Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ประเทศไทยประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ค่าครองชีพสูง ช่วงปี พ.ศ. 2516-2517 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่ง ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเท่าตัว เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมาก ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองผูกขาดภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ทำให้ธุรกิจรายกลางรายเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) นี้ ไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 ครั้ง ในช่วง 2 แผนพัฒนาฯที่ผ่านมาเน้นการขยายตัวและเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างของความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเติบโตและขยายตัวของชนชั้นกลาง จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและปัญญาชนเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นตลาดวิชาเปิดดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 2 ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่3 (พ.ศ. 2515-2519)มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญสองเหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2516-2517 จึงมีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวกับการกระจายรายได้  โดยให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินนโยบายลดอัตราการเพิ่มของประชากร หรือ นโยบาย “คุมกำเนิด” และ ในระยะต่อมา นโยบายนี้ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลจนทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและอัตราการเกิดลดลงตามลำดับ จนกระทั่งได้สร้างปัญหาอัตราการเพิ่มขึ้นประชากรน้อยเกินไป คือ อยู่ที่ 0.5% เท่านั้น สภาวะนี้มีส่วนทำให้ปัญหาโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุอาจจะรุนแรงขึ้น

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่ พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้ว ได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีแต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และล่าสุดได้มีการประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 หากการจัดการเลือกตั้งและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยมีความเรียบร้อยและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยน่าจะประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งภายใต้การบูรณาการทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดขึ้นหากไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งต้องไม่มีรัฐประหารและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้านี้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะต้องแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาและยึดถือกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมในการเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการแก้ไขภายใต้ระบอบที่ประชาชนและชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิมีเสียงและมีการส่วนร่วมในการบริหารประเทศและออกกฎหมายมากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 41 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ความเป็นจริงที่พวกเรารับทราบ ก็คือ ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ พฤษภาคม 2553 หรือ เหตุการณ์รุนแรงช่วงปี 2551-2552 การรัฐประหารและความพยายามก่อการยึดอำนาจด้วยกำลังยังคงเกิดขึ้นหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในระยะเวลาต่อมา

และเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงขึ้นมาในอนาคตอีก คสช และ รัฐบาลประยุทธ์ ต้องทำตามสัญญาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และ คืนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งภายในเวลาที่ได้สัญญาเอาไว้ นอกจากนี้ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลต้องช่วยกันดูแลให้การร่างกฎหมายลูกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับทุกคนในประเทศ อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นกติกาที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ กฎหมายลูกที่ดีจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เกิดสายธารของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจาก “ทุนศักดินาสยาม” สู่ “ทุนไทยโลกาภิวัตน์” มากขึ้นตามลำดับ ระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดคลายตัวลงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มีการแข่งขันมากขึ้น โครงสร้างระบบทุนนิยมไทยจะยังมีอำนาจผูกขาดดำรงอยู่ทำให้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมากนักแม้นเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนการเมืองนั้นได้ย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์  ในระยะยาวแล้วระบบทุนนิยมเสรีจะเป็นของแปลกปลอมสำหรับระบอบเผด็จการ แม้นทั้งสองสิ่งนี้อาจยังดำรงอยู่ได้ร่วมกันระยะหนึ่ง  เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ระบบทุนนิยมจึงไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การอุบัติขึ้นของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และการแพร่ขยายของลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมาก การลดอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยสามารถดำเนินการโดยเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มเสรีภาพในการประกอบการ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจรายเล็กรายน้อย เพิ่มบทบาทของกลไกตลาดและบทบาทของภาคเอกชน เพิ่มอำนาจในการรวมกลุ่มของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ การรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

การศึกษาและสำรวจพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคมดังกล่าว  โดยในการให้ความเห็นจะไม่กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองในรายละเอียดแต่สามารถสรุปได้ว่า พัฒนาการทางการเมืองได้พัฒนาจาก ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมใหม่ๆ) สู่ ระบอบเผด็จการครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยเต็มใบ ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาให้เข้มแข็ง เมื่อเผชิญเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการเมืองและระบบราชการ และการบ่อนทำลายของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยหรือฝ่ายอภิชนาธิปไตย ทำให้เราคงอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองต่อไป และ สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความอ่อนแอทางการเมืองและสภาพล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยไทยทำให้ ประเทศสูญเสียโอกาสในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยกว่าประเทศที่เคยล้าหลังกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น 

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี 14 คณะ (นับคณะรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน) ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญร่างใหม่ (ไม่นับฉบับแก้ไขหรือฉบับชั่วคราว) 3 ฉบับ ( 2521, 2540 และ  2550) และขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2560 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในปี  พ.ศ. 2540 ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6 ฉบับ ตั้งแต่ ฉบับที่ 7 – 12 ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งยุคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ออกเป็น 6 ยุคสำคัญ คือ ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (2535-2538) ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (2539 – 2543) ยุคทักษิโณมิกส์ (2544 – 2549) ยุค คมช หลังรัฐประหาร 19 กันยายน (19 ก.ย. 2549-2550)  ยุคหลัง คมช และวิกฤติการเมืองขัดแย้งเหลืองแดง (2551-2557) ยุค คสช

( พ.ค. 2557-ปัจจุบัน) ประชาชนทุกกลุ่มต้องช่วยกันพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเพื่อให้ ยุคหลัง คสช เป็นยุคสมัยที่ไม่เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยอดีตอีก

พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จนถึงปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จจากการกระจุกตัวของการพัฒนาเมือง (Urbanization) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ (การเงินและการขนส่ง) ในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ แต่ล้มเหลวในการกระจายความเจริญสู่เมืองหลัก (Primal Cities) ต่าง ๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลในระดับประเทศเกิดขึ้นแต่เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ แม้ว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยจะดีขึ้น แต่ความสามารถและโอกาสทางธุรกิจกลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ จึงเท่ากับว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรมที่ต้องการเพียงแรงงานมีฝีมือราคาถูก (Labor-intensive Economy) แต่ล้มเหลวในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น (Technology-intensive Economy) ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ระบบฐานความรู้บนพื้นฐานของความยั่งยืนและความพอเพียง (Sustainable & Sufficiency Knowledge-based Economy/Society)

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นั้น สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยได้ยุติลงโดยมีนโยบาย 66/23 เป็นเครื่องมือสำคัญ ต่อมาประเทศไทยได้ผ่านช่วงความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530และได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 และกองทัพได้กลับไปเป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพจะเป็นเช่นใดต่อจากนี้ไปย่อมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งเราหวังว่าจะมีการปฏิรูปไปในทิศทางที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของประชาชน ของประชาคมโลก และ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

รายการ

2510

2511

2512

2513

2514

เฉลี่ยแผนฯ 2

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(ร้อยละ)

5.52

9.00

9.55

7.30

4.90

7.25

เกษตร

(5.90)

7.32

10.11

2.60

4.31

3.69

อุตสาหกรรม

9.87

10.05

10.65

9.50

10.24

10.06

ก่อสร้าง

19.00

8.95

4.50

(0.40)

1.30

6.67

บริการ

10.05

11.11

7.42

7.40

5.84

8.36

อัตราเงินเฟ้อ (ร้อยละ)

4.00

1.80

2.40

0.30

3.40

2.38

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/ธนาคารแห่งประเทศไทย


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้นำนักศึกษายุครณรงค์นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ปัจจุบัน ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net