'เก่งกิจ-ธเนศ' ถกหนังสือ 'แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น'

คุยเปิดตัวหนังสือ แผนที่สร้างชาติฯ ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เผย ‘ชาติ’ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ได้เกิดขึ้นในทันที มีทั้งคนปฏิเสธ ขัดแย้ง ท้าทายนิยาม พร้อมบทวิจารณ์หนังสือจาก ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่สุวรรณ ที่บู๊ทของฟ้าเดียวกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีการจักสนทนา หนังสือ “แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น” ซึ่งมี เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เขียน รวมสนทนา กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เก่งกิจ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานที่ทำต่อจากงานก่อนหน้านี้ของเขาที่ศึกษาการเกิดขึ้นของวิชามนุษยวิทยาในประเทศไทย ว่ามันเกิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น การเกิดขึ้นของภัยคอมมิวนิสต์ รัฐไทยและมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหนบ้างของประเทศไทย เพราะฉะนั้นวิชามานุษยวิทยาหรือนักมนุษยวิทยาก็เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเก็บข้อมูลหมู่บ้านต่างๆ เมื่อเขียนงานชิ้นนั้นก็พบว่าก่อนที่นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปในหมู่บ้าน ก็ต้องมีแผนที่ก่อน จึงสอบถามนักมานุษยวิทยาในยุคนั้นที่สำรวจหมู่บ้านว่าใช้แผนที่อะไร เขาก็เปิดเผยว่าใช้แผนที่ฉบับ L708 ตนก็ค้นต่อว่ามันคืออะไร ก็พบว่าเป็นแผนที่ที่ทำโดยสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น และไม่ได้ทำเฉพาะประเทศไทย แต่ทำในภูมิภาคนี้หลายประเทศ ซึ่งเป้าหมายหลักของกรทำแผนที่ฉบับนี้คือต้องการจะรู้ว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหน โดยจะเห็นกลุ่มบ้านเรือนตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง จะมีการส่งตำรวจตระเวณชายแดนหรือมหาดไทยเข้าไปในบริเวณนั้นเพื่อดูว่าคนพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า เมื่อเข้าไปถึงรัฐก็จะมีการจดะเบียนรายชื่อว่ามีใครบ้าง มีประชากรกี่คน คนชื่ออะไรบ้าง หลังจากนั้นก็พยายามจะไปทำโครงการพัฒนาชนบทเพื่อทำให้คนพวกนี้ตั้งถิ่นฐานที่ใดที่หนึ่ง เพราะการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มันเป็นคล้ายๆ จะเป็นฐานให้กับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่เป็นสงครามกองโจร เพราะฉะนั้นการที่รัฐพยายามทำให้คนหยุดนิ่งอยู่กับที่มันเป็นเงื่อนไขสำคัญมากในการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ และเมื่อรัฐเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็มีการโปรโมทความคิดแบบชาตินิยม ความคิดแบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้คนรักชาติ หรือรู้ว่าเขาเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นกระบวนการของความเป็นไทย การเป็นพลเมืองของรัฐเป็นสิ่งี่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีแผนที่ฉบับนี้

‘ชาติ’ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เก่งกิจ กล่าวว่า ข้อเสนอหลักหนังสือฉบับนี้ก็คือ แผนที่ฉบับ L708 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าชาติที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคน ช่วงประมาณ 1950 – 1970 เริ่มต้นทำแผนที่คือปี 2490 กว่า ซึ่งแผนที่ไม่ได้ใช่เวลาเร็วในการทำ แต่ใช้เวลาเป็นทศวรรษกว่าที่จะสำรวจ เอาเครื่องบินถ่ายที่ละจุดละจุด เมื่อได้ฟีมล์ก็ส่งไปที่ฟิลิปินส์เข้าห้องแหล็บเพื่อแปลเป็นแผนที่ ซึ่งใช้เวลาจำนวนมาก และมาประกอบทั้งประเทศซึ่งทั้งหมดใช้เวลาเป็น 10 ปี เพราะฉะนั้นความเป็นชาติมันจึงค่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ ไม่ใช่ความเข้าใจที่นักวิชาการ โดยเฉพาะนักประวัติศาตร์เชื่อว่าชาติเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาติเกิดในสมัย 2475 ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้คือชาติเพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่าอำนาจรัฐเข้าไปเห็นว่าคนอยู่ตรงไหนจริงๆ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การสร้างหมู่บ้านเป้าหมายสำคัญคือ เมื่อรัฐสร้างหมู่บ้านเสร็จก็บีบให้คนมาอยู่ในที่เดียวกัน สร้างหมู่บ้านเสร็จก็ต้องจดทะเบียนว่าในหมู่บ้านนี้มีคนชื่ออะไรบ้าง ผ่านการออกทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดใหม่หมด นั่นหมายความว่าคนที่ไม่ยอมเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน หรือคนที่ไม่ยอมมีบัตรประชาชนคือคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยความมั่นคงหรือเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เพราะก่อนที่เราจะรู้สึกเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน เราไม่ได้รู้สึกแบบนี้มาอย่างยาวนานเป็น 100 ปี สิ่งเหล่านี้เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นผ่านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการทำแผนที่ การออกบัตรหรืออื่นๆ

ชาติไม่ได้เกิดขึ้นในทันที มีทั้งคนปฏิเสธ ขัดแย้ง ท้าทายนิยาม

เก่งกิจ อธิบายด้วยว่า หนังสือเล่มนี้งานเขียนที่มีอิทธิพลมากขึ้นงานของ เจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott นักวิชาการชาวอเมริกัน) ซึ่งศึกษาคนไร้รัฐ โดยที่งานของสก็อตต์นั้นชี้ว่ามนุษย์อยู่โดยที่ไม่มีรัฐมาอย่างยาวนานมาตลอด เพราะฉะนั้นอำนาจรัฐมันค่อยๆ เข้ามาในชีวิตของเรา และมันช้ามาก ไม่ได้เข้ามาทีเดียว ไม่ใช่ว่าสร้างแผนที่ในสมัย ร.5 เกิดความเป็นคนไทยขึ้นมาทันที มันไม่จริง เนื่องจากคนหรือชาวบ้านไม่ได้รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร ความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ใช้เวลาอาจเป็ฯ 100 ปี ในการทำให้คนคิดว่าตัวเองเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นงานเขียนชิ้นนี้ก็พยายามที่จะเสนอมุมมองอีกด้านว่า เวลาที่เรามองชาติ ชาติไม่ได้เกิดขึ้นมาฉับพลันทันที ไม่ใช่ว่าปฏิวัติ 2475 แล้วเกิดชาติในทันที แต่ชาติเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน มีคนปฏิเสธความเป็นชาติ มีคนอยากเข้าร่วม มีคนขัดแย้งจำนวนมาก และนิยามของชาติก็ถูกท้าทายตลอดเวลา

ชื่อ “แผนที่สร้างชาติ” กึ่งล้อเลียนกึ่งเสนอ

สำหรับเหตุผลที่หนังสือเล่นนี้ชื่อ “แผนที่สร้างชาติ” นั้น เก่งกิจ กล่าวว่า จากการค้นคว้าเอกสารพบว่า คนที่เพิ่งปรากฏตัวในแผนที่ตามความรับรู้ของรัฐในหมู่บ้านนั้น ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้นิยามว่าตัวเขาเป็นคนไทย เพราะอำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึงชีวิตของเขา เขาเริ่มมีบัตรประชาชนหลัง 2506 เป็นต้นมา และเริ่มมีทะเบียนบ้าน เริ่มอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่ไปไหนประมาณ 2510 กว่า เพราะฉะนั้นก่อนน้านั้นเขาเป็นใครจึงเป็นประเด็นที่ตนสนใจ ทั้งหมดทั้งมวล การที่เขามีชื่อเป็นไทย มีนามสกุล มีบัตรประชาชน มันเพิงเกิดขึ้นประมาณ 40-50 ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นความเป็นไทยจึงเพิ่งเกิดขึ้นเมา 40-50 ปีที่แล้ว ในแง่นี้เราจะบอกได้อย่างไรว่าแผนที่ที่เกิดขึ้นในสมัย ร. 5 เป็นแผนที่ที่สร้างชาติ ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนไทย แผนที่ที่ อ. ธงชัย วินิจจะกูล ศึ่กษาในหนังสือ Siam Mapped เป็นแผนที่ของรัฐที่กำหนดขอบเขตของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งการการนำมาสร้างชาติ เพราะคนไม่ได้รับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ คนรับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ก็ต่อเมื่อรัฐไทยเข้าไปถึงหมู่บ้านในยุคสงครามเย็น ตนจึงจงใจตั้งชื่อกึ่งล้อเลียนกึ่งเสนอว่าอันนี้คือการศึกษาแผนที่สร้างชาติจริงๆ ไม่ใช่สมัย ร.5

‘บัตรประชาชน’ กับความเป็นไทยไม่ได้เป็นปึกแผ่นมาอย่างยาวนาน

เก่งกิจ กล่าวต่อว่า เอกสารที่ตนค้นไว้ส่วนหนึ่งคือเรื่องการทำบัตรประชาชน การทำทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในช่วงสงครามเย็นนั้น การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นั้น รัฐไทยไปเอาความคิดมาจากการปราบคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และเวียดนามไปเอามาจากมาลายา ในมาลายาอังกฤษใช้วิธีการออกบัตรประชาชน เพราะการออกบัตรประชาชนมันต้องระบุตัวทะเบียนบ้านด้วยและวิธีการก็คือเมื่อคุณออกไปจากที่ที่คุณอยู่นั้น โดยที่ไม่มีที่มาที่ไปนั้นเท่ากับคุณมีโอกาสี่จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ การไม่มีบัตรประชาชนก็สะท้อนว่าคุณไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ตนสนใจมากว่ากว่าที่คนจะมีบัตรประชาชนมันใช้เวลายาวนาน และมันเพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานนี้เอง

ความน่าสนใจของเรื่องบัตรประชาชนและความเป็นพลเมืองที่ตนสนใจก็คือว่า ตนพบเอกสารว่านอกเหนือจากกรุงเทพ ได้มีบัตรประชาชนตั้งแต่มี พ.ร.บ.บัตรประชาชนตั้งแต่ปี 2480 กว่านั้น บริเวณอื่นนอกเหนือกรุงเทพไม่มีบัตรประชาชนเลยเพราะฉะนั้นวิธีการนิยามคนใช้วิธีอะไร จึงเป็นสิ่งที่ตนอยากศึกษาต่อ และหลังจากที่พระนครกับธนบุรีมีบัตรประชาชนก็เริ่มมีครั้งแรกในเวลาต่อมาปี 2506 ที่เชียงราย นครพนมและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นหมายความว่าความเป็นไทยมันตีกรอบมาจากขอบก่อนแล้วมาที่ตรงกลาง นั่นหมายความว่าความเป็นไทยไม่ได้เป็นปึกแผ่นมาอย่างยาวนาน มันถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การออกบัตรประชาชนที่สำคัญมากก็คือการมีเครื่องเคลือบบัตร มันสามารถรักษัตรนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการควบคุมคนมันอาศัยเทคโนโลยีจำนวนมาก จึงเป็นประเด็นที่ตนสนใจมาก

บทวิจารณ์หนังสือจาก ธเนศ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้เผยแพร่ความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ ผ่าน เฟสบุ๊ค Kokoro Soseki โดยมรายละเอียดดังนี้

ข้อดี หัวข้อศึกษาน่าสนใจมาก เป็นเรื่องธรรมดา คนรู้จักทั่วไป แต่ไม่รู้ลึกถึงบทบาท โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างรัฐชาติ สมมติฐานหลักคือ รัฐชาติไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดมาแต่สมัยปฏิรูปการปกครอง สมัย ร.5 ไม่เคยขยายอำนาจรัฐลงไปถึงระดับหมู่บ้านเลย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯเข้ามาครอบงำไทย นำเทคโนโลยีการทำแผนที่ทางอากาศเข้ามา ถึงสร้างหมู่บ้านขึ้นมา ทำให้รัฐไทยสามารถใช้อำนาจ การควบคุมลงไปถึงหน่วยที่เป็นพื้นฐานของการปกครองได้ในที่สุด 

ข้อค้นพบใหม่หรือสำคัญ

1) แยกแยะให้เห็นความต่างกันระหว่าง แผนที่ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับแผนที่ของรัฐประชาชาติ อันแรกทำได้เพียงขีดเส้นพรมแดนของรัฐ แต่ไม่มีรายละเอียดของหน่วยย่อยๆต่างๆในรัฐนั้น เช่นหมู่บ้าน จึงไม่มี 

2) การสร้างรัฐสมัยใหม่ เป็นกระบวนการ ไม่อาจทำได้ในเวลาอันสั้นๆ ต้องปรับวิธีคิดการมองการสร้างรัฐใหม่

3) คุณสมบัติของแผนที่สมัยใหม่ ทำให้หมู่บ้านและผู้คนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้ปกครอง ควบคุม กำหนดแนวทางและทิศทางให้คนเหล่านั้นได้

4) บทบาทของมหาอำนาจ ในกรณีนี้คือสหรัฐฯ ที่เข้ามาทำหน้าที่สร้างแผนที่ตามยุทธศาสตร์ในสงครามเย็นของอเมริกา 

5) บทบาทของเจ้าหน้าที่ไทย นักวิชาการ หน่วยงานราชการ ไปถึงมหาวิทยาลัย

ข้อวิจารณ์

1) อธิบายความหมาย นัยสำคัญในทางประวัติศาสตร์และการเมืองของแผนที่ ทั้งเก่าและใหม่ น้อยไป แต่หนังสือทำให้รู้สีกเหมือนว่าแผนที่แบบเก่านั้นไม่มีความหมาย มันมีบทบาทในบริบทของสังคมโบราณ เช่น แผนที่แบบไตรภูมิ สะท้อนโลกทัศน์ของจักรวาลทรรศน์แบบพุทธ โลกอยู่ในแนวตั้ง ตามคติศาสนา ส่วนแผนที่สมัยใหม่เป็นแบบแนวราบ ไม่มองความเหลื่อมล้ำ ความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่ง เน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างจุดต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ในกรณีสยาม จุดเปลี่ยนผ่านระหว่างการใช้และคิดแบบแผนที่จารีตกับแบบใหม่ ปะทะกันช่วง ร.4 ถึง 5 จบลงด้วยชัยชนะของแผนที่แบบใหม่และการสร้างรัฐรวมศูนย์ เกิดสิ่งที่เรียกว่า state-mind หรือความคิดที่มีรัฐแบบใหม่อยู่ในหัว ไม่ใช่เขาพระสุเมรุอีกต่อไป แต่ความคิดนี้ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบจารีต นี่เป็นความขัดกันของความเป็นสมัยใหม่แบบไทย หรือที่เราเรียกว่า ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ อีกข้อแผนที่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐฝ่ายเดียว มันเองก็ให้ผลสะเทือนที่ปฏิวัติแก่ประชากรที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐได้ด้วย เช่นให้ความรู้สึกชาตินิยมต่อต้านเจ้าอาณานิคม การเสียดินแดนในภาพแผนที่ไทย 

2) การสร้างรัฐชาติเป็นกระบวนการ ไม่มีปัญหา แต่ในนั้นมีสองสิ่งเกิดขึ้นเคียงข้างกันไปตลอดเวลา นั่นคือการสร้างรัฐที่เป็นกลไกในการปกครองทั้งหลาย กับการเกิดชาติที่เป็นจินตกรรมร่วมกันของคนจำนวนมากภายในรัฐหรือประเทศนั้นๆ การปฏิรูปการปกครองของ ร.5 เป็นการสร้างระบบและกลไกของรัฐใหม่ เช่นกระทรวงฯ กองทหารประจำการสมัยใหม่ งานเหล่านี้ทำได้เลยเพราะเกณฑ์คนจากลูกหลานขุนนางหรือเจ้านายให้มาประจำทำงาน แต่ถ้าเป็นการปฏิรูปที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับลึกและกว้างลงไปยังราษฎร เช่นระบบการศึกษา จะทำได้จำกัด โรงเรียนก็มีแต่ของหลวงสำหรับลูกคนมีฐานะ รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น การปฏิรูปแบบหลังนี้เองที่จะนำไปสู่การเกิดชาติในความคิดของราษฎร แม้ ร.6 ปลุกระดมความคิดเริ่องรักชาติ กรมฯดำรงสร้างคำบรรยายประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ก็เป็นการสร้างจากบนลงล่าง เป็นจินตนาการของชนชั้นนำ มากกว่าเป็นความรับรู้ในความเป็นมาของชาติตนที่เป็นของราษฎรจริงๆ ดังนั้นกระบวนการสร้างรัฐไทย จึงดำเนินมาอย่างขัดกันโดยตลอด ด้านที่ปฏิรูปและทำให้เห็นได้ง่ายคือระบบราชการ และนโยบายที่รัฐต้องการเห็น ส่วนชาติที่เป็นจินตนาการร่วมกันของราษฎรไม่ค่อยเกิดขึ้น 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราษฎรไม่พยายามสร้างคติชาติของพวกเขาขึ้นมา กลุ่มลูกจีนในไทยยุคแรกสร้างสิ่งที่เป็นของชาติไทยเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของพวกตนในนั้น เช่นมวยไทย หนังไทย  ในยุคสงครามเย็นต้น จอมพลป. รับความช่วยเหลือจากอเมริกา แต่ก็พยายามสร้างความเป็นไทย ผ่านการสร้างชาติในความคิดของราษฎร ได้หลวงวิจิตรฯสร้างละคร การรำ การร้อง ไปถึงนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่เนื้อเรื่องไม่ใหม่ เพราะไม่เคยเป็นอาณานิคม จึงต้องไปยืมพล๊อตเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยจาก ร.๖ และกรมฯดำรง มาใช้ใหม่
แต่ปรับเอาคติบูชิโดของญี่ปุ่นมาทำให้คนต้องสละเลือดเพื่อชาติ กระทรวงวัฒนธรรมเกิดสมัยนี้ด้วยภารกิจในการสร้างชาติให้แก่ราษฎร ชาติไทยจึงไม่เคยสร้างโดยราษฎรเองเลย

3) ไม่เห็นผลจากการใช้แผนที่และการสร้างหมู่บ้านในการปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลไทย ว่าเอาไปใช้อย่างไร เมื่อไร และได้ผลประการใด การเสนอรายงานของแฮงค์ 1975 ที่ทำให้ข้อมูลเดิมที่ไม่แน่นอน มีความชัดเจนและนิ่งมากขึ้น กับของชาร์ป ซึ่งเสนอให้รัฐไทยสนับสนุนการดำรงชีพของชาวเขาให้มีหลักฐานมั่นคงขึ้น หลังจากได้รับรายงานแล้ว รัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆ มีใครรับไปปฏิบัติบ้าง ทำอย่างไร(บทที่ 5) เช่นเดียวกับบทที่ 6 การทำงานของศูนย์วิจัยชาวเขา เชียงใหม่ กล่าวว่าตชด.กับมหาดไทยก็ทำสำรวจ แต่ไม่มีรายละเอียด ไม่เห็นภาพรวมของการทำแผนที่โดยฝ่ายไทยว่าเป็นอย่างไร มีความรู้ประเภทไหน

4) จุดหมายของรัฐไทยในการใช้แผนที่คือการควบคุมหมู่บ้าน ในทางปฏิบัติ ทำยาก หากชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ของการตั้งรกรากแบบถาวร อันโยงไปถึงการผลิต การจำหน่าย การบริโภคและสาธารณูปโภค สุขภาพ โรงเรียน นั้นคือการทำให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของตัวเองและเจ้าของพื้นที่ที่เขาอยู่ คือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีอำนาจในการค้าขาย พัฒนาคุณภาพชีวิต โรคภัย วัฒนธรรม ดังนั้นการเข้าใจและใช้แผนที่อย่างได้ผล ต้องอาศัยร่วมมือกับสถาบัน เครื่องมืออื่นๆด้วย เช่น จากทัศนะของรัฐในการรู้และจัดการประชากร คือการทำสำมะโนประชากร การจัดลำดับของอดีตเช่นพิพิธภัณฑ์ แล้วถึงแผนที่

สำหรับ หนังสือ แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น เขียนโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สำนักพิมพ์ คือ Illuminations Editions

ขณะที่ ผู้เขียน หรือ เก่งกิจ  ปัจจุบันเขาขายแรงงานของเขาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีผลงานตีพิมพ์ล่าสุดคือ Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ (2560) และเริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21 (2560) นอกเหนือจากหนังสือแผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการสำรวจหมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น แล้ว ในปีนี้เขาจะมีหนังสืออีกเล่มคือ Conatus…ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตของ Autonomia

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท