Skip to main content
sharethis
เปิดแนวคิดแยกรัฐจากศาสนา ให้รัฐยกเลิกการอุปถัมภ์ทุกศาสนาของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และวิสัยทัศน์เพื่อนในพรรคอนาคตใหม่ที่กล้าพูดว่า ข้อเสนอของหะยีสุหลงนั้น “น่าจะเป็นไปได้” ในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  
 
เป็นที่จับตามองอย่างมากสำหรับพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ในชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่มีแกนนำพรรคอย่าง “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์นิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งไปจดแจ้งพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ (15 มี.ค. 61) และชูคำขวัญ "ก้าวพ้นทศวรรษที่สูญหาย สร้างประเทศไทยที่มีอนาคต” โดยพรรคอนาคตใหม่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้งในวัย 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ (อ่านต่อที่นี่)
 
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ การที่พรรคอนาคตใหม่ชูนโยบายกระจายอำนาจและพหุวัฒนธรรม นโยบายกระจายอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาทุกยุคทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ประชาไทจึงทำรายงานชิ้นนี้เพื่อมาดูว่า นโยบายกระจายอำนาจของพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือไม่ และที่น่าจับตามองไปกว่านั้นคือ ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ จะชูนโยบายเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และจะกล้าไปไกลแค่ไหน 
 

เปิดแนวคิด ธนาธร แยกรัฐจากศาสนา 

 
โดยธนาธรเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 เกี่ยวกับมุมมองด้านรัฐกับศาสนา และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจ อาจสรุปได้ว่า เขามีความคิดเรื่องแยกรัฐออกจากศาสนา หรือที่เรียกว่า รัฐโลกวิสัย (secular state) เขากล่าวว่า รัฐไทยไม่ควรอุปถัมภ์ความเชื่อหรือศาสนาใดๆ และการที่รัฐไทยอุปถัมภ์พุทธศาสนาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างยากขึ้น  
 
ประชาไทคัดลอกคำสัมภาษณ์ของธนาธรกับนิตยสาร GM ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาและปัญหาสามจังหวัดมาดังข้างล่างนี้:
 
“ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาย คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด 
 
“เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้ลงสมัครผู้ว่า 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกคนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือคริสต์ สิ่งที่น่าตลกมากก็คือ ผู้สมัครที่นับถือศาสนาคริสต์เคยเป็นผู้ว่ามาก่อนและมีผลงาน ประชาชนชอบผลงาน แต่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรมุสลิมหนาแน่น แล้วมีป้ายหนึ่งในมัสยิดของพวกหัวรุนแรงเขียนว่า ‘การเลือกผู้ว่าที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามถือว่าผิดหลักศาสนา’ นี่คือการเอาเรื่องรัฐกับเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งผมเห็นว่าไม่ควร”
 
ความเห็นของธนาธรดังกล่าวถูกวิจารณ์จากชาวพุทธบางส่วนแล้วว่า เป็นการไม่คำนึงถึงรากฐานของสังคมไทย ซึ่งผูกพันกับศาสนาพุทธ ซึ่งการที่รัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศาสนาจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนและผู้ปกครองประเทศมีศีลธรรมตามหลักศาสนาพุทธ
 

ข้อเสนอของ ‘หะยีสุหลง’ น่าเป็นไปได้, ชูนโยบายนำภาษีกลับพัฒนาท้องถิ่น

 
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แกนนำพรรคคนสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งอยู่เบื้องหลังในการประสานงานและชักชวนคนรุ่นใหม่มาเข้าร่วมพรรค ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ข้อเสนอเจ็ดข้อของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือ หะยีสุหลง หลายข้อนั้นดูเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ “ข้อเสนอของหะยีสุหลงในเรื่องการกระจายอำนาจก็น่าจะเป็นไปได้แทบทุกข้อเลย และก็น่าจะนำหลักการกระจายอำนาจเดียวกันนี้ไปใช้จังหวัดอื่นๆ ด้วย แต่สำหรับสามจังหวัดนั้นมีบริบทเฉพาะบางอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องดูลงรายละเอียดกันไป”
 
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
 
อนึ่ง หะยีสุหลงได้ยื่นข้อเสนอเจ็ดข้อต่อรัฐบาลไทยในปี 2490 ซึ่งประกอบด้วย 1. สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยผู้นำที่เป็นคนจากพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่, 2. ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 เปอร์เซนต์ต้องเป็นมุสลิม, 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ, 4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา, 5.ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด, 6.ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น, 7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวทำให้เขาถูกจับตามองโดยรัฐไทย และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย ต่อมาเขาถูกบังคับสูญหายเมื่อเกือบ 64 ปีก่อน
 
เปรมปพัทธกล่าวว่า ข้อเสนอที่ของหะยีสุหลงที่เขาสนใจคือ ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ ข้อ 1-4 ซึ่งเขาเห็นว่า ควรนำสี่ข้อนี้มาศึกษาและถกเถียงต่อ เพื่อปรับให้เข้ากับบริบทสังคมในปัจจุบัน
 
เขากล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และต้องการจะกระจายอำนาจไปมากกว่าในรูปแบบที่มีอยู่แล้วอย่าง อบจ. อบต. แต่หยั่งรากไปถึงระบบภาษีที่จัดเก็บจากแต่ละจังหวัด เขากล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ ภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างจังหวัด ถูกใช้ในจังหวัดไม่ถึง 35 เปอร์เซนต์ของภาษีที่จัดเก็บได้ เขามองว่า ภาษีที่ถูกจัดเก็บได้ในแต่ละจังหวัดควรถูกใช้ในจังหวัดนั้นๆ ถึง 70 เปอร์เซนต์ “อย่างจังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมเยอะมาก และสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก แต่ได้ภาษีกลับไปพัฒนาจังหวัดเพียงไม่เท่าไร แถมได้มลภาวะต่างๆ เป็นของแถมอีกต่างหาก” 
 
แกนนำพรรควัย 24 ปีกล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ พรรคอนาคตใหม่มีแผนจะลงไปพบปะกับนักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคมในปาตานี เพื่อจัดทำนโยบายการกระจายอำนาจและนโยบายด้านพหุวัฒนธรรมของ “ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้” อันได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  
 
เมื่อถามว่า นโยบายของพรรคอนาคตใหม่ต่อการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถไปได้ไกลแค่ไหน เขาตอบว่า "อะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน” 
 

เน้นกระจายอำนาจและ พหุวัฒนธรรม 

 
ประชาไทตรวจสอบรายชื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค พบว่า สองใน 27 สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เป็นมุสลิม ซึ่งได้แก่ อลิสา บินดุส๊ะ ชาวจังหวัดสงขลา ทำกิจกรรมกับกลุ่ม Beach for life ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องชายฝั่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นสมาชิกทีมฟุตบอลบูคูอีกด้วย และ ฟาริด ดามาเราะ ชาวจังหวัดยะลา นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.)
 
อลิสา บินดุส๊ะ และ ฟาริด ดามาเราะ
 
ฟาริด กล่าวกับประชาไทว่า เขาเชื่อว่า การเข้ามาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ของเขาจะเป็นการช่วยส่งเสียงถึงความต้องการของประชาชนชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมมุสลิมโดยรวมอีกด้วย เขาเชื่อว่า สังคมไทยที่เป็นประชาธิปไตยและเข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมจะช่วยลดกระแสความหวาดกลัวอิสลามได้ (Islamophobia) 
 
เปรมปพัทธกล่าวว่า นอกจาการกระจายอำนาจผ่านระบบภาษีแล้ว ทางพรรคมีวิสัยทัศน์ว่า ควรกระจาย “อำนาจทางวัฒนธรรม” อีกด้วย เช่น “มันควรเป็นไปได้ที่ภาษามลายูจะถูกใช้เป็นภาษาราชการ” เขากล่าว และให้คำนิยามกับพหุวัฒนธรรมว่า “พหุวัฒนธรรมเหมือนประตูสองทาง ที่เมื่อเปิดให้เขาเข้ามาเข้าใจเราแล้ว เราก็ควรจะเปิดออกไปเข้าใจเขาด้วย” เขาวิจารณ์ว่า นโยบายทางวัฒนธรรมของราชการไทยมักเป็นไปแบบเอกวัฒนธรรม ซึ่งคือการโปรโมทวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก และมีลักษณะที่มองวัฒนธรรมเป็นของเก่าและตายตัว ที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันและไม่สะท้อนถึงสังคมไทยที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายและลื่นไหล 
 
หมายเหตุ: มีการแก้ไขรายงานข่าวในส่วนที่เปรมปพัทธพูดถึงหะยีสุหลงและการแก้ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 61 เวลา 21.45 เพราะเปรมปพัทธขอให้ปรับแก้ให้คำพูดของเขารัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนกับจุดยืนของพรรคในด้านสิทธิมนุษยชน  รวมทั้งเมื่อเวลา 1.25 น. ของวันที่ 17 มี.ค.61 กองบรรณาธิการดำเนินการปรับปรุงพาดหัวข่าว โดยเมื่อเวลา  0.13 น. ธนาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ ต่อประเด็นศาสนาของตนเอง ระบุว่ายังไม่ใช่นโยบายพรรค และพูดไว้นานแล้ว พร้อมเผยด้วยว่าทันทีที่กฏหมายเปิดโอกาส จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และรับฟังความเห็นในการจัดการความขัดแย้ง (อ่านรายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net