สภาเด็กและเยาวชน กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่หายไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 9 กันยายน2560 ที่ผ่านมามีการจัดการประชุมเด็กและเยาวชนเพื่อที่จะคัดเลือก สมาชิกสภาเด็กเเละเยาวชน ในทุกพื้นที่ในประเทศไทย อันมีเหตุเนื่องมาจาก รัฐบาลของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ต้องการที่จะหว่านเมล็ดพันธ์แห่งประชาธิปไตย ที่จะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่หยั่งราก ในอนาคต

ตัวผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

สภาพภายในงาน คลาคล่ำไปด้วยเด็กๆในเขตตำบลบุ่งคล้า ซึ่งก็มีอายุตั้งแต่ 8-21ปี กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ตำบลบุ่งคล้า ซึ่งมีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน โดยที่แต่ละหมู่บ้านมีรักษาการสมาชิกองค์บริหารส่วนตำบลหมู่บ้านละ 2 คน

การเรียกประชุมเด็กและเยาวชนในเขตตำบลนี้จึงเป็นหน้าที่ของรักษาการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในการมอบหมายให้รักษาการสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเรียก หรือขอความร่วมมือจาก เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งบางหมู่บ้านเช่นหมู่ที่ 12 มีเยาวชนที่เข้าร่วมเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น แต่ในบางหมู่บ้าน ก็มีผู้เข้าประชุมดังกล่าวมากมาย โดยรวมแล้วมีผู้เข้าประชุมและร่วมลงชื่อทั้งหมด 101คน โดยยังไม่นับผู้เขียน

ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากพอสมควรทำให้เกิดคำถามว่า "เฮ้ยมีเด็กๆสนใจกันขนาดนี้เลยหรอวะ?"

เมื่อเริ่มงาน รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นวิทยากร ได้อธิบายถึงจุดประสงค์ในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนโดยการยกเอาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชนขององค์การสหประชาชาติ พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 โดยเนื้อหาที่วิทยากร กล่าวก็จะมีเรื่องที่กล่าวถึงหลักการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ในการพัฒนาชุมชนและเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับการเปิด VTR ของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเนื้อหาซ้ำกับที่วิทยากรได้พูดไปแล้ว โดยมีระยะเวลาการพูดอธิบายและการเปิด VTR กินเวลาประมาณ 30 นาที  

ในระหว่างนั้นก็มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่หยิบเอามือถือออกมาเล่น บ้างก็คุยกันเจ๊าะแจ๊ะ ทำให้ความคิดที่ว่า เด็กๆและเยาวชนรุ่นใหม่มีความสนใจในทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในมโนภาพ ของผู้เขียนมลายหายสิ้นไปโดยพลันทันที

กระทั่งถึงเวลาสำคัญในการเลือกสมาชิกสภาเด็กเเละเยาวชน ร่วมทั้งประธานสภาเด็กฯ รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ขอผู้ที่อาสาสมัครเข้ามาเป็นตัวแทน แต่ไม่มีใครที่จะอาสาเลยแม้แต่คนเดียว จนถึงที่สุดคณะผู้จัดกิจกรรมต้องเปลี่ยนวิธีใหม่เป็นการให้เสนอชื่อ แล้วให้ผู้ร่วมกิจกรรมยกมือโหวตจึงได้ตัวแทนสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนฯ ตามเป้าประสงค์ 

จากเหตุการดังกล่าวทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรล่ะที่เป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่มีความสนใจและทุ่มเทในเรื่องดังกล่าว

•  เหตุผลแรกคือการที่พวกเขายังเรียนอยู่จึงมิอยากหักเหความสนใจออกจากการเรียน

• การเรียนในโรงเรียนไม่มีการปลูกฝังค่านิยมทางการเมือง

• การขัดเกลาทางสังคม (socialization)

ภายในครอบครัวหัวข้อเรื่องการเมืองมิได้อยู่ในรายการการพูดในวงกินข้าว อันเนื่องมาจาก ลักษณะโครงสร้างทางสังคมของสังคมไทยนิยม "การยอมรับอำนาจ ไม่ใช่การตั้งข้อสงสัยในอำนาจ" ทำให้เด็กและเยาวชนไม่กล้าแสดงความเห็น หรือชี้แจงด้วยเหตุผล หรือแม้กระทั่งการพูดในที่ประชุมชนก็ยังมิกล้า

จากปัจจัยปัญหาความไม่กระตือรือร้นทางการเมืองดังกล่าว จะนำไปสู่การพัฒนาทางการเมืองได้อย่างเชื่องช้าและในไม่ช้าอำนาจในการตัดสินใจในเขตพื้นที่ก็อาจจะเปลี่ยนผ่านจาก สภาเด็กและเยาวชนไปสู่ผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ อบต.ผู้ซึ่งอ้างว่าตนมีวุฒิภาวะอันเหนือกว่านั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท