MBK39 เข้ารับทราบข้อกล่าวหา บก.ลายจุดข้องใจข้อหา 116 มาได้ไงทั้งที่ไม่ได้ปราศรัย

MBK 39 เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนติวิทย์เผยพร้อมร่วมชะตากรรมกับทุกคน เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพของคนไทย บก.ลายจุดข้องใจทำไมโดนข้อหา 116 ทั้งที่ไม่ได้ปราศรัย ด้านเครือข่ายนักวิชาการพร้อมใช้ตำแหน่งข้าราชการช่วยประกันตัว

8 ก.พ. 2561 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน กลุ่มประชาชนผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีการร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่สกายวอล์ก ปทุมวัน จำนวน 34 คน จากทั้งหมด 39 คน ได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มารายงานตัวตามหมายเรียกได้แก่ รังสิมันต์ โรม สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อานนท์ นำภา และเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งได้ประสานขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา ส่วนอีกหนึ่งคนคือ นพเกล้า คงสุวรรณ สื่อมวลชนสังกัด 'ข่าวสด' ซึ่งได้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้าแล้ว

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในส่วนของตนเองถูกตั้ง 3 ข้อกล่าวหาคือ ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยกรณีนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะรัฐศาสตร์ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อประสานความช่วยเหลือ และวันนี้อาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์จะใช้ตำแหน่งข้าราชการแทนหลักทรัพย์ในการประกันตัว

เนติวิทย์ กล่าวต่อว่า ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรตนเองจึงถูกตั้งข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เนื่องจากกิจกรรมในวันดังกล่าวตนไม่ได้เป็นแกนนำ เป็นเพียงผู้ที่ไปร่วมแสดงจุดยืน และเพียงแค่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ทั้งยังยืนยันด้วยว่าสิทธิในการชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์หรือสนับสนุนรัฐบาล เป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนควรมี และตนเองพร้อมที่จะร่วมชะตากรรมกับผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาทุกคนเพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน


เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 


สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เปิดเผยว่า ในกรณีของตนนั้นเพิ่งจะถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในตอนหลังพร้อมกับ วีระ สมความคิด ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาจากมูลเหตุใด เพราะในวันนั้นไม่ได้มีการปราศรัยแต่อย่างใด และวันนี้ก็ต้องการที่จะดูหลักฐานที่ พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ระบุว่ามีการปราศรัย

สมบัติ เห็นว่า การพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการจัดกิจกรรมที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ส่วนตนเองไม่มีความกังวลใดๆ เนื่องจากที่ทราบมาการนัดรวมตัวในวันที่ 10 ก.พ. ไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย อาจจะเป็นเพียงแค่การออกไปแสดงจุดยืนร่วมกันของประชาชนเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

สมบัติระบุด้วยว่า ได้ยืมเงินเพื่อนมาเพื่อขอประกันตัว เนื่องจากตนเองยังถูกอายัดบัญชีธนาคารอยู่จากกรณีการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. แม้ว่าคดีของตนเองศาลฎีกาได้ลงโทษจำคุก 2 ปี รอลงอาญา 1 ปี และปรับ 3,000 บาท ซึ่งถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ คสช. ยังคงอายัดบัญชีธนาคารอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โดยเบญจารัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า คนส.และนักวิชาการจำนวนกว่า 60 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย พร้อมจะใช้ตำแหน่งนักวิชาการเป็นนายประกันยื่นประกันตัวประชาชนที่ถูกดำเนินคดี เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องถูกจองจำเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมอย่างสงบ และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในความเป็นไปของบ้านเมือง ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไทยทุกคน (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

ล่าสุด เวลาประมาณ 12.30 น. พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อ หน้า สน.ปทุมวัน ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันในชั้นตำรวจนั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความมั่นใจว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาจะมาตามนัด 

"ถ้าเราให้ไปในชั้นสอบสวนแล้วครั้งหน้า ใครจะยืนยันได้ว่าเขามา มันไม่ใช่เรื่องที่พนักงานสอบสวนต้องรับผิดชอบ เราปล่อยชั่วคราวไปโดยไม่มีหลักประกันแล้วครั้งหน้าเขาไม่มาใครจะรับผิดชอบ"
 
โดยวันนี้ จะมีการนำผู้ต้องหาไปขอผัดฟ้องต่อศาล  "ตร.สงวนสิทธิการใช้อำนาจตัวเองให้ศาลใช้ดุลพินิจ" พลตำรวจเอก ศรีวราห์ ระบุ


ณัฏฐา มหัทธนา หลังการถูกสอบปากคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ (13.00 น.) พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหาตามหมายเรียกบางส่วนเสร็จแล้ว โดยให้เดินทางไปประกันตัวที่ศาลเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวไปศาล เนื่องจากผู้ต้องหามาตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุม
 
 
14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สน.ปทุมวัน ระบุว่า กลุ่ม MBK39 ล็อตสุดท้ายกำลังเสร็จจาก สน.ปทุมวัน และกำลังจะเดินทางไปศาลแขวงปทุมวัน ส่วนผู้ถูกฟ้องมาตรา 116 ร่วมด้วย ต้องเดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากโดนแจ้งข้อกล่าวหาที่มีโทษสูงกว่า 3 ปี
 
สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหน้า สน.ปทุมวัน ระบุว่า เนื่องจากบัญชีธนาคารของตนถูกอายัด จากกรณีการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. แม้ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้ว แต่ คสช. ยังคงอายัดบัญชีธนาคารอยู่ จึงต้องยืมเงินเพื่อนประกันตัว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น จะขอให้ศาลยกคำร้องฝากขังของ ตร. โดยการชี้แจงต่อศาล
 
สมบัติยังตั้งข้อสงสัยถึงการตั้งข้อหาตามมาตรา 116 กับตนเองเนื่องจากไม่ได้ปราศรัยแต่อย่างใด และในกรณีของวีระ สมความคิด ยิ่งหนักข้อกว่าเพราะเขาอยู่เพียงครู่เดียวเท่านั้น 
 
ทั้งนี้ สมบัติตั้งข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดจึงมีการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร เนื่องจากวันดังกล่าว รองผู้กำกับสน.ปทุมวัน เป็นคนชี้จุดให้ทำกิจกรรมเอง นอกจากนี้ อ.เดชรัต สุขกำเนิด ได้คำนวณจุดที่จัดกิจกรรม พบว่า ห่างจากเขตพระราชฐานไป 160 แต่ ตร. ระบุว่าอยู่ที่ 148.5 เมตร 
 
ด้าน วรัญชัย โชคชนะ หนึ่งใน MBK39 ให้สัมภาษณ์ว่า เคลื่อนไหวมานานตั้งแต่ 6 ตุลา 2519  ผ่านมาหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลทหารก็ไม่เคยถูกตั้งข้อกล่าวหา "ทำไมทำแบบนี้" 
 

ประมาณ 14.45 น. MBK39 บางส่วนที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา แอคชั่นเรียกร้อง "เลือกตั้ง" หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจขอความร่วมมือให้เดินไปศาลแขวงปทุมวันโดยสงบ

14.55 น. ทั้งหมดเดินทางถึงศาลแขวงปทุมวัน

 

 

000000

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

เรื่อง ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง

จากการที่กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” บริเวณศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว จำนวนรวม 39 คน ได้ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากวังของพระบรมวงศ์ (วังสระปทุม) และละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป  โดยมี 7 คนที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มเติมด้วย และจากกรณีการควบคุมตัวและดำเนินคดีกับประชาชนในจังหวัดพะเยา 14 ราย ที่แสดงความสนับสนุนกิจกรรม“We Walk เดิน มิตรภาพ” นั้น

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เห็นว่าการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งวิธีการใช้อำนาจโดยมิชอบของคสช.ภายใต้ข้ออ้างเรื่องการรักษาความมั่นคงของชาติ เพื่อปิดปากการแสดงความเห็นทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบาย และเพื่อจำกัดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี และทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 44)

คนส.เห็นว่าไม่มีผู้ใดควรถูกดำเนินดดีหรือคุมขังด้วยข้อหาร้ายแรงที่มีบทลงโทษสูงตามที่ทางคสช.ได้กล่าวหาประชาชน  อีกทั้งหลักทรัพย์ในการประกันตัวที่กำหนดไว้ในอัตราสูงอาจทำให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสประกันตนเพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม  คนส.และนักวิชาการจำนวนกว่า 60 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย จึงพร้อมที่จะใช้ตำแหน่งนักวิชาการเป็นนายประกันยื่นประกันตัวประชาชนที่ถูกดำเนินคดี เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องถูกจองจำเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมอย่างสงบ และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในความเป็นไปของบ้านเมือง ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไทยทุกคน

นอกจากนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองขอเรียกร้องให้คสช.

ยุติการสร้างภาวะความหวาดกลัวในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยโดยการใช้มาตรการทางกฎหมายหรือการข่มขู่คุกคามอื่นๆ

ถอนการแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนในคดี“รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ในกรุงเทพฯ ทั้ง 39 คน และคดีสนับสนุนกิจกรรม “We Walk เดิน มิตรภาพ” ในจังหวัดพะเยา 14 คนในทันที

คืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยการยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบต่างๆ และจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

8 กุมภาพันธ์ 2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท