Skip to main content
sharethis

เสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้ปรัชญาการเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องที่เกี่ยวพันกับ 'รัฐ' ถ้าแต่เป็นการตั้งคำถามกับกรอบความคิดที่ครอบเราอยู๋ ผ่านการมองโลกด้วยสายตาของเด็ก ย้ำปรัชญาการเมืองจะตายก็ต่อเมื่อไม่มีความรักเหลืออยู่ในสังคม หากจะฆ่าปรัชญาการเมืองก็ต้องทำลายความรัก

คลิปอภิปราย "ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?" โดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และช่วงตอบคำถาม

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2560 ที่ห้อง ร 102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" (Political Philosophy: A very short introduction) โดยมีการเสวนาในหัวข้อ ปรัชญาการเมืองตายแล้ว ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยงานเสวนาครั้งนี้ร่วมจัดโดยสำนักพิมพ์ open worlds และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม

ชัยวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการระบุถึงคำกล่าวที่ว่า “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว” ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีหลายคนที่พูดคำนี้ด้วยคำอธิบายและเหตุผลที่ต่างกันไป แต่ภายใต้กระแสธารที่บอกว่าปรัชญาการเมืองตายไปแล้วนั้น ก็ยังมีผู้คนที่อยู่ในอีกกระแสหนึ่งที่เห็นว่า ปรัชญาการเมืองไม่เคยตาย

“ที่น่าสนใจมันไม่ใช่ตัววิชาปรัชญาการเมืองไง ปรัชญาการเมืองมันเป็น อรูป มันไปอยู่ในที่ต่างๆ ได้ มันไม่ได้ต้องอยู่ในคณะปรัชญา หรือวิชาปรัชญาการเมือง คุณไปดูตำราปรัชญาการเมืองจริงๆ มันอาจจะน่าเบื่อมาก แต่มันไปอยู่ในละคร วรรณกรรม มันไปอยู่ในอะไรได้อีกเยอะเลย ในความหมายนี้ ฉะนั้นถามว่ามันตายแล้วหรือยัง ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่” ชัยวัฒน์ กล่าว

เขา อธิบายต่อไปถึงภาพการดืมเฮ็มล็อค ของโสเครติส ซึ่งมักจะมีการอธิบายกันว่า ในที่สุดแล้วโสเครติสอยมตายเพื่อให้ปรัชญาการเมืองคงอยู่ ชีวิตของปรัชญาการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลงที่ความตายของโสเครติส แต่ชีวิตของปรัชญาการเมืองยั่งยืนต่อไปในอะคาเดมี่ของเพลโต ยั่งยืนต่อไปในไลเซียมของอริสโตเติล ซึ่งนั้นหมายความว่าชีวิตของปรัชญาการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงเพราะคนหนึ่งตายลงไป แต่สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือ ปรัชญาการเมืองมีส่วนในการเปลี่ยนชีวิตคน ยกตัวอย่างเช่น เพลโต ก่อนหน้าที่จะพบกับโสเครติสเขาไม่ได้สนใจที่จะมาสอนในอะคาเดมี่ แต่ตั้งใจที่จะเป็นนักการเมือง แต่เมื่อกับการตั้งคำถามในเชิงปรัชญาการเมือง ความคิดของเพลโตก็เปลี่ยนไป

ชัยวัฒน์ ชวนตั้งคำถามต่อไปว่า เมื่อลองทบทวนงานวิชาการในช่วงที่ผ่านทำให้ชวนตั้งคำถามว่า ปรัชญาการเมืองต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับ รัฐ หรือเรื่องของการปกครอง หรือเรื่องของรัฐบาลเท่านั้นจริงๆ หรือ หรือว่ามีอะไรบ้างอย่างที่มากกว่านั้น เพราะสิ่งที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ เกษียร เรียกว่า ปุ่มกลางหลังของสังคม บางทีอาจจะไม่ได้มาจากรัฐ บางทีมาจากศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องหยิบขึ้นมาดู และตั้งคำถามกับมัน

ชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ใครจะเป็นคนตั้งคำถามเหล่านี้ได้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเขาได้ขับรถไปคน คนหนึ่ง เมื่อผ่านตึกแห่งหนึ่งคนที่นั่งรถไปกับเขาถามเขาว่า น่าสนใจนะว่า ตึกนี้สร้างจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรือสร้างจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ท้ายที่สุดชัยวัฒน์เฉลยว่าคนที่ถามเป็นหลานสาวอายุ 8 ปี

“ผมเกือบจะจอดรถยกมือไหว้มัน แต่มันผิดวัฒนธรรมเพราะว่าไอ้หมอนี่เป็นหลานผมเอง อายุแปดขวบ เด็กผู้หญิง คือมันมีคำถามแบบนี้ในเด็กๆ พวกนี้จมเลย แล้วมันไม่ได้อยู่ในตำราไง แต่มันทำในสิ่งที่เกษียรบอกเรา คือมันตั้งคำถามในสิ่งที่เราไม่เคยคิด แต่หลายสิบปีผ่านไปเพื่อนผมที่ทำบริษัท สร้างอพาร์ทเม้นท์สำเร็จรูป ก็สร้างสำเร็จมาเลย ตอนนี้สร้างบนลงมาพวกตึกสูงๆ ก็อาจจะจำเป็นก็ได้ คือมันมีวิธีที่หลุดไปจากกรอบ อาจารย์เกษียรพูดเรื่องที่สำคัญมาก คือความไร้เดียงสา คำนี้มันเป็นคุณค่าสำคัญ ไอ้เราเนี่ยมันเดียงสาไปหมดแล้ว” ชัยวัฒน์ กล่าว

เขา อธิบายต่อไปว่า ความเดียงสาระนั้นเป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นโลกได้ด้วยดวงตาของเด็ก ซึ่งไม่ถูกเคลือบด้วยอคตินานาชนิดได้ ซึ่งเห็นได้ว่าเด็กตอนเล็กๆ เกิดมาก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร หรือผิวสีอะไร เด็กสามารถเด็กได้กับทุกคน แต่พอพ่อแม่สอน พอวัฒนธรรมบอก หรือเมื่อร้องเพลงชาติได้ เด็กก็รู้ว่าต่อจากนั้นเขาไม่เหมือนเดิมแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ปรัชญาการเมืองทำคือ ความพยายามที่จะนำความไร้เดียงสากลับมาใหม่

“คือเราทุกคน รวมถึงผมด้วยมันถูกเคลือบด้วยของเหล่าอย่าง ด้วยวัฒธรรม ประเพณี หรือด้วยสิ่งที่ตัวเองเรียน ปัญหานี้มันเป็นปัญหาใหญ่โตมากสำหรับผม วิชาบางวิชาผมหยุดสอนไปเป็น 10 ปี และเหตผลที่ผมหยุดสอนเพราะผมรู้สึกว่า ถ้านักศึกษาถามแล้วผมตอบได้หมด ผมไม่สอน เมื่อไหร่ที่เขาถามแล้วผมตอบได้หมด ผมมีปัญหาแล้ว ผมรู้เกินไป เป็นอันตรายมาก และผมคิดว่าผมถูกไง แต่วิชาปรัชญาที่ผมสอนอยู่เพราะผมเห็นว่ามันมีคำถามที่ผมตอบไม่ได้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย และเวลาผมนั่งฟังนักศึกษาถามมันมีคำถามแปลกๆ เยอะเลยซึ่งบางทีผมไม่เคยคิด ซึ่งอันนั้นคือชีวิตของปรัชญาที่มันดำเนินต่อไป” ชัยวัฒน์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า หากจะถามว่าปรัชญาการเมืองจะตายวันไหน คำตอบที่ได้คือ วันที่ไม่มีความรักเหลืออยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่นักวิชาการหลายคนเคยเสนอมาว่าปรัชญาการเมืองตายแล้ว เท่ากับเป็นการมองไม่เห็นเลยว่าอะไรคือส่วนสำคัญที่สุดของความเป็นปรัชญา เพราะส่วนสำคัญที่สุดของปรัชญาคือ ความรักในปัญญา ซึ่งความรักที่ว่านี้ไม่ใช่ความรักแบบความหลงไหล หรือไม่ใช่ความรักในเชิงศาสนา แต่เป็นความรักรักฉันท์มิตร ซึ่งตราบใดที่ความรักลักษณะนี้ยังอยู่ ปรัชญาการเมืองก็ยังอยู่ ตราบใดที่มิตรภาพตาย ปรัชญาการเมืองก็ตาย

“มันไม่ใช่เหตุบังเอิญนะครับที่ ในที่สุดท้ายของ THE POLITICS  ปัญหาสำคัญที่อริสโตเติลพูดถึงคือเรื่องมิตรภาพ ไม่ใช่รูปของรัฐ ไม่ใช่ธรรมนูญ ไม่ใช่ของพวกนั้น แต่มิตรภาพกับความรักต่างหาก ที่ทำให้สังคมการเมืองมันอยู่ และสิ่งที่เรากำลังเจอตอนนี้ก็คือมีปัจจัยมากมายที่ทำลายสายสัมพันธ์พวกนี้ ความเชื่อใหม่ๆบางอย่าง อันตรายบางอย่าง ความเกลียดชังบางอย่างมันทำลายของพวกนี้หมดเลย ซึ่งถ้าทำลายหมดแล้ววันนั้นปรัชญาการเมืองถึงจะตาย แต่ถ้าเรานิยามปัญหาแบบนี้ หน้าที่ของปรัชญาการเมืองอาจจะเป็นการทำให้เห็นว่า ถ้าความรักยังอยู่ปรัชญาการเมืองก็ไม่ตาย ฉะนั้นหากจะฆ่าปรัชญาการเมืองต้องทำลายความรัก แต่ราคาของการทำลายความรักในสังคมการเมืองคืออะไร อันนี้ผมตอบไม่ได้” ชัยวัฒน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net