‘เดินมิตรภาพ’ พูดอะไรกัน: หลักประกันสุขภาพ รัฐสวัสดิการที่เสี่ยงถูกลดเกรด

ชวนดูที่มา รูปแบบ ข้อมูลเชิงสถิติของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หนึ่งในประเด็นที่กลุ่ม We Walk เดินมิตรภาพรณรงค์ว่าด้วยการรณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการ และภัยคุกคามในเชิงโครงสร้างจากการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเรื่องร่วมจ่าย เรื่องบทบาทของราชการที่ตัวใหญ่ขึ้น กับภาคประชาชนที่ตัวเล็กลง

หนึ่งในประเด็นการรณรงค์ที่เครือข่ายประชาชน People Go Network ซึ่งจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ รณรงค์ระหว่างการเดินเท้าจาก จ.ปทุมธานี ไปยัง จ.ขอนแก่น ก็คือเรื่องรัฐสวัสดิการ และหนึ่งในประเด็นใหญ่ในเรื่องรัฐสวัสดิการก็คือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ภายใต้รัฐบาล คสช. กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายสถานภาพแห่งการเป็นรัฐสวัสดิการ และกลายสภาพไปเป็น ‘รัฐสงเคราะห์’

ในวันที่การเดินมิตรภาพถึงจุดหมายปลายทางที่ จ.ขอนแก่นแล้ว ประชาไทชวนดูที่มา ข้อมูลเชิงสถิติ ประเด็นการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพที่จะเป็นการบ่อนทำลายรัฐสวัสดิการอันเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศและพยุงคนไทยไม่ให้ล้มละลายจากอาการเจ็บป่วย และประเด็นที่เครือข่ายได้ผลักดันระหว่างการเดินเท้าทางไกล

‘We Walk’ และเสียงตะโกนจากรอยเท้า ‘เดินไปทำไม?’

5 มุม 5 เรื่องเล่าระหว่าง ‘เดินมิตรภาพ’

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืออะไร มาจากไหน

เอกสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า คนไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล แบ่งเป็น 3 ระบบใหญ่ ได้แก่

หนึ่ง สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัว มีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดูแลระบบและออกกฎระเบียบ

สอง สิทธิประกันสังคม คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนตามสิทธิให้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียน ส่วนนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ดูแลระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

สาม สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียก ‘บัตรทอง’ คุ้มครองบุคคลที่เป็นคนไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการสองประการข้างต้น  หรือสวัสดิการรัฐวิสาหกิจหรือสิทธิอื่นๆ จากรัฐ ให้ได้รับบริการสาธารณสุขทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง หลักประกันนี้คุ้มครองประชาชนตั้งแต่แรกเกิด และสิ้นสุดสิทธิเมื่อได้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นทดแทน เช่น สิทธิสองประการที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับการบริการสาธารณสุขได้ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่เป้นคู่สัญญา โดยมี สปสช. ดูแล ในกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤติ

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ได้รับการรู้จักครั้งแรกในชื่อ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นชื่อเรียกที่ผูกโยงกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะนโยบายที่พรรคชูขึ้นมาในการเลือกตั้งที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลสมัยแรก และผลแห่งนโยบายทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในวาระที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลาย

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลไทยรักไทย เล่าที่มาของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า เมื่อปี 2541 เมื่อพรรคไทยรักไทยก่อตั้ง ทักษิณต้องการสร้างพรรคการเมืองที่แข่งขันด้วยนโยบายที่เป็นรูปธรรม เวลานั้น สุรพงษ์รับผิดชอบด้านการทำนโยบายด้านสาธารณสุข และมีความต้องการที่จะปฏิรูปนโยบายสาธารณสุขไทยสมัยนั้นที่เน้นการแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป จึงได้พูดคุยกับสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ที่ทำเรื่องยุทธศาสตร์สาธารณสุขมานาน และเป็นคนเดียวกันกับที่เสนอเรื่องแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับพรรคการเมืองหลายพรรคมาแล้ว การพูดคุยดังกล่าวนำไปสู่การพบกันของสงวนและทักษิณ เรื่อยมาจนออกมาเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคบนฐานแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งระหว่างทาง ภาคประชาชน เอ็นจีโอ รวมถึงสงวน ต่างมีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิด ร่างกฎหมาย ล่ารายชื่อถึง 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2540

เมื่อเทียบจำนวนผู้ใช้บริการ งบประมาณต่อหัว และจำนวนงบประมาณ ระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับงบรักษาพยาบาลข้าราชการ พบว่ามีความแตกต่าง ดังนี้

ประเภทสวัสดิการ

งบประมาณ (ล้านบาท)

จำนวนผู้ใช้สิทธิ (ล้านคน)

งบประมาณต่อคน (บาท)

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

126,533.13

48.8

2592.89

กองทุนประกันสังคม

48,544

14.47

3,354.80

งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว

63,000

4.97

12,676.06

ที่มา:
  • พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561
  • รายงานผลสถานะกองทุนประกันสังคมประจำเดือน ก.ย. 2560

สาระ+ภาพ: เทียบงบรักษาสุขภาพประเทศไทย 3 ระบบ | บัตรทอง-สิทธิข้าราชการ-ประกันสังคม

เรื่องที่มาของงบประมาณ กองทุนหลักประกันฯ ใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน 100% ควบคู่กับระบบร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทมาตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 แต่มีช่วงที่ยกเลิกระบบร่วมจ่ายและให้รักษาฟรีช่วงสั้นๆ คือปี 2549-2555 ก่อนกลับมาใช้ระบบร่วมจ่าย 30 บาทจนถึงปัจจุบัน

งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ได้รับงบประมาณ 63,000 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในงบกลางตามมาตรา 49 "ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ และครอบครัว" มีผู้มีสิทธิประมาณ 4.97 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 12,676.06 บาทต่อคน

กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มาตั้งแต่ปี 2534 โดยในเดือน ก.ย. 2560 เงินกองทุนสะสมกองทุนประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 1,809,225 ล้านบาท ประกันสังคมถือเป็นสวัสดิการทางสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคี รัฐบาลอุดหนุน 33.33% ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบโดยผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน และจะสิ้นสุดสิทธิประกันสังคมเมื่อขาดส่งเงินสมทบมากกว่า 3 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม

หวั่น ‘ความเป็นรัฐสวัสดิการ’ ถูกลดกลายเป็น ‘รัฐสงเคราะห์’

ข่าวคราวของความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ในยุค คสช. สร้างความกังวลให้กับประชาชนที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้รัฐบาลจะพร่ำบอกออกสื่อว่า หลักประกันสุขภาพจะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่กฎหมายที่แก้ไขจะทำให้โครงสร้างของหลักประกันสุขภาพเปลี่ยนรูปจากรัฐสวัสดิการไปเป็นรัฐสงเคราะห์

ข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพของเครือข่ายฯ คือความพยายามจะลดการคุ้มครองด้านหลักประกันสุขภาพ จากถ้วนหน้าให้เหลือแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือการลดรูปลงไปให้เหลือเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน รวมถึงการไม่ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิคนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ เช่น คนไร้บ้าน การร่วมจ่ายที่เป็นที่กังวลว่าจะส่งผลกับการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล สัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ที่จะเพิ่มสัดส่วนให้กับฝ่ายราชการและบริษัทยา ทำให้เสียงจากภาคประชาชนในบอร์ด สปสช. มีสัดส่วนน้อยลง

จอน อึ๊งภากรณ์ จากโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในงานเสวนาเปิดตัวการรณรงค์ We Walk เดินมิตรภาพ ว่า หลักประกันสุขภาพให้บทเรียนสำคัญสองประการ หนึ่ง ระบบหลักประกันฯ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ  ไม่ใช่ระบบที่ฝ่ายภาครัฐเป็นผู้ให้ และประชาชนเป็นผู้รับ สอง ระบบหลักประกันฯ เป็นสวัสดิการที่ให้แก่ทุกคนตามความจำเป็นและเท่าเทียมกัน ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายอยู่แล้วผ่านภาษี เป็นระบบที่มีขึ้นเพื่อสู้กับระบบสงเคราะห์ผู้อนาถา แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่เข้าใจ และมองว่าระบบหลักประกันฯ ใช้งบประมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีเงินไปซื้ออาวุธ

“การต่อสู้เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน” จอนกล่าว

สุภัทรา นาคะผิว ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 คือการหลอมรวมกองทุนสุขภาพทั้งสามกองทุนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในระบบ และเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องงบประมาณไม่พอนั้นมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้อย่างไม่เพียงพอ

ในวันที่ 27 ม.ค. 2561 เวทีเดินมิตรภาพจัดวงเสวนาเรื่องรัฐสวัสดิการ มีนา ดวงราษี กลุ่มคนรักประกันสุขภาพจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จากงานวิจัยศึกษาพบว่า ถ้าไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพจะมีคนล้มละลายไปกว่าแสนครอบครัว มีสองสามประเด็นที่ทำให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพมีความเป็นรัฐสวัสดิการ เริ่มจากกฎหมายฉบับนี้สร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด ผ่านการคุยจากหลายแวดวง ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการผลิตงานวิชาการมารองรับ และการเคลื่อนไหวทางสังคม พอมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายจึงทำให้เกิดมาตราที่ว่า “รัฐต้องจัดสรรสวัสดิการการดูแลหลักประกันสุขภาพทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย”

ข้อกังวลเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบหลักประกันสุขภาพถูกพูดถึงมาก่อนที่จะมีการเดินทางไกลของขบวน We Walk เสียอีก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเป็นกลุ่มที่ดูมีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มากที่สุด

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … ตั้งแต่สัดส่วนภาคประชาชนในคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้แทนภาคประชาชนเพียงสองคน จากทั้งหมด 27 คน และข้อกฎหมายหลายประการที่ภาคประชาชนเสนอว่าควรให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การเพิ่มประเภทสถานบริการที่มาจากองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร

ในส่วนที่เป็นที่พูดถึงบ่อยครั้งคือเรื่องการขยายขอบเขตของผู้ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้ขยายไปถึงคนไทยในสถานภาพต่างๆ ได้แก่ คนไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิคนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ เพื่อให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และขอให้ตัดเรื่องการร่วมจ่าย ณ จุดบริการออกไป เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติจากฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานะของบุคคล รวมถึงแก้ปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงการบริการ

อีกหนึ่งข้อกังวลก็คือการเพิ่มบทบาทของส่วนผู้ให้บริการ หรือกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการแก้ไขให้เพิ่มจำนวนกรรมการหลักประกันสุขภาพจาก 30 เป็น 32 คน โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็คือสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการ ก็คือทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อยา

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินมิตรภาพ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘แก้ กม.บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?’ เมื่อ 6 ก.ค. 2560 ว่า หลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการแยกผู้ซื้อกับผู้ให้บริการออกจากกัน, เป็นระบบบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สำหรับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการให้ดียิ่งขึ้น แต่การแก้ไขกฎหมายรอบนี้กำลังจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียอะไรบ้าง เขาแจกแจงออกมาดังนี้

หนึ่ง-อาจมีการปรับเพิ่มจำนวนเงินร่วมจ่ายต่อครั้งที่ไปรักษาพยาบาล เพราะไม่ตัดคำนี้ออกจากมาตรา 5 วงเล็บ 2

สอง-ชนชั้นกลางในระบบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่จะต้องร่วมจ่าย เพราะถูกตีความว่าไม่ใช่คนจน อย่างไรก็ตาม นิมิตร์ย้ำว่าระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ระบบของคนจน แต่เป็นสิทธิประโยชน์ของทุกคนที่จะได้รับบริการจากรัฐ และถ้ามีการแก้สัดส่วนกรรมการได้ ชนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มแรกที่เสี่ยง

สาม- เมื่อไหร่ที่ผู้ได้รับสิทธิประกันสังคมออกจากงาน ถ้าหางานไม่ได้ใน 6 เดือนหรือเมื่ออายุครบ 55 ปี จะถูกโยกมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้ากฎหมายถูกแก้ตอนนี้ อนาคตคนกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

สี่-โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บเงินหรือร่วมจ่าย แต่รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เหตุนี้จึงควรแก้กฎหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกลไกต่อรองราคายา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้แก้กฎหมายไม่สนใจ

ห้า-ประชาชนจะเสียสิทธิการมีส่วนร่วมบริหารจัดการการส่งเสริมและป้องกันโรค เพราะกฎหมายจะแก้ว่าถ้าประชาชนต้องการทำงานส่งเสริมและป้องกันต้องติดต่อให้โรงพยาบาลเป็นผู้เขียนโครงการให้

หก-ประชาชนจะเสียสิทธิในการเสนอ ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เพราะสัดส่วนกรรมการจะหายไป

เจ็ด-ประชาชนอาจเสียโอกาสในการได้รับยาต่อเนื่องกรณีโรคเรื้อรัง หรือเสียโอกาสในการซื้อยาในราคาที่เป็นธรรม และอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนยาในบางช่วง

แปด-ในอนาคตอาจเสี่ยงกับการมีผู้ให้บริการไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย เพราะถ้ามีการแยกเงินเดือนจากค่าเหมาจ่ายรายหัว จะทำให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่สัมพันธ์กับจำนวนประชากร ในพื้นที่ที่มีประชากรมาก แต่ห่างไกล แพทย์อาจไม่ต้องการไปอยู่ เงินเหมาจ่ายรายหัวที่รวมเงินเดือนนี้ก็ยังสามารถนำไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้ หากแยกออกจากกันอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ และเกิดการกระจุกตัวของแพทย์ในเขตเมือง

เก้า-ประชาชนต้องรีบป่วยตั้งแต่ต้นปี เพราะปลายปีเงินอาจหมด เนื่องจากในกฎหมายใช้คำว่า ให้คิดค่าใช้จ่ายที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาปัจจุบัน ตอนนี้หลักประกันสุขภาพจ่ายราคาตามรายโรคร่วม ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกคิดไว้แบบถัวเฉลี่ยทั้งปี การแก้ว่าต้องสะท้อนต้นทุน ณ ปัจจุบัน หากต้นทุนเพิ่ม ผู้ป่วยก็ต้องร่วมจ่าย ประเด็นนี้เป็นการแก้โดยไม่บอกประชาชน

นิมิตร์ เสนอว่า หากจะแก้กฎหมายหลักประกันจะต้องตัดเรื่องร่วมจ่ายออกจากกฎหมาย รวมทั้งต้องรวมระบบสวัสดิการสุขภาพเข้าเป็นระบบเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ไม่ทำ เพราะตอนนี้รัฐไทยเป็นรัฐราชการ ข้าราชการเป็นใหญ่จึงทำให้แก้ยาก

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงทิศทางที่หลักประกันสุขภาพควรจะเป็นว่า “งบประมาณสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะคนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เมื่อพูดถึงตามสัดส่วนจีดีพี สวัสดิการสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นและควรถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก แต่ที่เราเห็นคือให้ความสำคัญน้อยลง เพดานการอุดหนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเพิ่มขึ้นๆ แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อจะเห็นว่าอัตราการเพิ่มน้อยมาก ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ต่ำกว่าเงินค่าครองชีพในมิติอื่นๆ ถ้าเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นๆ จะเห็นแนวโน้มอัตราการเพิ่มน้อยกว่า และมีความพยายามดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัด”  

“ถ้าตัดงบกลาโหมออกครึ่งหนึ่งจะสามารถจ้างหมอเพิ่มด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงได้แทบจะทันที เราไม่ต้องเห็นภาพหมอเข้าเวรจนตาย จนเจ็บป่วย การที่หมอทำงาน 8 ชั่วโมง ดูแลคนไข้อย่างดีและเต็มที่ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบันมันทำไม่ได้ มันกลายเป็นหมอต้องมาอุทิศตน เพราะผลประโยชน์จริงๆ ที่หมอต้องการคือค่าแรงที่เหมาะสม เชื่อว่าถ้าได้แปดหมื่นจริงๆ หมอก็คงไม่ต้องการไปนั่งคลินิก หมอมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการกระจายตัวของแพทย์ก็จะดีขึ้นด้วย”

“ผมเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งพูดถึงระบบสวัสดิการที่แบ่งระบบฐานคิดเป็น หนึ่ง-สวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน คือคุณต้องเป็นคนเก่งคนดีคุณถึงจะได้ เป็นฐานความคิดของข้าราชการ สอง-ฐานความคิดแบบเพดานต่ำคือ ประกันสังคม คุณเป็นคนจนคุณก็จะได้แบบจนๆ และสาม-สังคมสงเคราะห์ ถ้าคุณจนมากๆ คุณก็พิสูจน์ความจนไป นี่คือสามขาหลักที่ทำลายสวัสดิการไม่ให้ก้าวหน้า” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ในวันที่ประชาชนเดินรณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการได้รับการอำนวยความสะดวกน้อยกว่าการวิ่งจากใต้ขึ้นเหนือของนักร้องดัง และภายใต้รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าสวัสดิภาพของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอันจะมาจากการส่งเสียงของภาคประชาชนยังคงเป็นคำถาม ประชาไทจึงชวนติดตามปลายทางของการเดินทางไกลของภาคประชาชนครั้งนี้ว่าจะจบลงในแบบไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท