กสม. จัดวงถกทำไกด์ไลน์คุ้มครองสิทธิฯผู้หญิงมลายูมุสลิม ชายแดนใต้

อังคณา เผยแม้ ครม.มีมติป้องกันล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังพบมี จนท.รัฐหญิงทั้งพุทธ-มุสลิมถูกกระทำความรุนแรง  ยัน กสม.ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและผู้กระทำผิดต้องได้รับผิ

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง. กสม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมลายูมุสลิม จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ “การจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ” ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพฯ

อังคณา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ มีอำนาจหน้าที่หนึ่งในการปกป้องผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงเฉพาะกลุ่มอันหมายถึงผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มมุสลิม โดยเมื่อปี พ.ศ. 57 - 58  กสม. ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายได้จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติและข้อเสนอแนะในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จากการสัมมนาพบว่า แม้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 58 เรื่องการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เคร่งครัด ครบถ้วน เป็นธรรมต่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง แต่ยังคงปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ทั้งเจ้าหน้าที่หญิงไทยมุสลิมและไทยพุทธ รวมถึงกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงถูกรุมข่มขืนที่จังหวัดพังงาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง กสม. ได้รับหนังสือประทับลับที่สุด ขอให้ประสานการคุ้มครองเด็ก เนื่องจากผู้เสียหายถูกคุกคามจากชุมชน อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวได้รับการประสานการคุ้มครองแล้ว ทั้งนี้ กสม. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และผู้กระทำผิดต้องได้รับผิดจากการกระทำนั้น

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า ช่วงเช้ามีการปาฐกถานำเรื่อง “การใช้กฎหมายครอบครัวและมรดกกับปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม” โดย จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามด้วยการอภิปรายเรื่อง “เสียงเรียกร้องของผู้หญิงมุสลิมและประสบการณ์การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิม” ผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ 1) ตัวแทนผู้หญิงมุสลิม 2) ดาราราย รักษาสิริพงศ์ มูลนิธิผู้หญิง 3) สุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ดำเนินรายการโดย นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร โดยในเวทีฯ มีการสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีการนำเสนอแนวทาง ข้อเสนอแนะเบื้องต้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม

จากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง “หลักอิสลามเชิงบวกที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและหนทางสู่การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม” ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ 1) ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี 2) ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการอิสลามประจำจังหวีดเชียงใหม่ 3) เอกชัย เนติภูมิกุล กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก และ 4) อังคณา ดำเนินรายการโดย อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง ส่วนช่วงบ่าย มีการอภิปรายเรื่อง “การนำข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาแนวปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมให้เป็นจริง” โดย 1) ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ 2) ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี และ 3) กนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ดำเนินรายการโดย อังคณา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท