Skip to main content
sharethis

โครงสร้าง ก.ม. วิธีคิดไม่ใช่เปลี่ยนผ่านสู่ ปชต. ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา สังเกต ‘ประชารัฐ’ ไม่ใช่รัฐของประชาชน ไม่มีพื้นที่ให้นักการเมือง สมการ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของ ปชต. ที่หายไป ความสามัคคีที่มาจากอะไรก็ได้ วอนคนไทยคิดให้ไกลกว่านั้น ไม่เช่นนั้นหนีรัฐประหารไม่พ้น

พิชญ์ พงษ์สวัสดื์

เมื่อ 19 ก.ย. 2560 มีการจัดงานรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทยในหัวข้อ "อย่าให้เสียของ ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐ ในระบอบรัฐประหาร 2557" มี ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข ร่วมสนทนา ที่ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมการ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของ ปชต. ที่หายไป ความสามัคคีที่มาจากอะไรก็ได้ วอนคนไทยคิดให้ไกลกว่านั้น

คำว่าประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์มาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหลายครั้ง ที่พูดว่าประชาธิปไตยในไทยก็มีตั้ง 99.99 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่เคยห้ามใครวิพากษ์วิจารณ์แต่ห้ามต่อต้าน คำถามคือ ทำไม 0.01 เป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าสมการอยู่ที่ความเชื่อที่ว่าเสรีภาพทำให้เกิดความไม่มั่นคง ไม่สามัคคี จากนั้นเกิดวิกฤติ อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เราแตกความสามัคคีคือความเลวร้าย ดังนั้น การกดเราด้วยกฎหมาย ด้วยปืน ด้วยศาลทหารต่างๆ จึงถูกนับว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างระเบียบ ความสงบและสันติภาพ ดังนั้นการรักษาความสงบคือการรักษาสันติภาพ ทหารจึงคิดว่าตนเองเป็นผู้รักษาสันติภาพ (Peace Keeper) ประเทศไทยจึงอยู่ที่ความรักสามัคคี ถ้าพูดแบบนี้ก็กลับไปที่ท่อนแรกของเพลงชาติที่ร้องว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” แล้วจึงกลับมาที่ “เป็นประชารัฐ” ถ้าคุณอ่านงานของอัลธูแซร์ อุดมการณ์มันเริ่มตั้งแต่คุณตีความ เริ่มกล่าวถึงมันซ้ำๆ ตราบใดที่คุณร้องเพลงชาติประโยคแรกเท่ากับคุณเปล่งเสียงถึงอุดมการณ์นี้ทุกวัน มันถูกย้อนกลับมาเป็นผลผลิตร้อยแปด เช่น การคืนความสุข

สิ่งที่่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนผ่านระบอบไปสู่ดินแดนที่ไม่เคยเจอ ถ้าไม่คิดแบบนั้นคุณจะทุกข์กว่าถ้ามีวิธีคิดว่าเขามุ่งหน้าไปสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 6 ปีกว่า ซึ่งตอนนี้เขามองไป 20 ปีแล้ว คำถามคือว่า คณะรัฐประหารและพันธมิตรของเขาเรียนรู้บทเรียนของเขามามากแล้ว แล้วพวกเราเรียนรู้หรือเปล่า เราจะพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงสถาบันอย่างไรให้มีความเข้มแข็งขึ้น หรือ/และพัฒนาอุดมการณ์อย่างไรให้มีบทสนทนาเกี่ยวกับความสามัคคีได้ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจว่าฐานรากของประเทศเรามีอะไรมากไปกว่าความสามัคคีแล้ว มันก็จะวนกับวิธีให้เหตุผลการทำรัฐประหารแบบเดิมๆ ได้อีกครั้ง

สังเกต ‘ประชารัฐ’ ไม่ใช่รัฐของประชาชน ไม่มีพื้นที่ให้นักการเมือง

รัฐประหารชุดนี้มีคำว่าประชารัฐและประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ คำว่าประชารัฐที่แปลตรงๆ ว่า People State มันคืออะไร ผมคิดว่าในท่ามกลางการตั้งคำถามกับการทำรัฐประหาร 13 ครั้งในบ้านเรา ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการทางภาษา วาทกรรมและจิตวิทยามวลชน คือการหันกลับไป แก้ไขปรับปรุงแกนกลางของประชาธิปไตยมากกว่าจะเป็นระบบชั่วคราว เข้าไปแก้ไขหลักการของคำว่าประชาชนเยอะที่ออกมาในรูปแบบอย่างน้อยสองประการ หนึ่ง สร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ขึ้นมา ซึ่งต่างจากการรัฐประหารหลายครั้งในอดีต สอง พัฒนาอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ

เคยคุยกับนายอำเภอคนหนึ่ง เขาเคยบอกว่าปัจจุบันประชารัฐได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบายของรัฐ เป็น signature สำคัญของรัฐบาลนี้ไปแล้ว ก็มีคำอธิบายว่า รัฐบาลตั้งใจทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นก็ต้องการความร่วมมือจากประชาชนและเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐแบบการสั่งการจากบนลงล่าง

ข้อสังเกตที่น่าสนใจในประชารัฐมีอยู่สามประการ หนึ่ง มีการเพิ่มงบประมาณให้ระบบราชการจำนวนมากในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักโดยมีเอกชนเป็นพี่เลี้ยง สอง เปลี่ยนชื่อโครงการจากประชานิยมเป็นประชารัฐอยู่บ่อยๆ สาม ประชารัฐไม่ใช่ประชานิยมและไม่ใช่ประชาธิปไตย คำนี้สำคัญตรงที่ว่า ประชารัฐหมายถึงเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ใช่รัฐของประชาชน สิ่งนี้จะไปสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการกับสัญญาประชาคม 10 ข้อที่เพิ่งออก ประชารัฐคือการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนโดยรัฐและเอกชน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในประชารัฐคือ ไม่มีพื้นที่ให้กับนักการเมืองและระบบการเลือกตั้ง เป็นกรอบความร่วมมือใหม่ในประเทศไทยอยู่ได้ด้วยรัฐ เอกชนและประชาชนอยู่ร่วมกัน

โครงสร้าง ก.ม. วิธีคิดไม่ใช่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา

พิชญ์กล่าวว่า รัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทย ครั้งที่ยาวนานที่สุด ตั้งแต่วันแรกที่ทำรัฐประหารจนถึงวันที่มีการเลือกตั้ง พบว่าการรัฐประหารครั้งที่ 7 โดยจอมพลสฤฤษดิ์ธนะรัชต์ มีระยะเวลารวมในการครองอำนาจ 10 ปี 3 เดือน ครั้งปัจจุบันโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติกินระยะเวลานานเป็นอันดับสองด้วยระยะเวลา 3 ปี 4 เดือน แซงอันดับสาม คือการรัฐประหารโดยจอมพลถนอม กิตติขจร

สมัยก่อนมีปัจจัยที่นำไปสู่การออกไปของรัฐบาลทหารมีอยู่สามประการ หนึ่ง เผด็จการตายเอง สอง ประชาชนลุกฮือ สาม ทหารปฏิวัติตัวเองเพื่อให้มีอำนาจต่อไปอีก ไม่มีหนทางการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารชุดนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการกลายสภาพไปสู่ระบอบใหม่ ไม่ใช่การกลับสู่ประชาธิปไตย โครงสร้างทางกฎหมายที่มีอยู่มันไม่ใช่การกลับไปสู่ประชาธิปไตย การแปรสภาพสู่ระบอบใหม่เริ่มตั้งแต่การทำรัฐประหารวันแรก การรัฐประหาร ชุดนี้พร้อมเนติบริกรของเขาอธิบายว่าอย่าทำให้เสียของ ซึ่งทำให้ตกใจว่า แล้วการทำรัฐประหารที่แล้วมาเสียของ หรือมีความประสงค์อะไร ซึ่งต้องทำความเข้าใจความต้องการในการทำรัฐประหารของสมัยก่อนที่อาจจะต่างไปจากยุคนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net