Skip to main content
sharethis

4 ปีรัฐประหารกับเศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 เมื่อ คสช. ผูกขาดตลาดนโยบาย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำชนบทไทยขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ กีดกันคนจนออกจากการพัฒนา ทุนใหญ่กินรวบ ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงเอกสารที่รวบรวมถ้อยคำสวยหรู แต่ขาดวิสัยทัศน์

คลิปเศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 | เสวนา D-Move 

 

  • การพัฒนาเศรษฐกิจของ คสช. เป็นการพัฒนาแบบ Exclusive Growth ที่กีดกันคนจนออกไปและมุ่งส่งเสริมทุนขนาดใหญ่
  • แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงเอกสารที่รวบรวมคำสวยหรู ขาดวิสัยทัศน์ และขาดการลำดับความสำคัญ
  • คสช. ผูกขาดตลาดการเมืองวาดภาพอนาคตเกษตกรโดยที่เกษตรกรอาจไม่ต้องการ

 

4 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้ว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรัฐประหารครั้งนี้สร้างความเสียหายอะไรบ้างให้แก่เศรษฐกิจและภาคชนบทไทย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นแผนหรือแค่เอกสารที่รวบรวมคำสวยหรูกันแน่

‘D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน’ จัดงานเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการทั้ง 3 คนฉายภาพเศรษฐกิจและชนบทไทยที่ถูกบ่อนทำลายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และความคลอนแคลนจากแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช่แผนในอีก 20 ปีต่อจากนี้

 

คสช. กำลังพัฒนาเศรษฐกิจที่กีดกันคนจนออกไป

อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 3.9 แต่ทำไมชาวบ้านจึงไม่รู้สึก ขณะเดียวกันชาวบ้านหรือชาวชนบททั้งหลายกลับรู้สึกว่าการหารายได้ การเลื่อนสถานะ เกิดขึ้นได้ยากมาก เราจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร ซึ่ง คสช. เองก็ไม่เข้าใจ และพยายามคุยว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ทำไมชาวบ้านจึงมองไม่เห็น

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชาวบ้านหรือชาวชนบทมีฐานเศรษฐกิจ 2 ด้านมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่ามีมากน้อยไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งคือเกษตรกรรม อีกด้านคือการรับจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตร หรือที่ผมใช้คำว่าภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ฐานสองฐานของชาวบ้านมันสมดุลกันมาช่วงหนึ่ง แล้วตอนหลังภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการของชาวบ้านขยายตัวขึ้น สิ่งสำคัญก็คือในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้มีปรากฏการณ์ที่สำคัญมากคือสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ขาด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านจึงตกต่ำลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการรับจ้างก็ลดลงทั้งในและนอกภาคการเกษตร

สำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่ามีคนว่างงาน 3-5 แสนคน สำนักงานสถิติบอกว่าน้อย แต่ 3-5 แสนคนมีคำถามคือสำนักงานสถิติฯ วัดการมีงานทำอย่างไร นี่คือคำถามหลัก

ที่น่ากลัวที่สุดคือลูกจ้างชั่วคราวในระบบราชการ ที่พูดว่าระบบข้าราชการขยายตัว ผมเห็นด้วย แต่มันขยายตัวพร้อมกับการขูดรีดจากลูกจ้างชั่วคราว ในมหาวิทยาลัยทั่วไปร้อยละ 40-60 เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ต้องต่อรายปี และพวกนี้มีความเสี่ยงมาก ลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน และคนเหล่านี้ไม่ได้รับสวัสดิการ แรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคนก็อยู่ในเงื่อนเดียวกันคือไม่มีประกันสังคม

เราพบว่าขาอีกข้างของชาวบ้านคือรายได้จากการรับจ้างก็ตกต่ำลง สำนักงานสถิติฯ เห็นหรือไม่ เห็น แต่เขาใช้คำที่เบาลงมากคือรายได้ลดลงเล็กน้อย ขาสองข้างของชาวบ้านที่เราพูดถึงมันพังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น สำหรับผมเองคิดว่าน่าวิตก แต่นักเศรษฐศาสตร์อาจคิดว่าพอไหว การบริโภคครัวเรือนลดลง ที่น่าตกใจคือสินเชื่อที่ให้ครัวเรือนลดลงจากปี 2559 ส่งผลให้หนี้นอกระบบของชาวบ้านสูงขึ้น รัฐบาลนี้ออกมาคุยว่าจัดการหนี้นอกระบบ คุณต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไมชาวบ้านมีหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นหลังจากมันลดลงไปแล้ว ไม่ใช่ทำให้หนี้นอกระบบถูกกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนี้นอกระบบสูงมากขึ้นกว่าหนี้ในระบบ การจัดการหนี้นอกระบบต้องจัดการอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่คุณประยุทธ์กำลังทำให้หนี้นอกระบบถูกยอมรับ

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำปี 2559 พบว่า ครัวเรือนยากจนภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 6.7 แสนเป็น 8.6 แสน ครัวเรือนยากจนนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 6.4 แสนเป็น 8.7 แสน ทั้งหมดคือ 5.7 ล้านคนที่อยู่ในสภาพย่ำแย่มากขึ้น กลายเป็นคนจนมากขึ้น รายงานนี้เป็นของรัฐบาล แต่ถูกเมินเฉย

สิ่งสำคัญคือคนเกือบจนที่มีจำนวนประมาณ 11.6 ล้านคน อยู่ในภาวะที่อาจพูดได้ว่าไม่มีเสถียรภาพในชีวิต และเราจะเห็นชัดเจนว่าตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าคนยากจนลำบากคือเรามีคนเกือบจนมากมาย และคนเกือบจนเหล่านี้พร้อมจะเป็นคนจน ถ้าเสถียรภาพของรัฐบาล เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ดี คนเหล่านี้กำลังเคลื่อนสู่การเป็นคนจนมากขึ้น ถ้ารายงานชิ้นนี้กลับมาอีกทีในปีนี้ ผมเชื่อว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

ผมอยากจะบอกว่าใน 4 ปีที่ผ่านมา คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐนตรี พูดคำว่า Inclusive Growth คือการเติบโตอย่างทั่วถึง ผมบอกว่ามันไม่ใช่ Inclusive แต่เป็น Exclusive Growth สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำคือการจรรโลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมทุกอย่างที่เป็น Exclusive Growth คือทำให้การเจริญเติบโตตกแก่คนบางกลุ่มมากขึ้น ถ้าใครไปอ่านสิ่งที่คุณประยุทธ์พูดจะพบว่ามันเฟคเกือบทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญใน Exclusive Growth นี้การกีดกันคนอื่นออกไปมีความรุนแรงมากขึ้น รุนแรงในทุกระดับ

คนรวยในชนบทมีรายได้มากกว่าคนจนเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อก่อนห่างกันประมาณ 4 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาขยับเป็น 10 เท่า แปลว่าท้ายสุดแล้ว 4 ปีนี้ การแช่แข็งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กลุ่มคนรวยตรงนี้แสวงหาประโยชน์ต่อเนื่องได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 4 ปี จนกระทั่งมีรายได้สูงกว่าคนจน 10 เท่า พร้อมกันนั้นเอง Exclusive Growth ทำให้การบริโภคฉีกขาดออกจากกัน รถเบนซ์ยอดขายเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

อะไรทำให้โครงสร้าง Exclusive Growth โตขึ้นตลอดมา ผมอยากจะพูด 2 ประเด็น รัฐบาล คสช. ที่รักษาโครงสร้างเดิม มันเป็นโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจชุดเดิม เราจะเห็นว่ามีกลุ่มทุนใดบ้างที่อยู่ข้างหลังประชารัฐ กระบวนการนี้ทำให้ Exclusive Growth หรือโครงสร้างเศรษฐกิจชุดเดิมสร้าง Party of Order คือเครือข่ายหรือกลุ่มของโครงสร้างเดิมที่เหนียวแน่นมากขึ้น วันนี้ผมคิดว่ากลุ่มชนชั้นนำเชื่อมกันเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันชุดหนึ่งที่ถักสานกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการหักหลัง หลังเลือกตั้งอาจมีการแทงข้างหลัง แต่ในช่วงนี้ Party of Order มันแน่นมากๆ

ผมยืมมาจากการอภิปรายช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ปีกขวาทั้งหมดเข้ามาเชื่อมกันและชนะการเลือกตั้งฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่ง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นตัวรักษาสถานภาพเดิมค่อนข้างมาก คสช. เห็นปมนี้หรือไม่ ผมคิดว่าพอใกล้ๆ 3 ปีกว่า พอคิดว่าจะเลือกตั้งต่อ คสช. เริ่มเห็นปม Exclusive Growth และพยายามจะแก้ไขและเน้น Inclusive Growth เพื่อรักษา Party of Order นี้ให้ได้ จึงพยายามเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการกีดกันนี้ แต่เพราะอยู่ในโครงสร้างเดิมจึงแก้ไม่ได้

“แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ตนเอง (คสช.) ทำกลับทำลายสังคมไทย ทำลายชนบทไทย ทำลายโอกาสของสังคมไทย อะไรปิดกั้น คสช. จากความเป็นจริงตรงนี้ ผมสรุปว่าง่ายๆ ว่าอุดมการณ์ของความเป็นรัฐไทย รัฐไทยเป็นรัฐที่มีความเมตตา คนที่เป็นผู้ปกครองต้องมีเมตตา แต่เป็นความเมตตาที่อยู่บนเงื่อนไขว่า เขาจะต้องโน้มกายลงมาช่วยเหลือ เอ็งอย่าขึ้นมาเสมอข้า”

เราดูสามสี่เรื่อง นโยบายการท่องเที่ยวใน 4 ปีที่ผ่านมาเป็นการท่องเที่ยวที่อยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น สิ่งที่เราเห็นคือรัฐบาลพยายามเสนอการเที่ยวเมืองรอง แต่คำถามคือคุณได้คิดอะไรกับการท่องเที่ยวเมืองรองหรือไม่ คุณแค่หยิบที่ท้องถิ่นทำอยู่แล้วมาโฆษณา มาทำให้ดูเด่นขึ้นเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับนโยบายกลับบ้านเกิดคุโรซาโตะของญี่ปุ่นแล้ว เป็นหน้ามือกับหลังมือเลย

พร้อมๆ กันนั้นในจังหวะที่สินค้าเกษตรบางตัวขยายตัว เช่น ผลไม้ รัฐบาลนี้รีบกระโดดเข้ามาส่งเสริม ลำไยตอนนี้ล้งจีนยึดไปแล้ว ทุเรียนล้งจีนกำลังจะยึด ท้ายสุดการส่งเสริมลำไยที่ขยายตัวคืออะไร รัฐบาลนี้แค่ลิปซิงค์เท่านั้นเอง

ตัวอย่างที่ 3 คือความพยายามจะขจัดหนี้นอกระบบที่เพิ่มมากขึ้น กลับเป็นการทำให้หนี้นอกระบบถูกทำนองคลองธรรมมากขึ้น แทนที่จะสร้างหนทางการเข้าถึงเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น กลับไปออก พ.ร.ก. ไม่ให้คิดดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเดิม ซึ่งไม่ใช่ ถ้าเราคิดตรงนี้ให้ชัดๆ ตัวอย่างวิกฤตปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตของภาคการเงิน เปิดโอกาสให้นอน-แบงค์ กลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเกิดขึ้นและเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ บัตรเครดิตไทยก่อนปี 2540 มีประมาณ 1.2 ล้านใบ หลังปี 2542 มีบัตรเครดิต 11.2 ล้านใบ และผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และกลายเป็นผู้ประกอบการที่เคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ 1.2 ล้านใบก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเป็นผู้ชายและข้าราชการ เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ดังนั้น ถ้าคุณประยุทธ์คิดแค่ทำให้เงินนอกระบบเป็นแบบนี้ คุณไม่มีกึ๋น

การบรรเทาความเดือดร้อนด้วยบัตรสวัสดิการของรัฐก็ช่วยได้เล็กๆ น้อยๆ ความล้มเหลวของ Helicopter Money หรือการหว่านโปรยเงิน มันพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลวทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่การหว่านโปรยเงินแบบนี้กลับไม่ให้อิสระกับชาวบ้าน

การจัดการที่ดินให้ชาวบ้านที่คุณประยุทธ์พูด 3.6 หมื่นราย น้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการทวงคืนผืนป่าที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน 2 หมื่นกว่าชุมชน ตัวเลขที่คุณพูดมา คุณอาจจะภูมิใจ แต่ภาคประชาชนเห็นว่ามันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

หากจะหยิบประเด็นต่างๆ ที่นายกฯ พูดโฆษณาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 สามารถวิจารณ์ได้ทุกประเด็น และชี้ได้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมาย นี่คือตัวอย่างว่า Exclusive Growth คุณจะแก้แค่ผิวๆ ไม่ได้

อะไรทำให้ คสช. ล้มเหลว ก่อนจะถึงตรงนี้ผมอยากพูดว่ากลไกประชารัฐที่รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเด่น โครงการประชารัฐยังไม่มีการศึกษาหรือประเมินอย่างแท้จริง แต่เมื่อผมเข้าไปนั่งอ่านทั้งหมด แล้วเผอิญมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นประชารัฐจังหวัด พบว่าท้ายสุดแล้ว โครงการประชารัฐทั้งหมด เชย ล้าสมัย เป็นการเลือกหยิบงานของเอ็นจีโอมาโฆษณา ถ้าไปดูโฆษณาประชารัฐจะพบว่ามันเป็นโฆษณาสินค้า แชมพู สบู่ ยาสีฟัน เขาทำมา 30 ปีแล้ว เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีกึ๋นพอ จึงเลือกใช้งานของเอ็นจีโอบางกลุ่มและเลือกหยิบงานเดิมมาส่งเสริม ท้ายสุดแล้วไม่ได้แตกต่างจากงานอื่นๆ เลย เป็นการทำงานแบบนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเดิมๆ ซึ่งไม่ได้สร้างผลสะเทือน อาจจะมีผลดีต่อคนบางกลุ่ม เช่น ขายน้ำยาซักผ้าหรือยาสระผมเพิ่มขึ้น 200 ขวด แต่ก็เป็นกลุ่มเดิม นี่คือความล้มเหลวของวิธีคิดแบบประชารัฐ ประชารัฐจึงเป็นกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่รัฐบาลนี้ แต่ไม่มีผลในวงกว้าง และไม่มีผลต่อการปิด Exclusive Growth เลย ขณะเดียวกัน ถ้าเราไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านไม่เคยได้ยินประชารัฐเลย หรือถ้าเคยได้ยินก็ไม่รู้จัก เพราะมันเป็นการทำงานกับกลุ่มเอ็นจีโอเล็กๆ ที่ทำงานในพื้นที่เล็กๆ

อะไรทำให้ คสช. ล้มเหลวใน 4 ปีนี้ ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยเลย ผมอยากเรียกคณะทำงานเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า นักวิสัยทัศน์ที่ไร้พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหมดมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่มีฐาน ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เปิดโอกาสให้คนในชนบทสามารถสร้างขาที่แข็งแรงนอกภาคเกษตร ผมใช้คำว่าผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งตอนนี้เป็นแนวคิดที่กำลังใช้ทั่วโลกเพื่อบอกว่านี่คือการลดความยากจน คือการทำให้การเติบโตมันทั่วถึงมากขึ้น

แต่โอกาสที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการในชนบทถูกทำลายลง เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ คสช. ทำ การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานที่ผู้ประกอบการสามารถคิดน้ำยาสระผมได้อย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นเพราะมีการสร้างเครือข่ายหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านจำนวนมากที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย รายกลางในพื้นที่ เขาสามารถเข้าไปกดดันผู้มีอำนาจในท้องถิ่นให้แบ่งทรัพยากรมาเอื้อประโยชน์กับเขา ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น ผมกับทีมอีกเจ็ดแปดคนศึกษาพบว่า ชาวบ้านสามารถกดดันเปลี่ยนนายก อบต. ได้ตลอดถ้าคุณไม่ตอบสนองชาวบ้าน ดังนั้น ผู้ประกอบการในชนบทจึงเข้าไปสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่ายขึ้นใหม่ที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ได้มากขึ้น

แต่สิ่งที่ คสช. ไม่รู้คือคุณไปแช่แข็ง อปท. ทันทีที่คุณแช่แข็ง มันทำให้เครือข่ายเดิมอยู่ตรงนั้น ผลประโยชน์เดิมอยู่อย่างนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้เครือข่ายเกื้อหนุนเขาได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดเป็นความตกต่ำของภาคเกษตรหรือชนบททั้งหลายก็คือตรงนี้ ความไม่รู้แบบนี้จึงทำให้คนชนบทตกอยู่ใต้อำนาจอื่นๆ มากมาย อำนาจของคนที่รวยขึ้น 10 เท่า ความไม่รู้แบบนี้จึงทำลายผู้ประกอบการซึ่งควรจะเป็นอนาคตของชนบทไทย ย้ำนะครับ การศึกษาหรือผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในชนบทเป็นหนทางลดความยากจนในโลกเลยนะครับ

ความไม่รู้ ไม่เข้าใจตรงนี้ก็คือสิ่งที่ คสช. คิดว่าตัวเองทำถูก แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ตนเองทำกลับทำลายสังคมไทย ทำลายชนบทไทย ทำลายโอกาสของสังคมไทย อะไรปิดกั้น คสช. จากความเป็นจริงตรงนี้ ผมสรุปว่าง่ายๆ ว่าอุดมการณ์ของความเป็นรัฐไทย รัฐไทยเป็นรัฐที่มีความเมตตา คนที่เป็นผู้ปกครองต้องมีเมตตา แต่เป็นความเมตตาที่อยู่บนเงื่อนไขว่า เขาจะต้องโน้มกายลงมาช่วยเหลือ เอ็งอย่าขึ้นมาเสมอข้า เป็นความเมตตาแบบที่ฉันให้กับผู้ที่อ่อนด้อย อุดมการณ์นี้มันปิดตา ปิดหู ทำให้ คสช. มองไม่เห็นและรู้สึกว่าตนได้ทำประโยชน์แก่สังคมไทย

สิ่งที่เราต้องคิดคือเราจำเป็นต้องคิดว่าเราจะใช้การเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์อย่างไร เราจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยเพื่อให้เกิดการเติบโตของผู้ประกอบการในชนบทไทยอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราพูดถึง Inclusive Growth เราต้องคิดถึงการเติบโตของชาวบ้าน ของคนจนจริงๆ การเติบโตจะ Inclusive ก็ต่อเมื่อมันลงไปอยู่ในพื้นที่ที่คนจนทำงานอยู่ จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่คนจนมีชีวิตอยู่ ถ้าเราจะพูดถึง Inclusive Growth เราต้องคิดกระบวนการแบบนี้ ไม่ใช่ Exclusive Growth แบบที่รัฐบาลกำลังทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนี้ทำให้เกิด Exclusive Growth แต่มันสืบเนื่องมา รัฐบาลนี้ทำให้มันเข้มข้นขึ้น

4 ปีของ คสช. คือการหยุดโอกาสที่จะทำให้ชนบทหรือพี่น้องคนจนทั้งหลายได้เติบโต หยุดโอกาสโดยการคิดอยู่บนฐานอุดมการณ์ของรัฐไทย เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่านี่คือโจทย์ใหญ่

 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนที่ไร้แผนและไร้วิสัยทัศน์

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ

ตนเองพยายามไปทำการบ้านตามโจทย์คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะกำลังจะประกาศใช้เดือนกรกฎาคมนี้แล้ว และจะสะท้อนข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ด้วย เวลามองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็อาจจะมองจากงานหลักที่ทำอยู่ตอนนี้ในฐานะนักวิจัยด้านความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ใช้คีย์เวิร์ดว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นธงนำการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ

อยากจะพูดถึงประเด็นใหญ่ 3 ประเด็น ข้อสังเกตที่ 1 คือเวลาเห็นเอกสารอะไรก็ตามที่มีคำศัพท์สวยหรูอยู่ในเอกสารชิ้นเดียวกัน เช่น คำว่าโอเพ่น ดาต้า เกษตรแปรรูป เป็นต้น แล้วทุกอย่างที่อยากได้มันอยู่ในนั้นหมดเลย มองไม่เห็นลำดับความสำคัญหรือเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน มันจะเรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ได้หรือไม่

ประเด็นที่ 2 คิดว่าน่าเสียดายที่ 4 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงนักเศรษฐศาสตร์น้อยลงมาก เมื่อก่อนมีบรรยากาศการถกเถียงที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่บรรยากาศแบบนี้หายไปเลย หวังว่าเมื่อเราเดินเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เราจะได้ยินเสียงของนักเศรษฐศาสตร์มากขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและข้อเสนอของนักการเมืองต่างๆ ด้วย

ประเด็นที่ 3 ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ คสช. คือรัฐบาลนี้พยายามพูด ซึ่งเราก็พยายามฟัง ข้อสังเกตคือเขาพูดเยอะมาก แต่สิ่งที่เขาพูดมีน้อยมากที่จะสะท้อนถึงประสิทธิผลของสิ่งที่ทำไปแล้ว ส่วนใหญ่จะพูดว่ากำลังทำอะไรอยู่และอนาคตจะเป็นออย่างไร พูดในลักษณะไปข้างหน้าตลอดเวลา ปัญหาอย่างหนึ่งคือหลายเรื่องที่เขาพูดไม่ว่าจะเป็นแผนหรือความตั้งใจก็แล้วแต่ มันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน สภาพความเป็นจริงหมายถึงนโยบายที่ทำไปแล้วและมีมาตรา 44 อยู่จำนวนหนึ่ง มีกฎหมายที่แก้ไขและเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูด โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจรู้สึกว่ามันมีความลักลั่นสูงมาก

หลังจากใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ได้เลย เป็นการยำสิ่งที่คิดว่าสำคัญใส่เข้าไป ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจน ในระดับเป้าหมายของเขาเป็นเป้าหมายฉบับโลกสวย ฟังดูดีมาก เช่น จะเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2579 โดยตอนนี้เราอยู่ที่ประมาณ 6,000 เหรียญ ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หรือจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 40 เปอร์เซ็นต์จากวันนี้อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ใครที่ทำเรื่องพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดก็ฟังดูน่าสนใจ มีเรื่องการจัดการขยะ มลพิษตกค้างต่างๆ ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ความสามารถในการจัดการขยะได้ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ มันมีเป้าหมายที่ฟังดูดี ถ้าทำได้ก็ดีนะ ในแง่เป้าหมายคงไม่มีใครปฏิเสธว่ามันไม่ดีนะ ปัญหาคือเวลามาดูตัวยุทธศาสตร์จริงๆ ที่เป็นเนื้อหา ส่วนใหญ่เลยจะใช้คำว่าส่งเสริม ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ มีคำเหล่านี้เต็มไปหมด แล้วมันก็ไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าไหร่ว่าวิธีไหนที่เป็นวิธีที่เหมาะสม

ทีนี้ถ้าถอยมามองยุทธศาสตร์ชาติในระดับวิธีคิดของคนเขียนแผน ส่วนตัวเชื่อว่าเวลาใช้คำว่าความยั่งยืน โดยตัวมันเองมันมีนัยอยู่แล้วว่าต้องคำนึงถึงมากกว่าจีดีพี เวลาพูดว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนหรือทั่วถึงกว่าเดิม นัยของมันคือเราจะเลิกใช้จีดีพีเป็นสรณะ เราจะเพิ่มให้ประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ผ่านมามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการพัฒนา นี่คือนัยของการใช้คำว่า Inclusive Growth หรือคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการใช้คำว่าความยุติธรรมทางสังคม จะทำอย่างไรให้คนที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมามีปากมีเสียงมากขึ้น เพื่อให้สะท้อนว่าเขากังวลเรื่องอะไรบ้าง และโครงการพัฒนาจะดูแลหรือเยียวยาอย่างไร

เมื่อดูในเนื้อหาของแผน ถ้าจะสรุปออกมา ในแง่หนึ่งมันดูคล้ายๆ เสรีนิยมใหม่หรือเชื่อในระบบตลาด แต่มันก็ไม่ใช่เสรีนิยมใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐมีบทบาทสูงมาก แล้ววิธีการเท่าที่สกัดได้จากยุทธศาสตร์ชาติ หลายเรื่องเจาะจงใส่ลงไปเลยว่าให้ตั้งองค์กรใหม่ของรัฐ ยกตัวอย่างเรื่องขยะและมลพิษก็มีการพูดเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ แล้วมีข้อหนึ่งบอกให้จัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลจัดการขยะและมลพิษอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ซึ่งก็สะท้อนวิธีคิดปัจจุบันเหมือนกันคือการตั้งองค์กรใหม่ ประเด็นคือมันไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ซึ่งก็ขัดแย้งกับที่บอกว่าต้องการให้รัฐมีขนาดเล็กลง เสรีนิยมใหม่สนับสนุนการแปรรูป สนับสนุนให้รัฐเล็กลง รัฐอยู่เฉยๆ ให้ได้มากที่สุด แต่นี่มีการขยายขอบเขตของรัฐค่อนข้างมาก มันจึงไม่ใช่เสรีนิยมใหม่ ดูไปดูมาอาจจะคล้ายๆ Fascist Corporatism พูดง่ายๆ คือมีการสนธิกำลังกันระหว่างรัฐ ราชการ และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าการจับมือกันจะช่วยนำพาประเทศไปข้างหน้าได้ ประกอบกับที่อาจารย์อรรถจักร์พูดไปเมื่อสักครู่เรื่องประชารัฐ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ประชารัฐทำหลายเรื่องมันเหมือนซีเอสอาร์ของธุรกิจ

“ในแง่หนึ่งมัน (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ดูคล้ายๆ เสรีนิยมใหม่หรือเชื่อในระบบตลาด แต่มันก็ไม่ใช่เสรีนิยมใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐมีบทบาทสูงมาก... มีการขยายขอบเขตของรัฐค่อนข้างมาก มันจึงไม่ใช่เสรีนิยมใหม่ ดูไปดูมาอาจจะคล้ายๆ Fascist Corporatism พูดง่ายๆ คือมีการสนธิกำลังกันระหว่างรัฐ ราชการ และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าการจับมือกันจะช่วยนำพาประเทศไปข้างหน้าได้”

เห็นด้วยกับอาจารย์อรรถจักร์ที่ว่ามันค่อนข้าง Exclusive เพราะมันไม่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเพิ่มโอกาสให้กับคนที่อยู่ฐานรากจริงๆ สักเท่าไหร่ คือเวลาใช้คำว่า Inclusive Growth มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งคือการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อย ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มศักยภาพได้ ส่วนหนึ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้คือเรื่องสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิทางการเมืองด้วย เพราะการเข้าถึงงบประมาณท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา นโยบายต่างๆ เท่าที่อ่านเนื้อหาแผนยุทธศาสตร์ไม่ได้พูดเรื่องเหล่านี้ ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่วนตัวคิดว่าจำเป็นต้องแก้เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Inclusive Economy มันต้องมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้น ในแผนยุทธศาสตร์มีการแตะไว้บ้าง พูดว่าให้ขยายฐานภาษี แล้วดูเรื่องภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก แต่ก็ไม่มีการพูดอะไรชัดเจน ในแง่นี้คิดว่าแผนปฏิรูปที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ชัดกว่านี้เยอะในการสร้าง Inclusive Economy เพราะมีการพูดชัดเจนว่าให้จำกัดการถือครองที่ดิน 50 ไร่ โดยรวมๆ คิดว่ามันเป็นแผนที่พยายามจะนำประเทศด้วยธุรกิจขนาดใหญ่กับรัฐ โดยราชการยังมีบทบาทสูงมาก

ทีนี้ถ้ามาดูสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ดูจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือการปรับแก้กฎหมายต่างๆ ที่ดูจะคาบเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนหรือว่า Inclusive Economy คิดว่าเป็นภาพที่ค่อนข้างน่ากังวล เช่น เรามีกฎหมายอะไรบ้างหรือไม่ที่ขยายสิทธิชุมชนออกไปให้มีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้นในการมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาหรือเพิ่มพลังพลเมืองในการมีส่วนร่วมด้านงบประมาณ ยกตัวอย่างในหลายประเทศที่เริ่มทำการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้คนในท้องถิ่นโหวตโครงการต่างๆ ที่ อปท. ใช้เงินด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้และเป็นไปในทางตรงกันข้ามมากกว่า และส่งคนส่วนกลางเข้าไปคุม ทิศทางจึงไม่เป็นตามแนวโน้มที่จะยั่งยืนกว่าเดิม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็มีการใช้มาตรา 44 มากมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อปลดล็อกสิ่งที่มองว่าเป็นข้อจำกัดต่างๆ ของระบบราชการ แต่มันก็รวมไปถึงการไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง มีการออกมาตรา 44 เพื่อให้เอาที่ดิน สปก. มาใช้ประโยชน์ที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรได้ ออก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่โดยระบุว่าโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนให้จัดหาเอกชนมาเตรียมดำเนินโครงการได้เลย โดยไม่ต้องรอให้อีไอเอเสร็จก่อน ถ้าเราบอกว่ากลไกธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อมไร้ประสิทธิภาพในบางส่วน ไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือไม่เอื้อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราบอกว่ากฎหมายผังเมืองมีปัญหาการบังคับใช้ สิ่งที่พยายามทำไม่ใช่การแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่เป็นการยกเว้นกลไกเหล่านั้นไปเลย มันจะนำไปสู่โครงการพัฒนาที่ดีกว่าเดิมได้จริงหรือ

มันนำมาสู่ความลักลั่นมากมาย จึงเกิดความสงสัยว่าท่านที่นั่งร่างยุทธศาสตร์ได้คุยกับคนที่ทำนโยบายประจำวัน คนที่ออกมาตรา 44 หรือดำเนินมาตรการมากน้อยแค่ไหน กลายเป็นว่าความลักลั่นซึ่งหลายครั้งก็คือความขัดแย้งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าคนที่ร่างแผนยุทธศาสตร์กำลังลอยอยู่ที่ไหนสักแห่ง โดยไม่ได้มาดูเลยว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น

ถ้าพูดในแง่ดีในความแย่ของแผนยุทธศาสตร์ก็คือเมื่อมันกว้างขนาดนี้ รวมทุกอย่างที่ถูกต้อง พรรคการเมืองอาจไม่ต้องกลัวมากก็ได้ เพราะทำอะไรก็น่าจะเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง แต่มันเป็นอะไรที่น่าวิตก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้เงินงบประมาณรัฐทำเรื่องปฏิรูปมากมาย แต่ความชัดเจน การนำไปปฏิบัติได้จริง มันด้อยลงเรื่อยๆ ส่วนตัวคิดว่าน่าเศร้า

ส่วนตัวจึงเห็นต่างจากอาจารย์อรรถจักรว่า ไม่คิดว่าแผนนี้มีวิสัยทัศน์ การที่พูดว่าเราต้องเป็นสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มันไม่ใช่วิสัยทัศน์ แล้วสังคมไหนไม่อยากมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วในบริบทโลกก็น่าสนใจ หลายประเทศยกเลิกการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 5 ปีไปแล้ว เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์และทันสถานการณ์ อย่างมาเลเซียก็บอกว่าการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับองคาพยพที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานกึ่งรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บทบาทของแผนส่วนกลางอาจจะด้อยลง

 

ภาคการเกษตรและตลาดการเมืองที่ถูกผูกขาด

นนท์ นุชหมอน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากโจทย์ที่ได้รับก็พยายามขยายโจทย์ด้านนโยบายการเกษตรออกมาว่า เวลาพูดถึงรัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ และไทยแลนด์ 4.0 พอนำมาประยุกต์กับภาคการเกษตร เราได้เห็นนโยบายของ คสช. ที่ดำเนินมาตลอด 4 ปีอย่างไรบ้าง

ผมขอเริ่มจากการ์ตูนประกอบหนังสือ The Road to Serfdom ของ Friedrich Hayek เป็นหนังสือที่ต้องการเล่าว่าการวางแผนจากส่วนกลางเกิดขึ้นได้อย่างไรในบริบทของประเทศเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาบอกว่า ตอนแรกการขึ้นมาของผู้วางแผนจากส่วนกลางเกิดจากคนรู้สึกไม่มั่นคงบางอย่างในชีวิต หลังจากนั้นจะรู้สึกโหยหาความมั่นคง กระทั่งมีคนเสนอว่าการจะทำให้เกิดความมั่นคง การมีแผนแห่งชาติสามารถช่วยได้ แผนแห่งชาติสามารถดึงกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนักคิด นักวิสัยทัศน์หลายกลุ่ม หลายๆ ครั้งที่คนรู้สึกเคลิ้มหรือเชื่อตามสิ่งที่เราฝันว่าจะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการสื่อสารต่างๆ จนสุดท้ายมีผู้นำที่บอกว่าเราจะพาประเทศเราไปทางนี้

หลังจากนั้นเราจะพบว่าการที่มีนักวางแผนอยู่หลายคน สุดท้ายแล้วคนที่เป็นนักวางแผน คนที่เป็นนักฝัน มักจะหาข้อสรุปร่วมกันไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็ขัดแย้งกัน คนที่ถืออำนาจสูงสุดก็บอกว่าผมจะพาประเทศไปทางนี้ แต่สิ่งที่ตามมาจากการ์ตูนเรื่องนี้คือเมื่อคนเริ่มมอบสิทธิเสรีภาพบางส่วนของเราไปเรื่อยๆ จะพบว่าคนที่วางแผนจากส่วนกลางค่อยๆ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ของเรา ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

คำถามคือเราสามารถนำสิ่งที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1944 มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเห็นว่าเราเริ่มมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างน้อยลง แต่คำถามคือสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราจะพบว่าหลายคนกลับไม่รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจกำลังสูญเสีย หลายคนยังรู้สึกว่าประกอบอาชีพได้ตามปกติ แม้จะมีความไม่มั่นคงมากขึ้น คำถามคือความแตกต่างตรงนี้คืออะไร

ผมนำกรอบที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเขียนไว้เมื่อปี 2532 ว่า นโยบายสาธารณะหรือแผนพัฒนาต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์มันคือผลผลิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากผู้ผลิตและมีคนที่ต้องการนโยบายนี้ มันคือตลาดประเภทหนึ่ง แต่ตลาดนโยบายถูกกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายได้ แต่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายมาจากการเลือกตั้งโดยตลอด ในช่วงที่มีการเลือกตั้งถือว่าตลาดการเมืองมีรูปแบบการแข่งขันอย่างหนึ่ง คนที่เป็นผู้ซื้อสามารถมอบอำนาจให้คนที่ถูกเลือกตั้งได้รับอำนาจนี้ไปบริหารต่อ ทำให้คนที่ได้รับเลือกตั้งให้สัญญาประชาคมบางอย่างว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าทำไม่ได้หรือทำโดยไม่ชอบธรรม ก็มีกลไกทางรัฐศาสตร์บางอย่างที่แก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

แต่หลังปี 2558 เป็นต้นมา เราพบว่าตลาดการเมืองไม่เกิดการแข่งขันอีกแล้ว อำนาจต่างๆ ถูกรวบไว้โดยคณะบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดการเมืองที่ไม่มีการแข่งขัน เราพบว่าเกิดอุปสรรคในการเข้ามาร่วมแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 44 คำสั่ง คสช. ที่ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะหรือแม้กระทั่งรูปแบบการตักเตือนแบบไม่เป็นทางการต่างๆ หากมีความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบที่ไม่ถูกขนบกับที่ผู้มีอำนาจคิดไว้ การเมืองภาคประชาชนถ้าต้องการเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมี Transaction Cost ที่ค่อนข้างสูงมาก

ที่ผ่านมาจะพบว่าตลาดนโยบายแบบนี้มีการส่งสารกันระหว่างคนเลือกตั้งกับผู้ออกนโยบาย ในแง่ว่าผู้ออกนโยบายต้องสร้างความพึงพอใจบางอย่างให้แก่ผู้เลือกตั้ง คนที่ออกนโยบายไม่ใช่แค่รัฐบาล บางทีเป็นขุนนางนักวิชาการ หรือพรรคการเมืองที่เป็นผู้ผลิตนโยบาย กับกลุ่มที่เรียกร้องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป เอ็นจีโอ แต่พอมีการผูกขาด เราจะพบว่ากลไกการสื่อสารเหล่านี้เริ่มหายไป แผนพัฒนาหรือนโยบายกลายเป็นว่าผู้ที่ออกนโยบายอยากจะขายแบบนี้ ผู้บริโภคก็บริโภคไป ฉันจะผลิตแบบนี้ การออกแบบไม่ได้มีการสะท้อนความต้องการ กลไกนี้หายไปเยอะมาก

“หลังปี 2558 เป็นต้นมา เราพบว่าตลาดการเมืองไม่เกิดการแข่งขันอีกแล้ว อำนาจต่างๆ ถูกรวบไว้โดยคณะบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดการเมืองที่ไม่มีการแข่งขัน เราพบว่าเกิดอุปสรรคในการเข้ามาร่วมแข่งขัน... การเมืองภาคประชาชนถ้าต้องการเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมี Transaction Cost ที่ค่อนข้างสูงมาก”

กลายเป็นว่าผู้ผลิตนโยบายคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน แต่มันอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเสมอไปก็ได้ คำถามคือเมื่อตลาดนโยบายแบบนี้มาประยุกต์เข้ากับภาคการเกษตร เราจะพบว่า นอกจากนโยบายจะเป็นเรื่องของผู้ผลิตกับผู้ที่ต้องการแล้ว มันยังมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น โครงสร้างส่วนบนหรือวัฒนธรรมทางการเมืองไทยบางอย่างที่มีผลต่อรูปแบบการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบราชการ ซึ่งเราจะพบว่าเมื่อมีการรวบอำนาจเข้าสู่คณะบุคคล มีความคาดหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาจากรัฐบาลก่อนๆ ได้ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลง ลดประชานิยมลง เพราะมองว่าตลาดนโยบายที่ผ่านมาที่สนองความต้องการประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ พอมีการรวบอำนาจ แต่ระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่ ระบบราชการยังคงอยู่ ทำให้เกิดนโยบายแบบไหน

อีกประการหนึ่งที่บริบทเปลี่ยนไปจากที่ Friedrich Hayek กล่าวไว้ค่อนข้างมากคือ ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์มากขึ้นในแง่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเราส่งออกมากขึ้น การคำนึงถึงที่ยืนของเราในเวทีโลกก็มีความสำคัญเพิ่มขึ้นด้วย ด้วยเหตุผลนี้ อาจารย์รังสรรค์ใช้คำหนึ่งว่า ตลาดการเมืองคือตลาดที่ซื้อขายบริการความสุข แต่จะเป็นอย่างไรถ้าตลาดนี้ถูกออกแบบโดยคนกลุ่มหนึ่งและอนุมานว่าเราจะมีความสุขแบบที่เขาต้องการ

พอเอาตลาดนโยบาย ตลาดการเมือง มาจับกับตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้น โครงสร้างการเกษตรทุกวันนี้ มีผู้บริโภค มีช่องทางการจัดจำหน่าย การแปรรูป ย้อนไปถึงต้นทางคือเกษตรกร แต่ผู้ผลิตก็ต้องซื้อปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เราพบว่าปัจจุบันนี้หลายประเทศในโลกเกิดปรากฏการณ์ควบรวมกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานในหลายกิจกรรมมากขึ้น บางครั้งคนที่เป็นคนขายปัจจัยการผลิต คนแปรรูป และคนที่ควบคุมช่องทางการกระจาย เป็นคนคนเดียวกัน ทำให้โครงสร้างการผลิต อำนาจการผูกขาดตกกับผู้รับซื้อสินค้าเกษตรมากขึ้น รวมถึงคนที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าอาหารก็ตกอยู่ในมือคนกลุ่มนี้มากขึ้น ทำให้มีอิทธิพลค่อนข้างมากในการกำหนดรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการกระจายและการผลิตต่างๆ

เมื่อการกำหนดนโยบายแบบที่ราชการนำมาเจอกับภาคการเกษตรแบบนี้ มันนำไปสู่นโยบายแบบไหนบ้าง หนึ่ง-ในพืชการเมือง ช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะนโยบายของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายข้าวมีผลต่อการได้รับคะแนนเสียงและถือเป็นนโยบายเชิงเศรษฐกิจและการเมืองควบคู่กัน พอ คสช. เข้ามา นโยบายที่พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของชาวนา พบว่าราชการพยายามเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหา เพราะราคาข้าวตกลงมาก เราจึงไม่อาจบอกว่าราชการละทิ้งเกษตรกร แต่ความช่วยเหลือหรือโครงการเหล่านี้มันเป็นประโยชน์แค่ไหน

สอง-เราจะพบว่าตัวละครหนึ่งที่เป็นผลของวัฒนธรรมการเมืองที่ดำรงอยู่บวกกับรูปแบบการตลาดที่บรรษัทมีผลค่อนข้างมาก ในหลายๆ พืช ปุ๋ย ไก่ สุกร น้ำตาล สารเคมีเกษตร มีกลุ่มทุนที่มีความสามารถในการคุมเกมมากกว่าเกษตรกรรายย่อย นโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำให้รายใหญ่ได้รับประโยชน์หรือข้อได้เปรียบบางอย่าง โดยอาจจะพึ่งนโยบายรัฐหรือไม่ก็ได้

ภาพต่อมาคือเราเห็นความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการเกษตร พอมาดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของกระทรวงเกษตรฯ เราจะพบว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารที่ทันสถานการณ์ และขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา สอง-กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สาม-อยากเห็นการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น การมียุทธศาสตร์ชาติตรงนี้มันกลายเป็นแผนที่รวบรวมคีย์เวิร์ดต่างๆ เข้ามารวมว่าเราต้องการเห็นอะไร ซึ่งตัวแผนนี้บอกว่าคณะกรรมการที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ซึ่งก็เป็นคนของ คสช. เองและผู้เชี่ยวชาญที่ คสช. เชิญมาร่วมร่าง และกำหนดสิ่งที่อยากเห็นในสังคมไทย

การที่เราฝันและพาคน 70 ล้านคนไปทางไหนต่อ ในภาคเกษตรเขาบอกว่าเป็นฐานการผลิตไบโอเบสที่สำคัญ เป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงปลอดภัย เราจะพบว่ามันมีภาพบางอย่างที่เราอยากเห็นเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อีกภาพคืออยากเห็นเกษตรกรที่พอเพียง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่โลภมาก เป็นอีกภาพที่ทับซ้อนกันอยู่เหมือนกัน

นี่คือภาพตัวอย่างของยุทธศาสตร์ที่บอกว่าต้องการเกษตรกรเข้มแข็งต้องทำยังไง อยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรกรทุกคนต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ได้ แล้วก็มีเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรทุกคนต้องเข้าถึงงานวิจัยได้ พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนต้องอยู่ที่ 10 ล้านไร่ คำถามคือเขาเอาภาพเหล่านี้มาจากไหน ทำไมถึงอยากเห็นภาพแบบนี้ และภาพนี้เป็นภาพเดียวกับที่เกษตรกรต้องการหรือเปล่า

พอพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 และภาคการเกษตร เราฝันอยากเห็นเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ แต่ผมแสดงความเห็นว่า หลายครั้งที่เรามีภาพที่คาดหวังว่าอยากให้เขาเป็นแบบไหน แต่ภาพที่เกษตรกรอยากจะเป็นในชีวิตบางทีไม่ตรงกัน

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net