Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เราเชื่อตามๆ กันมา (อย่างขัดหลักกาลามสูตร) ว่า “ศีลธรรมมาจากศาสนาเท่านั้น” และ “ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” จึงสรุปว่า ศาสนาไม่มีปัญหาในตัวมันเอง หากจะมีปัญหาย่อมเกิดจากคนใช้ศาสนาในทางที่ผิด

ว่าแต่ “ศีลธรรม” ที่มาจากศาสนาคืออะไร? หากสำรวจดูจะพบว่าศีลธรรมศาสนาเป็นศีลธรรมที่กำหนดขึ้นจากอำนาจนิยามความจริงและความดีของชนชั้นนำสองกลุ่มหลักๆ ที่มักจะเป็น “พันธมิตร” กัน คือ ชนชั้นปกครองและนักบวชหรือผู้นำทางศาสนา

ปัญหาพื้นฐานที่ชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ต้องการหาคำตอบคือ จะจัดการปกครองอย่างไร และบุคคลแต่ละคนควรจะดูแลจิตใจหรือจิตวิญญาณของตนเองอย่างไร

สังเกตว่า ศาสนามักจะถือกำเนิดและรุ่งเรืองในสังคมเผด็จการ และอันที่จริงคือศาสนานั่นเองที่สร้างแนวคิด ความเชื่อรองรับและสนับสนุนการสถาปนาระบบสังคมการเมืองแบบเผด็จการขึ้นมา เห็นได้จากอารยธรรมที่ศาสนารุ่งเรืองอย่างเมโสโปเตเมีย, อียิปต์, ตะวันออกกลาง, ยุโรปยุคกลาง, อินเดีย, จีน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนถือว่าผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดในฐานะผู้นำศาสนา หรือไม่ก็เป็นโอรสของเทพ โอรสสวรรค์ เทพอวตาร สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สัญญะที่แสดงอำนาจและความรุ่งเรืองคือ วังกับวัดหรือศาสนสถาน ซึ่งจำลองแบบสวรรค์วิมานตามคติความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ ภาษา ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมแถบนี้ ล้วนแต่มีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาทั้งนั้น

การที่ศาสนารุ่งเรืองในสังคมที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ แปลว่าศาสนาไม่ได้ต่อต้านเผด็จการ นอกจากไม่ได้ต่อต้านแล้ว ศาสนายังทำหน้าที่ให้คำตอบว่า อำนาจเผด็จการนั้นมาจากกฎศีลธรรมของพระเจ้าหรือเทวสิทธิ์ และธรรมะ (ราชธรรม) แน่นอนว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจเช่นนั้น ย่อมมีหน้าที่อุปถัมภ์และสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา รวมทั้งให้อำนาจศาสนจักรลงโทษ “พวกนอกรีต” และบางครั้งต้องทำสงครามเพื่อบังคับอาณาจักรอื่นๆ ให้มานับถือศาสนาตัวเอง บางครั้งก็ทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนา ทำสงครามอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาและระหว่างนิกายศาสนา หน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ก็คือ “ศีลธรรม” ของผู้ปกครองในระบบเผด็จการที่สถาปนาขึ้นโดยศาสนา

ส่วนศีลธรรมของผู้ใต้ปกครอง ก็คือ “ความจงรักภักดี” และเชื่อฟังอำนาจของผู้ปกครอง เพราะว่าผู้ใต้ปกครองจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครอง และการได้รับการคุ้มครองเช่นนั้นก็เสมือนได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้า เพราะอำนาจผู้ปกครองเป็นอำนาจที่พระเจ้าประทานมา หรืออีกนัยหนึ่ง การได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครอง ย่อมเสมือนถูกคุ้มครองโดยโอรสของเทพ เทพอวตาร สมมติเทพ ที่มีอำนาจสูงส่งเหนือสามัญมนุษย์

ในยามบ้านเมืองสงบ ผู้ใต้ปกครองย่อมถูกเกณฑ์แรงงานมาสร้างปราสาทราชวังและศาสนสถาน ยิ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ใหญ่โตและวิจิตรอลังการมากเท่าใด ยิ่งแสดงถึงบารมีหรือบุญญาธิการของผู้ปกครองที่จักนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่มวลไพร่ ทาส ส่วนในยามสงคราม เหล่าไพร่ ทาส ก็ย่อมถูกเกณฑ์ไปฝึกทหารเพื่อเป็นนักรบที่พร้อมจะพลีชีพด้วยความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง แน่นอนว่าบรรดาไพร่ ทาส ย่อมไม่ถูกนับเป็น “วีรชน” ผู้ปกป้องแผ่นดินและสร้างบ้านแปงเมือง เพราะสถานะสูงส่งเช่นนี้ย่อมคู่ควรกับผู้สูงส่งคือชนชั้นปกครองเท่านั้น 

ด้วยความหมายของสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ศีลธรรมของผู้ปกครอง และศีลธรรมของผู้ใต้ปกครอง รวมทั้งกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนฐานความเชื่อทางศาสนา ที่ชนชั้นปกครองและผู้นำศาสนาร่วมกันกำหนดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้ระบบเผด็จการในสังคมที่ศาสนารุ่งเรืองดำรงอยู่อย่างยาวนานหลายพันปี

เมื่อชนชั้นปกครองและผู้นำศาสนาร่วมกันสถาปนาสถานะ อำนาจ ศีลธรรมของผู้ปกครอง และศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองแล้ว พวกเขาก็สอนศีลธรรมในความหมายของ “หน้าที่” อันควรปฏิบัติตามสถานภาพทางสังคม เช่นหน้าที่ระหว่างพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ลูก ลูกศิษย์ สามี ภรรยา เพื่อนกับเพื่อน นายกับทาส นักบวชกับฆราวาส ควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร

ส่วนศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณของตัวเอง นั่นคือ แต่ละคนต้องรักษาศรัทธาต่อพระเจ้า ควบคุมจิตใจตัวเองให้มุ่งมั่นปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการมีชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์ของพระเจ้า สำหรับศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า แต่ละคนก็ต้องมุ่งขัดเกลากิเลสตนเอง เพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

น่าสังเกตว่า ขณะที่ศาสนาสถาปนาสถานะ อำนาจ ศีลธรรมของผู้ปกครองและศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองซึ่งมีลักษณะของการสร้าง “ระบบชนชั้น” แบบศักดินา ไพร่ ทาสอย่างตายตัว แต่เมื่อศาสนาเสนอศีลธรรมส่วนบุคคลหรือศีลธรรมเกี่ยวกับการดูแลจิตวิญญาณของตนเอง ศาสนามักจะชี้ว่า ความจริงทางโลก (ซึ่งศาสนานั่นแหละสร้างขึ้น) เป็น “มายา” ไม่ควรยึดติด ควรเข้าถึงความจริงที่แท้จริงคือพระเจ้า,สวรรค์, นิพพาน เป็นต้น

จึงเท่ากับว่า ศาสนาได้ทำให้สถานะ อำนาจของชนชั้นปกครองและระบบชนชั้นทางสังคมเป็น “ความจริงที่ตายตัว” ในสำนึกของชนชั้นปกครองและความทรงจำร่วมทางสังคม เพราะเป็นความจริงที่กำหนดมาโดยพระเจ้า และกำหนดขึ้นบนการอ้างอิงธรรมะ แต่ขณะเดียวกันศาสนากลับสอนให้บุคคลแต่ละคนที่มุ่งขัดเกลาจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึงความจริงแท้คือพระเจ้าหรือนิพพานมองว่า ความจริงทางสังคมและการเมืองเป็นเพียง “มายา” หรือ “สิ่งสมมติ” ที่ไม่มีคุณค่าเทียบได้กับความจริงแท้ของพระเจ้าหรือนิพพานได้เลย

สภาวะย้อนแย้งดังกล่าวนี้เองที่ ทำให้ระบบการปกครองแบบเผด็จการกับความเจริญด้านจิตวิญญาณดำรงอยู่คู่ขนานกันมายาวนาน ในสังคมที่ศาสนามีอำนาจให้คำตอบทั้งศีลธรรมทางสังคมและศีลธรรมส่วนบุคคล

เพราะภายใต้ระบบศีลธรรมทางสังคมและศีลธรรมส่วนบุคคลเช่นนี้ ย่อมยากที่จะก่อให้เกิดสำนึกในความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิและอำนาจเปลี่ยนแปลงระบบสังคมการเมือง เพราะระบบสังคมการเมืองถูกกำหนดมาจากอำนาจเบื้องบนที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะกล้าตั้งคำถามหรือต่อกรได้ หากไม่พอใจระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ “ลดค่าของมันลงให้กลายเป็นเพียงมายา” และถือว่า คุณค่าทางจิตวิญญาณสูงส่งกว่าเสมอไป เพราะชีวิตในโลกนี้แสนสั้น การดูแลจิตวิญญาณเพื่อชีวิตนิรันดร์ในโลกหน้า หรือเพื่อความหลุดพ้นไม่กลับมาเกิดใหม่ทนทุกข์ในโลกมายา ย่อมสำคัญกว่า        

ดูเหมือนจะเห็นได้เพียงอารยธรรมกรีก ที่สถาปนาระบบการเมืองแบบทางโลก ถือว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของอำนาจเด็ดขาดของผู้ปกครองเพียงคนเดียวที่มีสถานะเป็น “อภิมนุษย์” แต่การเมืองเป็นเรื่องของ “การต่อรองระหว่างพลเมืองที่เสมอภาค” เช่นการบัญญัติกฎหมายมาจากการใช้เหตุผลถกเถียงในสภาของพลเมืองที่เสมอภาค แต่การเมืองเช่นนี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะพัฒนามาสู่การให้กำเนิดการเมืองแบบทางโลกขึ้นในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการเมืองที่หลุดพ้นจากการเมืองแบบศาสนายุคกลางของยุโรป และการเมืองแบบทางโลกเช่นนี้ก็ขยายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมา

พลังทางความคิดที่ทำให้เกิดระบบการเมืองแบบทางโลกคือ “ศีลธรรมโลกวิสัย” หรือ secular morality ที่เป็นคุณค่าหรืออุดมคติแบบยุคสว่าง (Enlightenment) ซึ่งเกิดจากแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม มนุษยนิยมที่ถือว่า “ศีลธรรม-เสรีภาพ-ความเป็นมนุษย์” ไม่อาจแยกจากกัน คุณมีศีลธรรมไม่ได้ ถ้าหากคุณไม่มีอิสระในการการกำหนดตนเอง (autonomy) ด้วยการใช้ความคิดของตนเองพิจารณาว่าอะไรถูก อะไรผิด ควรทำ ไม่ควรทำ และอะไรคือกฎศีลธรรม (moral law) ที่อธิบายได้ว่า “free and fair” ในการอยู่ร่วมกันระหว่างตัวเราเองกับคนอื่นในฐานะคนเท่ากัน เมื่อมีอิสระที่จะใช้ความคิดตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมและสร้างกฎทางศีลธรรมด้วยตนเองได้ ก็แปลว่า มีเสรีภาพเลือกการมีมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีได้

นัยสำคัญของศีลธรรมแบบ secular จึงหมายถึง “การมีเสรีภาพจากศีลธรรมศาสนา” ซึ่งเป็นศีลธรรมแบบข้อผูกมัด กฎ คำสั่ง หรือข้อบังคับของพระเจ้า หรือศีลธรรมที่มาจากความเชื่อทางศาสนาใดๆ มนุษย์จึงไม่ควรถูกบังคับให้ทำตามศีลธรรมศาสนาแบบยุคกลาง และยุคโบราณอีกต่อไป

ถ้าหากใครจะเชื่อและปฏิบัติตามศีลธรรมศาสนา ก็ถือเป็น “เสรีภาพส่วนบุคคล” หรือเป็นเรื่องที่แต่ละคนสมัครใจเลือกเอง อำนาจรัฐหรือศาสนจักรจะมาบังคับกะเกณฑ์ไม่ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้การเมืองการปกครองจึงต้องแยกเป็นอิสระจากศีลธรรมศาสนา ไม่มีการใช้อำนาจรัฐ, การบัญญัติกฎหมายที่อิงความเชื่อเฉพาะของศาสนาใดๆ อีกต่อไป อำนาจรัฐและการบัญญัติกฎหมายเป็นเรื่องทางโลก หรือเป็นข้อตกลงร่วมกันของพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ศีลธรรมโลกวิสัย หรือ secular morality จึงกลายเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำให้ศาสนาในปัจจุบันไม่อาจสร้างรากฐานของศีลธรรมทางสังคมได้แบบยุคกลางและยุคโบราณอีกต่อไป

ความพยายามของศาสนาที่จะรักษาสถานะและบทบาทเดิมไว้ หรือต้องการสถาปนาระบบการเมืองการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย ให้ความชอบธรรมกับอำนาจรัฐ หรือต้องการเป็นศาสนาของรัฐ ต้องการให้รัฐอุปถัมภ์และส่งเสริมการเผยแพร่ความเชื่อแบบในอดีตที่ผ่านมา ย่อมขัดกับหลักการพื้นฐานของศีลธรรมโลกวิสัย คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์

ดังนั้น ภาพการเฆี่ยนคนรักร่วมเพศต่อหน้าสาธารณชน การมีกฎหมายประหารชีวิตคนรักร่วมเพศ หรือการใช้ความเชื่อทางศาสนาใดๆ ละเมิดสิทธิเท่าเทียมทางเพศ การใช้อำนาจรัฐบนฐานความเชื่อทางศาสนาที่ขัดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดหลักเสรีภาพทางศาสนาด้วยการบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในระบบการศึกษาของรัฐ จนทำให้พลเมืองไม่รู้จักศีลธรรมในความหมายอื่น หรือ secular morality นอกจากศีลธรรมแบบศาสนา ทั้งหมดนี้ (เป็นต้น) คือปรากฏการณ์ที่ศาสนาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่

ยิ่งกว่านั้น การทำให้ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ ให้ศาสนามีอำนาจสถาปนาศีลธรรมของรัฐ นอกจากขัดกับหลักการพื้นฐานของศีลธรรมโลกวิสัย หรือขัดกับการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังส่งผลให้มิติด้านจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาที่ควรงอกงามขึ้นภายใต้สังคมที่มีเสรีภาพทางความเชื่อ กลายเป็นมิติที่หายไปหรือ “ตาย” ไป เนื่องจากศาสนากลายเป็นเรื่องของอำนาจบังคับครอบงำและสร้างพันธนาการ มากกว่าที่จะเป็นพลังในการปลดปล่อยและสนับสนุนให้มนุษย์เติบโตทางความคิดและจิตวิญญาณ

คำถามสำคัญคือ ทำไมเราเห็นร่องรอยความงอกงามในมิติด้านจิตวิญญาณของศาสนาในสังคมยุคเผด็จการแบบโบราณและยุคกลาง แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรมทางสังคมแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนา นอกจากศาสนาในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบบ้านเราและอีกหลายประเทศ จะไม่พยายามปรับตัวหรือไม่มีวิสัยทัศน์ในการปรับตัวไปในทางที่เคารพศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการพยายามบังคับยึดเยียดศีลธรรมศาสนาให้เป็นศีลธรรมทางสังคม แต่กลับละเลย หรือปล่อยให้มิติด้านจิตวิญญาณเลือนหายหรือตายไป

พูดอีกอย่างคือ ศาสนาไม่สามารถเสนอมิติด้านปัญญาและกรุณา หรือความรักความเมตตาอย่างมีนัยสำคัญต่อการสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และภราดรภาพ ตรงกันข้ามศาสนาในบ้านเรากลับเรียกร้องการค้ำจุนจากอำนาจรัฐมากขึ้น สร้างทัศนะแบ่งแยกและเกลียดชังภายในศาสนาเดียวกันเองและระหว่างศาสนามากขึ้น มีแนวโน้มไปในทางเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น คือดำเนินไปในทิศทางที่ “เป็นภาระ” ของสังคมมากขึ้น ภายใต้การสร้างมายาคติว่า ศาสนามีบุญคุณต่อ “ชาติ(?)” มายาวนานจวบปัจจุบัน

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net