Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ที่คุณดี้ นิติพงษ์ ออกมาตั้งคำถามกับประชาธิปไตย 9 ข้อ และสรุปว่าชื่นชมระบอบไทยนิยมของ คสช.มากกว่า ผมจะตอบรวมๆ ละกันครับ

1. ประเด็นว่าการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใช้ความสัมพันธ์ทางการเมืองหาประโยชน์ได้ง่ายหรือไม่?

ในขณะที่มัวแต่กลัวทุนการเมือง แต่ระบอบไทยนิยมตอนนี้เปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดอย่างมากในนามของความร่วมมือ "ประชารัฐ"

ลองคิดดูว่าถ้ารัฐบาลเลือกตั้งลดภาษีให้แค่บางบริษัท แต่เก็บภาษีบริษัทอื่นในอัตราปกติ โดยบริษัทที่ได้ลดภาษีนั้นไม่ได้ผลิตสินค้าอะไรใหม่เป็นพิเศษ คนจะสงสัยในความยุติธรรมไหม? แต่ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ลองอ่านได้จากข่าว https://voicetv.co.th/read/HJP7yLCbG

ถามว่าระบบรวบอำนาจที่อื่นเป็นอย่างนี้ไหม? ก็เป็นเช่นกัน ยกตัวอย่างกลุ่มแชโบลในเกาหลีใต้ซึ่งเติบโตขึ้นมาในยุคเผด็จการทหารปาร์คจองฮีเป็นต้น

ในขณะที่ในยุคประชาธิปไตย ความพยายามอาจมี แต่การตรวจสอบเป็นไปได้ง่ายกว่า เพราะเคารพสิทธิ์ในการแสดงออก และโอกาสเกิดขึ้นยากกว่า เพราะประชาชนถ้าไม่พอใจมีสิทธิ์ไม่เลือกใหม่ในรอบหน้า และบางครั้งที่พูดๆกันว่านายทุนได้ประโยชน์มากในช่วงรัฐบาลเลือกตั้งก็เกินจริงตัวอย่างเช่นบริษัทชินคอร์ป ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มูลค่าหุ้นก็เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นด้วยซ้ำ

2. ประเด็นที่ว่าถ้าเลือกตั้งแล้ว ต้องเลือกระหว่าง สส.ที่ทำตามมติพรรค หรือ สส.อิสระที่อาจ "ขายเสียง"

ถ้ากลัวเรื่องต่างตอบแทน แล้วไม่กลัวหรือว่าตัวแทนที่มาจากการแต่งตั้งจะไม่ตอบแทนผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา?

ในขณะที่ถ้ามีการเลือกตั้ง ถ้าอยากได้แบบกลางๆ ไม่ตามมตติพรรคเกินไป หรือไม่อิสระเกินไป ก็เลือกหรือตั้งพรรคที่มีนโยบายการโวตของ สส.ตรงใจได้

ในขณะที่ถ้าแต่งตั้งมา เราไม่มีสิทธิ์เลือกเลย ต้องแล้วแต่ความต้องการของผู้แต่งตั้งทั้งหมด

3. ประเด็นที่กลัวว่าถ้าตั้งพรรคเพื่อขับเคลื่อนไอเดียเอง ถ้าไม่มีเงินทุนมหาศาล ก็จะไม่มีสิทธิ์ชนะเลือกตั้งเลย

ถ้าอยู่ในระบบรวบอำนาจ หากผู้มีอำนาจไม่เอาด้วย ไอเดียของคุณไม่มีทางได้นำไปใช้แน่นอน ยกเว้นล้างผู้มีอำนาจชุดเก่าออกไปด้วยความรุนแรงแล้วตั้งผู้มีอำนาจชุดใหม่ซึ่งเห็นด้วยกับคุณ ซึ่งนั่นย่อมสร้างความเสียหายมหาศาลกับทุกฝ่าย

ตรงข้าม ถ้าเป็นระบอบที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างประชาธิปไตย แม้วันนี้ไอเดียคุณอาจไม่เป็นที่ยอมรับ แต่หากไอเดียสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและนำเสนอออกไป ในอนาคตไอเดียนั้นอาจกลายเป็นกระแสหลักของสังคมและถูกนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องเผชิญความรุนแรงระหว่างไอเดียเก่าและใหม่

อีกอย่างการขยายไอเดียทางการเมือง ไม่ได้ต้องใช้เงินเสมอไป และคนที่มีเงินมากก็ไม่ใช่ว่าจะชนะเสมอไป ถ้าคนฟังคุณแล้วเห็นด้วย เขาจะช่วยคุณบอกต่อเอง วันนี้คุณอาจมีเงินในกระเป๋าแค่ 250 บาท แต่ถ้าคุณบอกต่อดีๆ คนที่มีเงินในกระเป๋า 1 ล้านสิบคนจะมาช่วยคุณสู้กับคนที่มีเงินในกระเป๋าพันล้าน ไม่เช่นนั้น การปฏิวัติโค่นล้มผู้มีอำนาจในที่ต่างๆทั่วโลกโดยฝ่ายที่เสียเปรียบคงไม่มีโอกาสชนะเลย

มันอยู่ที่ว่า คุณมี "กึ๋น" พอที่จะทำหรือไม่ต่างหาก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค สลักธรรม โตจิราการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net