Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

9 ธ.ค.2560 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาวาระร่างพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ....คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย คือเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 สาเหตุที่ระยะเวลาผ่านไป 3 ปี แล้วต้องมาขอปรับปรุงโดยการยกเลิกฉบับเดิมแล้วใช้ฉบับใหม่นั้น เพราะเหตุว่าเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ต่อมาได้มีการออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และบุคลากรหรือข้าราชการในพระองค์เสียใหม่ ซึ่งสภาฯก็ได้ให้ความเห็นชอบพ.ร.บ.ดังกล่าว และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามความในพ.ร.บ.นั้นไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดย่อมกลับไปกระทบพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557

วิษณุ กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญที่ปรากฏใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการไปเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่อยู่ใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ในประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. ได้แก้ไขคำว่าความปลอดภัย ให้ขยายออกไปนอกเหนือจากการถวายความปลอดภัยหรือถวายอารักขาธรรมดา มีเรื่องของการถวายพระเกียรติด้วย ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องจัดกระบวนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ในการถวายพระเกียรติมากกว่า เพราเหตุว่ามีภัยหรือภยันอันตรายก็จะอนุโลมเข้าไปอยู่ในคำว่าการถวายความปลอดภัย

2. เดิมการถวายความปลอดภัยนั้นจะทำในรูปของคณะกรรมการ โดยมีสมุหราชองครักษ์เป็นประธาน มีราชเลขาธิการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ และมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เป็นคณะกรรมการ แต่หลักการใหม่ที่เสนอมาวันนี้ ได้ยกเลิกระบบคณะกรรมการดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้การดำเนินการทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับ และบังคับบัญชาของราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนที่จะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างไรหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์จะไปดำเนินการกันโดยการออกประกาศระเบียบภายในไม่ต้องปรากฏเป็นบทบังคับอยู่ในตัว พ.ร.บ.ดังกฎหมายฉบับเดิม

3.ในขณะที่พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบในการถวายความปลอดภัย ส่วนหนึ่งจะอยู่ที่สมุหราชองครักษ์ อีกส่วนจะอยู่ที่เลขาธิการพระราชวัง และในกรณีเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศก็อาจจะต้องมีหน่วยอื่น เช่นกรมราชองครักษ์ และกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่หลักการในกฎหมายใหม่ที่เสนอมาได้รื้อระบบเหล่านี้ทั้งหมด เปลี่ยนแปลงเป็นว่าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับการบังคับบัญชา การวางแผน และการดำเนินการโดยราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนที่จะมีการแบ่งส่วนงานภายในอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์ไปกำหนด โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับสมุหราชองครักษ์ หรือเลขาธิการพระราชวังต่อไป ทั้งนี้จะได้สอดคล้องกับการจัดโครงสร้างของสำนักพระราชวังและหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่

และ 4. ขณะที่กฎหมายเก่ามีบางเรื่องไปผูกพันกับตำแหน่งการเมืองของนายกรัฐมนตรี เช่น การวางระเบียบใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ซึ่งถูกต้องเหมาะสมในกาลสมัยครั้งนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง แต่ตามโครงสร้างใหม่ ตามกฎหมายใหม่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ นายกฯ ไม่ได้มามีส่วนรับผิดชอบในส่วนนี้อีกต่อไป ก็จำเป็นต้องตัดบทบาทของนายกฯ ออก และทั้งหมดจะไปปรากฏในเนื้อความที่เขียนว่า "ให้ดำเนินการไปตามพระราชประสงค์ และถ้ามีเรื่องอย่างก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอรับพระราชวินิจฉัยต่อไป"

หลักการใหม่ 4 ประการนี้ด้วยเหตุที่เป็นการไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเดิมมากจึงจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายเดิมนั้น แล้วยกร่างขึ้นเป็นฉบับใหม่ มีเนื้อความทั้งหมด 9 มาตรา นอกจากนั้น ถ้อยคำ ภาษา หรือแม้แต่หลักการปลีกย่อยอย่างอื่น ยังเป็นไปตามแนวทางเดิม จึงขอเสนอเพื่อให้สภาได้โปรดพิจารณา

จากนั้น เป็นการลงมติรับหลักการในวาระแรก โดยที่ประชุมเห็นด้วยด้วยคะแนน 192 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 3 และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาขึ้นมาพิจารณา โดยไม่มีสมาชิกคนใดอภิปรายในวาระ 2 และลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 189 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 4 ทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมชาย แสวงการ เลขาฯวิป สนช. ได้ขอแก้ไขคะแนนทั้งในวาระรับหลักการและวาระ 3 ว่า ในส่วนคะแนนที่ไม่เห็นด้วย 1 คะแนนเป็นเพราะในวาระแรกผู้ที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยไปต่างประเทศ และเกิดการขัดข้องจากเครื่องกดบัตร ส่วนในวาระ 3 นั้นเกิดจากเครื่องกดบัตรลงคะแนนขัดข้อง ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดไม่เห็นด้วย คะแนนในวาระแรก เป็น 193 งดออกเสียง 3 และวาระ 3 จึงเป็น 190 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 คือ ประธาน สนช.และรองประธาน สนช.ทั้ง 2 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net