รากนครา: ดอกผลของนโยบายรัฐรวมศูนย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของละครรากนครา

“(ผู้อ่าน) มึนงง เหมือนเดินอยู่ในเงามืด นักเขียนควรที่จะช่วย ‘จุดเทียน’

สักเล่มให้ (ผู้อ่าน) มี ‘แสงสว่าง’ ให้พวกเขาคลายอึดอัด”

รงค์ วงษ์สวรรค์, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 8 สิงหาคม 2542

เมื่อปี พ.ศ. 2540 นวนิยายเรื่อง รากนครา เขียนโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม ปรากฏในนิตยสาร สกุลไทย เป็นตอนๆ และรวมพิมพ์เป็นล่มเป็นครั้งแรกในปลายปีเดียวกัน ต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ในการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2541

ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ในปีนี้ ได้มีรายการโฆษณาทางโทรทัศน์ช่อง 7 ว่า “รากนครา”  จะเป็นละครโทรทัศน์ในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่านวนิยายเรื่องนี้ติด 1 ใน 6 เล่มสุดท้ายของนวนิยายไทยที่ส่งเข้าชิงรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2542 และจะมีการประกาศผลรางวัลซีไรต์ในเดือนสิงหาคมนี้

จากข่าวที่ปรากฏ ดูเหมือนว่าสังคมไทยในช่วงล่าสุดกำลังยกระดับการแสวงหาประโยชน์จากการทำวรรณกรรมให้เป็นแบบพาณิชย์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการตระเตรียมแสวงหาผลประโยชน์ก้อนใหญ่จากวรรณกรรมชิ้นหนึ่งทั้งจากผลการประกวดรางวัลระดับภูมิภาค การขายหนังสือ การแปรวรรณกรรมเป็นละครโทรทัศน์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ฯลฯ

ด้วยความสำเร็จและชื่อเสียงของนวนิยายดังกล่าว และความโด่งดังที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเมื่อมีการประกาศผลรางวัลซีไรต์ในเร็วๆนี้ ก็เห็นว่าถึงเวลาที่จะพิจารณานิยายเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

 

ภาพรวมของ “รากนครา”

รากนครา เป็นนวนิยายเกี่ยวกับความรัก การชิงรักหักสวาท และการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำของรัฐต่างๆในอดีต โดยใช้ความรักและความเสียสละของเจ้าหญิงคนหนึ่งเป็นแกนกลางของเรื่อง

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้วิจารณ์ไว้ในนิตยสาร สกุลไทย ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2541 ว่า เป็นนวนิยายแนวจินตนิยายโรแมนติกทั่วไป เธอเห็นเว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นจินตนิยายโรแมนติกที่โดดเด่นอย่างน้อยที่สุด 2 ข้อ คือ

หนึ่ง นำเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ เมื่อราว 100 กว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา พม่า และอังกฤษ มาผสมผสานกับตัวละครในจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างแนบเนียนจนเหมือนกับว่า นวนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

สอง นำเสนอการเสียสละชีวิตรันทดของตัวละครนำฝ่ายหญิงได้อย่างเห็นภาพ สามารถสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้อ่านอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ตายเป็นเจ้าหญิงที่งดงามยิ่ง เฉลียวฉลาด นิสัยดี และตลอดชีวิต มีแต่เสียสละเพื่อคนอื่นและเพื่อบ้านเมือง

เจ้านางแม้นเมืองมีความรักและพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งเพื่อบ้านเกิด ซึ่งเป็นทัศนะตรงข้ามของทัศนะของเจ้าชายผู้เป็นสามี ผสานเข้ากับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่าสามีไม่รักเธอ และยังถูกบีบคั้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เขม็งเกลียวระหว่างพี่ชายและสามีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เนื่องจากทัศนะตรงกันข้ามกัน นางเอกจึงยอมสละชีวิตของตนเองด้วยการปลอมตัวเป็นสามี เพื่อให้พี่ชายประหาร และด้วยหวังว่าความตายของตนเองจะทำให้สถานการณ์ทุกๆด้านดีขึ้น และทำให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัย

ผู้ประพันธ์สามารถชี้ให้เห็นชีวิตรันทดของเจ้าหญิง 2 คนที่ถูกผู้ปกครองกำหนดชะตาชีวิตให้ต้องแต่งงานกับชายคนใดคนหนึ่งเพื่อรับใช้เป้าหมายและนโยบายทางการเมืองในขณะนั้น โดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าตัวแม้แต่น้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประพันธ์มิได้พูดไว้เลย ก็คือ นั่นเป็นสังคมศักดินา ที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชาย นางสนมหรือทหารชั้นล่าง บ่าวไพร่ในเมืองหรือรอบนอก ไพร่หญิงหรือไพร่ชาย ทาสหญิงหรือทาสชาย ทุกคนล้วนมีฐานะคล้ายกัน คือไม่มีใครมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในระบบสังคมดังกล่าว

เจ้าชายหรือเจ้าหญิง มเหสีหรือนางสนม ขุนนางฝ่ายต่างๆเหนือกว่าไพร่ทาสตรงที่พวกเขาไม่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรับใช้ระบบการผลิตและการปกครอง พวกเขาสามารถออกคำสั่งกับไพร่ทาสในบังคับของพวกเขาได้ และโอกาสที่พวกเขามีมากกว่าไพร่ทาสหลายเท่าก็คือ การต่อรองกับผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งอาจจะได้หรือไม่ได้ตามความหนักเบาของแต่ละสถานการณ์ หรือการปั้นแต่งเรื่องราวให้ดูมีน้ำหนัก ซึ่งแน่นอน อาจจะใช้ได้ผลเพียงครั้งเดียวหรือไม่ได้ผลเลย ฯลฯ

นี่คือนวนิยายเกี่ยวกับพฤติกรรมและการตัดสินใจของชนชั้นสูง ที่พอจะมีทางเลือกหลายทางให้แก่ชีวิต ไม่ใช่ของไพร่ทาสที่ทางเลือกนั้นมืดมน นอกจากการลุกขึ้นสู้หรือหลบหนีเข้าป่าดง และนี่น่าจะเป็นสีสันของนวนิยายเรื่องนี้ว่าชนชั้นสูงจะตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่ถึงอย่างไร สังคมศักดินาก็คือสังคมศักดินา ที่เปี่ยมด้วยโซ่ตรวนทางชนชั้นที่ร้อยรัดมวลสมาชิก ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมของรัฐและสถานการณ์ระหว่างประเทศในยามนั้น ซึ่งอาจเป็นสายโซ่ใหญ่ที่หลายครั้งหลายคนมองไม่เห็นหรือทำเป็นมองไม่เห็น  

นี่คือสิ่งที่ผู้ประพันธ์จะต้องไม่ลืม และที่สำคัญกว่านั้น ผู้อ่านจะต้องรู้เท่าทันประเด็นเหล่านั้นพอสมควร

ปัญหาของ “รากนครา”

ปัญหาแรก แก่นสารของนวนิยายเรื่องเป็นคนละเรื่องกับเจตนาของผู้ประพันธ์ ในการรจนานวนิยายเรื่อง คุณปิยะพร ศักดิ์เกษมกล่าวไว้ในคำนำว่า ที่ผ่านมา สังคมคิดถึงและยกย่องแต่ผู้นำ นักรบและนักปราชญ์ แต่น้อยนักที่สังคมจะคิดถึงคนที่เสียสละเพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง ที่ผ่านมา สังคมแทบไม่เคยคิดถึงรากของต้นไม้ ที่ซุกตัวอยู่ในดิน ไม่เคยคิดถึงหัวอกของสตรีที่เป็นเสมือนหมากเบี้ย สุดแต่ว่าผู้นำของบ้านเมืองจะกำหนดให้เธอและคนมีชีวิตอย่างไร

ผู้ประพันธ์เห็นว่า คนที่เสียสละเหล่านั้นคือ “ราก” ของบ้านเมือง บ้านเมืองอยู่ได้เพราะ “ราก” เป็นเจตนาที่ต้องการเน้นลักษณะบทบาทของสตรี แต่ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะแสดงเจตนาอีกกี่หน้าและกี่ครั้ง แก่นสารของนวนิยายเรื่องก็ไม่ใช่บทบาทการเสียสละของเจ้านางแม้นเมืองหรือเจ้านางมิ่งหล้า พวกเธอหาใช่ “ราก” ของนคราไม่ แต่เป็นดอกผลของนโยบายการรวมศูนย์อำนาจของรัฐสยามในห้วง 100 กว่าปีที่ผ่านมาต่างหาก

นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึง 3 ทัศนะของเมืองต่างๆในล้านนาซึ่งเป็นประเทศราชของสยามในยุคนั้น ทัศนะแรก เป็นของเจ้าน้อยศุขวงศ์ - พระเอกของเรื่องซึ่งถูกเจ้าพ่อนำไปฝากฝังกับขุนนางสยามที่รับคำสั่งให้ขึ้นมารับราชการในล้านนา (หน้า 15) ต่อเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เจ้าศุขวงศ์จึงถูกส่งไปเรียนหนังสือที่นั่น จากนั้น จึงกลับมารับราชการในเมืองหลวงจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในที่สุด ก็ได้รับคำสั่งให้กลับคืนสู่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในล้านนาอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนและอยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ (หน้า 17) อันเป็นศูนย์กลางของประเทศราชล้านนา  

เจ้าศุขวงศ์กลับขึ้นมาทำงานในฐานะตัวแทนลับของสยาม โดยมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ คือปกป้องมิให้อังกฤษเข้ามาแย่งชิงล้านนาไปจากสยาม และปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีดำเนินชีวิตแบบเดิมของคนในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับระบบการปกครองแบบใหม่คือระบบการรวมศูนย์อำนาจภายใต้การนำของสยามรัฐ (หน้า 30-31)

ในทัศนะของเจ้าศุขวงศ์ สยามคือตัวแบบและผู้นำของล้านนา

“การยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ การเปิดสังคมเพื่อคบค้า การต่อรองอย่างรอบคอบและชาญฉลาด... หากส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการรวมตัวรวมกำลังกันให้เป็นปึกแผ่น กำหนดตำแหน่งและอาณาเขตให้แน่นอน รวมทั้งวางระเบียบกฎเกณฑ์ในเรื่องการค้า การปกครองและความสัมพันธ์ให้ชัดเจน... นี่คือพระราชดำริที่มีต่อการแก้ปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบราชอาณาจักร และชายหนุ่มรู้ดีว่า นี่คือทางรอดทางเดียวของสังคมที่ด้วยเช่นกัน…ความใฝ่ฝันถึงการเป็นอิสระอย่างบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ แอบฝัน ควรจะยุติได้แล้วในเวลาและสถานการณ์เช่นนี้การรวมดินแดนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับการเข้าพึ่งพระบารมีและพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์แห่งสยามเท่านั้นที่จะช่วยได้ (หน้า 13)…

เท่าที่หลานรู้ทางบางกอกต้องการจัดระเบียบให้รัดกุมเป็นอันหนึ่งอันเดียว…ป้องกันมิให้พวกฝรั่งใช้เป็นข้ออ้างรุกรานเอาได้ เจ้าอาคงเข้าใจดีว่าพวกฝรั่งรุกบ้านรุกเมืองเรามากเหลือเกิน...อย่างเมืองม่านตอนนี้ก็ใกล้เข้าตาจนแล้ว... หลานเห็นว่าการทำตามแนวพระราชดำริจะเป็นทางรอดทางเดียว.” (หน้า 36)

ทัศนะที่สอง อยู่ตรงข้ามกับทัศนะแรก เจ้าหน่อเมือง – เจ้าราชบุตรแห่งเมืองเชียงเงิน พี่ชายของเจ้านางแม้นเมืองผู้เป็นนางเอก เชียงเงินเป็นเมืองในจินตนาการของผู้ประพันธ์ เป็นเมืองเล็กๆที่มีอาณาเขตด้านหนึ่งติดกับพม่า “ผู้คนอยู่ครึ่งๆกลางๆ...ดูเหมือนจะกระด้างกระเดื่องไม่เต็มใจเป็นประเทศราชของสยาม...แม้ว่าสยามจะไม่เคยก้าวก่ายยุ่งเกี่ยวด้วยมากมาย... พวกเขาอยากเป็นอิสระมากกว่าอยู่ในอาณัติของใคร” (หน้า 38) เจ้าหน่อเมือง “ฝังใจเรื่องการเป็นอิสระ รักดินแดนและขนบธรรมเนียมของตัวเหลือเกิน...” (หน้า 36)

ส่วน ทัศนะที่สาม อยู่ตรงกลาง ด้านหนึ่ง ชื่นชมคนที่รักดินแดนและขนบธรรมเนียมของตนเอง อีกด้านหนึ่ง ก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น (หน้า 19, 36)

แก่นสารของ รากนครา ก็คือการยกย่องทัศนะแรก ชิงชังทัศนะที่สอง ผู้ประพันธ์พยายามทำให้ทัศนะแรกเป็นสิ่งเดียวกันกับความดีงามทั้งปวง ด้วยการสร้างภาพให้ศุขวงศ์ – ตัวแทนของทัศนะแรกเป็นชายหนุ่มที่มีทั้งรูปงาม นิสัยดี เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันฝรั่ง แต่งกายดีและทันสมัย และทำให้ทัศนะที่สองเป็นสิ่งเดียวกันกับความไม่น่ารักน่านิยมของทัศนะที่สอง ด้วยการสร้างเจ้าหน่อเมือง (ตัวแทนทัศนะที่สองและยังเป็นคนท้องถิ่นที่ไม่เคยไปต่างประเทศผิดกับตัวแทนทัศนะที่หนึ่งที่เป็นคนท้องถิ่นเช่นกันแต่เคยไปเรียนต่อในต่างประเทศมาแล้ว) ให้เป็นคนหยาบกร้าน พูดจาไม่สุภาพ หัวดื้อ มุทะลุ เย่อหยิ่งทะนงตน ดูถูกผู้อื่น ไม่ยอมเรียนรู้จากผู้อื่นและสังคมอื่น ปิดหูปิดตาตัวเอง มีทัศนะด้านลบต่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองเห็นแต่ด้านลบของพวกฝรั่ง (หน้า 21, 39, 65) ช่างเป็นการสร้างภาพตัวละครที่ผสมผสานเข้ากับคุณงามความดีได้อย่างเหมาะเจาะอะไรเช่นนี้

ทัศนะแรกที่ว่านี้ก็คือ ล้านนาจักต้องเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อำนาจการปกครองท้องถิ่นของเมืองต่างๆจะต้องหมดสิ้นไป อำนาจการปกครองบังคับบัญชาจักต้องขึ้นต่อสยาม ผู้ประพันธ์ย้ำหลายครั้งมากว่า นั่นคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้ล้านนารอดพ้นจากเงื้อมมือของมหาอำนาจจากตะวันตก (หน้า 31)

นี่ต่างหากที่เป็นแก่นสารของนวนิยายเรื่องนี้ ไม่ใช่การเสียสละชีวิตของสตรีคนใด

100 กว่าปีที่แล้ว เจ้าศุขวงศ์ในนวนิยายถูกส่งไปอยู่กับฝ่ายสยาม ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์อันเป็นดินแดนเมืองขึ้นของอังกฤษ และกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯจนสยามมั่นใจในจุดยืนจึงส่งตัวกลับมาทำงานบนแผ่นดินแม่ แต่รับใช้นโยบายของสยามแทน

100 กว่าปีที่แล้ว เรื่องจริงคือ สยามเดินแผนล้ำลึกด้วยการขอหมั้นหมายเจ้าดารารัศมี - เด็กหญิงวัย 11 ขวบซึ่งเป็นธิดาองค์สุดท้องของเจ้าหลวงของเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราช จากนั้น ก็สั่งให้ลงไปถวายตัวเป็นสนมเมื่อเด็กหญิงมีอายุ 13 ชันษา ทั้งๆที่ไม่เคยพบหน้ากัน และว่าที่สามีก็มีมเหสีและสนมนับร้อยคนอยู่แล้ว และที่มีข่าวว่าอังกฤษโดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียสนใจปรารถนาจะได้เจ้าดารารัศมีวัย 13 ชันษาไปเป็นธิดาบุญธรรมเพื่อหวังพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับล้านนา สยามจึงจำเป็นต้องตัดหน้าขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นสนม ก็ไม่มีหลักฐานใดๆเลยจากฝ่ายอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะอังกฤษเป็นชาติที่มีการบันทึกและเก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ ถ้าหากมีข่าวว่าอังกฤษสนใจคิดจะเข้ายึดครองล้านนา หรือใช้การขอลูกสาวไปเป็นธิดาบุญธรรมเพื่อรุกคืบทางการเมืองและการทหารในขั้นต่อไป หลักฐาน 2 อย่างย่อมมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่พบหลักฐานใดเลย

ดังนั้น การขอลูกสาวของเจ้าเมืองประเทศราชไปเป็นสนมจึงเป็น “สยุมพรทางการเมือง” ที่ไม่แตกต่างจากกรณีพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองของพระนางสุพรรณกัลยา-ราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไปเป็นสนม  สตรีทั้งสองจากประเทศราชเหมือนกันจึงมีสถานภาพเหมือนกันในประเทศเจ้าอาณานิคม นั่นคือ ตัวประกันทางการเมือง 

ขณะที่เมืองเชียงเงินในนวนิยายพยายามเป็นไมตรีกับทั้งฝ่ายพม่าและสยาม เพื่อถ่วงดุลอำนาจและแสวงหาเอกราชในภายหลัง จึงได้ส่งเจ้านางมิ่งหล้าไปให้กษัตริย์พม่า และส่งเจ้าแม้นเมืองไปให้เจ้าศุขวงศ์ โดยผู้ประพันธ์ให้เหตุผลว่าแม้ในทางเปิดเผย เจ้าศุขวงศ์ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ แต่เมืองเชียงเงินรู้ดีว่าเจ้าศุขวงศ์เป็นตัวแทนฝ่ายสยาม 

ปัญหาของล้านนา

100 กว่าปีที่แล้ว ในความเป็นจริง รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทีละขั้น เริ่มจากลิดรอนอำนาจของประเทศราชและท้องถิ่นทีละขั้น จากนั้น จึงยกเลิกฐานะของประเทศราช และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงดำเนินนโยบายการปกครองโดยสั่งทุกอย่างตรงจากส่วนกลาง โดยมีตัวแทนที่เป็นข้าราชการถูกส่งไปทำหน้าที่ปกครองดูแลท้องถิ่น

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2416 สยามลงนามในสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 1 (Treaty of Chiengmai I) กับอังกฤษ เปิดทางให้สยามเข้าไปควบคุมดูแลการให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าอังกฤษ เป็นการลดอำนาจเจ้าหลวงเชียงใหม่ในระยะแรกๆ พร้อมกันนั้น ก็จัดตั้งเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปางให้เป็นหัวเมืองลาวเฉียง ส่งขุนนางทั้งหมด 72 คนเข้าไปปกครองหัวเมืองนี้โดยตรง นับเป็นการส่งคนเข้าไปบริหารงานโดยตรงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สยามเข้ายึดครองล้านนาเป็นประเทศราชในปี พ.ศ. 2317

จากนั้น ก็อนุญาตให้ชาวจีนส่วนหนึ่งอพยพขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรตามเมืองต่างๆ เป็นการหารายได้เข้ารัฐ และเป็นการเก็บภาษีแบบผลิตผล ไม่ได้เก็บเป็นเงิน 

พ.ศ. 2426 สยามลงนามในสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 กับอังกฤษ ลดอำนาจของเจ้านายในล้านนาและเพิ่มอำนาจของสยามในการให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าอังกฤษ เพิ่มตำแหน่งบริหารต่างๆในเขตหัวเมืองพร้อมกับส่งข้าราชการจากเมืองหลวงขึ้นไปรับงานเหล่านั้น ลดอำนาจของการหารายได้ของเจ้านายในท้องถิ่น และค่อยๆเริ่มระบบเงินเดือนให้แก่เจ้านายท้องถิ่น

พ.ศ. 2428 เปลี่ยนระบบการเก็บภาษีอากรจากพืชผลไปเป็นเงินสด เนื่องจากความจำเป็นด้านงบประมาณในส่วนกลาง

พ.ศ. 2432 เกิดกบฏพญาผาบหรือกบฏเชียงใหม่ที่ลุกขึ้นคัดค้านการเก็บภาษีอากรด้วยเงินสด เพราะชาวนาไม่มีรายได้มากพอ กบฏถูกปราบในปีต่อมา

พ.ศ. 2435 สยามปฏิรูประบบการบริหารครั้งใหญ่ ก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย และปรับปรุงระบบการส่งขุนนางจากสยามไปปกครองท้องถิ่นทุกหัวเมือง

พ.ศ. 2440 เจ้าหลวงอินวิชยานนท์ – เจ้าหลวงเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย

พ.ศ. 2442 ยกเลิกฐานะประเทศราชของล้านนา ผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร

พ.ศ. 2445 ปราบกบฏแพร่ที่ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจและการลิดรอนอำนาจท้องถิ่น

พ.ศ. 2446 โศกนาฏกรรมระหว่างหมะเมียะกับเจ้าศุขเกษม ปัญหาเกิดจากเจ้านายเชียงใหม่แอบส่งลูกชายของเจ้าอุปราชคนหนึ่งคือเจ้าศุขเกษม (วัย 15 ขวบ) ไปเรียนต่อที่พม่าในปี 2441 และกลับมาในปี 2446 พร้อมกับสาวพม่าวัย 16 ปี โดยที่สยามไม่ทราบ สาวหมะเมียะจึงต้องถูกส่งตัวกลับเนื่องจากสยามไม่พอใจท่าทีดังกล่าวของผู้นำล้านนาและหวั่นเกรงความใกล้ชิดระหว่างล้านนากับพม่า เจ้าศุขเกษมอกหักเพราะรักถูกพลัดพราก ต้องจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 33 ปี ส่วนหมะเมียะไปบวชชีจนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505

พ.ศ. 2446 อำนาจการปกครองตนเองของสงฆ์ในล้านนาถูกลิดรอน สยามจัดระบบรวมศูนย์อำนาจการปกครองสงฆ์ด้วยการก่อตั้งมหาเถรสมาคม เริ่มคำสั่งการแต่งตั้งเจ้าอาวาสของวัดทุกระดับจากส่วนกลาง 

พ.ศ. 2453-55 ห้ามการเรียนการสอนภาษาล้านนาในห้องเรียนทุกระดับรวมทั้งในวัดต่างๆ

นี่คือความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ปัจจัยภายนอกได้เข้าไปทำลายอำนาจท้องถิ่นลงทีละขั้นๆ

แต่ในนวนิยาย ผู้ประพันธ์สมมุติให้หนุ่มล้านนาเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศ และถูกส่งกลับบ้านเกิดในฐานะที่เป็นบุคลากรพื้นถิ่น เป็นหนุ่มรูปงามที่เฉลียวฉลาด มีกายเป็นล้านนา แต่ทัศนะและจิตใจกลับเป็นสยามอย่างสมบูรณ์

ในเรื่องจริง คนท้องถิ่นไปนอกและกลับมาพ่ายรักอย่างบอบช้ำ หมดเรี่ยวแรงที่จะมีชีวิตอยู่ ขณะที่บ้านเมืองต้องการกำลังคนมาช่วยกันกอบกู้เอกราชและศักดิ์ศรีของตนเอง ในนวนิยายเรื่องนี้ คนท้องถิ่นกลับบ้านเกิดเพื่อมาทำลายอำนาจและชีวิตวิญญาณของคนท้องถิ่นด้วยกันเอง

รากในดินกับดอกผลของนโยบาย

100 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างสัมฤทธิผล และนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินต่อมาเป็นลำดับ ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวได้เกิดดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น

หนึ่ง การเผยแพร่วิธีศึกษาประวัติศาสตร์โดยสำนักพงศาวดาร คือ ศึกษาอดีตโดยดูเฉพาะบทบาทของชนชั้นนำของเมืองหลวง เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่เสนอบทบาทของท้องถิ่น มองเห็นแต่ด้านของฝ่ายกระทำ ไม่เคยมองบทบาทของฝ่ายที่ถูกกระทำ และขาดการศึกษาค้นคว้าแบบสหวิทยาการ

หนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ถึง 7 ครั้งในระหว่าง พ.ศ. 2441 ถึง 2516 เป็นการเรียบเรียงเอกสารต่างๆที่เขียนเป็นภาษาล้านนามาเป็นงานภาษาไทย ไม่ใช่งานแปลเอกสารเล่มหนึ่งเล่มใด หลายสิบปีที่ผ่านมา การศึกษาค้นคว้าแทบทั้งหมดอ้างงานนี้ ไม่อ้างงานชั้นต้น เพราะยากจะหาใครสนใจอ่านภาษาที่ทางการหวงห้าม การที่สยามส่งขุนนางคนหนึ่งขึ้นไปศึกษางานในท้องถิ่นแล้วรวบรวมเขียนงานใหม่ขึ้นมาเผยแพร่โดยทางการในสถานการณ์ทางการเมืองแบบ 2 ฝ่ายเช่นนั้น และแนวคิดก็เป็นแบบสำนักพงศาวดาร ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการศึกษาตลอดช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

สอง การเผยแพร่แนวคิด “ล้านนาไทย” ซึ่งหมายความว่าล้านนาที่เป็นไทยหรือเป็นส่วนหนึ่งของไทย ไม่ใช่คำว่า “ล้านนา” ทั้งๆที่ไม่มีเอกสารเก่าฉบับใดใช้คำว่า ล้านนาไทย หรือล้านนาพม่า หรือล้านนาลาว ก็คือการสร้างความคิดชี้นำ ไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริง

สาม การเผยแพร่ทัศนะที่ว่าอังกฤษต้องการยึดครองล้านนา ทำให้สยามไม่มีทางเลือก เป็นการเสนอที่จนบัดนี้ก็ยังหาหลักฐานจากอังกฤษไม่พบ แต่พิจารณาจากบทบาทของอังกฤษและสยามช่วงก่อนหน้าและหลัง สยามขยายบทบาทเข้าไปในล้านนามากขึ้นเป็นลำดับ และมีทั้งเอกสารที่ระบุว่าสยามต้องการยึดครองล้านนา ขณะที่อังกฤษพอใจมากที่สยามยอมลงนามในสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 เพราะได้รับประโยชน์อย่างมากจากสัญญาดังกล่าว  นอกจากนี้ หลังจากที่อังกฤษชนะพม่าในสงครามครั้งแรก พ.ศ. 2368 และได้เข้ายึดครองพม่าตอนใต้ พ่อค้าอังกฤษเข้าไปทำธุรกิจไม้สักกับเจ้านายในล้านนาได้อย่างเต็มที่ อังกฤษวุ่นวายมากพอในการยึดครองลังกา อินเดียและพม่า ต้องการซื้อไม้สักเท่าใดจากล้านนาก็ซื้อได้ อีกทั้งหากอังกฤษเข้ายึดครองล้านนาก็อาจมีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสที่เข้าไปในลาว อังกฤษสนับสนุนรัฐบาลสยามในการปราบกบฏเชียงใหม่และกบฏแพร่ ถ้าหากอังกฤษมีนโยบายอย่างอื่น อังกฤษย่อมไม่สนับสนุนอิทธิพลของสยามในล้านนา

ผิดกับสยามที่ดิ้นรนกับการสร้างภาพว่าเป็นรัฐเอกราช ทั้งๆที่เป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจด้วยการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2435 การลดอำนาจของท้องถิ่น และการผนวกดินแดนประเทศราชอย่างมีขั้นตอน ในสถานการณ์ที่รอบบ้านตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก นี่คือกลยุทธ์ของรัฐกึ่งเมืองขึ้นที่ชาญฉลาดในการเอาตัวรอด ด้วยการแสวงหาโอกาสที่พอมีขยายอาณานิคมและขยายเขตแดนในวงล้อมของลัทธิล่าอาณานิคมระดับสากล      

ท่ามกลางการป่าวร้องว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายของลัทธิอาณานิคม สยามกลับดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมและดูดกลืนล้านนาเสียเอง จึงไม่อาจยอมรับความจริงในการกระทำดังกล่าว การหาแพะจึงเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุด 

สี่ เอกสารวิชาการโดยเฉพาะวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหลายชิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2510-2528 ต่างประสานเสียงกันอ้างว่าสยามจำเป็นต้องเข้ายึดครองล้านนา โดยชี้ว่าเนื่องจากกษัตริย์ล้านนาไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งเรื่องการให้สัมปทานป่าไม้สักที่ซ้ำซ้อน, ภัยคุกคามจากอังกฤษ, การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของผู้นำท้องถิ่น, ความอ่อนแอและล้าหลังของคนท้องถิ่น ฯลฯ เอกสารเหล่านี้เสนอมุมมองในทางทิศเดียวกันหมด ข้อมูลที่ใช้ล้วนเป็นข้อมูลของสยาม ไม่ได้ศึกษาข้อมูลของท้องถิ่น ไม่เคยเรียงลำดับข้อมูลเหตุการณ์ว่าสยามวางจังหวะก้าวในการรุกคืบอย่างไรเพื่อบรรลุการยึดครองและผนวกล้านนา สยามคัดเลือกผู้นำของประเทศราชอย่างไรจึงได้ผู้นำที่ด้อยความ สามารถ และสยามทำลายความเข้มแข็งและศักยภาพของท้องถิ่นอย่างไร ฯลฯ

ห้า ภายใต้สังคมไทยที่มีระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นเวลารวมกันหลายทศวรรษ ทั่วประเทศตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อภัยของคอมมิวนิสต์ใกล้บ้าน ระบบการศึกษาแบบด้านเดียว ขาดการศึกษาค้นคว้าหาความจริง ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ และเน้นหนักที่ลัทธิชาตินิยม-ส่วนกลางนิยม-ผู้นำนิยม ไม่สนใจท้องถิ่น และไม่สนใจเรียนรู้และสำนึกในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

ภายใต้บริบททางสังคมดังกล่าว เอกสารคำสอนและวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จึงตอกย้ำอุดมการณ์เดิมๆของรัฐ โดยเฉพาะความจำเป็นในการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ ความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในนโยบายของสยามรัฐ และความจำเป็นที่จะต้องยุติสำนึกรักท้องถิ่นหรือความคิดแบบที่เรียกว่าการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น (Local self government) 

ความคิดแบบเก่าในบริบททางสังคมแบบใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือดอกผลของการดำเนินนโยบายยึดครองประเทศราช ผนวกดินแดนให้เป็นผืนเดียว และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตลอดช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา 

แก่นสารของนวนิยาย รากนครา จึงมิใช่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “ราก” ของนครา แต่เป็นดอกผลของการดำเนินนโยบายเหล่านั้น และนวนิยายเรื่องนี้ก็คือการตอกย้ำความเชื่อเดิมๆที่ดำเนินมานานแล้ว แต่ได้ช่วยเผยแพร่ความเชื่อนั้นให้แก่ผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสังคมที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์

ประเด็นที่สอง แต่เนื่องจากสังคมปัจจุบันกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ท้องถิ่นกำลังได้รับการส่งเสริมให้ปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพและศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีของท้องถิ่นไว้ “รากนครา” จึงเป็นนวนิยายหลงยุค  

ยุคสมัยที่ประชาธิปไตยท้องถิ่นกำลังเบ่งบาน ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศทุกๆระดับ โดยเฉพาะการเลือกตั้งและการตรวจสอบการบริหารของระบบราชการและนักการเมืองทุกระดับ นวนิยายแห่งยุคสมัยจึงต้องจุดประกายความคิดที่หลากหลาย กล้าทายท้า และแสวงหาการเปลี่ยนแปลง  

ทำไม คนรูปงาม นิสัยดี มีการศึกษาสูง จะต้องส่งเสริมการรวมศูนย์อำนาจ หลงใหลดินแดนอื่น และดูถูกสติปัญญาและผู้คนของท้องถิ่นตนเองเช่นเจ้าศุขวงศ์ และทำไมจะต้องให้เจ้าหน่อเมืองที่มีหัวใจรักท้องถิ่น มีหน้าตาโหดหิน นิสัยหยาบกร้าน อารมณ์แปรปรวน และดื้อรั้น ฯลฯ

นวนิยายเรื่องนี้เขียนถึงยุคสมัยเมื่อ 1 ศตวรรษที่แล้ว แต่ไม่ได้เขียนขึ้นในยุคสงครามเย็นหรือยุคเผด็จการทหาร แต่ผู้ประพันธ์แต่งเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและท่ามกลางการปฏิรูปทางการเมืองในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540

เมื่อปี พ.ศ. 2535 ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักรัฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ 100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ: วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง. หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาบางตอนที่ท้าทายแนวความคิดที่ครอบงำสังคมไทยมากว่า 1 ศตวรรษ

นั่นคือ นักวิชาการท่านนั้นเห็นว่ารัฐสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสังคมพหุลักษณ์ มีชนชาติที่หลากหลาย มีชนชาติที่มิได้เรียกตนเองว่าไทย อาศัยอยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ดังนั้น รัฐสยามในตอนนั้นจึงมีศักยภาพพอที่จะจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐ (Federal state) หรือสมาพันธรัฐ (Confederal state) (หน้า 206)  กล่าวอีกแง่หนึ่ง รัฐสยามในเวลานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ และทำลายอำนาจของผู้ปกครองท้องถิ่นตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นจนหมดสิ้นก็ได้

แต่นั่นก็เป็น พ.ศ. 2535 ที่กระแสการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่งเริ่มต้น และในสังคมไทยที่มีคนจำนวนน้อยนิดสนใจการศึกษาค้นคว้าเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ชอบดื่มสุรานอกและซื้อสินค้านอก ช้อเสนอของชัยอนันต์จึงไม่มีใครสนใจนำไปอภิปรายต่อ

แต่ในห้วงเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานับแต่นั้น สังคมไทยได้ก้าวสู่ยุคแห่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นี่คือ บริบททางสังคมแบบใหม่ สังคมไทยเริ่มหันเหออกจากกรอบความคิดรัฐรวมศูนย์ และวัฒนธรรมชั้นสูงไปหาการใส่ใจภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน ปักษ์ใต้บ้านเรา อีสานบ้านเฮา ของกิ๋นคนเมือง ป่าชุมชน สิทธิชุมชน ชุมชนเข้ม แข็ง แม่น้ำท่าจีนรำลึก พิษณุโลก 2020 ลำพูน 1,400 ปี เชียงราย 738 ปี ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิของชนกลุ่มน้อย มูลนิธิเด็ก นามสกุลของสตรี ฯลฯ 

ในทางการเมือง การรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีโดยตรง การเลื่อนฐานะเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนคร การพัฒนา อบต. การปรับปรุง อบจ. การจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, พรบ. ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนการหันกลับไปตรวจสอบนโยบายรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างของบริบททางสังคมแบบใหม่ในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

ในด้านการสื่อสารและวัฒนธรรม เพลงและรายการวิทยุที่ใช้ภาษาท้องถิ่นทั่วทุกภาคของประเทศ นวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การขี่จักรยาน การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การพูดถึงความรักของครอบครัวและการต่อสู้ของคนระดับล่าง กระทั่ง การหันไปเขียนเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกับรัฐหรือหัวเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา นครวัด หลวงพระบาง ล้านนา หริภุญไชย โยนก เชียงตุง เชียงรุ่ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นดอกผลของบริบททางสังคมแบบใหม่

ในแง่นี้ การอุบัติขึ้นของ รากนครา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นวนิยายนี้แถลงจุดประสงค์ว่าสนใจบทบาทของสตรี เธอผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม และเรียกร้องให้คนอ่านหันไปสนใจประวัติศาสตร์ของคนไทกลุ่มต่างๆทั้งในและนอกประเทศที่ได้ถูกละเลยมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น 

หากเป็นคนที่อยู่ในขบวนนำของการต่อสู้เพื่อสร้างบริบททางสังคมแบบใหม่นี้ พวกเขาก็คือ คนที่เห็นว่าต้องกล้าลงมือทำเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีต่อสังคมส่วนรวม ส่วนจะมีคนเดินตามเพราะเห็นว่าเป็นแฟชั่นที่น่าติดตาม หรือเพราะเห็นว่าสินค้าเก่าๆในตลาดเริ่มขายไม่ได้แล้ว ต้องหาเรื่องราวใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ก็ไม่เป็นไร จะช้าหรือเร็ว หรือจะเดินตามใครก็ไม่สำคัญ ขอให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็นับเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น

รากนครา ให้ความสนใจต่อบทบาทของสตรีโดยเฉพาะสตรีท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญในสังคมยุคใหม่ ยิ่งกว่านั้น ยังเสนอภาพการสละชีวิตของเจ้านางแม้นเมืองได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ความตายของเธอก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้แก่บ้านเมือง 

เมืองเชียงเงินต้องสูญสิ้นเอกราช โดยที่คนอยู่หลังไม่รู้ว่าเอกราชมีความหมายอย่างไร 

เมืองของเจ้าศุขวงศ์และล้านนาสูญสิ้นความเป็นตัวของตัวเองอย่างสิ้นเชิง เพราะคิดว่าไปรวมกับคนอื่น เดินตามคนอื่น คือทางรอดทางเดียว

แล้วทางรอดนั้นคืออะไรเล่า เจ้าศุขวงศ์ตอบได้ไหม ล้านนาวันนี้มีอะไรเหลือ นอกจากศิลปวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ การสวมชุดเจ้านายและเจ้านางเพื่อถ่ายที่ร้านถ่ายรูป หรือที่สนามบินและเก็บไว้เป็นที่ระลึก คุณค่าของแผ่นดินนี้ดูเหมือนจะมี 4 อย่าง 

หนึ่ง เมื่อล้านนาถูกแบ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับจังหวัด ข้าราชการถูกส่งมาทำงาน 2-3 ปี แล้วก็ย้ายไปมาระหว่างจังหวัดหรือย้ายไปภาคอื่น ก็คือเป็นพื้นที่ให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้มาทำงานชั่วคราวเพื่อไต่เต้าความก้าวหน้าในการรับราชการ และเป็นพื้นที่ให้ข้าราชการส่วนกลางได้มาเยี่ยมเยือนอย่างสม่ำเสมอ

สอง เป็นพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มาเห็นศิลปวัฒนธรรมที่ “ดูเหมือน” แตกต่างออกไปจากระดับชาติ และให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้มาสัมผัสบรรยากาศป่าเขา และอากาศหนาวเย็นช่วงสิ้นปี

สาม เป็นพื้นที่ธุรกิจ การศึกษา และการลงทุนด้านต่างๆสำหรับคนที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆจากทั่วประเทศ ในเมื่อรัฐส่งเสริมการท่องเที่ยว ผู้คนก็มักคิดกันว่าย่อมสามารถทำธุรกิจอย่างอื่นๆได้ จนในที่สุดที่โฆษณาว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผลก็คือล้านนาเป็นได้ทุกอย่าง ขอแต่ให้คนไทยที่แสวงหารายได้จะลงทุน จะมาทำอะไรก็ได้หมด

และ สี่ เป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นบ้านที่สอง เป็นบ้านพักหลังอำลาชีวิตราชการ ฯลฯ

ลูกหลานของเจ้าศุขวงศ์ก็ต้องดิ้นรนหาอยู่หากินไปวันๆ สมาชิกสกุลเจ้านายท้องถิ่นส่วนหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เหลือก็ทำงานในท้องถิ่น มีอยู่ไม่กี่คนที่เขายกย่องให้เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ

“รากนครา” ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

สังคมไทยในทศวรรษที่ 2540 เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อย่างน้อยที่สุดก็คือ มีความใส่ใจในเรื่องท้องถิ่น บทบาทของภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ผู้ประพันธ์มิได้หยิบเอาประเด็นเก่าๆมาพิจารณาด้วยมุมมองใหม่ๆ

ความดีบางข้อของ รากนครา ได้แก่บทเรียนจากชีวิตคู่ของพระเอก-นางเอก ที่เฉลียวฉลาดทั้งคู่ แต่กลับมีความสัมพันธ์กันเพียงกาย ไม่มีความสัมพันธ์ทางสติปัญญา การขาดการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันตลอดมา ฝ่ายหญิงที่มุ่งมั่นเสียสละเพื่อบ้านเมือง ลงท้ายก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดเมื่อรวมท้องถิ่นเข้ากับสยามแล้ว เชียงเงินกับล้านนาจะได้อะไร

ส่วนฝ่ายชายที่เชิดชูการนำของสยามเหลือเกิน และคิดว่าจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของชาติมหาอำนาจ ลงท้ายก็ไม่เข้าใจว่าสยามนั้นเป็นรัฐเอกราชหรือรัฐกึ่งเมืองขึ้น อธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดสยามกับล้านนาต้องเสียเปรียบต่างชาติเรื่อยมา 

และอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดในการรวมเป็นแผ่นดินเดียวกันกับสยาม ล้านนาต้องสูญเสียแทบทุกอย่าง น่าเสียดายที่อุตส่าห์ไปเรียนถึงสิงคโปร์ – เมืองขึ้นของอังกฤษ เจ้าศุขวงศ์ไม่ได้เรียนรู้ว่าชาติตะวันตกนั้นวิธีการจัดการชาติด้อยพัฒนาหลากหลายวิธี เช่น ยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์ หรือควบคุมและครอบงำนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจด้วยสนธิสัญญา ปล่อยให้สถาบันการปกครองคงอยู่ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่านั่นเป็นรัฐเอกราช ทั้งๆที่เป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมหรือรัฐกึ่งเมืองขึ้น ชาติตะวันตกก็ควบคุมระบบการผลิตด้วยการแบ่งงานระดับสากล (International division of labor) กำหนดให้ชาติไหนปลูกข้าวเพื่อส่งออก ปลูกยางพารา ไม้สัก ดีบุก ชาติไหนทำโรงงานผลิตสิ่งทอ ชาติไหนผลิตอาหารทะเล ชาติไหนผลิตน้ำตาล ฯลฯ 

เจ้าศุขวงศ์รับรู้เต็มอกว่าเจ้าหน่อเมืองและเมืองเชียงเงินคิดการใหญ่ ไม่ยอมขึ้นต่อสยามหรือพม่า เขารู้ว่าจะไม่ปล่อยให้เชียงเงินหลุดมือ และเขามีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของสยาม แต่เขากลับไม่คิดพูดจาหรือเตรียมการป้องกันใดๆ 

แม้เจ้านางแม้นเมืองจะชาญฉลาด แต่เธอก็เป็นหญิงในสังคมศักดินาที่ไม่มีสิทธิพูดจากับสามีไดมากนัก แต่สำหรับเจ้าศุขวงศ์ ผู้มีการศึกษาสูง แต่วิธีคิดวิธีทำงานของเขานั้นนอกจากจะทำลายเชียงเงินและล้านนา ยังมีส่วนสำคัญในการหยิบยื่นความตายให้แก่เจ้านางแม้นเมืองด้วย

ในที่สุด รากนครา จึงเป็นนวนิยายที่ยอดเยี่ยมในด้านการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ แต่ไม่มีอะไรใหม่ในด้านอื่นๆ นอกจากเสนอทัศนะเก่าๆ เช่น บรรยายความโหดเหี้ยมของผู้นำพม่า (คงจะเชื่อหนังสือ “พม่าเสียเมือง” ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพียงเล่มเดียว) ยกย่องความเก่งของคนไทยว่ารู้เท่าทันต่างชาติจนฝรั่งต้องยอมรับ กลายเป็นลัทธิชาตินิยม และมองเห็นแต่ด้านดีของผู้นำจนกลายเป็นลัทธิบูชาบุคคล

ผู้เขียนอยากจะเชื่อว่า รากนครา จะได้รับรางวัล แม้ผู้เขียนยังไม่ได้อ่านนวนิยายเรื่องอื่น เพราะเรื่องนี้มีจุดเด่นหลายข้อ คือ ผู้ประพันธ์เรียกร้องให้คนไทยยกย่องคนที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง, เชิดชูผู้นำสยาม, ยกย่องนโยบายการรวมศูนย์อำนาจ, นำเอาความรักและท้องถิ่นมาอธิบายสนับสนุนนโยบายของประเทศชาติ, และนำเสนอโศกนาฏกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม 

ซึ่งทั้งหมดน่าจะสอดคล้องกับความเห็นของกรรมการซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมที่แม้บริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่พวกเขาน่าจะยังคงพอใจกับแนวคิดหลักๆในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

แน่นอน สังคมไทยยุคปัจจุบันไม่ควรอ่านนวนิยายหลงยุคแบบนี้  หนังสือที่สังคมไทยควรอ่านควรจะเป็นงานที่มีจินตนาการกว้างไกล เปิดขอบฟ้าทางความรู้และความคิดให้คนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตหรือปัจจุบัน เพื่อให้คนอ่านมองเห็นอดีตด้วยมุมมองใหม่ๆ ตั้งคำถามกับแนวคิดเก่าๆซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม และมองเห็นปัจจุบันและอนาคตอย่างคนที่มีสติปัญญาแตกฉาน 

กล่าวให้ถึงที่สุด นวนิยายเรื่องนี้นอกจากจะเป็นดอกผลของการดำเนินนโยบายผนวกดินแดนและการรวมศูนย์อำนาจ ยังสะท้อนให้เห็นความพยายามและดิ้นรนของความคิดและความเชื่อเก่าๆ ที่ต้องการดำรงอยู่และครอบงำสังคมนี้ต่อไป

แม้จะดูเหมือนว่าผู้ประพันธ์ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นเลยก็ตาม.

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2543. แต่ต่อมาในปัจจุบัน ละครโทรทัศน์เรื่องรากนคราได้ถูกสร้างและนำมาเผยแพร่ใหม่ จึงได้มอบบทความชิ้นนี้ให้ประชาไทได้เผยแพร่ต่อสาธารณะเผื่อเป็นการเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายและละครโทรทัศน์เรื่องนี้ให้ครบถ้วน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท