Skip to main content
sharethis

ยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศตัดความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ 6 ค่ายผู้อพยพภายในประเทศ บริเวณชายแดนพม่าตรงข้ามภาคเหนือของไทย ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยกว่า 6,000 คนอยู่ในภาวะลำบาก

นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการกวาดล้างครั้งใหญ่ของกองทัพรัฐบาลพม่า ในตอนกลางของรัฐฉานในพม่าระหว่างปี 2539-2541 เป็นเหตุให้ชาวบ้านทั้ง ไทใหญ่ ลาหู่ อาข่า ว้า ดาระอัง ปะโอ ลีซู และเชื้อสายจีนกว่า 300,000 คน จาก 1,400 หมู่บ้านถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้านเรือน ชาวบ้านหลายร้อยคนถูกซ้อมทรมาน ถูกข่มขืนกระทำชำเราและถูกฆ่า ชาวบ้านเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพบริเวณพรมแดนรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สูง ที่ห่างไกล มีพื้นที่ทำกินน้อย  โดยได้รับความสนับสนุนจากยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือการจัดหาอาหารขั้นพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อเริ่มกระบวนการสันติภาพในปี 2554 โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เริ่มลงนามในสัญญาหยุดยิงแบบทวิภาคีกับรัฐบาลพม่า ทางองค์กรทุนก็เริ่มลดความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่บริเวณชายแดน และยุติความช่วยเหลือสนับสนุนการจัดหาอาหารให้กับค่ายอพยพทั้ง 6 แห่งบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

ค่ายผู้อพยพดอยสามสิบ ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ภาพถ่ายปี 2550 (ที่มา: แฟ้มภาพ/SHRF)

ปัจจุบันมีค่ายอพยพ 6 แห่ง ตามบริเวณแนวพรมแดนรัฐฉาน-ไทย มีผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น 6,185 คน ได้แก่ 1.  ค่ายอพยพกองมุ่งเมือง ตรงข้าม ต.หมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้อพยพ 246 คน 2. ค่ายอพยพดอยไตแลง ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้อพยพ 2,309  คน  3. ค่ายอพยพดอยดำ ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 238 คน  4. ค่ายอพยพกุงจ่อ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 402 คน  5.ค่ายอพยพดอยสามสิบ ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 356 คน  และ 6. ค่ายอพยพดอยก่อวัน  ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีผู้อพยพ 2,634 คน โดย 70% ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพบริเวณพรมแดนไทย-รัฐฉาน ยังคงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านตนเองได้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาหยุดยิง และทางพม่ายังคงขยายกำลังทหารและเพิ่มปฏิบัติการทางทหารตลอดทั่วรัฐฉาน เมื่อถูกตัดความช่วยเหลือ ทำให้ชีวิตผู้ลี้ภัยกว่า 6,000 คน ต้องอยู่อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น จึงใคร่เรียกร้องให้แหล่งทุนระหว่างประเทศยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเพียงพอกับผู้ลี้ภัยตามบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ไทยต่อไป และให้มีการถอนทหารพม่าออกจากพื้นที่ โดยยุติสงคราม และคืนพื้นที่ทำกินเดิมให้กับชาวบ้านเพื่อเดินทางกลับไปทำกินได้ดังเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net