Skip to main content
sharethis

ต่อให้เรามีตูน บอดี้สแลมมากกว่าหนึ่งคนและก้าววิ่งอีกหลายพันกิโลเมตร เงินบริจาคที่ได้จะเพียงแค่ผ่อนผันปัญหาเฉพาะหน้าออกไป ระบบสุขภาพใหญ่โตเกินกว่าใครคนหนึ่งจะแบกไว้บนบ่าตามลำพัง

อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม เริ่มออกวิ่งเพื่อระดมเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นแคมเปญใหญ่อีกครั้งของร็อคสตาร์ผู้นี้ที่คาดว่าจะระดมเงินบริจาคได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้

การออกวิ่งครั้งนี้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ มีกัดแซะตัวบุคคลบ้าง แต่นั่นมิได้มุ่งโจมตีตัวตูน บอดี้สแลม สุ้มเสียงส่วนใหญ่พุ่งไปยังการบริหารงบประมาณของรัฐบาลทหารที่ให้ความสำคัญกับอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าสุขภาพของคน 48 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่เราเองก็ตอบไม่ได้ว่าจะเอาไปรบกับใคร และการหาหนทางสร้างสวัสดิการสุขภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนในประเทศ

ต่อให้เรามีตูน บอดี้สแลมมากกว่าหนึ่งคนและก้าววิ่งอีกหลายพันกิโลเมตร เงินบริจาคที่ได้จะเพียงแค่ผ่อนผันปัญหาเฉพาะหน้าออกไป ระบบสุขภาพใหญ่โตเกินกว่าใครคนหนึ่งจะแบกไว้บนบ่าตามลำพัง

‘ประชาไท’ พูดคุยกับสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ทำความเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำไมสิ่งนี้จึงควรถูกผลักดันให้ดีขึ้น มิใช่แย่ลง

1

“การวิ่งของตูน บอดี้สแลมเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมไทย คนไทยชอบบริจาคขอแค่มีคนมานำทางในการบริจาค มันเข้าจริตสังคมไทย แต่ถามว่าแล้วเงินที่ได้มาจะแก้ปัญหาได้ไหม มันแก้ไม่ได้อยู่แล้วเพราะระบบมันใหญ่กว่านั้น คุณได้เงินไป 60-70 ล้านให้โรงพยาบาลบางสะพานก็อาจจะซื้อยา ซื้อเครื่องมือได้ แต่ซื้อหมอ หาหมอไปอยู่ไม่ได้ บางสะพานก็มีปัญหาเหมือนเดิม ค่าเหมาจ่ายรายหัวหัวละ 3,000 ควรต้องขยับอีกเล็กน้อยเป็น 3,500 อาจต้องการเงินเพิ่มอีก 25,000 ล้าน ตูนวิ่งเท่าไหร่ก็ได้ไม่ถึง 25,000 ล้าน”

2

“มันเป็นการบ่อนทำลายในเชิงแนวคิด การจัดหลักประกันสุขภาพเป็นแนวคิดที่รัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นคู่ขัดแย้งกับการจัดสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าคือจัดสำหรับทุกคนไม่เลือกคนจน คนรวย เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องของความยากไร้ แต่ต้องจัดให้ทุกคนไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นอย่างไร”

3

“ในรัฐธรรมนูญไม่ควรระบุว่าสวัสดิการเป็นของคนยากไร้เท่านั้น อันนี้เป็นชุดความคิดแรกที่ทำให้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าถูกบ่อนเซาะ แล้วต่อไปมันจะถูกบ่อนเซาะมากที่สุดด้วยคำว่า เราจัดสวัสดิการไม่ได้เพราะเราไม่มีเงินพอที่จะจัดสำหรับทุกคน พอพูดแบบนี้การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าก็เป็นจริงไม่ได้ เงินที่มีอยู่จึงจัดให้เฉพาะคนจน ดังนั้น นโยบายลงทะเบียนคนจนมีขึ้นเพื่อจะรู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน จะได้หากลุ่มเป้าหมายให้เจอ นี่คือการที่บ่อนทำลายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

4

“เงินเหมาจ่ายรายหัวของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่พอ มันควรเพิ่มไปอีกเล็กน้อย จะทำให้มันหลวมๆ ไม่มีภาระเรื่องของการขาดสภาพคล่อง ถ้ามันเพิ่มไปอีกสัก 100-200 บาทต่อหัวจะมีสภาพคล่องมากขึ้น เพราะเราต้องโตให้ทันเทคโนโลยี โตให้ทันยา ทันภาวะค่าเงิน ที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับภาวะของค่าเงิน การเพิ่มในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเพิ่มแบบไม่มีเหตุผล แต่เพิ่มตามสัดส่วนงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ปัญหาใหญ่ของหลักประกันสุขภาพคือการจัดการระบบมันมีปัญหา”

5

“รัฐใช้เงินจัดสวัสดิการสุขภาพไม่เสมอภาคกัน ถ้าเอาเงินมารวมกัน (หมายถึงสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะยิ่งสามารถจัดสวัสดิการได้ดีกว่านี้ บริหารได้ดีกว่านี้ ตอนนี้เอาภาระของคนแรกเกิดกับคนอายุ 60 ปีมาไว้ที่ระบบบัตรทอง แต่ประกันสังคมเอาวัยทำงานอายุ 25-55 ปีที่ร่างกายยังแข็งแรงไป แล้วข้าราชการก็ใช้แบบไม่บันยะบันยัง มันเป็นการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐที่ไม่สามารถบริหารให้เป็นระบบเดียวกันได้ แต่วิธีสื่อสารบอกแต่ว่าโรงพยาบาลขาดทุนเพราะระบบบัตรทองอย่างเดียว แต่ไม่ได้บอกว่าขาดทุนจากการบริหารทั้งระบบ”

6

“การยุบรวมสามกองทุนเป็นเรื่องยากมาก เราไม่มีพลังมวลชนพอ ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน ข้าราชการเขาไม่ได้สนใจอยู่แล้ว อย่ายุ่งกับเขาพอ เขามีบัตรของเขา เขาสบายใจ ประกันสังคมแทบไม่มีมวลชนเลย กลุ่มบัตรทองตอนนี้แค่ปกป้องระบบตัวเองก็จะไม่รอดแล้ว เรื่องหลอมรวมพูดกันมาสิบกว่าปี คนไม่รู้สึกตื่นเต้นกับตัวเลขที่เราพูดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมาจ่ายรายหัว 3,000 บาทต่อหัว ประกันสังคม 2,700 บาทต่อหัว แต่ข้าราชการหมื่นกว่าบาท ก็เฉยๆ กัน เหมือนยอมรับสภาพว่าเราเป็นคนจน น่าจะได้เท่านี้”

7

“ไม่ใช่ว่าเงินไม่พอ ถ้าเอาเงินทั้งหมดมาบริหารจริงจัง มันพอ มันไม่ใช่การรักษาพยาบาล ไม่ใช่เรื่องคนมีเงินควรจะจ่าย คนไม่มีควรได้รับการสงเคราะห์ แล้วคนมีเงินจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะถ้าคุณต้องจ่ายเองทั้งหมด คุณล้มละลายได้ทันที คุณจะผลักภาระการล้มละลายให้กับคนใกล้จน คนที่มีรายได้ปานกลาง คุณจะรับผิดชอบแค่คนจน แต่คนรวยก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะเขามีเงิน วิธีคิดแบบนี้ในสังคมไทยฟังขึ้นเพราะเราเชื่อว่าขอทานก็ให้ทานไป แต่คนที่ทำงานได้ก็ให้ทำงานไป การบอกว่าประเทศไทยมีเงินไม่พอ เราไม่เชื่อ มันไม่จริง เงินมี แต่มันกระจุกตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ที่รัฐไม่สามารถเอามากระจาย พอคุณทำไม่ได้ คุณก็เอาภาระนั้นมากดทับคนที่ยากลำบากที่สุดให้รับภาระ ให้กลายเป็นคนจนผ่านการลงทะเบียนคนจน ทั้งที่ประเทศไทยมีความมั่งคั่งทั้งเรื่องเงินและทรัพยากรที่สามารถบริหารจัดการประเทศให้มีคุณภาพและผู้คนมีศักดิ์ศรีได้มากกว่านี้”

8

“ไม่อยากเปรียบเทียบว่าเอาเงินไปซื้ออาวุธ แล้วทำให้หลักประกันสุขภาพไม่มีเงิน เพราะเขาไม่เคยเชื่อว่าหลักประกันสุขภาพดีกับประชาชน ไม่ได้เชื่อว่าสวัสดิการต้องจัดให้ทุกคน ดังนั้น ว่าไปก็ไม่รู้สึก เขาไม่รู้ว่าเป็นความผิดของเขาที่ไม่มีวิธีคิด ไม่มีวิธีบริหารจัดการการเงินการคลังเพื่อมนุษย์ เพื่อสังคม แต่ฉันจัดการตามที่ราชการส่งเรื่องมา”

9

“การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องการฉวยโอกาสที่พอดิบพอดี เมื่อ สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) บอกว่าไม่ถูกต้อง ถ้าจะทำให้ถูก ต้องแก้กฎหมาย มันมีความพยายามจะแก้กฎหมายนี้มานานก่อนการรัฐประหาร พอมีรัฐประหารครั้งใดก็จะมีคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต เขาก็ไม่รู้จะหยิบเรื่องมาจากไหน ก็ต้องไปหยิบเรื่องจาก สตง. แล้วเวลาหยิบเรื่องเหล่านี้มาก็ต้องปรึกษากับหน่วยงานราชการ ก็คือกระทรวงสาธารณสุข มันก็เป็นจังหวะที่ดีที่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลทหารที่ไม่มีใครคานอำนาจจะชงเรื่องการแก้กฎหมาย ซึ่งเพียงแต่ทำให้อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ต่อไปอำนาจของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะลดน้อยถอยลง ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออก สปสช. ก็ทำงานตัวเองต่อไป เงินยังอยู่ที่ สปสช. แต่ยกเว้นการซื้อยาที่มีกระทรวงสาธารณสุขมาแบ่งอำนาจ”

10

“คนที่ไม่ชอบหลักประกันสุขภาพคงมีไม่กี่คน ระบบข้าราชการก็ไม่ชอบ เพราะมันทำลายศักดิ์ศรีของผู้ให้บริการ บริษัทยาก็คงไม่ชอบเพราะมีการต่อรองราคายา หมอทั้งหมดแทบไม่มีอำนาจตัดสินใจในวิธีรักษาของเขา เขาอยากใช้ยาแบบนี้ อยากใช้นู่นนี่นั่น เป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ แต่ถูกบังคับด้วยหลักประกัน แต่เขาควรมองว่าถ้าประชาชนใช้หลักประกันสุขภาพเอกชน บริษัทประกันสุขภาพเอกชนก็บังคับเขาทุกอย่างเหมือนกัน บริษัทประกันสุขภาพเอกชนจะขายความสบาย ขายค่าห้อง คุณจ่ายเงินปีละหมื่นห้าจะได้ค่าห้องวันละห้าพัน วันละหมื่น แต่ค่ารักษามันยุบยิบ เอาเข้าจริงอันนี้อาจจะได้ อันนี้อาจจะไม่ได้ เราไม่รู้อะไรเลย”

11

“การที่เงินเดือนรวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีประชากรเยอะก็จะได้เงินเยอะ ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง ประชากรเยอะมาก แต่หมอน้อย เงินก็ควรจะไปเยอะๆ ตรงนั้น แล้วเอาเงินที่เหลืออยู่จ้างหมอเพิ่มได้ วิธีคิดเป็นแบบนี้ แล้วที่มีหมอเยอะๆ ประชากรน้อย เงินก็ได้น้อย (เพื่อให้แพทย์กระจายไปยังพื้นที่ที่ต้องการแพทย์มากกว่า) แต่ถ้าแยกเงินเดือนเมื่อไหร่มีปัญหาทันที หมายถึงว่ายิ่งไม่ต้องทำอะไร หมอก็อยู่กับที่ คงไม่มีคนขยับตัวไปไหน โรงพยาบาลที่มีประชากรเยอะ มีเงินเยอะ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะหมอไม่ไหลไปหาเขา หรือการที่จ้างหมอเพิ่มไม่ได้เป็นเพราะระบบ เนื่องจากทุกคนเป็นข้าราชการ ข้าราชการก็ไปตามตำแหน่ง มีอัตรา ไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่ขึ้นอยู่กับปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าจะย้ายใคร”

12

“ในเจตนารมย์กฎหมายหลักประกันสุขภาพ การบริหารระบบไม่จำเป็นต้องให้ สปสช. เป็นผู้ทำคนเดียว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่พร้อมบริหารระบบได้ มีศักยภาพ ก็ต้องให้เขาทำ ให้เงินเขาบริหารเอง ถ้าประชากรเขาป่วยที่อื่นจะดูแลส่งต่ออย่างไรก็เรื่องของเขา มันก็จะมีความหลากหลาย และมีความเป็นเจ้าของของระบบ แต่ตอนนี้เขาจะปิดทา’ไม่ให้องค์กรภาคเอกชนรับเงินเลย ห้ามมารับเงินจากกองทุน โดยอ้างว่าเงินกองทุนใช้เพื่อรักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบจากเดิมที่โปร่งใส มีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไป อาจจะลดน้อยถอยลงในการเข้าไปมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ ร่วมประเมินติดตาม”

13

“เราเสนอให้โรงพยาบาลเป็นของชุมชน ไม่ต้องเป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนในพื้นที่วิ่งกันเองสิ ไม่ต้องให้ตูนวิ่ง ให้พวกเราดูแลโรงพยาบาลของเราเอง เราจะทำกฐิน ผ้าป่าของเราเอง ถ้ามันเป็นของเรา เราจะหาอุปกรณ์ หาหมอมาใส่โรงพยาบาลของเราเอง เงินก็บริหารโดยคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนของประชาสังคม หมอ คนที่เกี่ยวข้องในอำเภอเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องสังกัดรัฐ ควรเป็นองค์การมหาชน แล้วทุกคนจ่ายสิบบาท ถ้าอยากจ่าย อยากบริจาค ถ้าคนบริจาคคนละสิบบาทก็ดูแลโรงพยาบาลของตัวเองได้ ไม่ต้องให้ตูนวิ่ง พวกเราจะวิ่งกันเอง ทำให้เขาอยู่ได้ยาว ได้ทั้งของ ทั้งคน ทั้งการดูแลอุปกรณ์ในระยะยาว เงินที่ได้ไม่ใช่ได้ปีเดียวจบ เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

14

“ถ้ามองไปข้างหน้า กรรมการหลักประกันสุขภาพต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น หมายถึงคนที่เป็นกลาง เช่น ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ควรเป็นพลังเพื่อดูแลระบบให้ดี แต่เราคงจะได้องค์ประกอบที่บิดเบี้ยวเข้ามา เราคงได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่อาจเชื่อว่าไม่ต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ต้องทำให้หลักประกันสุขภาพเป็นระบบถ้วนหน้าก็ได้ อนาคตอาจจะยากลำบาก แต่ไม่ใช่ทางตันเสียทีเดียว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net