Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทีแรกไม่ได้สนใจภาพซัลวาตอร์ มุนดิ ที่ว่ากันว่าเป็นภาพวาดสุดท้ายของลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่เพิ่งซื้อขายกันทำลายสถิติโลกกระจุยกระจายไปเมื่อปลายเดือนก่อนในราคาหนึ่งหมื่นสี่พันหกร้อยล้านบาท (450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) สักเท่าไร เพราะดูเป็นการโฆษณาเกินจริงของสถาบันประมูลคริสตีส์ ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วคนในแวดวงเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นภาพของลีโอนาร์โดจริงๆหรือไม่ โดยภาพนี้อยู่ในท้องตลาดมานานแล้ว เชื่อกันว่าน่าจะวาดโดยลูกศิษย์หรือคนในสตูดิโอลีโอนาร์โด แต่ไม่ใช่ผลงานของเขาเอง และสภาพงานนี้ชำรุดเสียหายค่อนข้างมาก ภาพวาดที่เราเห็นกันนี้ได้รับการซ่อมแซมโดยช่างซ่อมภาพสมัยปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่

แต่ไม่กี่วันก่อนข่าวก็ออกมาว่า ผู้ซื้อไม่ใช่ใครที่ไหน มกุฏราชกุมารซาอุ โมฮัมเม็ด บิน ซาลมาน ที่เราเคยเขียนถึงไปว่ากำลังทำศึกทั้งในและนอกประเทศก่อนขึ้นครองราชย์นั่นเอง และเมื่อซื้อแล้วก็ donate ให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงอาบูดาบีทันที ทำให้เราต้องกลับมาอ่านเรื่องนี้ใหม่เพราะมันกลายเป็นประเด็นการเมืองที่น่าสนุกตื่นเต้นไปเสียแล้ว และมันเริ่มเมคเซนส์ขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าใครจะซื้อไปด้วยราคาแบบนี้เพราะไม่ใช่ราคาที่จะลงทุนเพื่อขายต่อได้

แต่เมื่อเห็นชื่อผู้ซื้อก็เข้าใจได้ทันทีว่ามันไม่ใช่เรื่องศิลปะหรือการลงทุน มันเป็นการ make a statement เป็นการประกาศศักดา และเป็นการส่งสัญญาณต่อทั้งมิตรและอริ เหมือนทุกๆอย่างที่มกุฏราชกุมารได้ทำมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ ตั้งแต่เรื่องการล้อมจับพระญาติและนักการเมืองกลางดึก (ส่งสัญญาณให้คนที่ไม่ใช่พวกพ้องรู้ว่าไม่มีที่ยืนแน่ๆ) เรื่องการโจมตีเยเมน (ส่งสัญญาณให้อริรู้ว่ามีศักยภาพและยินดีใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่แคร์ผู้บริสุทธิ์) ไปจนถึงเรื่องการเปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งและให้ผู้หญิงขับรถได้ (ส่งสัญญาณให้ชาติตะวันตกรู้ว่าจะเปิดประเทศและสนับสนุนการท่องเที่ยว)

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นว่า ทำไมต้องส่งสัญญาณผ่านการซื้องานศิลปะ จริงๆคือต้องเข้าใจว่า แวดวงการสะสมงานศิลปะ เป็นแวดวงที่เล็กและ exclusive มากๆ โดยเฉพาะงานศิลปะที่เรียกกันว่า Old Masters และยิ่งเป็นงานสมัยเรอเนสซองส์ก็จะยิ่งมีมูลค่าสูง เพราะเป็นศิลปินที่คนรู้จักกันทั่วโลกแม้จะไม่ใช่คนสายศิลปะก็ตาม และด้วยความที่งานเหล่านี้มีจำนวนจำกัดมากๆ งานของศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในมิวเซียมเกือบทั้งหมด งานที่อยู่ในมือของนักสะสมมีน้อยนับชิ้นได้ ดังนั้น demand จึงสูงเสียดฟ้าแต่ supply น้อยเรี่ยดิน การสะสมงานศิลปะระดับ Old Masters จึงไม่ใช่ hobby ของชนชั้นกลางหรือกระทั่งของเศรษฐีใหม่ เพราะคุณต้องมีทั้งรสนิยมและเงินที่หนามากๆ

งานศิลปะเหล่านี้จึงเป็นเหมือน golden ticket ที่จะสร้างชื่อเสียงว่าคุณไม่ใช่แค่โคตรรวย แต่โคตร sophisticated ด้วย (หากมีเงินเหลือพันหรือหมื่นล้าน เศรษฐีส่วนใหญ่คงนำไปลงทุนอย่างอื่น ไม่มาซื้องานศิลปะ) ดังนั้นมกุฏราชกุมารซาอุฯ ผู้ซึ่งไม่เคยซื้องานศิลปะมาก่อน จึงยอมลงทุนเป็นหมื่นล้านเพื่อซื้องานศิลปะชิ้นนี้ แต่เขาไม่ได้ทำเพื่อสร้างความชอบธรรมทางศิลปะเสียทีเดียว เมื่อเห็นว่าเขามอบงานให้พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตทันที ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ราชวงศ์ของการ์ตา (อริร่วมของซาอุและยูเออี) ผู้เป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยงมานาน และมีชุมชนศิลปะที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือมาก ได้รับรู้ว่า มี player ใหม่ที่เงินหนา บารมีแรง กำลังผุดขึ้นมาสู้กับอำนาจเก่าแล้ว

การที่มกุฏราชกุมารซาอุไม่เคยปิดบังความต้องการมาแทนที่การ์ตาในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและศิลปวัฒธรรม รวมถึงความคาดเดาไม่ได้และความเกรี้ยวกราดในกลวิธีของโมฮัมเม็ด บิน ซาลมานนั้น ทำให้สงครามวัฒนธรรมที่กำลังจะมาเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางนี้น่าติดตามเป็นที่สุด

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ศึกษาระดับปริญญาตรี  คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกวรรณคดีอังกฤษ และศึกษาปริญญาโท สาขาวิชา Nonprofit Art and Culture Management ที่ Pratt Institute นิวยอร์ค อเมริกา เธอทำงานในแกลเลอรี่และมิวเซียมที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 ปี ก่อนกลับมาก่อตั้งห้องสมุดศิลปะ The Reading Room 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Narawan Kyo Pathomvat

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net