แกนนำเสื้อแดงเผยถูกฝ่ายความมั่นคงเชิญสอบถามเบื้องหลังชุมนุมขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ

แกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่เผยฝ่ายความมั่นคงเชิญ 4 แกนนำพูดคุยสอบถามเบื้องหลังชุมนุมขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ ระบุเสื้อแดงไม่ได้เป็นแกนนำคัดค้าน ตัวเขาไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนแกนนำเป็นเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพกว่า 50 องค์กร ด้านนักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

 
 
 
5 พ.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงเชียงใหม่ เผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางฝ่ายความมั่นคงพร้อมเจ้าหน้าที่ได้เชิญตน พร้อมด้วยนายองอาจ ตันธนสิน แกนนำกลุ่มรักประชาธิปไตย นายศรีวรรณ จันทร์ผง และพ.ต.ท.สุพล ฟูมูนเจริญ แกนนำแดงเชียงใหม่ รวม 10 คน ไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้าน ป.ชานเมือง ย่านถนนวงแหวนรอบนอก เพื่อพูดคุยถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านบ้านพักศาล หรือ "ป่าแหว่ง" หลังเข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามการชุมนุมดังกล่าวว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือการเมืองแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่มีสีหรือผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ เป็นเรื่องของชาวเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเป็นสีเขียว เพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวเท่านั้น
 
ด.ต.พิชิต กล่าวว่าทั้งนี้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงขอตัวกลับ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าว หมิ่นเหม่กฎกหมายหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งขัดต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ตนยืนยันว่าไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เป็นการชุมนุมสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ได้นำหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของตน รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงทุกคนที่ร่วมชุมนุมวันดังกล่าวมาแสดง พร้อมระบุว่าแกนนำเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมหรือคัดค้านเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงตอบกลับไปว่าพื้นที่เชียงใหม่มีเสื้อแดงจำนวนมาก ไม่แปลกที่ไปร่วมชุมนุมหรือคัดค้านที่ข่วงท่าแพ แต่เจ้าหน้าที่กลับจับตาหรือโฟกัสมาที่เสื้อแดงเป็นพิเศษ ทั้งที่มีเสื้อหลากสีเข้าร่วมชุมชนไม่น้อย แต่กลับไม่ถูกจับตามอง หรือถูกโฟกัสน้อยกว่าเสื้อแดงมาก
 
"ขอยืนยันเสื้อแดงไม่ได้เป็นแกนนำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่เป็นเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ กว่า 50 องค์กรที่เป็นแกนนำ และไม่ให้การเมืองหรือนักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวการเคลื่อนไหวคัดค้านดังกล่าว แต่สามารถมาร่วมคัดค้านหรือให้กำลังใจได้เท่านั้น เพื่อไม่ให้รัฐบาล หรือ คสช.มองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านบ้านพักศาลอีก เพราะกลัวเหตุการณ์บานปลายนำไปสู่การขับไล่รัฐบาล และคสช.ในอนาคต จึงมองว่ารัฐบาล และคสช.หวาดระแวงมากเกินไป ทั้งที่ชาวเชียงใหม่ที่ต้องการปกปักรักษาดอยสุเทพ และป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเท่านั้น"
 
ด.ต.พิชิต กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหลังได้พูดคุยและชี้แจงกับเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่มีท่าทางเข้าใจเจตนาแกนนำเสื้อแดงมากขึ้น พร้อมแสดงท่าทีขอความร่วมมือไม่ให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวหรือชุมนุมคัดค้านเรื่องดังกล่าวอีก แต่ตนได้ปฏิเสธเพราะไม่ใช่แกนนำการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าว แต่การเคลื่อนไหวคัดค้านถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ต้องการมีส่วนร่วมปกปักรักษาดอยสุเทพเท่านั้น ดังนั้นอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง หรืออยู่เบื้องหลังการชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าวอีก รัฐบาลและ คสช.ควรดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายดังกล่าว โดยรื้อทิ้ง หรือเตขว้าง บ้านพักศาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานไม่ให้ส่วนราชการ หรือองค์กรใด ใช้พื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่เป็นจิตวิญญาณของคนท้องถิ่น พร้อมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าตามเจตนารมย์ของชาวเชียงใหม่ และผู้คัดค้านทั่วประเทศดีกว่า
 
นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม
 
ด้าน เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พ.ค. 2561 ที่วัดล่ามช้าง เครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าได้จัดเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง "ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม" โดยมีนาย โชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. และนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
 
นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า กล่าวว่า โครงสร้างทางวิศวกรรมของบ้านพักข้าราชการตุลาการ หากมีคนเข้าไปอยู่จะเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา เนื่องจากมีความเสี่ยงของพื้นที่มีความลาดชันสูง บริเวณก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ที่พร้อมจะเกิดฟ้าป่า น้ำหลาก ดินสไลด์ พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมีการเปิดหน้าดินทั้งหมดออก ไม่มีรากต้นไม้ที่จะคอยยึดดินไว้ เมื่อดินเกิดการชุ่มน้ำมาก ไม่สามารถซึมลงใต้ดินได้แล้ว น้ำที่ไหลบริเวณหน้าดินไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดินทำให้เกิดดินสไลด์ได้ ประกอบบ้านพักข้าราชการตุลาการ สร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง ด้วยวิธีการวางฐานรากแผ่ลงไปบนชั้นดินที่ไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดิน เมื่อฝนตกต่อเนื่องดินพร้อมที่จะเคลื่อนตัวไปง่าย ประกอบกับไม่มีป่าไม้อยู่ในบริเวณดังกล่าวเมื่อฝนตกลงจากภูเขาสูงจะเกิดน้ำป่าไหดมาบริเวณบ้านพักได้
 
นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้มีการประชุมกันในสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ ซึ่งมีความเป็นห่วงในเรื่องของโครงการสร้างเชิงวิศวกรรม ที่เข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ลาดชันสูง มีการเปิดหน้าดินจนทำให้ให้มีความเสี่ยงของการพังทลายได้โดยง่าย ซึ่งการเปิดหน้าดินออกไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์โดยรวมไปถึงป่าชั้นใน พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างยิ่ง โครงสร้างที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันไม่หลงเหลือป่าอยู่ในพื้นที่ การเปลี่ยนสภาพป่าในลักษณะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมไปถึงกระทบต่อจิตวิญญาณของชาวล้านนาในพื้นที่นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟู จากการวิจัยพบว่าการฟื้นฟูพื้นที่ป่าจะต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประมาณ 20,000-25,000 บาท/ไร่ ซึ่งต้องทำการผลิตกล้าไม้ สำรวจพื้นที่ ดูแลแปลง ใส่ปุ๋ย สำหรับพื้นที่ในบริเวณบ้านพักตุลาการที่ต้องทำการฟื้นฟูประมาณ 58 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังไม่รวมค่าเสียหายที่เกิดจากการขุดหน้าที่ออกไป ซึ่งกว่าที่พื้นที่ดังกล่าวจะสะสมธาตุอาหารที่จำเป็นต่อต้นไม้ต้องใช้เวลาประมาณ 80 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สูญเสียไปแล้ว จริงแล้วพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในทางกฎหมายจะต้องมีต้นไม่อยู่ 25 -40 ต้นแต่พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้อยู่เยอะกว่านี้แน่นอน พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างแน่นอน จริงๆ แล้วหน่วยงานฟื้นฟูป่า จะต้องเข้ามาเป็นหน่วยงานท้ายๆ ที่จะเข้ามาฟื้นฟู ในความเห็นส่วนตัว การฟื้นฟูป่าที่จะให้กลับไปเหมือนเดิมจะใช้เวลานานมาก ปรับพื้นที่หน้าดินในลักษณะที่ดำเนินการอยู่ การฟื้นฟูอาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นป่าได้เหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น หรือาจจะไม่ได้เห็นป่ากลับมาเหมือนเดิมในช่วงชีวิตของตนเอง แต่หากจะดำเนินการฟื้นฟูก็ควรจะเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป หน่วยงานวิจับฟื้นฟูป่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและปรึกษาในการฟื้นฟูพื้นที่
 
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าการเข้าไปก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในบริเวณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เรื่องการตีความของกฎหมายว่าเป็นที่ราชพัสดุหรือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งในแง่ของกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งเพื่อความชัดเจนของพื้นที่ เนื่องจากมีสถานะทางกฎหมายทับซ้อนกัน 2-3 ข้อกฎหมาย ต้องมาตีความประกับกันโดยใช้กฎหมายหลายตัวเข้ามาตีความ การที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อปลุกสร้างอาคารที่พักอาศัย และบ้านพักข้าราชการ ซึ่งไม่คำนึงถึงความเสียหายของสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนั้นการตัดสินใจเข้าไปก่อสร้างบ้านพักในบริเวณดังกล่าวยังขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ พื้นที่ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ตรวจสอบไม่ได้ ชาวบ้านไมได้เข้าไปมีส่วนร่วม การก่อสร้างไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท