'คนอยากเลือกตั้ง' ฟ้องศาลปกครองให้ ตร.เลิกการห้ามเดินขบวน-หยุดคุกคามผู้ชุมนุม

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยื่นฟ้องศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกห้ามเดินขบวนและให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจยุติการคุกคามผู้ชุมนุมที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังรอศาลปกครองมีคำสั่งว่าจะไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการชุมนุมหรือไม่

ภาพเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากสภ.คูคต จังหวัดปทุมธานี ประมาณ 50 นาย เดินทางด้วยรถประมาณ 10 คัน รวมถึงรถควบคุมตัวผู้ต้องขัง เข้าไปยังบริเวณซอยหน้าบ้านของ กุลวดี ดีจันทร์ และขอเข้าตรวจค้นบ้านของเธอ ซึ่งเคยเข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมของคนอยากเลือกตั้งก่อนหน้านี้ และเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่หน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือคดี “ARMY57” (ที่มาภาพ ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

21 พ.ค.2561 เมื่อเวลา 21.20 น.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อช่วงเย็นา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมของ คนอยากเลือกตั้ง หรือไม่ หลังตัวแทนผู้ชุมนุมยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ว่ากำหนดเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อำนวยความสะดวกในการชุมนุมให้แก่ผู้ชุมนุม ทั้งผู้ประสงค์จะเข้าร่วมชุมนุมบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ คุกคาม และควบคุมตัวในหลายพื้นที่ โดยคาดว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งในช่วงคืนวันนี้

โดยช่วงสายวันนี้  อานนท์ นำภา ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งและทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ได้รับมอบอำนาจเดินทางไปยื่นคำฟ้อง คำร้องขอบรรเทาทุกข์ และขอไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่ตำรวจสน.ชนะสงครามได้กำหนดเงื่อนไขห้ามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค. 2561) และทหารตำรวจเข้าคุกคามกลุ่มผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อเวลาประมาณ  12.00 น. ศาลปกครองรับฟ้องแล้วเป็นเลขคดีดำที่ 1056/2561

ศูนย์ทนายความฯ รายงานด้วยว่า เมื่อ เวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะมีการไต่สวนฉุกเฉินตามที่มีการยื่นคำร้องไปหรือไม่ หากศาลรับคดีนี้จะมีการพิจารณาในวันนี้ว่าจะมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ ตามกลุ่มผู้ชุมนุมมีคำร้องขอบรรเทาทุกข์ที่ได้ขอให้ตำรวจยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวการชุมนุม และปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยต่อผู้ชุมนุม ให้ดำเนินการชุมนุมและเดินขบวนได้และจนกว่าการชุมนุมจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ทางกลุ่มผุ้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ผู้ชุมนุมอยู่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไม่ให้เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเป็นการทำลายเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน

ตามที่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวยังขัดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  2558 เพราะทั้งเสรีภาพชุมนุมและเสรีภาพการเดินทางจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ต้องตีความ แม้ว่าการเดินขบวนอาจจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจราจรอยู่บ้าง แต่การเดินขบวนก็ใช้ไม่เกิน 1 ช่องทางจราจรจากถนนราชดำเนินที่มีหลายช่องทางจึงไม่กระทบต่อสิทธิในการเดินทาง

นอกจากนั้นในคำฟ้องยังระบุว่าการที่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมต้องมีหนังสืออนุญาตให้ชุมนุมจากหัวหน้า คสช. มายื่นต่อตำรวจ หากไม่มีหนังสืออนุญาต ห้ามจัดชุมนุมโดยเด็ดขาดเพราะการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.  การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวของตำรวจจะทำไม่ได้เป็นการขัดต่อมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2558 เพราะมาตรานี้ไม่ได้ให้อำนาจแก่ตำรวจพิจารณา “ประเด็นเนื้อหา” ของการชุมนุม แต่ให้จำกัดในเชิง “พื้นที่” การชุมนุมเท่านั้น

ในคำฟ้องยังระบุอีกว่า ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้โดยไม่อุทธรณ์ตามมาตรา 11  พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ทางตำรวจกำหนดไว้เป็นเงื่อนไข เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมของตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 11 การชุมนุมนั้นจะต้องขัดต่อมาตรา 7 และ 8 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นการกำหนดเรื่องสถานที่จัดชุมนุม ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมระมัดระวังไม่ให้ขัดตามมาตราดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทางตำรวจก็ไม่ได้ให้ชัดเจนในหนังสือตอบกลับผู้แจ้งจัดชุมนุมว่าการชุมนุมครั้งนี้ขัดต่อมาตรา 7 และ 8 อย่างไร

ในคำฟ้องยังระบุถึงกรณีตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบคุกคามกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 16 คน และได้ยกกรณีที่ สภ.คูคต คุกคาม กุลวดี ดีจันทร์ ผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้ากองทัพบก เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่าน โดยเข้าตรวจค้นบ้านของกุลวดีแม้ว่าจะมีหมายศาล แต่การตรวจค้นดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชัดเจนว่าต้องการค้นหาสิ่งใด และไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ อีกทั้งตำรวจยังระบุว่าจะมีการติดตามกุลวดีตลอดเพื่อไม่ให้ไปชุมนุม

นอกจากกรณีของกุลวดีแล้ว อุทัย แถวโพธิ ผู้ให้เช่ารถเครื่องเสียงแก่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังถูกทหารในพื้นที่ควบคุมตัวเข้า มทบ.11 และยังได้ยึดเครื่องขยายเสียงไปอีกด้วย

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเห็นว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ในมาตรา 44 ประกอบกับข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามในการรับรอง คุ้มครอง และเคารพการใช้เสรีภาพดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุม การจำกัดเสรีภาพด้วยเหตุข้างต้น จึงเป็นการละเมิดต่อกรอบรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ

อ่าน เหตุการณ์การติดตามคุกคามทั้ง 16 รายได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความฯ http://www.tlhr2014.com/th/?p=7367

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท