รัฐธรรมนูญ/รัฐสวัสดิการ | ษัษฐรัมย์-แสงศิริ-พิชิต-จาตุรนต์ [วิดีโอ]

อภิปรายในประเด็นรัฐธรรมนูญ/รัฐสวัสดิการโดยษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี-แสงศิริ ตรีมรรคา-พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์-จาตุรนต์ ฉายแสง ว่า "รัฐสวัสดิการ" จำเป็นแค่ไหนสำหรับประเทศไทย อุปสรรคและความเป็นไปได้ ฐานภาษีต้องเก็บแค่ไหน  สวัสดิการนำไปใช้ในเรื่องใด และพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมหรือขัดขวางรัฐสวัสดิการกันแน่


 

การอภิปรายประกอบด้วย 1. "ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ?" ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์  2. "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร?" แสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 3. "ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของรัฐสวัสดิการไทย" รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4. "อุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทยทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ" จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ 'เจาะเวลาหาอนาคต' จัดโดยกลุ่ม Third Way Thailand ระหว่างวันที่ 10 ถึง 11 ธันวาคม ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ?

ษัษฐรัมย์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า เงื่อนไขที่จะสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไปเราต้องผลักดันให้พรรคการเมืองผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ 

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการเติบโของโครงสร้างของทุนที่มีจำนวนมาก โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ในการสร้างสวัสดิการนั้นเราเกิดจากการผลักดันในช่วงที่เรามีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา เรารับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องยอมรับการแข่งขันที่สูงแล้วเชื่อว่าจะเดินไปถึงดวงดาวได้

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (ภาพโดย Bundit Uawattananukul)
 
สำหรับสวัสดิการ ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ประเทศที่แย่ที่สุดในการสร้างสวัสดิการคือการใช้กลไกตลาดในการสร้าง เพราะรัฐผลักให้ไปซื้อประกันสุขภาพประกันชีวิต ส่วนอีกระบบคือระบบประกันสังคมของบิสมาร์ค ในเยอรมนี ที่ให้รัฐ ทุน และคนงานร่วมกันจ่าย ระบบแบบนี้อาจทำให้คนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน แต่ก็ไปอิงกับวัฒนธรรมจารีต เผด็จการในที่ทำงาน เพื่อควบคุมให้คนในสังคมทำงานหนัก แต่อีกโมเดลคือ รัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก ที่มีการเก็บภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า สร้างสวัสดิการที่ถ้วนหน้าครบวงจร 
 
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นบนฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตย โจทย์ไม่ใช่โจทย์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นโจทย์ทางการเมืองที่เป็นฉันทามติของคนในสังคมต้องเห็นพ้อง เราต้องมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งพอที่เสียงเราจะดัง สำหรับผลของรัฐสวัสดิการ จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีความปลอดภัย มีอาชีพที่หลากหลาย ค่าจ้างไม่แตกต่างกัน เกิดแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมกับมิติทางเศรษฐกิจ ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ ขณะที่ผลในทางการเมืองจะทำให้อำนาจท้องถิ่นมีเพิ่มขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง ส่วนในทางสังคมจะสร้างสังคมที่มีความเชื่อใจกัน ความรุนแรงทางสังคมต่ำ การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่ำ และยอมรับความหลากหลายสูง 
 
 

(ซ้าายไปขวา) ษัษฐรัมย์-จาตุรนต์-แสงศิริ-พิชิต-ณัฏฐา (ภาพโดย Bundit Uawattananukul)
 

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร?

แสงศิริ เริ่มต้นด้วยโจทย์ว่า ทำไมเราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้าลดความเหลื่อมล้ำได้? แล้วความเหลื่อมล้ำ คืออะไร อะไรที่บอกว่าเรามีความเหลื่อมล้ำ? เราพร้อมหรือยัง? เงินมาจากไหน? พร้อมยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า สิ่งแรกที่เห็นคือเรื่องของรายได้ ในสังคมไทยกลุ่มคนที่รายได้น้อยนั้นจะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย มีภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายได้  และหากมองในการถือครองทรัพย์สิน มีคนเพียง 10% เท่านั้นที่ถือครองมากกว่า 61% และคนที่มีรายได้ต่ำสุดค่าใช้จ่ายจะไปอยู่ที่ค่าใช้จ่ายส่วนของอาหาร
 
โดยรวมแล้วมี 3 ประเด็นที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ นอกจากระบบประกันสุขภาพและประกันรายได้แล้ว ยังมีเรื่องของการศึกษา ที่คนจนนั้นโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานด้านการศึกษาของรัฐนั้นต่ำมาก 
 
ทำไมสวัสดิการถ้วนหน้าถึงลดความเหลื่อมล้ำได้ แสงศิริ กล่าวว่า จากการพิสูจน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง มีงานวิจัยที่ออกมาหลังมีบัตรทองว่า คนมีรายจ่ายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพตรงนี้ลดลง จำนวนครัวเรือนที่ล้มละลายลดลง แต่ถามว่าบัตรทองเป็นสวัสดิการที่ถ้วนหน้าหรือยัง วิธีคิดแบบบัตรทองนั้นมันเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้า แต่ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการอยู่ และใน 3 ระบบหลักประกันสุขภาพนั้น มันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ สวัสดิการข้าราชการนั้นได้สวัสดิการเรื่องสุขภาพ โดยรัฐให้งบประมาณสูงสุด เมื่อเทียบกับอีก 2 ระบบ  ดังนั้น สวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นสวัสดิการแบบชนชั้น
 
แสงศิริ กล่าวว่า สวัสดิการเป็นสิทธิ์ รัฐต้องประกันความมั่นคงให้กับประชาชน เนื่องจากทุกคนมีส่วนเพิ่มพูนมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศนี้ พร้อมกันนี้ตั้งประเด็นว่า ในอนาคต เราจะมีความหวังกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาทำข้อตกลงกับรัฐได้หรือไม่ ประชาชนได้มีส่วนร่วมไปกับนโยบายการคลังหรือไม่ เราจะเคลื่อนไหวทำข้อตกลงกับรัฐที่จะเข้ามาได้ไหม จะจัดการคุณภาพชีวิตของคนและลดความเหลือมล้ำได้อย่างไร และที่สำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการ ถ้าจะสร้างได้ ประชาชนต้องเชื่อใจรัฐ เพราะรัฐต้องเก็บภาษีมาแล้วเอาเงินไปสร้างสวัสดิการ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อใจตรงนี้ได้
 
สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ช่วยในการสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่นั้น แสงศิริ กล่าวว่า แต่คนเขียนรัฐธรรมนูญเขียนแบบสงเคราะห์ เพราะถ้าไม่คิดแบบนั้นต้องไม่ใช้คำว่า "ผู้ยากไร้" ในนั้น แต่สำหรับการสร้างรัฐสวัสดิการต้องเขียนว่าเป็นสิทธิของทุกคนในนั้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้ยากไร้
 

อุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทยทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ


จาตุรนต์ ฉายแสง (ภาพโดย Bundit Uawattananukul)

จาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการศึกษา รัฐธรรมนูญใช้คำว่าเรียนฟรี 12 ปี ก็มีการตีความว่าการเรียนฟรีไม่ถึง ม.ปลาย แต่ภายหลังมีคำสั่ง คสช. ออกมาแก้ แต่ก็มีคำถามว่า คำสั่ง คสช. นั้นจะมีผลหรือไม่ เรื่องแบบนี้มันสะท้อนความลักลั่นที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ

เรื่องสาธารณสุขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จาตุรนต์ กล่าวว่า มีการใส่เรื่องคำว่าผู้ยากไร้ แทนที่จะใช้คำว่าถ้วนหน้า ส่วนเรื่องการดูแลเกษตรกร รัฐธรรมนูญนี้พูดเรื่องให้คุ้มครอง แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องประกันความเสี่ยงหรือรายได้ ดังนั้นเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ส่งเสริมรัฐสวัสดิการ 

ในประเด็นด้านเศรษฐกิจกับการสร้างรัฐสวัสดิการนั้น จาตุรนต์ มองว่า ขนาดของเศรษฐกิจ ถ้ามองจากวันนี้เราอยากมีสวัสดิการของรัฐในสังคมให้มีความถ้วนหน้ามากขึ้น เราจำเป็นจะต้องทำให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ ขนาดของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จะดีขึ้นโดยให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือดีขึ้นโดยให้คนมีสวัสดิการที่ดีแล้วทำให้เศษฐกิจดีนั้นคิดไปพร้อมกันได้ แต่ต้องให้เศรษฐกิจโตด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถดูแลคนในสังคมให้มีคุณภาพมากได้
 
สำหรับอัตราของภาษีต่อ GDP จาตุรนต์ กล่าวว่า ต้องคิดกันว่าประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเข้มแข็ง หลายประเทศเก็บภาษีประมาณ 30% ของรายได้ประชาชาติ แต่ไทย 15-17% ของ GDP เราจะขยายฐานภาษีอย่างไร และสร้างแรงจูงใจให้คนยินดีที่จะเสียภาษีได้อย่างไร เพราะไทยเรามีแรงจูงใจในการหนีภาษีมาก เพราะธุรกิจเขาแข่งกับคนที่หนีภาษีอยู่ จะทำอย่างไรให้เก็บภาษีได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ในระบบที่ดูแลคนจนนั้น ต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้คนจนไม่อยากพ้นเงื่อนไขที่จะมีบัตรคนจน 

สำหรับเรื่องภาษีที่ดินและมรดก จาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ชูขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ แต่ผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่าก็ไม่ได้มีผลอะไรในการนำรายได้เหล่านี้มาสร้างสวัสดิการ ดังนั้นในระหว่างนี้ การเลือกเรื่องที่จะทำ ประสิทธิภาพคุณภาพอาจเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ 

ประเด็นที่ว่าควรกำหนดเรื่องรัฐสวัสดิการในรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเขียนเนื้อหาอย่างไรให้ส่งเสริมรัฐสวัสดิการนั้น จาตุรนต์ กล่าวว่า คงมีหลายท่านมีความคิดอย่างนี้ และแนวความคิดว่าใครอยากให้บ้านเมืองดีในเรื่องอะไรก็ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นความคิดที่มีมาตั้งแต่ในสมัยปี 2540 ก็เกิดเรื่องดีๆ หลายๆ อย่างในตอนนั้น แต่ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550, 2560 มีความต่าง ตรงที่ว่าคนเขียนไม่เหมือนกัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างน้อยข้อหนึ่งคือมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกับแผนปฏิรูป มีกระบวนการทำกันโดยที่ประชาชนไม่เกี่ยว เพราะฉะนั้นถ้าโยงกันว่ารัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ ในความหมายว่า ถ้าใครอยากเห็นรัฐสวัสดิการในไทย แล้วมองไปที่รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญส่งเสริมนั้น เป็นเรื่องที่มันไม่เข้ากัน ไม่สอดคล้องกันเลย เป็นไปไม่ได้เลย 
 
จาตุรนต์ กล่าวว่า เราผ่านปี 2540 2550 2560 ต้องทำความเข้าใจใหม่ ว่าความคิดที่ว่าใครอยากให้บ้านเมืองดีอย่างไร ในแง่ไหน อาชีพตัวเองดีอย่างไร ให้เขียนเนื้อหามากๆ ละเอียดมากๆ แล้วไปใส่ในรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเลิกความคิดนี้ และมันเป็นไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 2560 นี้แก้ได้ แต่แก้ยากมาก จนกระทั่งเหมือนว่า แผนของ คสช. จะทำให้คนไทยไปดวงจันทร์ภายใน 20 ปี  และกระบวนการสร้างรัฐสวัสดิการนั้น จะผลักดันผ่านการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จะผลักดันกับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดในกลไกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปไว้ว่าต้องดำเนินการตามแผ่นในยุคที่ คสช. วางไว้ ถ้าไม่ทำตามแผนปฏิรูปก็จะถูกตรวจสอบถอดถอน  ถ้านำเอาข้อเสนอเหล่านี้ไปเสนอผู้แทนราษฎรนั้นก็ร่างไปเลย แต่ถ้ารัฐบาลและพรรคการเมืองเอาด้วย เขาก็จะมีคณะพิจารณาว่า ร่างกฎหมายใดเกี่ยวกับการปฏิรูป  ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่ก้บ  ส.ว. ที่น่าจะมีอำนาจมากกว่า ถ้าเขาวินิจฉัยว่า ร่างที่เสนอนั้นเกี่ยวกับการปฏิรูป กฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้พิจารณาจากสภาปกติ แต่จะพิจารณาจาก สภา 2 ฝ่าย และกรรมาธิการก็มี 2 ฝ่าย จึงเป็นการพิจารณากฎหมายแบบที่ ส.ว. มีอิทธิพลมากกว่า ซึ่งมันเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐธรรมนูญนี้มีเงื่อนไขจำกัด  ดังนั้นประเด็นที่สำคัญ ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้ส่งเสริมรัฐสวัสดิการ และปิดทางให้คนที่จะเสนอผลักดัน แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องทำความเข้าใจ สร้างความนิยม เสนอให้คนเห็น และจะทำได้จริงๆ ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองให้ได้ก่อนด้วย   

ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของรัฐสวัสดิการไทย


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (ภาพโดย Bundit Uawattananukul)
 
พิชิต เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า จุดอ่อนสำคัญของรัฐสวัสดิการในประเทศไทยคือพูดด้านเดียว พูดแต่ด้านดี ประสบการณ์ในประเทศอื่นที่ทำสำเร็จคือการศึกษา แต่ในอีกหลายประเทศทำแล้วล้มเหลว ดังนั้น คนที่รณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการในไทยต้องทำการบ้านอีกมาก เมื่อรณรงค์ต้องเจอกับเทคโนแครตฝ่ายโน้น เขามีข้อมูลอีกเพียบ 
 
สำหรับแนวความคิดเรื่องการที่รัฐมีหน้าที่ต้องช่วยสวัสดิการประชาชนนั้น พิชิต กล่าวว่า เพิ่งมีมาไม่ถึง 100 ปี ถอยหลัง 200 ปีไปนั้น ผู้ปกครองคิดแต่เรื่องขูดรีดประชาชน รัฐสวัสดิการมาจากความคิดที่ว่าคนเราเท่ากัน เกิดมาจากท้องแม่แล้วทุกคนเท่ากันหมด เป็นคนที่รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบให้เขาได้ใช้ชีวิตไปตามศักยภาพ ลดอุปสรรคทางสังคม ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลคุ้มครอง และรัฐมีหน้าที่ดูแล ดังนั้นฝั่งหนึ่งมีสิทธิ ฝั่งหนึ่งมีหน้าที่ และมีความต่างของการให้ ให้ในฐานที่เป็นมนุษย์ กับให้ในฐานการกุศล ระบบสวัสดิการในประเทศเผด็จการ ส่วนใหญ่เป็นสวัสดิการแบบชนชั้น มองคนอื่นเป็นมนุษย์ชั้น 2 รัฐไม่ได้มีหน้าที่ดูแล แต่ให้เพราะความใจบุญ ต้องตีตรา ต้องกันคนพวกนี้ที่ต้องได้ เพราะฉะนั้นต้องมีบัตร พกบัตรและเข้าช่องเฉพาะอีก ดังนั้นระบบสวัสดิการที่รัฐให้บนพื้นฐานที่มองคนเท่าเทียมกัน มันมาบนพื้นฐานของสิทธิและหน้าที่ และอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย
 
พิชิต กล่าวว่า หากพิจารณาข้อดีหลายอย่างรวมกัน กลุ่มนอร์ดิกจะสมบูรณ์แบบ ขณะที่ออสเตรเลียกับสหรัฐฯ จะมีช่องว่างเยอะหน่อย โดยคุณภาพชีวิตของประชาชนในกลุ่มนอร์ดิกจะดีที่สุด
 
ลักษณะการให้สวัสดิการโดยรัฐ พิชิต อธิบายว่า มี 2 รูปแบบ 1. ผ่านการใช้จ่ายของรัฐผ่านสถาบันต่างๆ เช่น งบประมาณให้โรงเรียน ไม่ได้ให้เงินกับประชาชนโดยตรง  2. สวัสดิการที่ให้มือประชาชนโดยตรง เช่น เงินประกันการว่างงาน ทั้ง 3 กลุ่มประเทศที่เป็นตัวแบบของสวัสดิการนั้น มีส่วนที่ต่างคือเงินในส่วนที่ 2 โดยประเทศในกลุ่มนอร์ดิกนั้นจะให้ส่วนที่ 2 นี้ เยอะสุด 
 
ส่วนคำถามที่ว่าระบบนี้จะทำให้คนขี้เกียจและไม่ทำงานไหม และภาษีสูงเป็นแรงจูงใจให้คนไม่ตั้งบริษัทหรือธุรกิจหรือไม่ ดังนั้นประเทศพวกนี้คนจนจะไม่ทำธุรกิจ เป็นลุูกจ้างดีกว่า มั่นคงที่สุดไหม? พิชิต ตั้งคำถามพร้อมตอบด้วยว่า มีงานวิจัยออกมาว่าคนในประเทศเหล่านี้ก็ยังมีความรับผิดชอบในการทำงานไม่ต่างกัน ระดับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่ต่างกัน
เพราะรัฐเข้าไปส่งเสริม เงินภาครัฐเข้าไปส่งเสริมตรงนี้สูงมาก รัฐนอกจากช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังช่วยเหลือภาคเอกชนด้วย 
 
พิชิต กล่าวว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้รายจ่ายภาครัฐต่อ GDP นั้น 30% ของไทยมีประมาณ 16% เท่านั้น ส่วนการทำรัฐสวัสดิการ เงินจัดสรรรัฐสวัสดิการมาจาก 2 ทาง ทางหนึ่งคือกู้ ด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลขายให้กับประชาชน และอีกทางคือเก็บภาษี ถ้าไปดูภาษีในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ในประเทศเหล่านี้เก็บได้น้อย เพราะคนไม่ใช่เป้านิ่ง ประเทศพวกนั้นคนรวยไม่สะสมที่ดิน รวยก็เก็บเป็นเพชรเป็นทอง และพันธบัตรรัฐบาล ข้อดีคือปลอดภาษี คนรวยที่นั่นก็ตั้งกองทุน เหมือนมูลนิธิ ก็สามารถเลี่ยงภาษีได้อีก โดยภาษีหลังๆ มาจากภาษีเงินได้นิติบุคคล - บุคคล และ VAT รายได้มาจากการใช้จ่ายนั้นเกินครึ่ง ประเทศกลุ่มนี้เป็นประเทศที่ VAT สูงที่สุดในโลก คนงานทั้งภาครัฐและเอกชนหักภาษีแล้วเหลือประมาณ 40% ของเงินเดือน 
 
พิชิต กล่าวด้วยว่า ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐนั้นสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้เสียไปกับราชการให้น้อย การที่คนในประเทศเหล่านั้นยอมเสียเงินไปกับสวัสดิการนั้น เพราะเขามั่นใจไปกับรัฐบาลนั้น คือความไว้วางใจ ความสามารถที่จะตรวจสอบได้ ความโปร่งใสของระบบราชการและการเมือง ดัชนีความโปร่งใส่และคอร์รัปชัน กลุ่มนอร์ดิกก็อยู่อันดับต้นๆ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำแทบไม่มีก็จริง แต่มีปัญหาการว่างงานของเยาวชนสูงมาก บัณฑิตจบใหม่ว่างงานสูงสุด เพราะบริษัทเอกชนไม่ค่อยรับคนเข้าทำงาน เนื่องจากรับมาแล้วค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การปลดคนงานออกนั้นทำได้ยากมาก ดังนั้นบริษัทก็รับคนเข้าทำงานยาก 
 
ปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ พิชิต กล่าวว่า ประเทศกลุ่มนอร์ดิกนั้นจัดการดี แต่ประเทศหลายประเทศที่พยายามทำแล้วพัง อย่างเช่น สเปน ก็มี แม้กระทั่งสวีเดนก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจก็มีการตัดสวัสดิการออกบ้าง 
 
พิชิต กล่าวว่าย้ำดว้ยว่า รัฐสวัสดิการที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้ไม่ได้มาฟรีๆ แต่มันมาจากการต่อสู้ เช่น สหภาพแรงงาน สหภาพสตรี สหภาพคนชรา มันเป็นการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานมาก ก่อนที่จะได้รูปแบบนี้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ภายหลังมีนักการเมืองฝ่ายขวาจะปรับลด แต่คนก็ไม่ยอม ในกรณีเมืองไทยนั้นมีปัญหา เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น พลังที่จะรักษามันไว้ มันไม่มี ก่อนเลือกตั้งถ้าเขาทยอยลดเลิกจะทำอย่าไรได้ เพราะมันไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ ในแง่นี้ในสวัสดิการของรัฐจะมีแบบไหนต้องเลือกเอา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท