อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2) เธอแช่งให้คน 5 คนต้องตาย

ทำไมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำลังถูกบ่อนเซาะอย่างหนักมือจากหลากฝ่ายจึงมีความสำคัญกับชีวิตผู้คน ทำไมคนจำนวนหนึ่งต้องต่อสู้เพื่อให้สิ่งนี้ดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง 3 ชีวิตในงานชิ้นนี้มีคำตอบ

ถ้าคุณเติบโตในตระกูลที่มั่งคั่ง ทั้งชีวิตไม่เคยย่างกรายเข้าไปในโรงพยาบาลรัฐที่แออัดด้วยผู้คนที่มารอรับการรักษา คุณอาจไม่เข้าใจว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกอย่างลำลองว่าบัตรทองหรือ 30 บาท สำคัญอย่างไร หากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกบ่อนทำลายให้อ่อนแอลงหรือหายไป จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเหล่านั้น

หากคำว่า สิทธิ ดูแข็งกระด้างไปและคุณอาจไม่ค่อยเข้าใจนักว่า สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลคืออะไร ลองใช้ใจอ่านเรื่องราวของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3 คนนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวของตนผ่านความเจ็บป่วยที่พวกเขาแบกรับ แล้วคุณจะพบคำตอบ

เขาคงไม่มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้: ภาษิต ชุนศิริวัฒน์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ

ภาษิตเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เขารู้ตัวครั้งแรกตอนปี 2548 วัดพระบาทน้ำพุคือสถานที่ที่ทางบ้านของภาษิตจะนำตัวไปส่ง

“ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อครั้งแรกเลย แว้บแรกที่คิดคือจะอยู่ยังไง อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ใครรู้บ้าง ใครจะรังเกียจเราบ้าง ตอนนั้นอยู่ในห้องแคบๆ เล็กๆ ซื้อยาฆ่าแมลงมาแล้วด้วย นับหนึ่งถึงสิบๆ กินไม่กินดีๆ คนที่รู้สถานะตัวเองตอนนั้นไม่มีใครรับได้ ถ้าไม่เจอพยาบาลที่ดีคงไม่มีชีวิตมานั่งอยู่จนทุกวันนี้”

“ตอนนั้นมืดแปดด้านไปหมด ปี 2548 ยาต้านเข้าสู่ระบบแล้ว แต่ไปหาหมอทุกครั้งเสีย 30 บาท ไหนจะค่ากิน ค่าเดินทางแม่อีก ครั้งหนึ่งไปโรงพยาบาลก็ไม่ต่ำกว่าสามสี่ร้อย”

ด้วยอาชีพรับจ้างไม่จำเป็นต้องแจกแจงว่ารายได้ของภาษิตจะสูงต่ำอย่างไร เขาเล่าว่าช่วงปี 2538-2540 ราคายาต้านไวรัสตกเดือนละ 20,000 บาทต่อคน เวลาล่วงเลยมา ก่อนมีการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล ราคายาต้านไวรัสตกเดือนละ 2,400 บาทต่อคน หลังจากประกาศซีแอล ค่ายาลดฮวบเหลือ 800 บาท และเหลือเพียง 600 บาทในปัจจุบัน

“ยาสูตรที่ผมกิน ณ ปัจจุบัน สมัยก่อนจะแพงมาก ทุกวันนี้เหลือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งผมไม่ต้องจ่าย แต่ถ้าให้จ่าย 3,000 บาทก็จ่ายไม่ไหว เพราะต้องกินยาทุกเดือน ถามว่าทุกวันนี้มีระบบหลักประกันดียังไง มันก็ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่รอด สมัยก่อนถ้าต้องเรามานั่งร่วมจ่ายค่ายา เราก็คงไม่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้”

ท่ามกลางสถานการณ์หลักประกันสุขภาพที่กำลังสั่นคลอน ภาษิตบอกว่า

“เราก็ไม่รู้ทิศทางในอนาคตข้างหน้าว่าระบบหลักประกันจะเป็นแบบไหน จะต้องร่วมจ่ายมั้ย ถ้าเราต้องร่วมจ่าย เท่าที่ถามเพื่อนๆ หลายคนก็บอกว่าจ่ายไม่ไหว ถ้าต้องร่วมจ่าย ก็ไม่กิน ก็ตาย เพื่อนพูดแบบนี้เลยนะครับ บางคนกินยาสูตรเดือนละหมื่น สมมติถ้าต้องร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง 5,000 ปีละ 60,000 จ่ายไหวมั้ย หรือทำงานมาทั้งหมดแล้วต้องมาซื้อยากิน อันนี้ก็ตั้งคำถามกัน คุยกัน”

เธอแช่งให้คน 5 คนต้องตาย: กุหลาบ วิไลรัตน์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ

กุหลาบติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ในปี 2546 โชคไม่ดีที่ลูกเธอติดเชื้อด้วย ไม่ต่างจากใครๆ เมื่อรู้ว่าตนมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่าง เธอช็อก แต่นั่นยังไม่แย่เท่าตอนที่อาการเธอเริ่มทรุดจนไม่สามารถทำงานได้ บ้านทางฝ่ายสามีเธอจึงรับรู้และขับไล่ไสส่ง โชคยังดีที่สามีเธอเข้าใจ ไปตามกลับมาจากวัดพระบาทน้ำพุ

เวลานั้น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว แต่กว่ายาต้านไวรัสจะอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ปีล่วงเลยมาถึงปี 2548 แล้วระหว่างนี้เธอทำอย่างไร

“ตอนนั้นมียาของโครงการนภา โรงพยาบาลหนึ่งอาจให้ได้แค่ 30-40 คน ณ วันนี้เจอกันก็เป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ให้กำลังใจกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน แตกต่างจากอดีต เจอกันปุ๊บ พี่แช่งเลย เพราะว่ายังไม่ได้กินยาต้องรอให้อีกคนหนึ่งตายก่อน เพราะยาโครงการเข้ามาที่โรงพยาบาลจะได้ใช้แค่ 30 คน พี่ไปลงชื่อคนที่ 35 เพราะฉะนั้นจะต้องตาย 5 คนก่อน พี่ถึงจะได้กินยา

“เราไม่มีปัญญาซื้อยาเอง เพราะยาราคาค่อนข้างสูงมาก ตอนนั้นเราป่วย เราไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย เงินแค่ร้อยสองร้อยก็มีความหมายต่อเรามาก”

แต่กว่ากุหลาบจะได้รับยาจากโครงการนภาก็ต้องรอเกือบ 2 ปี เป็น 2 ปีที่เธอต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เธอใช้วิธีรักษาตามอาการ

“ตอนนั้นก็ใช้ระบบสงเคราะห์ บ้านเรามีฐานะค่อนข้างยากจน เราก็ไม่สามารถทำงานได้ เมื่อไปโรงพยาบาลก็ต้องขอระบบสงเคราะห์ ปฏิกิริยาก็ทราบกันอยู่ว่าใครเข้ามาป่วยในระบบอนาถาจะเป็นยังไง รออยู่ปีสองปี มันท้อทั้งกาย ท้อทั้งใจ คนในสภาวะนั้น งานก็ไม่มี ยาก็ไม่มี เงินก็ไม่มี มันก็จะใช้ชีวิตคล้ายๆ กับให้หมดไปวันๆ

"พี่แช่งเลย เพราะว่ายังไม่ได้กินยาต้องรอให้อีกคนหนึ่งตายก่อน เพราะยาโครงการเข้ามาที่โรงพยาบาลจะได้ใช้แค่ 30 คน พี่ไปลงชื่อคนที่ 35 เพราะฉะนั้นจะต้องตาย 5 คนก่อน พี่ถึงจะได้กินยา เราไม่มีปัญญาซื้อยาเอง เพราะยาราคาค่อนข้างสูงมาก ตอนนั้นเราป่วย เราไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย เงินแค่ร้อยสองร้อยก็มีความหมายต่อเรามาก”

“พี่ต้องคอยติดตามข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ยาจะเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ให้พวกเราได้กิน ก็รักษาชีวิตไว้รอจนถึงวันนั้น พี่ก็ยังคิดว่ารอดมาจนถึงวันนี้เพราะได้รับยาต้านจากหลักประกันสุขภาพ ถ้ากลับไปเป็นระบบสงเคราะห์อีก เราคิดว่าไม่โอเค เราก็ต้องสู้กันต่อไป”

จ่ายเงินซื้อชีวิต: ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย

ธนพลธ์เป็นโรคไตวายเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ครอบคลุมโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างโรคไตวาย เขาเล่าว่าเวลานั้นค่าจ่ายในการฟอกเลือดและค่ายาแต่ละครั้งสูงมาก

“ตอนที่ผมเป็นไตวาย ค่าฟอกเลือดครั้งหนึ่ง 3,500 บาท ค่ายาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดแดงที่ผมใช้เข็มหนึ่งตก 1,500 บาท ไปฟอกหนึ่งครั้งใช้เงินประมาณ 5,000 บาท ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่ากิน ฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เดือนหนึ่งก็ประมาณ 12 ครั้ง ตก 60,000 บาท ถ้าเราจ่ายเองตลอด เราไม่สามารถยืนอยู่ได้ แล้วสมัยที่ผมเป็นคนไข้โรคไตวายมีประมาณหกเจ็ดพันคน ถามว่าคนกลุ่มนี้ไปไหนหมด พวกเขาเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล แล้วถ้าจะไม่ให้ตัวเองตายก็ต้องขายบ้าน ขายรถ ขายที่ ทุกอย่าง เพื่อเอาเงินมารักษาพยาบาลตัวเอง”

การเป็นไตวายยังทำให้เขาต้องออกจากงาน เนื่องจากต้องลาไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ธนพลธ์โชคดีอยู่บ้างที่พอจะมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งเพื่อยื้อชีวิต

เราถามว่า เหตุใดจึงไม่ไปฟอกไตในโรงพยาบาลรัฐที่น่าจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ธนพลธ์อธิบายว่า โรงพยาบาลรัฐจะมีไว้ฟอกสำหรับคนไข้ฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายต้องไปฟอกในหน่วยไตที่เป็นของเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่

กลุ่มผู้ป่วยโรคไตกลุ่มเล็กๆ รวมตัวกันเมื่อปี 2549 เริ่มต่อสู้และเรียกร้องให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมโรคไต

“พอมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมโรคไตวาย หลังจากนั้นค่าฟอกไตก็ลดลงมาบ้าง แต่ถึงแม้จะมีครอบคลุมแล้ว เราก็ยังต้องร่วมจ่ายในช่วงแรก ในยุคนั้นค่าฟอกไตลดลงมาเหลือ 1,500 เดือนหนึ่งอยู่ประมาณ 18,000 กว่าบาท รัฐออกให้ 1,000 บาท เราร่วมจ่าย 500 บาท 12 ครั้งก็ 6,000 บาท ก็ยังทำให้เราตกอยู่ในชะตากรรมที่ลำบากเหมือนเดิม”

หลัง 1 ตุลาคม 2551 ผู้ป่วยโรคไตก็ไม่ต้องร่วมจ่ายอีกต่อไป มีการล้างไตทางช่องท้องเข้ามา ซึ่งธนพลธ์ย้ำว่ามีประโยชน์มาก ช่วยให้คนเข้าถึงบริการ คนไข้โรคไตสามารถล้างไตทางช่องท้องเองที่บ้านได้

“คุณล้างเอง อยู่กับครอบครัว อยู่บนดอย สปสช. ส่งน้ำยาล้างไตให้คุณถึงบ้าน เดือนหนึ่งหมอนัดครั้งหนึ่งเพื่อติดตามอาการ คุณก็สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

“ตอนที่ไม่มีระบบหลักประกัน ก็เหมือนกับคนเราเดินไปซื้อชีวิตที่หน่วยบริการ ในอดีต คุณต้องจ่ายเงินก่อนเข้าเครื่อง ถ้าไม่จ่าย คุณไม่สามารถเข้าเครื่องได้ ช่วงนั้น ผมนอนฟอกเลือดอยู่ ผมเห็นวันนี้ คนนี้มาฟอก เว้นไปอีกสองสามวันทำไมคนนี้ไม่มาฟอก หายไป พอเขากลับมา ผมก็ถามว่าไปไหนมา เขาตอบว่าไม่มีเงินมาฟอก ไปหาเงิน พอมาฟอกก็หายไปอีกสี่ห้าวัน แล้วกลับมาฟอก มันทำให้คุณภาพชีวิตเขาแย่ลง แล้วบางคนรอไม่ได้ก็ต้องจากไป ใครที่จะมาฟอกอย่างสม่ำเสมอก็ต้องไปขายที่ ขายบ้าน สุดท้ายก็ตาย ตายอย่างเดียวไม่ว่า สร้างภาระหนี้สินไว้ให้คนข้างหลังอีก

“ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคไตมีชีวิตรอดมากกว่า 24,000 คน ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งที่ดีที่สุดคือเขาได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเหมือนในอดีต ถ้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าล่ม ก็ให้ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ระบบจะถอยหลังเข้าคลอง สิ่งที่ทำมาสิบกว่าปีจะกลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ คนไข้โรคไตก็กลับไปเสียชีวิตเหมือนเดิม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท