Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนชี้พิรุธใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองแทนใช้กฎหมายปกติ หรือต้องการยืมมือต่างชาติเป็นข้ออ้างให้เปิดเหมืองถาวร แนะให้กลับไปใช้กฎหมายปกติเพื่อสู้คดีหากถูกฟ้อง ทบทวนผลกระทบจากไอเอสดีเอส ถ้าเจรจาประนีประนอมต้องเปิดเผย โปร่งใส

วันที่ 9 กันยายน 2560 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือเอฟทีเอ วอทช์ ( FTA Watch) ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขู่ว่าจะฟ้องร้องรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองเป็นเหตุให้ธุรกิจเสียหายผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-state Dispute Settlement: ISDS)

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาและตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ต้องการเสนอให้ คสช. ยืนยันให้ชัดว่า เหมืองทองทั้งที่พิจิตรและเลยมีผลกระทบจริง ไม่ต้องละล้าละลังเพื่อหวังจะเปลี่ยนผู้ประกอบการลงทุนรายใหม่ เพราะผลกระทบเห็นได้ด้วยตาอยู่แล้ว ทั้งการล่มสลายของชุมชน การที่บริษัทฟ้องคดีกลั่นแกล้งชาวบ้านหลายคดี จะมีก็แต่ผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลา

“ประเด็นเหมืองทองอัครามีสัญญา 2 ชั้นที่เกี่ยวพันกันอยู่ เหมืองนี้ผูกพักกับกฎหมายไทยโดยสัมปทานเหมืองแร่ระหว่างรัฐไทยกับเอกชนต่างชาติ ส่วนชั้นที่ 2 คือการที่มีข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียรองรับกำกับอีกชั้นหนึ่ง ประเด็นของผมคือในสัญญาชั้นแรก ถ้า คสช. อ้างเหตุผลจากกฎหมายแร่หรือกฎหมายอื่นใดประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน กฎหมายควบคุมมลพิษ เพื่ออธิบายความชอบธรรมว่าเหตุใดรัฐไทยจึงปิดเหมืองทองอัครา เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้กฎหมายปกติปิดเหมืองทองได้ ซึ่งจะช่วยในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับสัญญาชั้นที่ 2 หรือเอฟทีเอ ทำให้เอกชนไม่สามารถไล่บี้คุณให้จนตรอกได้

“คสช. สามารถใช้กฎหมายปกติมาพยุงคำสั่งตามมาตรา 44 แต่ถ้าไม่ยอมใช้ ไม่สู้ แสดงว่า คสช. มีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้นเพื่อเปิดเหมือง คือถ้าจะต้องเปิดเหมืองโดยกฎหมายในประเทศ จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกได้ว่า มันยังพอสู้กันได้ แต่ถ้าต้องเปิดเหมืองโดยผลจากเอฟทีเอ จะเหมือนกับ คสช. ยืมมือเอฟทีเอเพื่อเปิดเหมือง”

ขณะที่กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวกับประชาไทว่า การยอมรับกลไกไอเอสดีเอสมีโอกาสถูกฟ้องอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูก แต่การใช้กฎหมายปกติ โอกาสที่รัฐจะปิดประตูแพ้จะมีน้อยกว่า เนื่องจากมาตรา 44 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายปกติถ้าเทียบกับระบบสากล

“ล่าสุด คสช. ก็ใช้มาตรา 44 เรื่องห้ามบิน ซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัทการบินต่างๆ จะฟ้องก็ได้ นี่เป็นการใช้อำนาจนิยม ซึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างกลไกคุ้มครองการลงทุนสมัยที่ยังไม่ก้าวร้าวขนาดนี้ก็เพื่อจัดการกับรัฐอำนาจนิยม ซึ่งในระดับสากลทำไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุผลก็ชดเชยตามสัดส่วนที่เหมาะสม หรือถ้าเอกชนทำผิดก็ลงโทษหรือถอนการลงทุน แต่การใช้อำนาจนิยมแบบนี้โอกาสแพ้เราก็สูง”

กรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับเลิศศักดิ์ว่า เหตุใดจึงต้องใช้มาตรา 44 ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายปกติเพื่อสั่งปิดเหมืองได้ หรือว่ามีใครพยายามทำให้มีการเปิดเหมืองถาวร โดยใช้วิธียืมมือต่างชาติมาข่มขู่ ที่เธอสันนิษฐานเช่นนี้ เพราะเธอไม่เชื่อว่าหน่วยราชการจะไม่รับรู้ผลกระทบจากกรณีนี้ เนื่องจากกรณีแร่ใยหินหรือการซื้อยา ก็มีความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ทุกครั้งว่าให้ระมัดระวังเพราะอาจนำไปสู่การฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน แต่กรณีสั่งปิดเหมืองจึงไม่มีการเตือน หรือเพราะความเป็นรัฐอำนาจนิยมทำให้ราชการปิดปาก หรือเป็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิด

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ( FTA Watch) ยังออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยมีเนื้อหาดังนี้

13 กันยายน 2560

1.ตามที่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมทุนรายใหญ่จากประเทศออสเตรเลีย โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ากิจกรรมของเหมืองคือสาเหตุของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง จึงเป็นการกลั่นแกล้งนักลงทุนเอกชนที่เกินแก่เหตุ หรือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ หากมีการสู้คดี ไทยจะมีโอกาสแพ้สูง เพราะมาตรา 44 บังคับใช้ในประเทศเท่านั้น เนื่องจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้เป็นไปตามความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีข้อกำหนดต้องคุ้มครองนักลงทุนเอกชน หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสเสียเปรียบและแพ้คดีสูง คล้ายคลึงกับกรณีค่าโง่ทางด่วนนั้น

สาธารณชนฟังแล้วอาจจะรู้สึกขัดเคืองใจ โดยเฉพาะกับความเห็นของปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยที่พยายามโยงประเด็นของโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมืองจนต้องหลบหนีคดีอยู่ในขณะนี้ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความอยุติธรรมและนำบริบททางการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือแสดงเจตนาต่อต้านเผด็จการทหาร คสช. ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์นี้ ข้อเท็จจริงก็คือว่า ที่มาของคำกล่าวที่ว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ใช้มาตรา 44 ไปกลั่นแกล้งนักลงทุนเอกชนด้วยการ “ปิดเหมืองทองคำโดยที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ากิจกรรมของเหมืองคือสาเหตุของผลกระทบด้านต่างๆ” นั้น ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เริ่มต้นจากสาธารณชนรายใดทั้งสิ้น แต่เป็นคำกล่าวอ้างที่อยู่ในตัวคำสั่ง คสช. เอง กล่าวคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ออกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ระบุไว้ในย่อหน้าแรกว่า “โดยที่ได้มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา เนื่องจากการประกอบกิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา...” และย่อหน้าที่สองว่า “ข้อ 5 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปัญหา...”

ดังนั้น จากข้อความที่ยกมาจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เองก็ไม่กล้าตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่าให้ปิดเหมืองทอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องอ้างเรื่อง “ไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ากิจกรรมของเหมืองคือสาเหตุของผลกระทบด้านต่างๆ” หรือ “ต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา”  ในคำสั่งแต่อย่างใด หรืออาจจะด้วยการมีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่จึงทำให้มีคำสั่งแบบเปิดช่องไว้

2.ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่การกลั่นแกล้งทางการเมือง ตรงที่รัฐบาลหนึ่งกลั่นแกล้งอีกรัฐบาลหนึ่ง ‘รัฐบาลปิดเหมืองทอง’ กลั่นแกล้ง ‘รัฐบาลจำนำข้าว’ ทั้งๆ ที่ทั้งสองรัฐบาลทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเหมือนกัน  ไม่ต่างกัน  มีนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจนเช่นเดียวกัน แต่ทำไมถึงต้องกลั่นแกล้งกันเอง

ถ้าบอกว่าโครงการจำนำข้าวมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ต้องบอกว่าการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ที่ให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองคำโดยอ้างว่ายัง “ไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ากิจกรรมของเหมืองคือสาเหตุของผลกระทบด้านต่างๆ” หรือ “ต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา” นั้น ได้แสดงเจตนาชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะปิดเหมืองทองคำเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพื่อเปิดช่อง/โอกาสให้นายทุนรายอื่นเข้ามาสวมแทน  เจตนาเช่นนี้ก็คือการคอร์รัปชั่นทางนโยบายหรือเป็นการคอร์รัปชั่นในรูปแบบผลประโยชน์ทับซ้อนรูปแบบหนึ่ง  เช่นเดียวกับโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกกลั่นแกล้ง

3.ปัญหาใหญ่ของการทำเหมืองทองคำในประเทศไทยก็คือแร่ทองคำมีนิดเดียว ไม่ได้มีปริมาณมหาศาลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด หรือถ้าจะโต้แย้งว่ามันมีปริมาณมากพอสำหรับความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างแน่นอน ก็ต้องพิจารณาข้อมูลอื่นประกอบด้วย กล่าวคือลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ทองคำมันไม่ได้เป็นทองคำบริสุทธิ์หรือเกือบบริสุทธิ์ก้อนใหญ่ แต่มันแทรกกระจายตัวอยู่ในเนื้อหินเป็นบริเวณกว้างใหญ่ เช่น ทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 บาท ประมาณ 15 กรัมนิดๆ โดยเฉลี่ยจะต้องระเบิดหินไม่ต่ำกว่า 15 ตันขึ้นไป ดังนั้น การทำเหมืองทองคำจะต้องเปิดหน้าดินบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อได้ทองคำเพียงแค่เศษธุลี แต่พบแร่พลอยได้อื่นๆ ในปริมาณมากกว่า แต่มูลค่าไม่สูงเท่าทองคำ เช่น ทองแดง เงิน แร่โลหะ และอโลหะชนิดอื่นๆ แทน

มันจึงเป็นนโยบายตื่นทองแบบ ‘ฆ่าช้างเอางา’ หรือ ‘เผาป่าเอาเต่า’ อะไรเทือกนั้น หมายถึงเป็นการทำลายสิ่งที่ใหญ่โตหรือมีค่ามากเพื่อให้ได้ของที่มีค่าน้อยไม่สมกับผลเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายเพียงเพื่อต้องการเปิดหน้าดินจนเสียหายย่อยยับแล้วพบทองแค่น้อยนิด หรือเป็นการออกนโยบายที่อ้างแร่ทองคำไปเปิดหน้าดินบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อเอาแร่พลอยได้ชนิดอื่นเสียมากกว่า เพราะถ้าอ้างแร่ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ทองคำเพื่อประสงค์ให้รัฐออกนโยบายและกฎหมายสนับสนุนการทำแร่ชนิดนั้นๆ มันไม่ทำให้ ‘ตื่นตูม’ มากพอที่จะทำให้รัฐสนับสนุนและผลักดันนโยบายและกฎหมายการให้สัมปทานเหมืองแร่ชนิดนั้นๆ บนพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ จึงต้องอ้างแร่ทองคำเพื่อไปเอาแร่พลอยได้อื่นๆ แทน หรืออ้างแร่ทองคำเพื่อต้องการทำให้นโยบายและกฎหมายในการบริหารจัดการแร่เปิดโอกาส/เปิดทาง/สร้างความชอบธรรมให้กับการให้สัมปทานแปลงใหญ่ระดับหลายแสนไร่ขึ้นไปได้

สิ่งเหล่านี้มีบทเรียนที่เห็นชัดจากสัญญาให้สิทธิสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อนุมัติให้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่สามแสนสี่หมื่นกว่าไร่เพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำและแร่ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่กำหนดวันสิ้นอายุ และประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำแหล่งชาตรีและชาตรีเหนือของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บนพื้นที่เกือบหกพันไร่ รวมถึงคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำของบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของบริษัท อัคราฯ ที่ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) จ่ออนุญาตและต่ออายุให้อีกไม่ต่ำกว่าล้านไร่บนพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดของพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำของบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของบริษัท อัคราฯ เกือบแสนไร่ในจังหวัดสระบุรี เป็นต้น

4.ข้อเสนอ ดังนี้

            (4.1) เหมืองทองอัคราฯ ผูกพันกับรัฐไทยโดยสัมปทานทำเหมืองแร่หรือประทานบัตร ซึ่งเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง เป็นสัญญาระหว่างรัฐไทยกับเอกชนต่างชาติ นี่เป็นสัญญาชั้นแรก ส่วนสัญญาชั้นที่สองก็คือประทานบัตรมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างรัฐไทยกับรัฐออสเตรเลียรองรับและคุ้มครองอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรัฐออสเตรเลียจะดูแล กำกับ และคุ้มครองการลงทุนแก่เอกชนจากประเทศออสเตรเลียที่เข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้น เรื่องข้อพิพาทเหมืองทองอัคราฯ จึงมีสัญญาสองชั้นกำกับอยู่

            ดังนั้น สัญญาชั้นแรกในส่วนที่เกี่ยวกับประทานบัตร รัฐไทยสามารถอ้างเหตุผลของกฎหมายแร่หรือกฎหมายปกติอื่นใดมาคุ้มครองได้ว่า เหตุใดรัฐไทยจึงปิดเหมืองทองอัคราฯ ที่นักลงทุนจากออสเตรเลียเป็นเจ้าของ ซึ่งมีบทบัญญัติหลายมาตราในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 (ในระหว่างที่ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 อยู่ในระหว่างการใช้บังคับตามกฎหมายแร่ฉบับนี้) และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 เอามาอ้างความชอบธรรมแก่รัฐไทยได้ เช่น บทบัญญัติในมาตรา 17 และมาตราอื่นๆ ในหมวดของนโยบายในการบริหารจัดการแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ที่อ้างได้ว่าพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษของบริษัท อัคราฯ มีความไม่เหมาะสมหรือขัดต่อพื้นที่ที่สมควรสงวนหวงห้ามไว้เพื่อการใช้ประโยชน์อื่น รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ หรือแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ที่ต้องจัดทำขึ้นตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็สามารถสงวนหวงห้ามแร่ทองคำไม่ให้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในโอกาสและเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแก่สังคมไทยได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

            ถ้าในชั้นนี้รัฐไทยทำการบ้านได้ดี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ปฏิบัติภารกิจให้เต็มที่ก็จะทำให้มีความชอบธรรมเพียงพอในการเอาไปอ้างในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามสัญญาชั้นที่สองตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียได้ และยังสามารถยกเลิกคำสั่ง คสช. โดยใช้เพียงกฎหมายปกติเท่านั้นก็เพียงพอและสมเหตุสมผล

            (4.2) ในส่วนของภาคประชาชนที่ผลักดันและเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 เพื่อปิดเหมืองทองจะต้องเรียนรู้และซึมซับรับบทเรียนทางการเมืองที่เปิดใจกว้างให้มากขึ้น ไม่ใช่ผลักดันประเด็นตัวเองเสียจนเกิดความเห็นแก่ตัวจนไปทำลายความยุติธรรมในส่วนอื่นๆ ของสังคม กล่าวคือ ถ้าภาคประชาชนส่วนใด ฝ่ายใด  องค์กรหรือสถาบันใดยอมรับได้กับการที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อปิดเหมืองทอง แต่ยอมรับไม่ได้กับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จงทบทวนตัวเองให้หนักว่าจะขับเคลื่อนภาคประชาชนไปรับใช้เผด็จการทหาร คสช. ที่โยนเศษอาหารให้ หรือจะสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน

            (4.3) ตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วนเพื่อศึกษาผลกระทบจากบทการคุ้มครองการลงทุนและกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่ไทยเป็นภาคีไปแล้ว โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่การกำหนดนโยบายของรัฐและผลกระทบต่อประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การทบทวน

            (4.4) สำหรับความตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจา จะต้องยึดถือกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553) ที่ระบุมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ ที่ให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะได้ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้ และต้องเปิดให้ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และฝ่ายนิติบัญญัติมีส่วนร่วมในการติดตามการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศอย่างแท้จริง ไม่น้อยกว่าที่เคยปฏิบัติตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

            (4.5) การเจรจาทุกกรณีพิพาทกับนักลงทุนต่างชาติ ต้องตั้งอยู่บนผลประโชยน์สาธารณะ ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการเจรจาจะต้องเปิดเผยโปร่งใส่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net