ศาลขออย่าเพิ่งไปรื้อบ้านพัก 10 ปี มาดูกันว่าจะกลับเป็นป่าได้ไหม ฝ่ายประท้วงจ่อฟ้องศาลปกครอง

 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี ขออย่าเพิ่งไปรื้อบ้านพัก 10 ปี มาดูกันว่าจะกลับเป็นป่าได้ไหม ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนให้รื้อถอนบ้านพัก  จ่อฟ้องศาลปกครอง

ภาพซ้าย ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 

21 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ขึ้นบริเวณด้านหน้า และด้านข้างของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังใหม่ เป็นแนวยาวไปถึงด้านหน้าของอาคารชุดบางอาคารที่อยู่ใกล้กับด้านหลังของอาคารศาล โดยได้นำต้นราชพฤกษ์ เหลืองอินเดีย ต้นพะยูง กัลปพฤกษ์ จำนวนรวม 300 ต้น มาร่วมกันปลูก โดยมี ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ให้เกียรติมาร่วมปลูกต้นไม้กับทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่นำโดย สวัสดิ์ สุขวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมแรกจากทางฝั่งของทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จัดขึ้นท่ามกลางกระแสการคัดค้าน และเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ต้องการให้รื้อถอนอาคารบ้านพักของเจ้าหน้าที่ศาลที่สร้างขึ้นในพื้นที่ป่าของดอยสุเทพ

ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวว่า ไม่อยากจะโต้เถียง แต่ในมุมมองของเรา เราทำถูกต้องแล้วในแง่ของกฎหมาย และเป็นทรัพย์สินทำลายยาก ไม่ง่ายที่จะทำลายทิ้ง ที่ผ่านมามีติดต่อจะมาเรื่องรังวัดเขต ต้องเป็นส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และ บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนเครือข่ายทำหนังสือสอบถามมาเรื่องโครงการปลูกป่าว่าใช้งบประมาณส่วนไหน ซึ่งได้โทรแจ้งว่าใช้เงินกองทุนจากผู้บริจาคของผู้พิพากษา แต่ไม่ได้มาขอเจรจาอะไร
 
"ทราบว่าวันที่ 2 เมษายน ไปรวมตัวกันอยู่ที่หน้าค่ายกาวิละ ก็บอกว่ามาคุยกับตนได้ แต่ขอคุยธรรมดา ก็เลยไม่ได้คุยกัน ซึ่งศาลไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากฝ่ายทหารในการประชุมครั้แรก จนวันที่ 9 เมษายน ที่มีหนังสือเชิญมาแต่ในส่วนของสำนักงานศาลที่กรุงเทพฯ จะมีการประชุมอยู่แล้ว เลยแจ้งว่าให้รอผลการประชุมดีกว่า เรานิ่งเพราะเราถูกฝึกมาอย่างนี้ ให้พูดน้อย อดทน อย่าเป็นคู่พิพาท ฝึกมาอย่างนี้ หากมาแบบสุภาพบุรุษเชิญเลย" สวัสดิ์ กล่าว
 
ชำนาญ กล่าวว่า ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด และมากที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ขัดข้อง ศาลยุติธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจประเด็นนี้ เพราะทั้งประธาน และผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้พิพากษามีหน้าที่หลักคือพิจารณาคดี ส่วนเรื่องอาคารสถานที่เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นฝ่ายจัดอำนวยความสะดวกให้ ประเด็นกฎหมายที่เครือข่ายอ้างถึง ต้องไปดูให้รอบคอบว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน ใครจะไปรื้อถอนทำลายมีความผิด ไม่สามารถทำได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.ต้องเสี่ยงภัยต่อการรับผิดชอบ ซึ่งไม่ง่ายเลย การใช้เงินของแผ่นดินมีระเบียบวินัย ใครจะไปคิดทุบรื้อทำลายไม่ได้ ส่วนจะไปพิจารณากันเป็นอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมคงไม่ขัดข้อง
 
ชำนาญ กล่าวด้วยว่า อีกไม่นานจะต้องมีคดีเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการฟ้องกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วใครจะพิจารณาหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่ ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ ทั้งภาคเลย เป็นเรื่องใหญ่ ท่านไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา ในขณะที่คดีเลือกตั้งต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะท่านต้องเดินทางมาไกลในการจะพิจารณาคดีอย่างไร น่าเป็นห่วง ที่อยากให้รื้อถอนไปแล้วให้ไปหาที่ใหม่ พื้นที่ไกลจากเมืองตั้ง 10 กิโลเมตร จะให้ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่เดินทางอย่างไร
 
"อย่าเพิ่งไปรื้อมัน ให้ศาลอยู่ก่อน แล้วก็ให้ศาลปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมทั้งปวงจนกระทั่งอีก 10 ปี มาดูกันว่าศาลสามารถปรับปรุงบริเวณที่ทำการของศาลรวมทั้งบ้านพักให้มีสภาพป่าได้ไหม ตอนนั้นแล้วค่อยมาดูกันจะดีกว่าไหมครับ นี่เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ที่คิดว่าน่าจะดีกว่าจะรื้อถอน บริเวณที่ดินที่ก่อสร้างมีแค่ 89 ไร่เท่านั้น ถือว่าเล็กน้อยมาก และบริเวณบ้านพักก็เหลืออยู่แค่ 40 กว่าไร่ น้อยมาก เราไม่เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาอื่นหรือ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การรื้ออย่างเดียว ขอเวลาแค่ 10 ปี แล้วเรามาว่ากันว่าบริเวณนี้ยังเป็นทะเลทรายค่อยมาดูกันอีกที" ชำนาญ กล่าว
 
ชำนาญ ยืนยันว่าจะไม่ฟ้องร้อง พร้อมกล่าวว่า ท่านที่พูดจาพูดเท็จ หรือในเชิงหมิ่นประมาท ท่านรู้อยู่แก่ไจว่าท่านพูดอะไรออกมา ศาลอยากแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ไปใช้กฎหมายกับประชาชน อยู่ร่วมกันได้ บรรดาเครือข่ายทั้งหลายอย่าโกรธแค้นอะไรเลย มาพูดกันดีๆ และเรายินดีพูดคุยกับบรรดาแกนนำทั้งหมด ไม่ใช่เวทีสาธารณะนะ ถ้าท่านไม่เชื่อศาลแล้วท่านจะไปเชื่อใคร
 
ชำนาญ กล่าวต่อว่า ศาลไม่เคยนัดกับใครไปเจรจาในค่ายทหาร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เคยนัดไปคุยในค่ายทหาร สิ่งสำคัญคือหน้าที่ของเราคือตัดสินอย่างยุติธรรม เที่ยงธรรม ศรัทธาของประชาชนน่าจะอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องบ้านพักเรื่องเล็กน้อยมาก อย่าเอามาเป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธาศาลยุติธรรมเลย เพราะผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย หากเสื่อมศรัทธาต่อผู้พิพากษา จะอันตราย ในฐานะผู้พิพากษา หน้าที่คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อย่าเอาบ้านพักแค่เนื้อที่ 89 ไร่ มาโจมตีว่าทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อศาล มันคนละเรื่องกัน
 

ค้านบ้านพัก ใกล้งานทำบุญปลูกต้นไม้ ‘ 136 ปี ศาลยุติธรรม’

มีรายงานข่าวด้วยว่า ช่วงที่มีการปลูกต้นไม้ด้านใน บริเวณด้านหน้าได้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว 2 คน นำโดย กฤตย์ เยี่ยมเมธากร นำป้ายไวนิลมาถือเพื่อประท้วงการก่อสร้างบ้านพักศาล
 
กฤตย์ เปิดเผยว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จะทำต่อเนื่องควบคู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มใหญ่คือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งในวันนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ หลังจากที่วานนี้ได้ คณะกรรมการร่วมประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่,ชลประทานเชียงใหม่,ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่,อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย,ป่าไม้ และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ ทำรายงานสรุปผลการสำรวจและกำหนดแนวเขตให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดพิจารณาตัดสินใจกรณีปัญหานี้ในวันที่ 29 เม.ย.61

จ่อฟ้องศาลปกครอง

ขณะที่ ชัชวาล ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนา เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า คงเป็นกิจกรรมของศาลในการสร้างภาพพจน์ที่ดี แต่ฤดูกาลนี้ปกติเขาจะไม่ปลูกต้นไม้กัน เพราะอากาศร้อน และแล้ง ต้องใช้น้ำมากในการดูแล และโอกาสรอดน้อย เพราะปกติเขาจะปลูกกันในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ก็ไม่อยากมองว่าเป็นการสร้างภาพ ถือว่าเป็นเรื่องดีๆ ก็แล้วกัน แต่สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ถูกเรียกว่าหมู่บ้านป่าแหว่ง เป็นการก่อสร้างที่ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะดำเนินการนั้น เป็นสิ่งที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าขบคิดกันมาตลอด เพราะจริงๆ แล้วควรทำประชาพิจารณ์ และตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราพยายามส่งสัญญานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ศาลออกมาอ้างว่าทำทุกอย่างถูกกฎหมายทุกประการ
 
"เราคงต้องมาดูข้อเท็จจริงกัน เพราะเริ่มมีคณะ และกลุ่ม กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากหลังวันที่ 29 เมษายน ไม่มีความชัดเจน ชาวเชียงใหม่จะเริ่มเคลื่อนไหวใหญ่ พร้อมเดินหน้ากระบวนการฟ้องศาลปกครองคู่กันไป เพราะปมของการก่อสร้างบ้านพักตุลาการมีหลายประเด็นที่ต้องรวบรวม รวมทั้ง การตัดต้นไม้หวงห้าม โดยเฉพาะไม้สักที่เห็นจากภาพถ่ายหลายมุม หากเรื่องเดินหน้าถึงขั้นฟ้องศาลปกครอง ก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงทุกเรื่อง ซึ่งทีมทนายจะทำหน้าที่นั้นอย่างเข็มแข็ง" ชัชวาล กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และเฟสบุ๊ค 'Kowit Boondham'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท