Skip to main content
sharethis

แม้ก่อนหน้านี้จีนได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการจ้างงานสำหรับคุณแม่มือใหม่ แต่พบว่าปัจจุบันบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในจีนนิยม ‘ลดเงินเดือน-เลิกจ้าง’ พนักงานหญิงระหว่างตั้งครรภ์ ลาคลอด หรือช่วงเวลาการเลี้ยงบุตรมากขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/pedroserapio (CC0 Creative Commons)

10 ธ.ค. 2560 แม้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการจ้างงานคุณแม่มือใหม่ โดยห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกสัญญาหรือลดเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานที่ต้องการใช้เวลาในการแต่งงานและมีบุตร โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยระหว่างการลาคลอดบุตรซึ่งแตกต่างกันไปตามเงินเดือนและวันลาคลอด ซึ่งตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อยู่ที่ 98 วัน แต่รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในจีนให้มากกว่านั้น โดยกำหนดไว้ถึง 128 วันเลยทีเดียว

แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานหญิงโดยเฉพาะเมื่อนายจ้างรู้ว่าพวกเธอตั้งครรภ์ ข้อมูลจากสหพันธ์สตรีจีน (All-China Women’s Federation) ระบุว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ามีพนักงานหญิง 1,273 รายที่ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการแรงงานในเขต Dongcheng ของกรุงปักกิ่ง โดยคำร้องของพวกเธอเกี่ยวข้องกับการได้รับค่าจ้างต่ำหรือถูกเลิกจ้างในระหว่างตั้งครรภ์ ลาคลอด หรือช่วงเวลาการเลี้ยงบุตร

แม้ในทางทฤษฎี จีนจะได้รับคะแนนในระดับนานาชาติที่สูงมากในการพิจารณาข้อบังคับว่าด้วยการคลอดบุตรของ ILO แต่ในทางปฏิบัติแล้วพบว่านายจ้างชาวจีนบางรายมักจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายของตน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่เปิดดำเนินการใหม่ที่ต้องการประหยัดงบด้านการจ้างงาน

จากการสำรวจผู้หญิงจาก 10,000 ครอบครัวเมื่อต้นปีนี้โดยสหพันธ์สตรีจีน พบว่ามีผู้หญิงถึงร้อยละ 54.7 ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานและแผนการมีบุตรของพวกเธอในระหว่างการสัมภาษณ์งาน ผู้หญิงร้อยละ 12.5 ระบุว่าพวกเธอถูกเลิกจ้างไม่นานก่อนที่จะได้ดำเนินการตามแผนที่จะมีบุตร

พนักงานหญิงบางส่วนจึงต้องซ่อนแผนการมีครอบครัวของพวกเธอไว้เพื่อรักษาตำแหน่งงาน บางกรณีถึงกับปกปิดการตั้งครรภ์ไม่ให้นายจ้างและฝ่ายบุคคลรู้

ศาสตราจารย์หลี่ หมิงชุน จากมหาวิทยาลัยสตรีแห่งประเทศจีน (China Women’s University) ระบุว่าอาจมีการปะทะกันระหว่างผลประโยชน์ของนายจ้างและสิทธิการจ้างงานพนักงานหญิง ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับปรุงระบบการปกป้องพนักงานที่ตั้งครรภ์ "ค่าใช้จ่ายของผู้หญิงที่ลาคลอดควรเป็นความรับผิดชอบของสังคมโดยรวมไม่ใช่บริษัทเอกชนอย่างเดียว" ศาสตราจารย์หลี่ ระบุ

 

ที่มาเรียบเรียงบางส่วนจาก

For Chinese Women, Getting Pregnant Can Be a Fireable Offense  (โดย Ni Dandan, sixthtone.com, 24/11/2017)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net