก เมื่อเกิดการประท้วงในปี 2553 ของคนเสื้อแดงซึ่งไม่พอใจรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ฉก “กลุ่มเนวิน” มาเป็นแนวร่วมตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของทหาร จึงขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ความกลัวการเลือกตั้งมากอย่างเหลือเชื่อ ถึงขนาดทำให้รัฐบาลขณะนั้นปฏิเสธข้อเรียกร้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง มีคนตายร่วมร้อยและบาดเจ็บร่วมสองพัน

ในปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งอีกครั้ง และแกนนำระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์ก็ผันตัวเองมาเป็น “หัวหอก” นำประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเสียเอง จนเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร 2557 แล้ววาทกรรม “คืนความสุข” ที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ถูกนำมาใช้ “อย่างจริงจัง” อีกครั้งในรัฐประหารครั้งนี้ ตามมาด้วยวาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของ กปปส.ที่ รัฐบาล คสช.นำมาใช้ยื้อเวลาจากที่ขอ 1 ปี ยาวมาจน 4 ปี และเป็น 4 ปี ที่หัวหน้า คสช.พยายามตอกย้ำเสมอๆ ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” และ “อย่าติดกับดักประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง”

แท้จริงแล้ว ความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย แต่การเอาความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความไม่เชื่อถือและความกลัว “การเลือกตั้ง” จนกระทั่งบอยคอตการเลือกตั้ง ขวางเลือกตั้ง และทำรัฐประหารล้มระบบประชาธิปไตย นี่เป็นความ “ผิดเพี้ยน” (absurd) ของกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พธม., กปปส.และของพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์

เมื่อความผิดเพี้ยนดังกล่าวผสมพันธุ์กับ “โครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน” คือ โครงสร้างอำนาจรัฐที่มีอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องอยู่ใต้ “อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” อีกที โครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน (ไม่เป็นประชาธิปไตย) เช่นนี้ ย่อมทำให้มีการเมือง 2 แบบเหลื่อมซ้อนกันอยู่เสมอ คือ การเมืองแบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ชอบธรรม กับการเมืองนอกระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ผิดเพี้ยน และอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่ทำการเมืองแบบผิดเพี้ยนก็สามารถแทรกแซงหรือล้มระบบการเมืองแบบเลือกตั้งได้ตลอดเวลา เมื่อมีเงื่อนไขสุกงอม

คำถามคือ หลัง 4 ปี คสช.สังคมเราจะก้าวข้าม “การเมืองที่ผิดเพี้ยน” ไปได้อย่างไร คำถามนี้มีนัยสำคัญเชื่อมโยงกับความคาดหวังต่อพรรคการเมืองและมวลชนทุกฝ่าย บางคนอาจจะบอกว่าเราควรก้าวข้ามพรรคการเมืองเก่าๆ และมวลชนที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายไปเลย คงหวังอะไรอะไรไม่ได้กับคนเหล่านี้

แต่ผมคิดว่าเรามี “เหตุผล” ที่จะคาดหวังต่อนักการเมือง, พรรคการเมือง และมวลชน ไม่ใช่เพราะเราเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนดีหรือสะอาดหมดจด หรือมวลชนเป็น “พลังบริสุทธิ์(?)” อะไรแบบนั้น เหตุผลที่เราควรคาดหวังจากนักการเมืองและมวลชนต่างๆ คือตราบที่เรายืนยันการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราก็ยังต้องเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง และยังเป็นไปได้เสมอที่จะเกิดมวลชนเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ (มันเป็นเรื่องตลกที่ใครยืนยันประชาธิปไตย แต่มองนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนอย่างไร้ค่า ไร้ความหวัง) แต่การคาดหวังจะต้องคาดหวังอย่างวิพากษ์ นั่นคือเราต้องอ้างอิงหลักการ กติกา ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็น “กรอบ” ตั้งคำถามกับนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนต่างๆ ให้มากขึ้น (แน่นอนรวมทั้งถามกับตัวเองเองด้วย)

ดังนั้น เมื่อเรานำหลักการ กติกา ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็น “กรอบ” ตั้งคำถามและกำหนดความคาดหวังต่อนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนทุกฝ่าย ย่อมเป็นไปได้ที่สังคมเราจะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยน ถ้าเริ่มจากข้อเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์ และทุกพรรคต้องสามัคคีกัน ไม่ใช่สามัคคีแบบคิดเหมือนกัน หันมาจูบปากกันอะไรแบบนั้น แต่หมายถึง สามัคคีเรียกร้อง “ความชัดเจน” และแน่นอนเชื่อถือได้ในการกำหนดวันเลือกตั้ง และคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทุกวิถีทาง

นักการเมืองทุกพรรค ประชาชนทุกสี ทุกฝ่ายอาจเห็นต่างกันในเรื่องอื่นๆ เถียงกันไป ทะเลาะ ขัดแย้งกันไป แต่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คุณยืนยันที่จะต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะกันผ่านระบบเลือกตั้ง,กระบวนการประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน  

เมื่อทุกพรรคการเมือง คนทุกสี ทุกฝ่ายยืนยันอย่างเป็นสาธารณะที่จะต่อสู้ แข่งขัน ขัดแย้งกันตามกระบวนการประชาธิปไตย และยืนยันที่จะปกป้องระบบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกันอย่างถึงที่สุดเท่านั้น คือหนทางเดียวที่จะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยนไปได้

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท